อุสตาซอับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
จากการรายงานของสื่อทั่วโลกถึงเหตุกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้า โจมตีสำนักงานของ “ชาร์ลี เฮบโด” ปฏิบัติการสังหารตัวประกันของ ISIS ทำให้มีกระแสต่อต้านมุสลิมในตะวันตก หรือแม้กระทั่งประเทศไทยที่ประท้วงการก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดน่านเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งนักวิชาการเรียกปรากฏการนี้ว่า โรคหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) อย่างเหมารวมทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยแต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมุสลิมด้วยเช่นกัน
ความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia)
ความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) เป็นศัพท์ใหม่ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และได้รับการนิยามในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง เกี่ยวกับความมีอคติที่มีต่อชาวมุสลิมในฐานะปีศาจร้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แสดงถึงท่าทีในเชิงลบ, ความรุนแรง, ความรู้สึกกลัดกลุ้ม, การแบ่งแยก, และทัศนคติตายตัว
สำหรับศัพท์คำนี้ย้อนวันเวลากลับไปได้ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 หรือช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แม้ว่ามันจะถูกนำมาใช้มากขึ้นนับจากเหตุการณ์การโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมาก็ตาม
นายโคฟี อานันน์ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวกับที่ประชุมยูเอ็นในปี 2004 ว่า “เมื่อโลกได้ถูกบีบบังคับให้ประดิษฐ์ศัพท์คำใหม่คำหนึ่งขึ้นมา เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกหรือความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลที่แพร่กระจายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นความน่าเศร้า และกำลังสร้างปัญหาต่อการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่นกรณีเกี่ยวกับคำว่า”อิสลาโมโฟเบีย”(Islamophobia – ความหวาดกลัวอิสลาม) เป็นต้น
แนวความคิดนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ในด้านหนึ่งนั้น นักวิจารณ์บางคนมองอิสลาโมโฟเบียในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รูปแบบเก่าๆ ของเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม(racism) ยกตัวอย่างเช่น Anja Rudiger หัวหน้าผู้ประสานงานของศูนย์ European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia, (ศูนย์ดูแลตรวจสอบยุโรปเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์นิยมและความรังเกียจคนต่างชาติ) ได้ให้เหตุผลว่า มันไม่มีการยอมรับอีกต่อไปแล้วที่จะใช้เรื่องของสีผิวในฐานะที่เป็นเหตุผลหรือคุณลักษณะการแบ่งแยกผู้คน ปัจจุบัน ศาสนา-วัฒนธรรม ดูเหมือนว่าได้กลายมาเป็นเครื่องหมายต่างๆ ของการจำแนกแตกต่างโดยธรรมชาติ” เธอได้บันทึกว่า อิสลามได้กลายเป็นคนอื่นใหม่(the new other)ขึ้นมา…”
หลายคนได้เรียกมันว่าเป็นมายาคติ โดยให้เหตุผลอ้างอิงถึงความสับสนในอิสลาโมโฟเบีย การวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรมเกี่ยวกับอิสลามด้วยความคิดแบ่งแยก(discrimination) ต่อชนชาวมุสลิมทั้งหลาย และบางครั้งบางคราว โลกได้ถูกชักนำไปในหนทางที่ผิดๆ เพื่อโจมตีความเป็นปรปักษ์ทั้งหมดของลัทธิอิสลามหัวรุนแรง (Islamic radicalism)
(กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน : เรียบเรียง ต้นฉบับ Islamophobia บางส่วนจากสารานุกรม นำมาจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Islamophobia)
ความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) ในโลกตะวันตก
