ชีวิต(ที่ไม่มีชีวิต) ณ ทุ่งยางแดง ตอน “ซุไฮมี เซ็นและ”

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กับ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวนายซุไฮมี


โดย อารีด้า สาเม๊าะ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้


 

ถือว่าครบ 1 สัปดาห์พอดีของการเสียชีวิตของวัยรุ่น 4 คน จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ายิงปะทะผู้ร้ายบ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานีในวันที่ 25 มีนาคม 2558 พร้อมจับกุมชายฉกรรจ์ 22 ร้าย รวมผู้หญิงอายุ 63 ปีตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังในรอบสัปดาห์ เนื่องจาก 2 ใน 4 คนที่เสียชีวิต คือลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี หรือชื่อเดิมคือ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งมีอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ออกโรงปกป้องศักดิ์ศรีลูกศิษย์ทั้งสองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ประกอบกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอีกสองราย ยืนยันว่าลูกไม่เกี่ยวกับเหตุความไม่สงบแน่นอน จนกลายเป็นประเด็นให้เกิดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น และกำลังจะครบสัญญาว่า จะมีข้อสรุป 7 วันหลังจากแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรกันแน่ พร้อมกันนี้ในระหว่างสัปดาห์มีนักข่าวและองค์กรประชาสังคมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวนี้จำนวนมาก

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ลงเยี่ยม 2 ครอบครัวที่เยาวชนเสียชีวิตในกรณีดังกล่าวด้วย คือครอบครัวนายซุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปีและครอบครัวนายซัดดำ วานุ อายุ 24 ปี ที่สังคมยังรู้จักน้อยกว่าอีก 2 กรณีที่เป็นที่กล่าวถึงเนื่องจากเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี

จนถึงวันนี้ (2 เมษายน 2558)ที่ถือว่าเป็นวันที่ 8 หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ก็ยังมีผู้มาเยี่ยมครอบครัวของซุไฮมี เซ็นและ อย่างต่อเนื่อง แต่บางตาลงจากวันแรกๆที่เกิดเรื่องมาก มีเพียงทหารชุดดำทั้งชาย หญิงนับสิบ ที่สวมผ้าพันคอขอบสีฟ้าปักชื่อต้นสังกัด ทำให้รู้ว่า มาจากค่ายทหารพราน ฉก. 41 วังพญา จังหวัดยะลา ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ และมูลนิธิฮิลาลฯ มาทีหลัง ได้ยินการสนทนาบางส่วนที่สาวชุดดำที่กำลังนั่งพับเพียบเผชิญหน้ากับแม่และน้องๆของซุไฮมี ว่า “พวกเราไม่ได้ทำนะคะ” เพียงประโยคแรกที่ผู้มาเยียนได้ยิน ก่อนการสนทนาระหว่างเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ กับครอบครัวซุไฮมี จะมีขึ้น

ลีน่า เซ็นและ กับโนมา เซ็นและ 2 ใน 4 ของบรรดาน้องสาวของซุไฮมี ได้ร่วมการสนทนา และเรื่องราวต่อไปนี้คือคำถามและคำตอบที่เกิดขึ้น พร้อมสีหน้าและน้ำเสียงยังบ่งบอกถึงความเศร้าและก็ยังต้องเข้มแข็ง เพื่อช่วยกันดูแลความรู้สึกของแม่ ที่น้องของเธอบอกว่า “แม่ยังรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ครอบครัวซุไฮมี เซ็นและ

นายซุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ซึ่งซุไฮมีเป็นลูกชายคนโตทั้งบ้านมีลูกชายเพียงสองคน คือนายซุไฮมี ที่เป็นพี่คนโต และอีกคนคือน้องชายคนเล็กของบ้าน อายุเพียง 15 ปี มีน้องสาวกำลังเรียนหนังสือ 2 คน แต่งงานแล้ว 2 คนและกำลังหางานทำ 1 คน พ่อและแม่ของทั้ง 7 พี่น้อง ทำงานเป็นชาวสวนกรีดยางและเก็บขวด กระดาษชั่งกิโลขาย

นางสาวลีน่า เซ็นและ อายุ 27 ปี ลูกคนที่ 3 ของบ้านเซ็นและ ถือว่าเป็นคนเดียวที่จบระดับปริญญาตรีของบ้าน ซึ่งก่อนเกิดเหตุสะเทือนใจกับพี่ชายของเธอเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น เธอได้ตระเวนหาโรงเรียนที่เปิดรับสมัครครูสอนวิทยาศาสตร์ ตามสถาบันปอเนาะต่างๆ เพื่อให้ได้มีอาชีพค้ำจุนตัวเองและน้องๆเสริมแรงจากพี่ชายอีกที แต่เธอบอกว่า ยากเหลือเกินเพราะเรียนสาขานี้ไม่มีวุฒิครู จะสอบแข่งเพื่อบรรจุข้าราชการครูก็ไม่ได้ จึงรองานให้ทางโรงเรียนที่สนใจให้เธอลองงานติดต่อมา

“ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ประมาณ 1 ปี ก็รู้สึกอยากกลับบ้าน เพราะทางนี้มีพี่ชายคนเดียวที่ดูแล พ่อ แม่และยายที่อยู่ในบ้าน อยากกลับมาหางานทำแถวบ้านจะได้แบ่งเบาภาระ”

ส่วนน้องสาวคนที่ 4 ชื่อโนมา เซ็นและ อายุ 24 ปี ก็เกือบจะเอาตัวเองไม่รอดจากการเรียน เนื่องจากที่บ้านขัดสน ต้องถอดใจหลายครั้งหลังจากทราบว่าตัวเองติดโค้วต้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ต้องตัดใจเนื่องจากไกลบ้าน แต่หนึ่งปีต่อมาได้สมัครเข้าศึกษาในวิทยาลัยพละ จังหวัดยะลา ได้ไม่กี่เดือนก็สู้ค่าเทอมไม่ไหว จึงตั้งต้นใหม่อีกปี โดยสอบเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อตรวจสอบค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนแล้ว จึงตัดสินใจไม่ยืนยันสิทธิ เนื่องจากทางบ้านส่งไม่ทัน สุดท้ายก็กลับมาเรียนวิยาลัยชุมชน จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ใกล้กว่า เรียนเพียงเสาร์-อาทิตย์ และค่าเทอมถูก จึงเรียนได้จนจบระดับอนุปริญญา สาขาเอกปฐมวัย และกำลังวางแผนว่าจะศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เพราะวุฒิฯแค่นี้หางานยากมากในปัจจุบัน

เธอได้เล่าถึงพี่ชายคนโตของเธอว่า เป็นเหมือนทุกอย่างของน้องๆ พี่ชายเป็นคนเงียบ แต่ดูแลน้องๆเป็นอย่างดี

ลีน่า เล่าว่า พ่อกับแม่มีอาชีพกรีดยางและเก็บของเก่าขาย ได้พี่ชายมาช่วยหารายได้เป็นแรงเสริม ก่อนจะเสียชีวิตพี่ชายของเธอต้องย้ายจากที่ทำงานหลายที่เนื่องจากมีภาระต้องดูแลที่บ้าน หลังจากเรียนจบระดับอนุปริญญา สาขาบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยเทคนิคยะลา สมัครงานลูกจ้างของที่ว่าการอำเภอทุ่งยางแดง ค่าตอบแทน 4500 บาทต่อเดือน ทำได้เพียง 1 ปีก็หมดสัญญาจ้าง จึงหางานใหม่จนได้ทำกับสหกรณ์การเกษตร ตำบลตะลูโบ๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่ด้วยต้องเดินทางไปกลับ ปัตตานี-ทุ่งยางแดง ทุกวันทำให้รู้สึกเหนื่อย จึงลาออกทั้งๆที่ทำงานได้เพียงไม่กี่เดือน และกำลังหางานใหม่ที่ยะลา เนื่องจากระยะทางใกล้มากกว่าทำงานในเมืองปัตตานี แต่ไม่ทันจะได้งาน ก็มาเกิดเหตุเสียก่อน

คนมาเยี่ยมเยอะไหม?

