ทำไมไม่ยก “รัฐนอร์ทแคโรไลนา-เซาท์แคโรไลนา” ให้อิสราเอล? ทูตซีเรียถามสหรัฐฯ กลางวงยูเอ็น

บาชาร์ จาฟารี เอกอัครราชทูตทูตซีเรียประจำสหประชาชาติ

ทูตซีเรียประจำสหประชาชาติ เสนอให้สหรัฐฯ ยก “รัฐนอร์ทแคโรไลนา-เซาท์แคโรไลนา” ของตนให้อิสราเอล แทนที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและขายที่ดินของผู้อื่นเพื่อช่วยเหลือล็อบบี้ยิสต์ของอิสราเอลเหมือนที่ทำกับ “ที่ราบสูงโกลัน” อาร์ทีรายงาน

บาชาร์ จาฟารี เอกอัครราชทูตทูตซีเรียประจำสหประชาชาติ เสนอให้มีการตำหนิอย่างรุนแรงต่อสหรัฐฯ ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของอิสราเอลกรณีดินแดน “ที่ราบสูงโกลัน” ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันพุธ (7 มี.ค.) โดยจาฟารีกล่าวว่า ฝ่ายบริหารของทรัมป์สนับสนุนนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ที่องค์การสหประชาชาติ เพื่อที่จะประจบประแจงล็อบบี้ยิสต์ของอิสราเอลที่มีอำนาจในสหรัฐฯ

ในการให้ความเห็นที่สร้างความขบขันและทำเอาคู่กัดอิสราเอลถึงกับสั่นศีรษะ จาฟารีแนะนำว่า วอชิงตันควรจะยกที่ดินที่เป็นของตนเองจริงๆ ให้กับอิสราเอล

“ตัวอย่างเช่น คุณสามารถยกรัฐนอร์ทแคโรไลนาและรัฐเซาท์แคโรไลนาให้พวกเขาได้ แล้วทำไมไม่ทำล่ะ? เซาท์แคโรไลนาเป็นดินแดนที่ยิ่งใหญ่ … ดังนั้นก็ยกให้อิสราเอลสักสองสามรัฐ ถ้ารัฐบาลนี้ต้องการได้รับการสนับสนุนจากอิสราเอล” ทูตซีเรียประจำสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง

การตัดสินใจของทรัมป์ในการสนับสนุนอิสราเอลต่อข้ออ้างเรื่อง “ที่ราบสูงโกลัน” เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอิสราเอลที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายนนี้ ซึ่งถูกนักวิเคราะห์มองว่า เป็นความพยายามหนุนเสริมเนทันยาฮูผู้ต้องโทษในข้อหาฉ้อโกง-ติดสินบน ให้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

“อย่าเข้าใจผิดโดยคิดว่าวันหนึ่งดินแดนแห่งนี้จะเป็นของคุณเนื่องจากความหน้าซื่อใจคดหรือเนื่องจากการตกเป็นเบี้ยในเกมการเลือกตั้งที่คุณให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะทำให้ชาวอิสราเอลคนนี้จึงสามารถประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง และชาวอเมริกันก็ได้รับการสนับสนุนจากนักล็อบบี้ของอิสราเอลในสหรัฐฯ” จาฟารี กล่าว

“ที่ราบสูงโกลัน” ซึ่งอิสราเอลยึดครองในช่วงสงครามหกวันในปี 1967 และถูกผนวกอย่างเป็นทางการในปี 1981 จะ “กลับมา” เป็นของซีเรียในที่สุด นักการทูตซีเรียกล่าว

คณะมนตรีความมั่นคงถูกเรียกประชุมตามคำร้องขอของซีเรีย ดามัสกัสยืนยันว่า การรับรองให้ “ที่ราบสูงโกลัน” เป็นของของอิสราเอล ก็จะย้อนวกลับไปสู่มติของสหประชาชาติที่ประกาศว่าการผนวกดินแดนดังกล่าวเป็น “โมฆะ” อย่างชัดเจน