ความเป็นจริงแล้วความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia)แบบเหมารวม ในโลกตะวันตกมิใช่มีกระแสแรงช่วงชาร์ลีเอปโด ปฏิบัติการณ์ISIS แต่มันเคยจุดติดหลังการก่อการร้ายครั้งสะเทือนโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ.2544)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 มีผลสำรวจของแกลลัพ โพลล์ (Gallup Poll) ซึ่งได้สอบถามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พบว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 22% ไม่ต้องการมีเพื่อนบ้านเป็นชาวมุสลิม และ 34% เชื่อว่า ชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ และ 39% เสนอว่าชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ควรมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ทำขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย
ส่วนในยุโรปเช่นอังกฤษหลังระเบิดรถไฟใต้ดินสามแห่ง และรถประจำทางสองชั้นคันหนึ่งในกรุงลอนดอน เมื่อช่วงเวลารีบด่วนของสายวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2548 ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงบาดเจ็บอีกเกือบพันคน และเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดิน และรถประจำทาง 4 จุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ได้สร้างความไม่พอใจของคนอังกฤษต่อมุสลิม ในประเทศอังกฤษจำนวนมาก จนทำให้เกิดการทำลายศาสนสถาน มัสยิด หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต ละทรัพย์สิน ใครที่เป็นมุสลิมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากตำรวจและหน่วยสืบราชการลับ
หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ได้รายงานว่า หน่วยงานราชการอย่างกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ยังได้ขอความร่วมมือคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอังกฤษ คอยจับตานักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงหรือสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย. ในสเปน ก็มีการทำผลการสำรวจในปีที่ผ่านมาของ”สถาบันแอลคาโน”ในสเปน ซึ่งระบุว่า ชาวสเปนถึง 68% มองว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมแห่งความรุนแรง และอีก 74% เชื่อว่าได้เกิดการปะทะทางอารยธรรมระหว่างประเทศตะวันตกและโลกมุสลิมแล้ว
ในอิตาลี, ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี, ผู้นำอิตาลี ได้เคยกล่าวถ้อยแถลงแสดงความไม่พอใจกลุ่มมุสลิมหลายครั้ง และยกย่อง อารยธรรมตะวันตกว่ามีความเหนือกว่าอารยธรรมอิสลาม. ในออสเตรเลียผลการสำรวจของแกลลัพ โพลล์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ เฮอรัลด์ ซัน ในออสเตรเลีย เมื่อประมาณปี 2551 ระบุว่า คนออสเตรเลีย 4 ใน 10 เชื่อว่าศาสนาอิสลามถือเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิต และ 1 ใน 3 คน ยอมรับว่ารู้สึกกลัวชาวมุสลิมมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2544 ที่สหรัฐฯ เป็นต้นมา
ความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) ในประเทศไทย
นั่นคือภาพรวมของคำว่าอิสลามโฟเบียในอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน อิสลามโฟเบียกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะล่าสุด(1 มี.ค.58)มีการประท้วงการก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดน่าน
พี่น้องชาว จังหวัดน่านส่วนหนึ่ง ต่อต้านการสร้างมัสยิด ของพี่น้องมุสลิม ด้วยการอ้างเหตุผลว่า ” ชาวน่านไม่เอามัสยิด เพราะหวั่นกระทบพุทธศาสนาเอกลักษณ์เมืองน่านพร้อมเรียกร้องว่าหาก ไม่มีใครฟังจะมีประท้วงหนักขึ้นอีกแน่ ”
ความเป็นจริงความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) ในประเทศไทยมิใช่พึ่งเกิดหากเราติดตามข่าวจะพบว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตัวอย่างคณะสงฆ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์จำนวน 20 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณขณะนั้น แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าว มีการเสนอให้ยุติบทบาทการทำงานของ”