ลีน่า บอกว่า คนมาเยี่ยมเยอะในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และทหารชุดเขียวมาวันแรก มาอธิบายว่า ทหารที่ทำไม่ใช่พวกเขา แต่เป็นหน่วยงานข้างนอก ไม่ได้ประสานพวกเขาตั้งแต่แรก มาพร้อมข้าวสาร 1 กระสอบ แล้วไม่มาอีกเลย ส่วนวันต่อมาก็เป็นทหารจากค่ายวังพญา มาเกือบทุกวัน มาช่วงเย็นๆแล้วก็กลับไป

ลีน่าเล่าอีกว่า ก่อนที่เครือข่ายจะมาสองสามวัน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา มาเยี่ยม แต่ไม่ทราบว่าคุยอะไรกับพ่อบ้าง แต่ดีใจมากที่ดร.มา เพราะเรื่องคดีจะต้องไปพร้อมๆกับเรื่องนักศึกษาของดร.ด้วย

“ที่บ้านจะเลี้ยงทำบุญทุกวันที่มัสยิด ทำกับข้าวจากที่บ้านไปเลี้ยงที่มัสยิดประมาณ 7 สำรับต่อคืน และคืนนี้ (2 เมษา) จะเลี้ยงครบ 7 วันที่พี่เสียไปพอดี” ลีน่า กล่าว

ทหารมาเยี่ยมแล้วรู้สึกยังไงบ้างค่ะ

ทั้งสองสาวเล่าว่า ส่วนตัวเธอจะไม่ออกมารับหน้ากับเจ้าหน้าที่ทหาร เนื่องจากยังคงเห็นภาพพี่ชายที่ถูกยิง เมื่อไหร่ที่ทหารมาเยี่ยม ทั้งสองสาวจะเข้าในบ้านเลย ส่วนแม่พูดอะไรมากไม่ได้ เพราะจะร้องไห้ตลอดที่นึกถึงเรื่องลูกชายที่สนิทกันมาก ส่วนคนที่รับหน้าทหาร คือพ่อคนเดียว เขาเข้มแข็งมาก พ่อบอกว่า คนมาต้องต้อนรับ ไม่ว่าเขาเป็นใคร

ทราบเรื่องตอนไหนว่าพี่เสียแล้ว

ลีน่า เล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วพี่ชายจะออกไปสังคมกับเพื่อนๆประมาณหลังเที่ยง จนถึงเย็น วันนั้นก็เช่นกัน แต่เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็น ก็เกิดเสียงปืนรัวๆดังขึ้น แต่ก็ไม่คิดว่าพี่ชายจะอยู่ในวงนั้น จนพี่สาวโทรมาบอกว่า มีข้อมูลที่แชร์ในไลน์เวลาประมาณทุ่มสองทุ่ม ว่ารายชื่อผู้เสียชีวิตออกมา 4 คนและรูป 2 คน ซึ่งรายชื่อทั้งหมดไม่ตรงกับผู้เสียชีวิตจริงเลย แต่สงสัยว่าทำไมพี่ยังไม่กลับบ้าน พยายามโทรติดต่อก็ไม่รับสาย แต่ยังไม่รู้ว่า อยู่ในวงนั้นด้วย

จนมาถึงช่วงเที่ยงคืน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาเคาะประตูเรียกแม่ให้ออกมา แต่แม่ไม่เปิดประตูเพราะกลัว เขาเลยไปตามลูกสาวอีกคนมาเรียกให้แม่เปิดประตู และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพูดด้วยเสียงจุกอก ก็บอกเพียงว่า

“ซุไฮมี…ซุไฮมี…”

แค่นั้นแม่ก็รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับลูกชายแน่นอน แล้วแม่ก็ขึ้นไปร้องไห้บนห้อง พ่อไปโรงพยาบาลไปรับพี่ชายกลับบ้าน

หลังจากพี่ชายจากไป ครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง?

