“ไอเอส” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ความพิเศษของชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้ก็คือ แม้จะเป็นกลุ่มคนที่ดำเนินวิถีอิสลามอย่างเคร่งครัดที่สุด แต่ก็มีแนวคิดสายกลาง ไม่นิยมความรุนแรงมากที่สุดเช่นกัน (หากเทียบกับประชาคมมุสลิมโลกในส่วนอื่นๆ ตามการสำรวจของ Gallup Poll ปี 2008)

ลักษณะอย่างนี้เป็นสิ่งแย้งย้อนกับความเข้าใจของคนทั่วไปส่วนหนึ่ง ที่มักมองว่า ความเคร่งครัดในศาสนาของมุสลิมมักนำไปสู่ความสุดโต่งรุนแรง

แต่การกำเนิดของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ไอเอส) และข่าวการเข้าร่วมสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มไอเอสของมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ทำให้ความเป็นสายกลางของมุสลิมในภูมิภาคนี้ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

ขณะเดียวกันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็กังวลว่า หากนักรบเหล่านี้ได้กลับมาประเทศของตนหลังร่วมรบในสมรภูมิซีเรียและอิรัก ก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติได้ในอนาคตอย่างที่เกิดขึ้นใน “มาราวี” ดินแดนทางใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อปีก่อน และการก่อการร้ายในอินโดนีเซียหลายครั้งหลังไอเอสสูญเสียพื้นที่ยึดครองทั้งในซีเรียและอิรักเมื่อไม่นานมานี้

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น ช่วงทศวรรษที่ 1980 เยาวชนจำนวนหนึ่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เคยเข้าไปในปากีสถานเพื่อร่วมรบกับเหล่ามุญาฮิดีนต่อต้านสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน หลังสงครามครั้งนั้นหลายคนตัดสินใจอยู่ต่อ ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์ที่มาจากส่วนต่างๆ ของโลก และซึมซับการต่อสู้แบบติดอาวุธตามแนวทางของอัล-กออิดะฮ์

หลายคนลักลอบกลับบ้านเกิดของตนในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ แล้วสร้างเครือข่ายติดอาวุธขึ้นมา ตัวอย่างที่มักอ้างถึงอยู่บ่อยๆ คือ กลุ่ม ญามาอะฮ์ อิสลามียะฮ์ หรือ “เจไอ” ที่ก่อเหตุวินาศกรรมในภูมิภาคหลายครั้ง

ตามความเห็นของ Joseph Chinyong Liow (นักวิชาการด้านการต่างประเทศจากสิงคโปร์) ปัจจัยที่ทำให้มุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงเข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอสมีอยู่ 3 ประการด้วยกันครับ

หนึ่งคือ มุสลิมจำนวนหนึ่งในภูมิภาคนี้เห็นการกำเนิดของไอเอสสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ศาสนาได้อธิบายไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในเรื่องการมาถึงของเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมที่จะปกครองประชาคมมุสลิมในยุคสุดท้าย

ตามความเชื่อนี้ การปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดีย์ หรือ เคาะลีฟะฮ์ยุคสุดท้ายจะเกิดขึ้นพร้อมกับการลงมาของศาสดาอีซา (พระเยซู) หรือช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยขณะที่อิมามมะฮ์ดีย์เตรียมกำลังพลภายใต้ธงสีดำเพื่อจะสู้รบกับดัจญ้าล (Antichrist) ท่านได้ตั้งแถวเพื่อจะละหมาดศุบฮิ ศาสดาอีซาก็ลงมาที่หอประภาคารสีขาวทางทิศตะวันออกของกรุงดามัสกัส

พูดง่ายๆ ก็คือ มุสลิมในเอเชียตะวันออกฉียงใต้จำนวนหนึ่งมองว่า ไอเอส หรือผู้นำของกลุ่ม ซึ่งใช้ธงดำเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ อาจเป็นเคาะลีฟะฮ์ในยุคสุดท้ายตามที่มีการอธิบายไว้ล่วงหน้าแล้วก็เป็นได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วม

ประการที่สอง ซึ่งเป็นปัจจัยให้มุสลิมในภูมิภาคนี้เข้าร่วมกับไอเอส คือประเด็นเรื่องความแตกต่างทางนิกายศาสนา การที่ไอเอสต่อสู้กับระบอบอัสซาดในซีเรีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐบาลชีอะฮ์ที่โหดเหี้ยมเข่นฆ่ามุสลิมซุนนีย์ ร่วมถึงการที่ไอเอสสู้รบกับรัฐบาลชีอะฮ์ที่ผูกขาดอำนาจในอิรัก การสู้รบเหล่านี้ถูกมองว่ามีความชอบธรรม

ขณะที่มุสลิมชีอะฮ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ฉะนั้น ความขัดแย้งประเด็นซุนนีย์-ชีอะฮ์ในตะวันออกกลางจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้มุสลิมอุษาคเนย์บางส่วนตัดสินใจเข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอส

สาเหตุประการสุดท้ายคือ ประเด็นด้านมนุษยธรรม Joseph อธิบายว่า วิกฤติด้านมนุษยธรรมในซีเรียเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นเรื่องที่มุสลิมในภูมิภาคนี้ต่างมีความเห็นอกเห็นใจ จนเกิดเป็นเครือข่ายของการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมผู้ทุกข์ยาก หลายกลุ่มเสี่ยงอันตรายเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถึงสมรภูมิรบในซีเรีย

แต่บางคนเมื่อไปถึงดินแดนภายใต้การควบคุมของไอเอส ก็อาจหลงเคลิ้มไปกับแนวทางการต่อสู้และอุดมการณ์ของไอเอส จนถึงขั้นเข้าร่วมการต่อสู้ ทั้งๆ ที่ความตั้งใจเดิมคือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น
(Joseph Chinyong Liow.http://www.foreignaffairs.com/…/joseph-ch…/isis-goes-to-asia)

ก่อนที่ไอเอสจะสูญเสียพื้นที่ในซีเรียและอิรัก ประมาณการกันว่าไอเอสมีนักรบที่มาจากประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนรวมกันมากกว่า 30,000 คน ที่ปฏิบัติการอยู่ในซีเรียและอิรัก

ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นักรบส่วนใหญ่มาจากประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซีย (ประมาณ 200 คน) และมาเลเซีย (40 คน) แต่ก็มีบางส่วนที่มาจากฟิลิปปินส์ (100 คน) และสิงคโปร์

ตัวเลขที่ว่านี้นับเฉพาะคนที่เดินทางตรงเข้าไปยังสมรภูมิรบในซีเรียและอิรัก แต่หากรวมคนที่เดินทางเข้าร่วมผ่านประเทศตุรกี หรือเข้าไปในสนามรบผ่านวิธีการอื่นๆ จำนวนนักรบที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คงมีมากกว่านี้

ที่น่าสนใจคือ การระดมพลเข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในภูมิภาคนี้ ไม่ได้เกิดจากการชักชวนโดยตรงจากแกนนำไอเอสที่อยู่ในตะวันออกกลาง แต่เป็นการระดมพลผ่านนักการศาสนาท้องถิ่นที่มีใจฝักใฝ่กลุ่มไอเอสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภายในไม่ถึงหนึ่งปีก็เริ่มปรากฏภาพนักรบไอเอสจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อสู้อยู่ในสมรภูมิซีเรียและอิรัก

ลักษณะเช่นนี้คงไม่แตกต่างจากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสงครามอัฟกานิสถานเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ขณะที่การต่อต้านสหภาพโซเวียตในสงครามอัฟกานิสถานโดยอาสาสมัครมุญาฮิดีนครั้งนั้น เป็นฉันทามติที่ได้รับการยอมรับในโลกมุสลิมทั่วไป

แต่การกำเนิดของกลุ่มไอเอสครั้งนี้ โลกมุสลิมยังมีทัศนะที่แตกต่างกัน มีมุสลิมน้อยมากที่ให้การยอมรับสนับสนุนไอเอส แต่ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดปฏิเสธความชอบธรรมและประณามกลุ่มไอเอส

แม้แต่กลุ่มญามาอะฮ์ อิสลามมียะฮ์ หรือ “เจไอ” ที่รู้จักกันดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า เป็นฝ่ายหัวรุนแรง ยังไม่เอากลุ่มไอเอส พร้อมทั้งตีตรากลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่ม “ตักฟีร” (ชอบตัดสินให้มุสลิมที่คิดต่างจากตนเป็นพวกนอกศาสนา) และเรียกเหล่าสมาชิกที่เข้าร่วมกับไอเอสว่า เป็นพวก “คอวาริจ” หรือพวกสุดโต่งที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นประวัติศาสตร์อิสลาม และยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น องค์กรที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่าง “สภามุญาฮิดีนอินโดนีเซีย” (Majelis Mujahidin Indonesia) ยังได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความลึกลับของกลุ่มไอเอส พร้อมทั้งวินิจฉัยให้กลุ่มไอเอสมีสถานะเป็นเพียงองค์กรติดอาวุธหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเรียกตนเองถึงขั้นเป็นสถาบันเคาะลีฟะฮ์ที่โลกมุสลิมต้องเข้ามาร่วมสวามิภักดิ์ทั้งหมดอย่างเป็นเอกภาพ

ขณะที่กระบวนการประกาศตั้งให้ อบูบักร อัล-บัฆดาดี เป็นเคาะลีฟะฮ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายอิสลาม เพราะไม่ได้ผ่านการสรรหาโดยสภาศาสนา ที่มีนักวิชาการมุสลิมทั่วโลกเป็นตัวแทนประกอบอยู่ในสภานี้

ความแตกต่างอีกประการระหว่างการเข้าร่วมรบในสงครามอัฟกานิสถานเมื่อทศวรรษที่ 1980 กับสงครามในอิรักและซีเรียปัจจุบันคือ การใช้เครื่องมือสื่อสาร ในยุคสงครามเย็นนั้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างจำกัด แต่ในปัจจุบันปรากฏว่า กลุ่มไอเอสได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถแพร่กระจายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในการระดมพลได้อย่างรวดเร็ว การสกัดกั้นกระแสแนวคิดสุดโต่งจึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

ตรงกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มองว่า แม้กลุ่มไอเอสจะรุกคืบยึดดินแดนในอิรักและซีเรียได้อย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2013 แต่ไอเอสก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการโค่นล้มรัฐบาลอิรักและซีเรียได้ แต่สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ การแพร่ขยายแนวคิดรุนแรงในโลกมุสลิมที่อาจหยุดยั้งได้ยาก

แม้จะมีข่าวการร่วมรบกับไอเอสของมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องจนทำให้รัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาคเป็นกังวลต่อภัยคุกคามความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่กระแสไอเอสในภูมิภาคนี้ก็ไม่สามารถแพร่กระจายขยายไปได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าแนวคิดสุดโต่งนี้จะไม่สามารถรุกคืบไปได้มากกว่านี้

ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลหลายประการครับ

อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว การกำเนิดของกลุ่มไอเอส แม้จะเป็นที่ถูกใจของมุสลิมบางส่วน แต่สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่กลับไม่ได้ให้การยอมรับ หลายฝ่ายออกมาประณามการกระทำของไอเอสด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะนักวิชาการศาสนาคนสำคัญ ๆ ของโลกมุสลิม ทั้งในซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และประเทศอื่น ๆ พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการตั้งผู้นำของไอเอสเป็น ‘เคาะลีฟะฮ์’ อันถือเป็นตำแหน่งผู้นำทางการเมืองอย่างเป็นทางการของประชาชาติมุสลิมสืบต่อจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)

อีกอย่างก็คือ มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มคนที่มีภูมิความรู้ในวิถีอิสลามเป็นอย่างดีหากเทียบกับมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเสมือนวัคซีนป้องกันแนวคิดความสุดโต่งได้ดีที่สุด ขณะที่ในทางชาติพันธุ์นั้น มุสลิมในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นมลายู เป็นกลุ่มคนที่มีวิธีคิด วิถีชีวิต และอัตลักษณ์แตกต่างไปจากพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในโลกอาหรับ

ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่มไอเอส
ในช่วงสงครามอัฟกานิสถาน (1979-1989) ความแตกต่างในลักษณะข้างต้นได้รับการแก้ไขโดยการสร้างค่ายฝึกอบรมเพื่อให้มุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับนักรบมุญาฮิดีนจากประเทศอาหรับก่อนจะออกไปสู่สมรภูมิรบร่วมกัน

แต่ในสงครามกลางเมืองซีเรียและอิรักคราวนี้ นักรบจากดินแดนต่าง ๆ ถูกโยนลงไปจับอาวุธต่อสู่ในสมรภูมิรบอย่างชนิดที่ไม่มีการเตรียมการใด ๆ ทั้งสิ้น บางกรณีนักรบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพราะรับไม่ได้ต่อพฤติกรรมความรุนแรงของสมาชิกไอเอส

ขณะเดียวกัน สถานะทางเศรษฐกิจของมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ ก็ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับมุสลิมในตะวันออกกลาง หรือมุสลิมในยุโรป

มุสลิมกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสอง และเป็นคนชายขอบที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล อีกทั้งหลังเหตุการณ์ 9/11 ยังเกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลามขึ้นในยุโรป จนสร้างปัญหาในชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิมที่นั่น

สถานะความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มุสลิมในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการจับอาวุธใช้ความรุนแรง ไม่เหมือนกับมุสลิมในที่อื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ต่างกัน

ฉะนั้น สมรภูมิรบในซีเรียและอิรักจึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจของมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระแสไอเอสในบ้านเราจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่เราคิดก็เป็นได้

…….

**บทความชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊กส่วนตัว อ.ศราวุฒิ อารีย์  ผู้อ่านสามารถติดตามงานเขียนอื่นๆ ของท่าน ได้ที่ https://www.facebook.com/srawutaree