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ”หรือ(กอส.) รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง โดยมักเข้าข้างและเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและมุสลิม. ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นบทสะท้อนความรู้สึกพระสงฆ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อบทบาทการแก้ปัญหาความไม่สงบ ในฐานะศิษย์ตถาคตผู้เฝ้าดูการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความนิ่งเงียบมานาน เป็นเสียงสะท้อนที่ทุกฝ่ายไม่อาจดูดาย “พระมหาภูษิต ฐิตสิริ” พระนักเทศชื่อดังและครูสอนนักธรรมแห่ง “วัดพระศรีมหาโพธิ์” ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอส. ช่วงที่ผ่านมาว่า…”เกิดปัญหาขึ้นแต่ละครั้งจะสอบถามคนไทยพุทธไม่ค่อยจะมี ถามแต่คนมุสลิม หากคนไทยพุทธเกิดปัญหาจะไม่มีอะไรมากนัก เสนอข่าวแล้วก็เงียบไป แต่พอเกิดกรณีกรือเซะ ตากใบ ทำไมยกปัญหาขึ้นมาดีเด่นซึ่งตรงนี้มันก็ดี แต่ยกเป็นเรื่องสำคัญมากเกินไป” …”ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาบ่นว่าทีคนไทยพุทธโดนทำร้ายทำไมไม่ให้ความสำคัญ บางคนบ่นว่าเขาไปสมานฉันท์แต่ฝ่ายอื่น ส่วนตัวอาตมาไม่ได้คิดอะไรมาก การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นระบบที่เอื้อต่อการเมือง แม้ไม่มีใครมาให้ความสนใจแต่เชื่อว่าในหมู่ชาวไทยพุทธจะดูแลไม่ทอดทิ้งกัน”
จากความคิดของคณะสงฆ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนความตึงเครียด ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันจนนำไปสู่ความแค้นระหว่างประชาชนมุสลิม-พุทธ (ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์, และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา,ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549และมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มชาวพุทธจังหวัดชายแดนใต้ ที่เรียกร้องให้เผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา ถึงแม้จะมีเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพไม่เห็นด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อใจไทยมลายูมุสลิม มุสลิมหวั่นระแวงว่าไทยพุทธจะมองในแง่ร้าย ไทยพุทธสงสัยความบริสุทธิ์ใจของไทยมลายูมุสลิม มุสลิมสูญเสียความเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรมของฝ่ายบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สายสัมพันธ์ระหว่างคนทุกฝ่ายในสังคมก็คงพังลงไปอย่างไม่มีชิ้นดี
เหตุการณ์ความเคียดแค้นไม่เพียงจำกัดอยู่ในพื้นที่ ชายแดนใต้ แต่คนนอกพื้นที่ที่ทำกับรถซึ่งมีป้ายทะเบียนจากคนสามจังหวัด เมื่อไปจอดนอกพื้นที่สามจังหวัดก็เคยเกิดหลายครั้ง เว็บบอร์ดที่แสดงความคิดเห็นผ่านอินเตอร์เน็ตดูถูกเยียดยามตอบโต้ไปมาของคนสองศาสนาระหว่างพุทธ-มุสลิม ผ่านเวบบอร์ดนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนตลอด
ปี2549อิสลามโฟเบียเริ่มขยายสู่ภาคเหนือโดยพยายามดึงสู่เหตุการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติภายใต้การนำของนายทหารมุสลิมชื่อพล.อ.สนธิ บุณยรัตกรินทร์. โดยมีใบปลิว, สิ่งพิมพ์, ซีดีรอม, เผยแพร่ในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง โดยผู้อ้างตัวว่าเป็น ‘ชาวพุทธ’ และ ‘พระสงฆ์’ มีเนื้อหาโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าเป็นรัฐบาลของมุสลิม, เพราะประธาน คมช. เป็นมุสลิม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็เป็นมุสลิม. ส่วน พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ไม่ใช่รัฐบาลของคนไทยแต่เป็นรัฐบาลของมุสลิม รัฐธรรมนูญที่กำลังจะทำขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นรัฐธรรมนูญของอิสลาม ดูได้จากการที่นายกรัฐมนตรีที่ออกมาขอโทษมุสลิม หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นานนั้นและเมื่อ 11 มกราคม.2550 ได้มีจดหมายเวียน ที่ทำลักษณะใบปลิวเผยแพร่ไปยังเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ หลังเผยแพร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องลงมาในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจดหมายมีเนื้อหา 3 หน้ากระดาษ ใจความหลักๆ โจมตี “ผู้มีบารมี” โดยหยิบยกศาสนา มาเป็นประเด็นให้คนในชาติแตกแยก โดยผู้จัดการออนไลน์อ้างว่า ตัวอย่างจดหมายล่าสุด จ่าหน้าซองถึง พระครูสถิตธรรมญาณ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยผู้ส่งคือ ปฐวี ศิริธรรม 342/45 หมู่บ้านนภาทรัพย์ ถ.พุทธมณฑลสาย 2 ตลิ่งชัน กทม. 10170 เนื้อหาใจความหลักๆ ระบุว่า…
เรียน ท่านองคมนตรี ข้าราชบริพาร คณะรัฐมนตรี ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและประชาชน
เมื่อนายพลเฒ่า ผู้หลงเงาตนเองว่าเป็นผู้มีบารมี ยกมุสลิมขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นไทย นายกฯ คนดี แต่ไม่มีไหวพริบยอมซูฮกให้มุสลิมอย่างศิโรราบด้วยนโยบายสมานฉันท์ ใช้ทีวีช่อง 5 ออกรายการโชว์โฆษณามุสลิมทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 เวลา 3-4 ทุ่ม ผบ.ทบ และประธาน คมช. มีอำนาจจะสั่งการอะไรก็ได้ทั่วประเทศ เป็นมุสลิม รมว.มหาดไทยก็เป็นมุสลิม ก้าวต่อไปเขาคือ ยึดอำนาจอธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญ และวัดกำลังราชการ ทหาร ตำรวจ ว่า จะต้านทานต่อการร้ายได้หรือไม่ เมื่อเห็นว่า ไทยพุทธบ่มิไก๊ ก็ลงมือทำการวินาศกรรมถึงใจกลางกรุงเทพ เมื่อ 31 ธันวาคม แล้วก็โยนความผิดให้ผู้สูญอำนาจ เพื่อจะได้ใช้เงิน 500 ล้านบาท ตามงบประมาณที่ขอรัฐบาล …
นอกจากนี้ยังระบุท้ายจดหมายอีกว่า ถึงเวลาที่พวกเราทั้งหลายผนึกกำลัง ขับไล่ให้พ้นแผ่นดิน ตบท้ายด้วย …ตื่นเถิดชาวไทย ลงชื่อ ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์… พร้อมเขียนต่อท้ายอีกว่า ปล. ช่วยถ่ายเอกสารนี้ส่งต่อให้บุคคลผู้รักชาติทราบทั่วถึง เพื่อป้องกันอธิปไตยของไทยให้มั่นคงด้วย
(โปรดดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=6583&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai)
บทสรุปและทางออกของปัญหา
กล่าวโดยสรุป หากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในสังคม แน่นอนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็จะแสดงถึงความหมางเมินเหินห่าง เป็นร่องรอยของความไม่กลมเกลียวระหว่างคนแต่ละฝ่ายในสังคม เกิดความแตกแยก บั่นทอนความสมานฉันท์นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าวเริ่มต้นจากความ “ไม่รู้” ที่บานปลายจนเห็นคนอื่นเป็น “คนแปลกหน้า” ถึงขั้นที่หวาดระแวงอย่างลึกซึ้ง
สำหรับทางออกของปัญหา
หนึ่งการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือ มุสลิมเองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี กล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อประพฤติไม่ดี
การที่สังคมนอก ที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าใจสิ่งดังกล่าวโดย ใช้คำว่า มุสลิมหัวรุนแรง, กลุ่มก่อการร้ายมุสลิม, เครือข่ายก่อการร้ายมุสลิมสากล ถึงแม้มุสลิมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้เมื่อสื่อไทยหรือเทศ รายงานข่าวหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเองจะต้องยอมรับคือ มีมุสลิมส่วนหนึ่งจริงๆ (ส่วนน้อยของประเทศไทย หรือทั่วโลก) เป็นผู้ปฏิบัติการ
ศาสนิกชนต้องกล้าวิจารณ์และก้าวให้พ้นจากการเป็นพวกเขาพวกเรา หรือขยายความเป็นพวกเราให้กว้าง คือต้องคิดว่าทุกศาสนาเป็นเพื่อนกัน ต้องเป็นกัลยาณมิตร ตอนนี้มีความไม่สมมาตรคือศาสนิกชนไม่กล้าวิจารณ์ตัวเอง ไม่กล้าวิจารณ์ความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น ความมีทิฐิทางความเชื่อและอุดมการณ์ในกลุ่มตนจนสุดโต่งหรือ “อะสอบียะห์” ในภาษาอาหรับซึ่งศาสฑูตมุฮัมมัดเคยสาปแช่งไว้
“พวกเจ้าจงระวังความคลั่งในศาสนา เพราะแท้จริงสิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนต้องพินาศก็คือ ความคลั่งในศาสนานั่นเอง”
แนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาในหมู่มุสลิมย่อมมีปัจจัยเกื้อหนุน ชัยคฺ ศ.ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์) ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IUMS) ยอมรับในแนวคิดสุดโต่งในหมู่มุสลิมเองและกล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ของแนวคิดสุดโต่งและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามาจาก
1.การขาดแนวคิดสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้แนวคิดอิสลามสายกลางเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้องแทนที่พวกเขาจะทำตัวไม่เปิดเผย ซึ่งการขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา
2.การขาดอุละมาอฺ (นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น (ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) พวกเขาได้หายไปจากสนามแห่งนี้ จึงเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติที่ถูกเรียกว่าอุละมาอฺซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัยคฺ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน
3.การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคมเป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง
นอกจากนี้การปฏิรูปวิชาอิสลามศึกษา ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจำเป็นยิ่งโดยทำอย่างไรให้อิสลามศึกษา มีส่วนในการพัฒนาวิชาการ เยาวชน การร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ข้อได้แก่
1. อิสลามศึกษาจะนำไปสู่สันติสุข และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมวลมนุษยชาติ
ประการที่ 2 อิสลามศึกษา จะมีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านศาสนาและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน และอนาคตของเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป
ประการที่ 3 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงความมั่นคงและความยุติธรรมทางสังคมด้วย
ประการที่ 4 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมุสลิม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองของโลก
ประการที่ 5 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมในเรื่องโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกประชาคมมุสลิม และเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้ตระหนักถึงสันติภาพ และป้องกันแนวคิดหลักศาสนาที่สุดโต่งและบิดเบือน
ไม่เพียงปัจจัยภายในมุสลิมแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกทั้งจากโลกตะวันตก การวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสนทูตมุฮัมมัดภายใต้เสรีภาพ รัฐบาลกลางของไทยใช้นโยบายการทหารนำการเมืองที่ทำให้ผลักให้วัยรุ่นเข้าร่วมจับอาวุธหรือเข้าร่วมกับแนวคิดสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาจากการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้เช่นกัน
การแก้ปัญหาก็คือ ทุกศาสนิกต้องกล้าที่จะวิจารณ์ตัวเองว่า ในศาสนิกของเราบางคนมีความผิดพลาด ต้องไม่ยึดติดกับการเป็นพวกเรา ตอนนี้ยึดติดตรงนี้มาก พอเป็นพวกเราก็ไม่วิจารณ์ แต่วิจารณ์ศาสนิกอื่น ที่ผ่านมา หากคนในศาสนาเรามีความผิดพลาดเรามักปกป้อง ไม่ยอมพูดว่าคนของเราทำความผิดพลาดอะไรบ้าง เราต้องไม่ปกป้องและไม่ควรกลัวพวกเขาด้วย
สถานการณ์ในขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งในพุทธศาสนิกชนและอิสลามิกชน มีอยู่ในบางบุคคล แต่ศาสนิกชนไม่กล้าท้วงติงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะกลัวถูกวิจารณ์ กลัวการถูกโจมตี จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะกลุ่มเหล่านี้กำลังถูกพวกหัวรุนแรงคลั่งชาติ คลั่งลัทธิศาสนาผูกขาดความคิดของสังคม กลุ่มผูกขาดนี้จะเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ และขยายให้ใหญ่โต ศาสนิกชนต้องกล้าท้วงติง ไม่มีการปกป้อง และต้องทำด้วยความเมตตา ทำด้วยสันติภาพ ทำด้วยความเข้าใจ
สอง การหนุนเสริมแนวคิดสายกลาง
ศาสตราจารย์ ดร.อิรฟาน อับดุลฮาหมีด ฟัตาห์ อาจารย์ประจำวิชาศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย ได้บรรยายให้ นิสิตปริญญาเอก(รวมทั้งผู้เขียนในปี 2548 ) วิชาศาสนาเปรียบเทียบว่า
“แต่ละศาสนาจะมีศาสนิกอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้เป็นแนวคิดสุดโต่ง 2.ผู้ที่ละเลยต่อศาสนา 3.ผู้มีแนวคิดสายกลาง กลุ่มที่หนึ่งและสอง จะนำความเสื่อมเสียให้กับสังคมและเป็นภัยคุกคามต่อโลก ในขณะที่ผู้ที่มีแนวคิดสายกลางจะนำความผาสุกและสันติสุขต่อโลกนี้”
ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่ละเลยต่อศาสนา(บางคน) ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาได้ใช้ และละเว้นในสิ่งที่ศาสนาห้าม ส่วนมากกลับมีบทบาทมากในสังคม และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะและการออกกฎหมายของประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในองค์กรของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่ทำมาค้าขาย(ที่เกี่ยวกับปัจจัยยังชีพของประชาชน) แน่นอน กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่สนใจในธรรมมาภิบาล กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าหาศาสนาบ้างก็ในแง่พิธีกรรมเท่านั้น เช่น เมื่อขึ้นบ้านใหม่และตาย ก็จะเชิญผู้นำศาสนามาทำพิธีกรรม เป็นต้น แต่แนวทางการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลับไม่นำศาสนามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
การขับเคลื่อนแนวคิดสายกลางผ่านวิธีการดังนี้เช่น
1. นำแนวคิดสายกลางไปเผยแผ่ในองค์กรตนเองและนอกองค์กร
2. เผยแผ่แนวคิดทางสายกลางให้องค์กรต่างๆทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
3. จัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยแนวคิดลายกลางนานาฃาติและประจำประเทศไทย
4. จัดอบรมสัมมนาแนวคิดสายกลางระดับนานาชาติและระดับประเทศ
ทำสรุป แปลเนื้อหาที่ได้รับการอบรมและตีพิมพ์
5. ปรับปรุงหลักสูตรอิสลามศึกษาโดยใช้แนวคิดสายกลางขับเคลื่อนทุกระดับ
6. จัดทำสื่อทุกรูปแบบในการรณรงค์แนวคิดสายกลางร่วมทำงานร่วมกับศูนย์ชัยค์อัลก็อรฎอวีย์
สามศาสนเสวนาหรือสานเสวนา
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของสันติวิธีที่จะต้องรีบทำคือ “ศาสนเสวนามุสลิม-พุทธ-และต่างความเชื่อ-วัฒนธรรม” ศาสนเสวนาหรือสานเสวนา จะต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคาม”อัตลักษณ์”ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมุ่งให้ผู้ร่วมศาสนเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ หรือบีบบังคับ ไม่มีการโน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตน หากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน
อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่าท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล
(โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ .16 : 125) และอัลลอฮฺเจ้ายังได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานอีกความว่า “ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา” (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2 : 256 )
สี่หนุนเสริมกระบวนการสร้างทักษะทางวัฒนธรรม
ทักษะวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่ง“การบริหารจัดการวัฒนธรรม” (Cultural management) ที่ต้องการสร้างให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่าและมีทักษะว่า “เขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร” (do and don’t) มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งชีวิตสำหรับผู้คนที่เห็นถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน
ทักษะทางวัฒนธรรมของผู้คนจะเป็นกุญแจสำคัญให้ผู้คนโดยเฉพาะข้าราชการ ทหาร และพลเรือนที่ไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนผู้คนทั่วไปซึ่งมีความกระหายใคร่รู้ในวิถีชีวิตของผู้คนได้ตระหนักในศักยภาพของการทำงานในมิติวัฒนธรรมเพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและหันกลับมาพัฒนาทักษะทางวัฒนธรรมของตนเอง
ทักษะทางวัฒนธรรมข้างต้นทำให้แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นต่อความสงสัยขั้นพื้นฐาน อาทิ ทำไมมุสลิมต้องละหมาด ทำไมมุสลิมต้องสร้างมัสยิด ทำไมคนมุสลิมไม่ทานหมู ทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมศรีษะ และทำไมมุสลิมถึงต้อง……ในขณะเดียวกันมุสลิมจะได้ทราบว่าทำไมคนพุทธต้องสร้างวัด ไหว้พระ ตลอดจนทำไมคนพุทธจึงกลัวมุสลิมจนเกิดการต่อต้านในที่สุดอย่างเหตุการณ์การประท้วงสร้างมัสยิดที่น่านอาจจะทำให้มุสลิมจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการกระทำสิ่งใดถึงแม้จะเป็นคำสั่งใช้ของศาสนาแต่เมื่ออยู่อีกชุมชนหนึ่งมุสลิมอาจต้องเพิ่มการสร้างความเข้าใจจนเกิดความไว้วางใจและในหลักการอิสลามก็มีเรื่องยืดหยุ่นพอตราบใดที่ไม่ทำให้ผิดหลักศาสนา