แม่ซึมลงเยอะ ไม่ค่อยกินอาหาร ซูบลงเห็นได้ชัด เพราะพี่ชายสนิทกับแม่มาก มีอะไรจะคุยกันตลอด เห็นแม่แอบร้องไห้ เห็นเสื้อของพี่ชายก็จะร้องไห้ ส่วนยายอายุ 84 ปีของเธอ ไม่เศร้ามากเพราะยายเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สัญญาของพระเจ้าที่กำหนดวันตายของพี่ชายไว้แล้ว

ส่วนลีน่าและโนมา เล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารชุดเขียวมาเป็นชุดแรกหลังจากเกิดเหตุ มามอบข้าวสารกระสอบมาให้ แล้วบอกว่า พวกเขาไม่ใช่คนทำ เขาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งหน่วยที่ปฏิบัติการไม่ได้แจ้งให้พวกเขาทราบแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็เป็นทหารชุดดำ จากฉก.41 วังพญา จังหวัดยะลา แวะเวียนมาเยี่ยมเกือบทุกวัน แต่น้องสาวทั้งสองของนายซุไฮมี ไม่ออกมาต้อนรับแต่อย่างใด

“เห็นชุดทหารเมื่อไหร่ จะนึกถึงสภาพพี่ชายที่ถูกยิงตายทันที ทำใจไม่ได้ ไม่อยากมอง” ลีน่าและน้องสาวของเธอสะท้อนความรู้สึกลึกๆข้างใน

พ่อถึงดูภายนอกเข้มแข็ง ต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยม แต่พ่อก็แอบซึมตอนที่อยู่คนเดียว พี่ชายคนโตเป็นคนไม่เกเร แม้จะติดน้ำกระท่อม แต่เป็นคนรับผิดชอบน้องๆได้เป็นอย่างดี

พี่เคยเล่า ความฝันของพี่ก่อนเสียชีวิตไม?

“พี่กำลังจะแต่งงานในปีนี้ กับสาวยะลา”

ลีน่าและโนมา เล่าว่า พี่ชายคนโตมีแผนจะแต่งงานประมาณปลายปีนี้ โดยว่าที่เจ้าสาวทำงานโรงพยาบาลยะลา คบกันมาได้สักพักแล้ว และที่พี่ชายเลือกจะทำงานยะลา เพื่อจะได้ทำงานใกล้แฟนและตอนนี้พี่ชายกำลังต่อเติมบ้านที่ยายอยู่ตอนนี้ เพื่อเป็นเรือนหอในอนาคตอันใกล้ของเขา ทั้งยายและพี่ชายจึงสนิทกันมากเป็นพิเศษช่วงนี้ คือได้เจอทุกวัน และพี่ชายเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว เพราะเป็นคนไม่เถียง เชื่อฟังผู้ใหญ่ แม้จะติดน้ำกระท่อมก็ตาม

“พี่บอกว่า ถ้าได้งานทำที่ยะลา น้องจะสบายกว่านี้ ได้เรียนหนังสือเพราะวันนี้น้องอีกสามคน ผลัดกันหยุดเรียน เพราะพ่อกับแม่ส่งไม่ทัน”

หลังจากเสียชีวิตในคืนนั้นมีทหารมาค้นบ้านไม?

สองสาวเล่าว่า ไม่มีใครมาค้นบ้านเลย ทหารมาเฉพาะหลังที่ฝังศพไปหนึ่งวัน มาบอกว่า ไม่ได้เป็นคนยิงพี่ชาย แต่เป็นหน่วยอื่นเข้ามา และก่อนหน้านั้นพี่ชายเธอไม่เคยมีหมายจับหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบอะไรเลย
อะไรที่รับไม่ได้มากที่สุดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น?

ติดตามข่าวจากเฟสบุ๊คของน้องสาว เขาเขียนว่า ทหารปะทะโจร พี่ชายเป็น RKK พี่ชายมีอาวุธและระเบิดในมือ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น เจ้าหน้าที่วิสามัญประชาชน

“อยากให้มีคนไปแก้ข่าว บอกความจริงพี่ชายไม่ใช่ RKK พี่โดนยิงตาย ไม่มีอาวุธในมือ เรายอมรับว่าพี่ติดกระท่อม แต่ไม่ได้เป็นโจรอย่างที่นักข่าวเขียน แม่ก็รับไม่ได้ เสียใจมาก”

“ล้างมลทินให้พี่ชายให้ได้ ความจริงต้องออกมาว่าพี่ไม่ใช่คนร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหา” ลีน่า กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

จะทำอะไรต่อสำหรับเรื่องนี้

ลีน่าเล่าว่า มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาคุยกับครอบครัวแล้ว และพ่อไปร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมหลังจากที่ฝังศพพี่ชายแล้ว และคณะกรรมการฯก็จะตรวจสอบทั้ง 4 คนที่เสียชีวิตเหมือนกัน ครอบครัวจะเดินหน้าเต็มที่ เพราะรับไม่ได้จริงๆ

เธอบอกว่า เรื่องนี้ใครจะปกปิดไม่ได้แล้ว เพราะคนรู้จักดร.อิสมาอีลลุตฟี ทั่วโลก มีคนบอกว่าข่าวนี้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกแล้ว เธออยากให้มีผู้รับผิดในเรื่องนี้ เธอเชื่อว่าพี่ชายเธอไม่มีปืน ไม่มีระเบิด

“ ถ้ามีระเบิดจริงคงขว้างใส่ไปแล้ว จะถือไว้ทำไม ทำแบบนี้ครอบครัวเสียใจมาก ยังไงก็จะให้เป็นตัวอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก”

อยากได้ความช่วยเหลืออะไรในเบื้องต้น

“อยากทำงานช่วยเลี้ยงดูแม่กับพ่อที่แก่ลงมากแล้ว ยิ่งตอนนี้ไม่ได้ไปทำอะไรเลย น้องสาวอีกคนก็อยากทำงานแต่วุฒิอนุปริญญาก็หางานยากมาก ให้ได้เป็นครูโรงเรียนเอกชนก็ยังดี ไม่ไกลจากบ้านมาก เพราะต้องกลับมาดูแลครอบครัวอีก”

“ส่วนโนมาเป็นคนไม่ค่อยออกสังคมนอกบ้าน น้องคนที่ 6 ก็เพิ่งกลับมาจากมาเลย์เพราะไปทำงานหาเงินจะเรียนหนังสือ กลับมาสมัครเรียนวิทยาลัยชุมชนยะลาแล้ว กำลังจะไปสอบคัดเลือกเหมือนกัน น้องทั้งสองอยากเรียนหนังสือมาก และน้องชายคนเล็กก็ยังอยู่ม.3 พี่ชายอยากให้ทุกคนได้เรียนสูงๆ แต่เมื่อไม่มีพี่ ตัวเองคงต้องมารับภาระนี้แทน เพราะคนอื่นๆแต่งงานมีครอบครัวกันแล้ว”

ลีน่า น้องสาวของซุไฮมีได้กล่าวไว้พร้อมสีหน้าสลดลง แต่ก็ดูมุ่งมั่นที่จะสานต่อหน้าที่นี้ของซุไฮมี ต่อไป