ประชาชนชี้ การแก้ปัญหาฝุ่นควรจัดเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด

ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นวาระเร่งด่วน พร้อมมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหา

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การจัดการวิกฤตฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5–6 กุมภาพันธ์ 2562 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการวิกฤตฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการจัดการปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.42 ระบุว่า จัดการปัญหานี้ ขณะที่ร้อยละ 24.58 ระบุว่า ไม่ได้ทำอะไรต่างจากเดิม โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าไม่ได้ทำอะไร ต่างจากเดิม ร้อยละ 69.68 ระบุว่าเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 32.26 ระบุว่า ที่พักอาศัย/ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ร้อยละ 7.10 ระบุว่า ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี และร้อยละ 0.32 ระบุว่า มีปัญหาด้านการเงิน

สำหรับวิธีการจัดการปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.28 ระบุว่า ป้องกันตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 15.46 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และร้อยละ 0.63 ระบุว่า เดินทางไปต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าจัดการปัญหาด้วยวิธีป้องกันตัวเอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.93 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัย รองลงมา ร้อยละ 11.57 ระบุว่า ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น ร้อยละ 5.42 ระบุว่า งดออกกำลังกายกลางแจ้ง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า ใช้พัดลม–เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 3.61 ระบุว่า ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และร้อยละ 1.93 ระบุว่า ปิดห้องแอร์ให้สนิท

ด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่ายจากวิกฤตฝุ่นละออง ถ้ามีการจัดการปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชน ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย ร้อยละ 56.26 ระบุว่า ไม่เกิน 500 บาท ร้อยละ 5.78 ระบุว่า 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 0.95 ระบุว่า 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 1.05ระบุว่า 1,501 – 2,000 บาท และร้อยละ 2.73 ระบุว่า 2,001 บาทขึ้นไป

เมื่อถามถึงการขจัดฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ควรจัดเป็นวาระเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 64.15 ระบุว่า เร่งด่วนที่สุด ร้อยละ 31.88 ระบุว่า เร่งด่วน ร้อยละ 3.81 ระบุว่า ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่เร่งด่วนเลย

สำหรับมาตรการที่รัฐควรมีในช่วงที่มีปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.12 ระบุว่า หยุดการก่อสร้างในพื้นที่วิกฤตฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 20.30 ระบุว่า ห้ามรถทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลวิ่งชั่วคราว ร้อยละ 11.82 ระบุว่า ให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดทำงานชั่วคราว ร้อยละ 7.61 ระบุว่า ให้ทำฝนเทียม ร้อยละ 7.14 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจังในการตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำ และกับผู้ที่เผาป่า เผานา หรือเผาปรับที่เพื่อก่อสร้าง ร้อยละ 6.18 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้รัฐแจกหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนและให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันฝุ่นละออง ให้มีการฉีดน้ำเพื่อช่วยลดฝุ่นละออง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้รัฐเข้มงวดในการตรวจสอบการปล่อยควันดำของโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ

เมื่อถามถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.98 ระบุว่า มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ขณะที่ร้อยละ 29.02 ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.37 ระบุว่า ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง รองลงมา ร้อยละ 30.05 ระบุว่า หยุดเผาขยะใบไม้ เศษวัสดุ ร้อยละ 23.32 ระบุว่า นั่งรถประจำทางไปทำงานแทนการขับรถส่วนตัว ร้อยละ 8.53 ระบุว่า หยุดการจุดธูป ประทัด ร้อยละ 3.13 ระบุว่า ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเวลาจอดรถรอสัญญาณไฟ ร้อยละ 1.80 ระบุว่า หยุดต่อเติมขยายบ้าน และระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยู่บ้านเพื่อลดการใช้รถ ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ได้ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.47 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 33.16 ระบุว่า ที่พักอาศัย/ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ร้อยละ 11.31 ระบุว่า จำเป็นต้องเดินทาง ร้อยละ 5.66 ระบุว่า ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี และร้อยละ 5.40 ไม่ระบุเหตุผล