กว่า 3 ทศวรรษแล้วที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ “ไทย-ซาอุดิอาระเบีย” อยู่ในภาวะตกต่ำ
ไทยและซาอุฯ เคยเป็นมิตรประเทศ ที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้น และอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันแก่กันมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานของไทยที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ 50 ปีก่อน
แต่หลังจากเกิดปัญหาต่อเนื่อง ทั้งคดีเพชรซาอุฯ, คดีสังหารนักธุรกิจ และการลอบสังหารนักการทูตซาอุฯ ประจำกรุงเทพ ความสัมพันธ์ 2 ชาติก็ถูกลดระดับลง กลายเป็นความเหินห่าง
ห้วงเวลาหลายสิบปีมานี้ได้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะฟื้นคืนความสัมพันธ์ให้กลับแน่นแฟ้นดังเดิม แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
ทว่าท่ามกลางการเฝ้ารอวันที่สถานการณ์ทุกอย่างจะคลี่คลาย ก็มีสัญญาณที่ดีบางอย่าง
ซึ่งหากจำกันได้ เมื่อปลายปี 2561 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดงาน Thailand Halal Assembly 2018 ขึ้น โดยงานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี เป็นการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ร่วมกับงานแสดงสินค้าฮาลาลจากทั่วโลก (Expo)
ในงานมีการเชิญองค์กรฮาลาลจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรด้านควบคุมมาตรฐานฮาลาลของกลุ่มประเทศมุสลิม OIC ที่องค์กรด้านฮาลาลของประเทศไทย คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 จากผลงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏ
ซึ่งในงาน THA 2018 ดังกล่าว องค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม (Muslim World Legue – MWL) หรือ อัล-รอบิเฏาะฮ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ราชอาณาจักรซาอุดี้อาระเบีย ได้ส่งผู้แทน คือ “ดร.อับดุลเราะฮ์มาน บิน อับดุลเลาะฮ์ อัล-ซาอิด” (Dr.Abdul Rahman bin Abdullah Al Zaid) มาร่วมเป็นเกียรติในงาน ตามคำเชิญของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และคณะผู้จัดงาน ที่ได้เรียนเชิญไว้ เมื่อได้ไปเยี่ยมเยียนที่ทำการ MWL ที่นครมักกะฮ์ เมื่อปีที่ผ่านมา
ซึ่งคณะผู้จัดงาน THA 2018 เพิ่งมาทราบจากสถานทูตราชอาณาจักรซาอุดี้ ฯ ในภายหลังว่า ดร.อับดุลเราฮ์มาน บิน อับดุลเลาะฮ์ อัล-ซาอิด ได้เดินทางมาในนามของ มกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซาลมาน และการตัดสินใจของท่านจะมีผลในเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ กับประเทศไทยด้วย
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า “ผมยอมรับว่า ตอนนั้นไม่ทราบว่าท่านมีความสำคัญระดับไหน เพราะเราไม่อาจตรวจสอบได้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สถานทูตราชอาณาจักรซาอุดี้ ฯ ได้แจ้งให้ทราบ โดยเฉพาะนักการทูตซาอุดี้ ฯ ประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาดูแลท่านตลอดช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่”
“เมื่อทราบความสำคัญของท่านแล้ว ทำให้คิดว่า การตัดสินใจของท่านจะมีส่วนสำคัญ ที่จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาอยู่ในระดับปกติ เป็นการใช้งานด้านฮาลาลเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน แม้ด้านการส่งออกจากไทยไปยังซาอุดี้ ฯ ยังมีผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะสามารถส่งผ่านจากประเทศอื่นๆ ได้ แต่ถ้าความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นไปในทางที่ดีกว่านี้ เราจะได้ประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะด้านแรงงาน ซึ่งเราได้แต่หวังว่า ความสัมพันธ์จะฟื้นตัวดีขึ้นในเร็ววัน”
ปัจจุบัน ซาอุดี้อาระเบีย ให้ความสำคัญกับเรื่องของฮาลาลมากขึ้น โดยมกุฎราชกุมาร บิน ซัลมาน ทรงเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ และผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ที่พยายามทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการค้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า “ในกรณีของซาอุดี้ ฯ เราต้องมองว่า เขามีความสำคัญในโลกตะวันออก เทียบเท่ากับสหรัฐ ฯ ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะเขามีอิทธิพลต่อโลกมุสลิม”
“ซึ่งในพิธีเปิดงาน THA2018 ดร.อับดุลเราะฮ์มาน แถลงว่า รัฐบาลซาอุดี้ ฯ จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของฮาลาล โดยการตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “บริษัทมักกะฮ์ อัล-มุกัรรอมะฮ์ ฮาลาล จำกัด” โดยให้ MWL หรือ อัล-รอบิเฏาะฮ์ เข้ามาดำเนินงาน และมีฝ่ายศาสนาจากหลายกระทรวงมาดูแล ต่อไปการส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปยังราชอาณาจักรซาอุดี้ ฯ จะต้องมีการดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งทางการซาอุดี้ ฯ ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการ นักการทูต และบุคคลอีก 6 กลุ่ม สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้อย่างสะดวกและอิสระ เรื่องของความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มนับ 1 แล้ว ในการที่จะกลับมาเป็นปกติ สัญญาณนี้เห็นได้ชัดหลังเสร็จสิ้นงาน THA2018 นับเป็นความปิติยิ่งของพวกเรา” ดร.วินัย กล่าว
รศ.ดร.วินัย กล่าวต่อว่า “อีกประการหนึ่งที่นับเป็นความน่ายินดี คือ ดร.อับดุลเราะฮ์มาน ได้กล่าวถึงเรื่องของการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น ที่ราชอาณาจักรซาอุดี้ อาระเบีย ซึ่งท่านได้กล่าวกับ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ว่า อาจจะต้องอาศัยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเริ่มต้นก่อตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นการส่งคนมาดูงาน หรือจัดให้ไปสนับสนุนโดยตรง โดยต้องการให้เริ่มโดยเร็วที่สุด ซึ่งผมก็ยินดีมาก”
“ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ชัดเจน เป็นความประสงค์สานสัมพันธ์ในระดับปกติกับไทยโดยใช้งานด้านฮาลาลเป็นสื่อ แม้จะยังไม่เป็นทางการ แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราก็พูดกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งเราก็อยากให้มีความร่วมมือในระดับปกติอยู่แล้ว รอแต่ให้ทางซาอุดี้ ฯ ยื่นมือมาเท่านั้น“
“และวันนี้สัญญาณต่าง ๆ ก็เริ่มชัดเจน ตรงนี้เราดีใจ ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัทมักกะฮ์ อัล-มุกัรรอมะฮ์ ฮาลาล จำกัด กับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในวันนั้น” รศ.ดร.วินัย กล่าวอย่างมีความหวัง
สัญญาณที่มีความสำคัญนี้ จึงกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีได้จุดประกายเริ่มต้นขึ้นแล้ว จากนี้ก็รอแต่ให้เติบโตอันจะนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนสองประเทศ!