25 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง เพราะเป็นวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามรับรองให้ที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล
การตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่อิสราเอลกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ อันเป็นการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลถูกท้าทายอย่างมาก เรียกได้ว่ากำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จนดูเหมือนว่าการลงนามรับรองที่ราบสูงโกลานให้เป็นของอิสราเอลโดยประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นเหมือนการช่วยนายกรัฐมนตรีอิสราเอลหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผมขออนุญาตวิเคราะห์ถึงความสำคัญของที่ราบสูงโกลานในสายตาของอิสราเอลก่อน
1. พื้นฐานความขัดแย้งเหนือที่ราบสูงโกลาน
ที่ราบสูงโกลานมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1800 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพรมแดนอิสราเอลและซีเรีย อิสราเอลได้เข้ายึดครองพื้นที่นี้มานับตั้งแต่กลุ่มประเทศอาหรับพ่ายแพ้สงครามให้อิสราเอลเมื่อปี 1967 หรือรู้จักกันในชื่อ “สงคราม 6 วัน”
อิสราเอลไม่ได้ยึดพื้นที่นี้ได้ทั้งหมด เพราะดินแดนที่ราบสูงโกลานประมาณ 600 ตารางกิโลเมตรก็ยังเป็นของซีเรีย แต่ถึงอย่างนั้น อีก 1200 ตารางกิโลเมตรที่อิสราเอลเข้ายึดครองได้ล้วนแต่เป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารและมีความอุดมสมบูรณ์
ในการยึดครองที่ราบสูงโกลาน อิสราเอลมีเป้าหมายหลายประการครับ แต่ที่สำคัญสุด 2 ประการคือ อิสราเอลต้องการขยายพื้นที่พรมแดนของประเทศออกไปให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้ที่ราบสูงโกลันเป็นเขตกันชนระหว่างตนเองกับซีเรีย ซึ่งถือเป็นรัฐศัตรูคู่อริกันมาช้านาน
การที่โกลานเป็นดินแดนที่สำคัญต่ออิสราเอลเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีการตั้งคำถามกันจริงจังมากขึ้นว่า จริง ๆ แล้วใครกันแน่ที่เป็นคนก่อสงครามในปี 1967 ? ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของตะวันออกกลางก็คือ อิสราเอลเป็นฝ่ายจู่โจมชาติอาหรับแบบฉับพลัน โดยไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้มีเวลาตั้งตัว
อิสราเอลอ้างมาตลอดว่า การจู่โจมของตนเองไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงความก้าวร้าว หรือเป็นการกระทำที่เป็นอันธพาล เข้าไปยึดบ้านยึดเมืองคนอื่น แต่เป็นการชิงโจมตีก่อน (pre-emptive military campaign) เพื่อเป็นการปกป้องรัฐเกิดใหม่ที่ยังอ่อนแอของตน
2. การปะทะเผชิญหน้าเหนือที่ราบสูงโกลาน
นับตั้งแต่อิสราเอลเข้ายึดที่ราบสูงโกลานหลังสงคราม 6 วันปี 1967 ก็เกิดการปะทะเผชิญหน้าและการยิงตอบโต้ตามแนวชายแดนระหว่างอิสราเอลกับซีเรียมาตลอดเป็นระยะ ๆ แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้บานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ประเทศ
สมรภูมิเดียวที่เหมือนจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าทำสงครามระหว่างกันคือในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 1973 ซึ่งฝ่ายอาหรับเรียกว่า “Ramadon War” หรือสงครามเดือนรอมฎอน เพราะสงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนถือศีลอดของอาหรับ-มุสลิมพอดี แต่อิสราเอลจะเรียกสงครามครั้งนั้นว่า “Yom Kippur War” หรือสงครามยมคิปปูร์ อันเป็นช่วงเทศกาลวันลบมลทินบาปของชาวยิว
ในสงครามครั้งนั้น อิสราเอลต้องเผชิญความท้าทายจาก 2 แนวรบ ด้านหนึ่งคือแนวรบจากอียิปต์ที่รุกเข้ามาทางแหลมไซนาย (Sinai peninsula) อันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดมาได้จากอียิปต์หลังสงคราม 6 วัน อีกแนวรบหนึ่งคือจากซีเรียที่บุกเข้ามาทางที่ราบสูงโกลาน แต่ใน 2 แนวรบนี้ แนวรบทางฝั่งที่รายสูงโกลานถือเป็นสมรภูมิที่หนักหนาสาหัสมากที่สุด เพราะซีเรียมีกองกำลังที่เข็มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
กล่าวกันว่าหากอิสราเอลไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯในสงครามครั้งนั้น อิสราเอลก็คงต้องยอมคืนดินแดนให้แก่อาหรับ ไม่เฉพาะแต่ที่ราบสูงโกลาน แต่ยังรวมดินแดนอื่น ๆ ที่อิสราเอลยึดมาได้ในสงคราม 6 วัน อันเท่ากับเป็นความปราชัยของอิสราเอลต่อกลุ่มประเทศอาหรับครั้งแรก
แต่ด้วยความช่วยเหลืออย่างทันทวงทีของสหรัฐฯ จึงทำให้อิสราเอลยังสามารถยึดครองที่ราบสูงโกลานไว้ได้ มิหนำซ้ำยังได้ออกกฎหมายผนวกเอาดินแดนที่ราบสูงโกลานไว้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอลตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา อันทำให้ที่ราบสูงโกลานเป็นแนวปะทะเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลกับซีเรียเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
3. มติสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสถานะของที่ราบสูงโกลาน
การยึดครองที่ราบสูงโกลานของอิสราเอลถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศไหนยอมรับแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อน ๆ
การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้เราคงต้องไปสำรวจตรวจสอบข้อมติต่าง ๆ ของสภาความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ อันได้แก่มติ UNSCR 242 (ปี 1967) UNSCR 338 (ปี 1973) และ UNSCR 497 (ปี 1981)
คืออย่างนี้ครับ UNSCR 242 (ปี 1967) เป็นมติที่เรียกร้องให้อิสราเอลถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใต้การยึดครองหลังสงคราม 6 วัน อันหมายถึงดินแดนทั้งหมด ไล่ตั้งแต่แหลมไซนาย เวสแบงก์ ฉนวนกาซ่า รวมถึงที่รายสูงโกลาน ส่วน UNSCR 338 มีมติออกมาในช่วงสงครามปี 1973 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งนำมติที่ 242 ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในทุกส่วนทุกตอนที่เป็นรายละเอียดของข้อมติ
สำหรับ UNSCR 497 (ปี 1981) ถือเป็นข้อมติที่ระบุชัดเจนลงไปเกี่ยวกับดินแดนที่ราบสูงโกลานว่า การที่อิสราเอลเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในบางส่วนบางตอนของมติได้เขียนเอาไว้ว่า “การที่อิสราเอลตัดสินใจบังคับใช้กฎหมาย และเข้าบริหารจัดการปกครองที่ราบสูงโกลาน อันเป็นดินแดนของซีเรียภายใต้การยึดครองของอิสราเอล (กฎหมายนั้น) ถือเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายต่อประชาคมระหว่างประเทศ”
มติที่ 242 และ 338 ถือเป็นมติที่อาหรับต่างนำมาอ้างอิงเพื่อปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นแผนสันติภาพที่เรียกว่า “Fez Plan” ของปี 1982 หรือแผนสันติภาพที่เรียกว่า “Arab Peace Initiative” ของปี 2002 ทั้งนี้แผนสันติภาพเหล่านี้ในเนื้อแท้ก็คือการเสนอของชาติอาหรับที่จะยอมรับการดำรงอยู่ของอิสราเอลแลกกับการที่อิสราเอลต้องคืนดินแดนภายใต้การยึดครองทั้งหมดให้อาหรับ พร้อมกับการยอมให้มีการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้น
แต่ปรากฏว่าอิสราเอลก็ปฏิเสธไม่ยอมรับทุก ๆ แผนสันติภาพที่ริเริ่มจากชาติอาหรับ
4. ที่ราบสูงโกลานสำคัญยิ่งต่ออิสราเอล
ครั้งหนึ่งผู้เขียนพร้อมคณะได้มีโอกาสไปเที่ยวชายแดนของประเทศจอร์แดนที่ติดกับอิสราเอล คนที่พาพวกเราไปชี้นิ้วให้ดูดินแดนเนินเขาที่ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา เขาบอกว่าตรงนั้นคือส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกว่า “ที่ราบสูงโกลาน” ซึ่งหากใครได้ไปยืนอยู่ตรงนั่น ก็จะสามารถมองเห็นดินแดนลึกเข้าไปในประเทศซีเรีย อันเป็นประเทศที่อิสราเอลไม่ได้ทำข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นทางการ
ด้วยเหตุที่โกลานเป็นจุดยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงนี้เอง จึงทำให้อิสราเอลสามารถตรวจสอบจับตาการเคลื่อนไหวทางทหารของซีเรียได้ตลอดเวลา อันอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งทำให้อิสราเอลไม่ยอมปล่อยที่ราบสูงโกลานคืนซีเรีย ขณะเดียวกันที่ราบสูงโกลานก็เป็นเสมือนเขตกันชนที่ซีเรียมิอาจบุกเข้ามาถึงใจกลางประเทศอิสราเอลได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ ที่ราบสูงโกลานยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญของอิสราเอล น้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่นี้จะไหลลงมาเพิ่มน้ำให้แก่แม่น้ำจอร์แดน อันเป็นแหล่งน้ำที่อิสราเอลใช้อุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งน้ำ 3 ใน 4 ของทรัพยากรน้ำที่อิสราเอลมีทั้งหมด
พื้นที่นี้ยังได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดินเถ้าภูเขาไฟของที่ราบสูงโกลานเหมาะสำหรับการปลูกพืชผล ทั้งไร่องุ่น สวนกล้วยไม้ และอื่นๆ ขณะเดียวกันโกลานก็เป็นพื้นที่เหมาะกับการเลี้ยงปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เดียวของอิสราเอลที่มีสกีรีสอร์ท
ด้วยความสำคัญของที่ราบสูงโกลาน ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และแหล่งทรัพยากรสำคัญทางธรรมชาติ ทำให้มติมหาชนชาวอิสราเอลส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการคืนดินแดนส่วนนี้กลับไปให้ซีเรีย
**บทความชิ้นนี้ เป็นตอนที่ 38 จากซีรี่ส์ “ประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง” ซึ่ง อ.ศราวุฒิ อารีย์ เขียนเผยแพร่ในเฟสบุ๊กส่วนตัว ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านตอนอื่นๆ และงานเขียนอื่นของอ.ศราวุฒิ ได้ที่ https://www.facebook.com/srawutaree
ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย