สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง “ทิกริต” หลังไอซิสถูกขับไล่

เจ้าหน้าที่ของอิรักบอกว่า คู่อริระหว่างเผ่าในทิกริตถูกกระตุ้นให้ทำการจี้ปล้นและแก้แค้นกันอย่างหนักในช่วงนี้

(ภาพ) ทุกจังหวัดในอิรัก มีกองกำลังตำรวจประจำถิ่นที่ได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษจากประชาชนในจังหวัดนั้นๆ


 

aljazeera/แบกแดด – เหตุการณ์ลอบวางเพลิงและจี้ปล้นในเมืองทิกริตหลังจากที่กองทัพอิรักยึดเมืองนี้คืนมาได้จากนักรบของรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์(ไอซิล) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ทำให้เห็นเด่นชัดถึงความแตกร้าวกันอย่างลุ่มลึกระหว่างชนเผ่าซุนนีที่สนับสนุนไอซิลกับชนเผ่าซุนนีที่ต่อต้านมัน เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงในท้องถิ่นและในส่วนกลางกล่าว

เจ้าหน้าที่ของอิรักยังกล่าวอีกว่า ความแตกร้าวกันนั้นมีทีท่าว่าจะแบ่งแยกชุมชนซุนนีในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในการควบคุมของไอซิสออกจากกัน

บ้านเรือนหลายหลังและร้านค้าหลายแห่งถูกจุดไฟเผาหลังจากถูกปล้นโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเมืองทิกริต หนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของอิรักที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนี ซึ่งถูกกลุ่มไอซิสยึดได้เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว

กองกำลังรักษาความมั่นของอิรักมากกว่า 30,000 คน รวมทั้งกองกำลังอาสาสมัคร และกองกำลังจากหลายภาคส่วน ยึดคืนเมืองนี้มาได้ และขับไล่นักรบไอซิสหนีไปหลังจากต่อสู้กันนานหนึ่งเดือน

การปล้นจี้และการเผาร้านค้าและบ้านเรือนเกิดขึ้นกระจายไปในเมืองทิกริตและชานเมือง หลังจากกองกำลังผสมเหล่านั้นได้เข้ายึดคืนเมืองนี้ได้ทั้งหมดและปักธงของอิรักไว้บนอาคารต่างๆ เมือง เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงและผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสำนักข่าว

“บ้านหลายหลัง (ในทิกริตและชานเมือง) ถูกทำลายเสียหายด้วยการโจมตีทางอากาศหรือการระดมยิงปืนใหญ่ โดยกองทหารของเราและกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ เพราะมันเป็นที่ซุ่มของสไนเปอร์หรือเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของแกนนำดาอิช(ไอซิส)” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของตำรวจส่วนกลางบอกกับนักข่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อเพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยแก่สื่อ

“แต่การจงใจเผาบ้านเรือนและร้านค้าอื่นๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อกองกำลังซอลาฮุดดีนของตำรวจท้องถิ่นเข้ามาในเมือง พวกเขามุ่งโจมตีทรัพย์สินของสมาชิกกลุ่มดาอิชและผู้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มนั้น” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

ทุกจังหวัดในอิรักมีกองกำลังตำรวจประจำท้องถิ่นที่ได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษจากประชาชนในจังหวัดนั้นๆ

เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงบอกกับสำนักข่าวว่า กองกำลังตำรวจซอลาฮุดดีนโดยพื้นฐานจะประกอบไปด้วยลูกหลานผู้ชายของเผ่าต่างๆ ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลในการทำสงครามต่อต้านไอซิล

เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางบอกว่า กองทหารอาสาสมัครชีอะฮ์ “บางส่วน” ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์เผาและปล้นในทิกริต พวกเขาส่งเสริมผู้กระทำผิดให้ทำการเผาและปล้นมากขึ้นด้วยการทำเมินเฉย

“สิ่งที่เกิดขึ้นในทิกริตคือการแก้แค้น… บ้านเรือนและร้านค้าหลายร้อยแห่งในอัลบู อาเจล และอัล-ดูร ถูกปล้นและเผาโดยคนแทรกซึมที่ทำงานภายใต้ความคุ้มครองของกลุ่มPopular Mobilisation” ซียับ อัล-อาเจลี ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีซุนนี จากเผ่าอัลบู อาเจล บอกกับสำนักข่าว

“ข้อมูลของเราบ่งบอกว่าผู้กระทำผิดหลายคนมาจาก(ซอลาฮุดดีน) เป็นส่วนใหญ่ แต่พื้นที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอาสาสมัคร และไม่มีใครสามารถทำอะไรได้โดยไม่มีความช่วยเหลือของพวกเขา” อาเจลีกล่าว

ผู้เห็นเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกกับสำนักข่าวว่า บ้านเรือนและร้านค้าที่ถูกปล้นและเผาในเมืองทิกริตและชานเมืองส่วนใหญ่เป็นของอดีตแกนนำระดับสูงของพรรคบาธ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอิรัก และสมาชิกของเผ่าอัลบู อาเจล, อัลบู นัสเซอร์ (เผ่าของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุซเซน ผู้ล่วงลับ) และอัลบู บัดร์ (เผ่าของผู้นำสูงสุดของไอซิล อบูบักร์ อัล-บักดาดี) เผ่าเหล่านี้ถูกกล่าวหาจากมุสลิมชีอะฮ์ว่าทำการสังหารหมู่ที่ค่ายสปีเชอร์ ซึ่งทหารอิรักประมาณ 1,700 คน ถูกกลุ่มไอซิลสังหารเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วในเมืองทิกริต

cebb525d20be4e7abce80d17404b94ad_19(ภาพ) ครอบครัวชาวอิรักที่ถูกขับไล่เดินทางกลับบ้านในเมืองทิกริต


 

นายกรัฐมนตรีฮัยเดอร์ อัล-อับบาดี ของอิรัก ได้สั่งให้ทหารของกลุ่มอาสาสมัครออกจากเมือง และส่งมอบหน้าที่การรักษาความมั่นคงคืนให้แก่ตำรวจท้องถิ่น เพราะมีการกล่าวหามุ่งมาที่กองกำลังอาสาสมัครชีอะฮ์ ซึ่งเป็นแกนหลักของกองทหารอาสา

อย่างไรก็ตาม คำให้การของเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกเผาบอกเล่าเรื่องที่ตรงกันข้าม

“คนที่เผาบ้านของผมเป็นคนหนุ่มจากทิกริต ผมรู้จักเขาดี พวกเขา(กองทหารอาสาสมัครชีอะฮ์) ไม่รู้จักตัวเจ้าของบ้านและร้านเหล่านี้ แล้วพวกเขาจะเผามันได้อย่างไร?” อาลาอฺ นาชูอา อดีตสมาชิกอาวุโสพรรคบาธ บอกกับสำนักข่าว

“ทหารอาสาเหล่านี้ให้การคุ้มกันผู้กระทำผิดที่มาจากทิกริตและอัล-อาลัม เพื่องัดแงะเข้าไปในบ้านหรือร้านค้าเพื่อปล้นและเผาในภายหลัง” นาชูอา กล่าว “(ผู้กระทำผิด) ถูกกระตุ้นจากความแค้นส่วนตัวปฏิบัติกับทุกคนเหมือนผู้สนับสนุนดาอิช(ไอซิส)

เมืองทิกริต (ซึ่งตั้งอยู่ที่ 160 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของแบกแดด และถูกเรียกว่าบ้านเกิดของซัดดัมด้วย) มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าซุนนี  ซึ่งส่วนใหญ่เคยมีเอกสิทธิ์พิเศษหลายเรื่องในสมัยของซัดดัม ตำแหน่งระดับสูงส่วนใหญ่ในเวลานั้นก็เป็นของลูกหลานผู้ชายของพวกเขา

