ความรุ่งเรืองและถดถอย ของ บริษัทบริติชอีสท์อินเดีย (British India Company) ตอนที่ 1

"อีสต์อินเดียเฮาส์" สำนักงานใหญ่บริษัทฯ / ภาพ วิกิพีเดีย

“บริษัทบริติชอีสท์อินเดีย” ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการค้าเครื่องเทศในอินเดียตะวันออก การค้านี้เคยเกือบจะถูกผูกขาดโดยสเปนและโปรตุเกส จนกระทั่งดัชต์เข้ามาในภูมิภาคเมื่อปีค.ศ.1600 ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาได้รักษาส่วนแบ่งการครอบครองตลาดไว้โดยกันไม่ให้ประเทศอื่นเข้ามาอีก อังกฤษถือว่าเป็นชาติที่เข้ามาในภูมิภาคอินเดียตะวันออกช้ากว่าผู้อื่น นักเดินทางอังกฤษคนแรกที่มาถึงอินเดียเดินทางโดยเรือผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป (ใกล้ปลายสุดทางตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้) เมื่อปีค.ศ.1582 ซึ่งนับแล้วเกือบร้อยปีหลังจากที่วัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) เดินทางมาจากโปรตุเกส

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อังกฤษอยากทำการค้าในดินแดนตะวันออกคือได้เห็นเรือสินค้าหลายลำที่เคยไปที่นั่นกลับมาด้วยความมั่งคั่งร่ำรวย ในปี ค.ศ.1593 เรือโปรตุเกสที่ถูกอังกฤษจับได้ถูกนำเข้าฝั่งท่าเรือที่อังกฤษพบว่ามีสินค้า 1,500 ตัน ลูกเรือผู้ชายจำนวน 700 คน และปืนใหญ่ทำจากทองเหลือง 36 กระบอก ถือว่าเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดที่เคยพบเห็นในอังกฤษ ลำเรือเต็มไปด้วยสินค้าจากตะวันออก มีทั้งทองคำ เครื่องเทศ ผ้าดิบ ผ้าไหม ไข่มุก เครื่องเคลือบดินเผา และงาช้าง

บริษัทอีสท์อินเดีย (EIC) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อปี ค.ศ.1600 สารตราตั้งนี้กำหนดให้ผูกขาดการค้าของอังกฤษกับทุกดินแดนที่มีพื้นที่ติดมหาสมุทรอินเดีย (จากปลายสุดทางตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้จนถึงอินโดนีเซียในทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก) ชาวอังกฤษผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตและบุกรุกเข้าไปจะมีโทษถึงขั้นถูกยึดเรือและสินค้าทั้งหมดบนเรือ บริษัทอีสท์อินเดียบริหารโดยผู้ว่าราชการและกรรมการบริษัทอีก 24 คนซึ่งถูกคัดเลือกมาจากผู้ถือหุ้นของบริษัท

ในขณะที่การค้ากับตะวันออกเติบโตขึ้นนั้น บริษัทอีสท์อินเดียได้กลายมาเป็นผู้ที่จ้างคนมากที่สุดในกรุงลอนดอน โดยมีอู่เรือใน กรุงลอนดอนติดกับแม่น้ำเทมส์ มีโกดัง โรงหล่อ โรงงานผลิตเชือก โรงเลื่อย และมีแม้กระทั่งโรงฆ่าสัตว์เพื่อชำแหละโคกระบือเพื่อเป็นอาหารให้กับกองเรือของบริษัทอีสท์อินเดีย บริษัทฯได้ดำเนินกิจการไปและทำกำไรอย่างมากจากการค้าขาย หลังจากมีพระราชบัญญัติสหภาพในปีค.ศ.1707 บริษัทฯได้กลายมาเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอังกฤษเพียงรายเดียว

โทมัส มุน (Thomas Mun) หนึ่งในกรรมการของบริษัทอีสท์อินเดียได้เขียนไว้ในปีค.ศ.1621 ระบุว่าเรือชุดแรกได้ทำกำไรถึง 132% แม้จะไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาการเดินทางซึ่งกินเวลาถึง 30 เดือนเพื่อเดินทางไปและกลับ อีกทั้งสินค้าที่ขายให้กับพวกพ่อค้านั้นเป็นการให้เครดิตซึ่งยาวนานถึง 18-24 เดือน ดังนั้นกว่านักลงทุนจะได้เห็นเงินกลับคืนมาจึงใช้เวลาหลายปี มุนกล่าวอีกว่าพวกเขาได้ส่งเรือ 79 ลำไปอินเดียซึ่งในนั้นมี 34 ลำที่กลับมาถึงอย่างปลอดภัยและมีสินค้ากลับมาเป็นจำนวนมาก ส่วนอีก 20 ลำหายสาบสูญเนื่องด้วยอับปางลงหรือไม่ก็ถูกพวกดัชต์จับไป

