สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นบัญชีอย่างเป็นทางการให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps – IRGC) เป็นองค์กรก่อการร้าย เมื่อวันจันทร์ 8 เม.ย.62
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ จัดให้กองทัพชาติอื่นอยู่ในบัญชีดำองค์กรก่อการร้าย ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ออกมาตรการแซงชั่นบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ IRGC หลายสิบคน แต่ไม่ใช่ตัวองค์กรเองเพราะกลัวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจนำไปสู่การตอบโต้
เกี่ยวกับกรณีนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ นักวิชาการมุสลิมผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกกลาง และอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้มุมมองถึงผลลัพธ์บางส่วนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ หวังและได้จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ผ่านเพจเฟซบุ้ก Manoch Aree โดยระบุว่า
สหรัฐฯ ขึ้นบัญชี IRGC เป็นองค์กรก่อการร้าย ทั้งที่มีสถานะเป็นกองทัพแห่งชาติของอิหร่าน ทรัมป์ยิงปืนนัดนี้หวังนกกี่ตัว ช่วยกันนับ ได้นกหรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งครับ
1. ช่วยเนทันยาฮู ให้มีคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเนทันยาฮูเพิ่งเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ตัดสินใจอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของอิสราเอล ถือเป็นผลงานของเนทันยาฮู เพราะเขาทั้งหาเสียงไว้และรับปากกับ AIPAC ในขณะที่ AIPAC ก็หนุนทรัมป์และเนทันยาฮู เป็นพิเศษ
2. ยกระดับการคว่ำบาตรอิหร่านมากขึ้น IRGC นอกจากเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลทางทหารแล้วยังควบคุมธุรกิจสำคัญฯ ของอิหร่านด้วย จึงเท่ากับทำลายรายได้ของรัฐบาลอิหร่านด้วย เมื่อปีก่อนมีข่าวว่าอิหร่านมีความพยายามจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจถ่ายโอนกิจการของรัฐบางส่วนไปให้เอกชนดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
3. โดดเดี่ยวอิหร่านจากพันธมิตรทางทหารและความมั่นคงอื่นๆ ในและนอกภูมิภาค กรณีเกาหลีเหนือที่ผ่านมามีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับอิหร่านมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น กรณีตุรกีก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะร่วมมือกับอิหร่านปฏิบัติการต่อต้านเคิร์ดในซีเรียที่ตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งร่วมกับ รัสเซีย ปากีสถานและจีนในการต่อต้านการก่อการร้ายในเอเชียกลางและเอเชียใต้ด้วย จึงเท่ากับกดดันประเทศเหล่านี้ให้ระวังความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอิหร่านหรือ IRGC ซึ่งเป็นกองทัพแห่งชาติของอิหร่าน หรือไม่ก็จะถูกจัดให้เป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้ายไปด้วย
4. เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ หรือพันธมิตรโจมตีกองกำลังของอิหร่านในที่ต่าง ๆ ได้ชอบธรรมมากขึ้นตามการตีความการใช้กำลังป้องกันตนเองจากภัยก่อการร้าย แบบชิงโจมตีก่อน (อันนี้อันตรายมาก) ในลักษณะที่ไม่ต้องรอให้ถูกโจมตีก่อนหรือภัยกำลังเกิดขึ้นต่อหน้า (การอธิบายแบบนี้ไม่ได้รับการรับรองในระดับสากล) ตั้งแต่ 9/11 สหรัฐฯ อ้างหลักแบบนี้ในการใช้กำลังโจมตีในปากีสถาน โซมาเลีย เยเมน อิรัก โซมาเลีย ฯลฯ
5. ทำให้ IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนที่ขึ้นบัญชีกลุ่มฮิสบุลเลาะห์ในเลบานอน หรือกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ทั้งที่ 2 กลุ่มนี้มีสถานะเป็นกองทัพที่ได้รับการยอมรับอย่างชอบธรรมในดินแดนของตน แต่เมื่อสหรัฐฯ และอิสราเอลขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย ก็ทำให้โลกส่วนหนึ่งสับสนและเข้าใจผิดว่ากลุ่มเหล่านี้มีสถานะที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่เป็นกลุ่มก่อการร้าย สหรัฐฯ กำลังประกอบสร้างการรับรู้ใหม่ในสังคมโลกว่า IRGC เป็นองค์กรก่อการร้าย
6. สั่นคลอนหน่วยงานและกลไกหลักของการรักษาเสถียรภาพของอิหร่าน
7. ประเทศไหนมีความสัมพันธ์ทางทหารหรือทางความมั่นคงกับอิหร่าน สุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ หรือเลือกข้างอิหร่าน เพราะสหรัฐฯ ประกาศตั้งแต่หลัง 9/11 ว่าโลกต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับสหรัฐฯ หรือผู้ก่อการร้าย ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง การจัด IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้ายและมีอิหร่านสนับสนุน เท่ากับบีบให้โลกเลือกข้างระหว่างอิหร่านกัยสหรัฐฯ เช่นกัน
8. สกัดการเคลื่อนไหวของกองกำลังอิหร่านในภูมิภาคและความเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น ๆ ในสงครามตัวแทนทั้งในเยเมน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน
9. มีการพูดถึงการสร้างพันธมิตรทางทหาร หรือ Arab NATO ขึ้นมาเพื่อจัดการกับอิหร่าน หรือแม้แต่มีอิสราเอลร่วมด้วย การจัดการกับ IRGC ก่อน อาจมีเป้าหมายเพื่อทำให้อิหร่านอ่อนเปลี้ยจากข้างในแล้วค่อยใช้กำลังในภายหลัง เพราะ IRGC เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่ง เคยยันกับอิรักในสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน อย่างดุเดือดในทศวรรษ 80s
10.
เพื่อน ๆ ช่วยวิเคราะห์ต่อได้นะครับ