แต่หลังจากซัดดัมถูกโค่นอำนาจ เผ่าต่างๆ ได้กลายเป็นปรปักษ์กับผู้ปกครองคนใหม่ในแบกแดด สมาชิกจำนวนมากเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏซุนนีที่ต่อต้านการยึดครองอิรักของสหรัฐฯ และรัฐบาลใหม่ในแบกแดดที่นำโดยชีอะฮ์ เพราะพวกเขารู้สึกถูกกันให้อยู่ชายขอบและตกเป็นเป้าของระบบการเมืองใหม่

นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า เผ่าซุนนีอื่นๆ เช่น เผ่าอัล-จูโบร์เคยถูกกันให้อยู่ชายขอบภายใต้การปกครองของซัดดัม ภายหลังยุคของซัดดัม อัล-จูโบร์ได้มาเข้าร่วมกับรัฐบาล

“ความเกลียดชังถูกฝังรากลึกอยู่ระหว่างเผ่าต่างๆ เหล่านี้ และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดคืนเมืองทิกริตได้เป็นโอกาสเอาคืนกันระหว่างสองฝ่าย(ซุนนีที่สนับสนุนไอซิส กับซุนนีที่ต่อต้านไอซิส)” ลาตีฟ กอรีบ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระกล่าว “หัวหน้าเผ่าและเจ้าหน้าที่หลายคนของเผ่าอัล-จูโบร์ ถูกสังหารโดยอัล-กออิดะฮ์และดาอิชในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และตอนนี้พวกเขาเชื่อว่ามันถึงเวลาที่จะแก้แค้นแล้ว”

อัล-จูโบร์เป็นเผ่าแรกและเผ่าใหญ่ที่สุดที่เข้าร่วมกับกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิรักในการต่อสู้กับไอซิสในจังหวัดซอลาฮุดดีนและพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว พวกเขาเป็นหน่วยหนึ่งของกองกำลัง Popular Mobilisation ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2003 บุคคลสำคัญของเผ่าได้ครองตำแหน่งสำคัญส่วนใหญ่ในการปกครองส่วนท้องถิ่น
มาโรน อัล-จบารา โฆษกสภาจังหวัดซอลาฮุดดีน และหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในเผ่าอัล-จูโบร์ บอกกับสำนักข่าวว่า รูปและชื่อของบุคคลที่ถูกต้องการตัว ผู้เป็นสมาชิกของไอซิลหรือผู้ให้ความร่วมมือถูกส่งกระจายไปยังจุดตรวจรักษาความปลอดภัยทั้งในและรอบเมืองซอลาฮุดดีน

“คนที่ถูกต้องการตัว (โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิรัก) จะไม่กลับมา (ที่ซอลาฮุดดีน) และแม้แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ไม่กล้ากลับมา เพราะกลัวจะถูกแก้แค้น” จบารา กล่าว

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า พื้นที่ต่างๆ ที่ถูกปลดปล่อยในซอลาฮุดดีนกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางประชากร เพราะเผ่าอัล-จูโบร์จะไม่อนุญาตให้ครอบครัวที่ถูกขับไล่ไปของเผ่าที่สนับสนุนไอซิลกลับมาบ้านของพวกเขา เรื่องนี้จะนำไปสู่การรื้อถอนชุมชนชาวซุนนีในซอลาฮุดดีนและจังหวัดอื่นๆ ในไม่ช้าก็เร็ว

“ชุมชนชาวเผ่าซุนนีในอิรักมีความซับซ้อนและมั่นคงมาก ชนเผ่าซุนนีอื่นๆ (นอกเมืองซอลาฮุดดีน) กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่การต่อสู้ในภายหลังอาจจะเกิดขึ้นระหว่างเผ่าเหล่านี้ (เผ่าที่สนับสนุนไอซิล และเผ่าที่ต่อต้านไอซิล)” กอรีบ กล่าว “สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสงครามที่รัฐบาลทำกับดาอิชอย่างแน่นอน”