เมื่อพิจารณาเส้นทางที่ยาวไกล (เส้นทางอ้อมแหลมแอฟริกา) ซึ่งบริษัทอีสท์อินเดียใช้ในการเดินทางไปอินเดียแล้วเป็นที่น่าแปลกใจว่าพวกเขาสามารถทำเงินได้มากขนาดนั้น แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็มาลบล้างข้อเสียตรงนี้ไป ประการแรกเนื่องจากบริษัทฯได้รับอนุญาตให้ผูกขาดตลาดในอังกฤษอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวจึงทำให้สามารถควบคุมตลาดอังกฤษได้เป็นอย่างดี ประการที่สองเมื่อได้ซื้อจากแหล่งผลิตราคาที่ซื้อมาจึงไม่ถูกบวกกำไรเหมือนสินค้าอินเดียที่นำมาขายกันในยุโรปทำให้ได้ราคาถูกกว่ากันมาก ประการที่สามพวกเขาสามารถพัฒนาตลาดใหม่ๆ ในแอฟริกาและอเมริกาเพื่อขายสินค้าที่มาจากอินเดีย

กิจกรรมการค้าในดินแดนตะวันออก

การเดินทางค้าขายครั้งแรกเริ่มขึ้นในปีค.ศ.1601 และเช่นเดียวกับการเดินทางที่เคยมีก่อนหน้านี้พวกเขาตั้งใจไปที่อินโดนีเซียเพื่อพริกไทยและเครื่องเทศชั้นดี เรือสี่ลำได้พบกับการเดินทางที่น่ากลัว เรือของพวกเขาต้องหยุดที่เส้นศูนย์สูตรเพราะไม่มีลมทะเล กว่าเรือจะเดินทางไปถึงปลายแหลมของประเทศแอฟริกาใต้ลูกเรือที่ตอนแรกเดินทางกันมา 500 คนได้เสียชีวิตไปเป็นจำนวน 100 คน พวกเขาได้แวะขึ้นฝั่ง2-3ครั้งเพื่อเติมเสบียงโดยแวะที่มาดากัสการ์และต่อจากนั้นท่าเรือแรกของเอเชียคือที่ปลายสุดของสุมาตรา (ปลายแหลมสุดฝั่งตะวันตกของอินโดนีเซีย) และท้ายที่สุดพวกเขาได้เดินทางไปถึง บันตัม (Bantam) (เมืองบนเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะใหญ่ของอินโดนีเซีย)ในปีค.ศ.1602 และได้ปล่อยพ่อค้าและผู้ช่วยกลุ่มเล็กๆ ไว้กลุ่มหนึ่ง

เรือลำแรกของบริษัทได้เดินทางถึงท่าเรือสุรัต (Surat) ของอินเดียในปีค.ศ.1608  ในปีค.ศ.1615 Thomas Roe ได้เดินทางถึงวังของเจ้าผู้ครองอาณาจักรโมกุล (Mughal) ในฐานะผู้แทนทางการทูตของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 และทำให้ได้รับอนุญาตให้อังกฤษตั้งโรงงานในเมืองสุรัตได้ อังกฤษจึงค่อยๆ ทำให้โปรตุเกสมีบทบาทน้อยลงและอังกฤษเองได้ขยายการค้าในอินเดียอย่างยิ่งใหญ่ มีร้านค้าเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในแถบชายทะเลฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของอินเดียและชุมชนชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากได้ก่อตัวขึ้นในสามเมืองหลักคือ กัลกัตตา บอมเบย์ และมาดราสด้วยเมืองทั้งสามนี้ห่างกันในระยะทางที่เท่ากันตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย 

ในปีค.ศ.1611 โรงงานแห่งแรกๆ ของอังกฤษได้ตั้งขึ้นในอินเดียที่เมืองมาดราสและบอมเบย์ บริษัทของอังกฤษได้สร้างความพ่ายแพ้ให้แก่บริษัทโปรตุเกสในการปะทะกันนอกชายฝั่งอินเดีย (ปีค.ศ.1612) จึงทำให้อังกฤษได้สัมปทานการค้ากับอาณาจักรโมกุล (Mughal) บริษัทได้สร้างรากฐานการค้าผ้าฝ้ายและผ้าไหม คราม และดินประสิวเพื่อแลกกับเครื่องเทศจากตอนใต้ของอินเดีย และได้ขยายกิจกรรมการค้าไปยังอ่าวเปอร์เชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกอีกด้วย

เมื่อครั้งสเปนและโปรตุเกสควบคุมการค้าในอินเดียตะวันออกในช่วงปี ค.ศ.1500 ดัชต์ก็ได้เข้าไปมีส่วนแบ่งในช่วงปี1600และได้หวงแหนส่วนแบ่งการค้าเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับสเปนและโปรตุเกส  อังกฤษได้ถูกกันออกจากการค้าในภูมิภาคของดัชต์ในดินแดนตะวันออก (ประเทศอินโดนีเซีย) อย่างแท้จริงหลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเกาะอัมบนในปีค.ศ. 1623 ในปีนั้นผู้ปกครองอาณานิคมซึ่งเป็นชาวดัชต์ได้ประหารชีวิตโดยการตัดหัวชายชาวอังกฤษ 10 คน ทหารรับจ้างชาวญี่ปุ่น 10 คนและพ่อค้าชาวโปรตุเกส 1 คนที่เมืองอัมบนในข้อหาร่วมกันสมคบคิดเพื่อที่จะยึดป้อมปราการ เมื่ออังกฤษไม่สามารถปกป้องตนเองจากอำนาจของดัชต์จึงได้ถอนตัวออกจากภูมิภาคนั้นและมุ่งเน้นไปยังสถานที่ที่จัดการง่ายกว่านั่นคืออินเดีย  

อ่านต่อตอนหน้า