แนะวิธีสังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์

ขอบคุณภาพจาก cnet.com

Facebook แนะนำวิธีสังเกตข่าวปลอม-ข่าวลวงในโลกออนไลน์ เพื่อความมั่นใจก่อนแชร์

Facebook ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. แนะนำวิธีสังเกตข่าวปลอม ข่าวลวงบนโลกออนไลน์ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

1.ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนการแชร์เสมอ โดยพิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล ตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ ควรระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งมักจะใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน ว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ หรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ตรวจสอบเสมอว่าข้อมูลประกอบในบทความนั้น สนับสนุนเนื้อหาหลักของเรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ตรวจสอบวันที่ เพราะเรามักพบเห็นผู้คนแชร์ ‘ข่าว’ เก่าอยู่บ่อยครั้ง

2.อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุด เนื้อหาของข่าวปลอมมักประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด อีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำคือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม ‘นักอ่านเวลาน้อย’ ที่มักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์ต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการแทรกข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

3.แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเรา ก่อนที่จะระบุว่าเรื่องราวใดๆ ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่า อคติส่วนตัวของคุณไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม Facebook ระบุว่า จากข้อมูลการศึกษาของ YouGov ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Facebook พบว่า ในประเทศไทย มีเพียงจำนวนร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขามั่นใจว่าตัวเองสามารถระบุข่าวปลอมและโปรไฟล์ปลอมได้