สูตรปรองดอง “มหาธีร์-อันวาร์” เพื่อให้มาเลเซียเดินหน้าได้

Photo: editormalaysia.com

หากเราได้ติดตามการเมืองมาเลเซีย ย่อมรู้ว่าการเมืองมาเลเซียมากด้วยวิกฤตที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ ใช่ว่าการเมืองมาเลเซียจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหอมกรุ่นไปตลอดรอดฝั่ง เปล่าเลย ตรงกันข้ามกลับมีปัญหายุ่งเหยิงไม่แพ้ชาติใด

ถามว่าปัจจัยอันใดเล่าที่ทำให้ประชาธิปไตยมาเลเซียเดินหน้าได้ไม่มีอาการที่เราเรียกว่า “ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก”  มาเลเซียใส่ปุ๋ยยี่ห้ออันใดประชาธิปไตยถึงได้บานสะพรั่ง  

ข้อเขียนชิ้นนี้พยายามจะชี้ให้เห็นถึงกลไกอันเป็นปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้การเมืองประชาธิปไตยมาเลเซียเดินหน้าได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอพูดถึงกรณีความปรองดองที่เกิดขึ้นระหว่างนายอันวาร์ อิบราฮิมกับมหาธีร์

หากเราติดตามเส้นทางการเมืองระหว่างสองบุรุษคู่นี้จะเห็นว่าเกิดการขัดแย้งอย่างดุเดือดเผ็ดมันจนใครๆ ก็มองว่าเกิดอาฆาตแค้นระหว่างกันชนิดใครไม่ยอมใคร

 แต่แล้วทุกอย่างผ่านไปด้วยราบรื่นไม่มีตำหนิให้เห็น ไม่มีเสียงครหานินทาว่าร้ายให้ได้ยิน เสมือนไม่มีพายุการเมืองเกิดขึ้น โลกตะลึงฉงนฉงาย กองเชียร์อันวาร์ก็งุนงงเป็นไก่ตาแตกเมื่อจู่ๆ อันวาร์กลับยอมจับมือกับมหาธีร์แบบเหนือการคาดหมาย

ถามว่า ไฉนเป็นเช่นนั้น น่าศึกษายิ่ง เพื่อถอดบทเรียนเป็นอุทาหรณ์แก่นักการเมืองไทย

การศึกษาพบว่ามีหลายปจจัยที่ช่วยทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นจุดวิกฤตและเดินหน้าได้ แต่ในพื้นที่อันจำกัดนี้ ขอนำเสนอเพียงสองปัจจัยที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่นำพามาเลเซียเดินหน้าต่อไป

ประการหนึ่ง มาจากปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ความเป็นผู้นำของมหาธีร์และอันวาร์ที่ต้องถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่สุดที่ทำให้มาเลเซียเดินหน้าได้ รัฐจะเป็นร้ายตายดีอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้นำนี่แหละ จึงไม่แปลกที่อัลฟาเราะบีปรัชญาเมธีมุสลิมอันลือชื่อให้ความสำคัญกับผู้นำที่เขาเปรียบเสมือนเป็นหัวใจที่จะขับเคลื่อนประเทศได้ อัลฟาเราะบีได้เขียนไว้ในปรัชญานิพนธ์ The Virtuous City เมื่อประมาณสองพันกว่าปีมาแล้วว่า ผู้นำมิเพียงต้องเก่ง ฉลาดหลักแหลมอย่างเดียวแต่ต้องรักในวิชาความรู้ มีใจกว้าง และไม่หมายปองที่จะสะสมทรัพย์สมบัติ

เมื่อบ้านเมืองเผชิญวิกฤตอันหนักหน่วง ทั้งอันวาร์และมหาธีร์ต่างฝ่ายต่างตระหนักรู้ถึงความสำคัญของชาติบ้านเมืองต้องมาก่อน จึงยอมหันมาจับมือกัน ลืมความขัดแย้งในอดีต ยอมละทิ้งอีโก้ของตัวเองไป ทั้งนี้เป็นเพราะเห็นแก่ประชาชนและบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง หาใช่ด้วยเหตุผลส่วนตัวเป็นหลักไม่

คงไม่เกินเลยเถิดหากจะกล่าวว่า เพราะว่าสุภาพบุรุษนักการเมืองทั้งสองตะหนักเสมอว่าใดใดในหล้าสำคัญไม่เท่ากับชาติบ้านเมือง บ้านเมืองอันสะบักสะบอมหลังโดนมรสุมทางการเมืองเล่นงาน และต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อมีคนถามอัวาร์ว่าทำไมยอมร่วมมือกับมหาธีร์ อันวาร์ตอบว่า “เพราะเราต่างรักบ้านนี้เมืองนี้”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อันวาร์จึงลืมอดีตที่เคยถูกกระทำได้หมด ด้วยการให้อภัย ไม่ติดใจคิดจะเอาผิดมาหาธีร์แม้แต่นิด ซึ่งเป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายเลยที่ใครคนหนึ่งเลือกที่จะให้อภัยแก่คู่กรณีผู้ที่เคยผู้บงการให้ตัวเองต้องตกระกำลำบากหากไม่ใช่นักการเมืองที่ใจใหญ่และตัวจริงอย่างอันวาร์ อิบราอิม 

ส่วนมหาธีร์เองก็แสดงความเป็นผู้นำอาวุโสที่เปี่ยมปัญญา มีความสุขุม น่าเคารพนับถือด้วยการยอมไปขออภัยในความผิดพลาดของตนเองที่เคยก่อไว้ คืนดีด้วยการไปหาคู่อริเก่าอย่างอันวาร์ถึงที่ศาลเพื่อจับมือส่งสัญญาณว่าขออภัยในการกระทำและความผิดพลาดที่ผ่านมา และที่สำคัญมากกว่านั้นเพื่อส่งสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาเผด็จศึกกอบกู้สถานการณ์บ้านเมืองอีกครั้ง ตรงนี้แหละเป็นวินาทีสำคัญในบริบทวิกฤตการเมืองมาเลเซีย ทั้งอันวาร์และมหาธีร์ยอมทิ้งความหลังอันขื่นขมไว้ใต้พรมประวัติศาสตร์อย่างไม่ลังเล เพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือขจัดมารร้ายที่มาหลอกหลอนชีวิตชาวมาเลเซียภายใต้การนำของนาจิบ ราซัคมาเกือบทศวรรษกว่า ซึ่งถือว่าเป็นห้วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซียนับตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2512 (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1969)

ตรงนี้ต้องยกนิ้วให้กับทั้งมหาธีร์และอันวาร์ที่ยอมถอยคนละก้าว แล้วมานับหนึ่งใหม่เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้

นายอันวาร์เคยที่ตอบคำถามนักข่าวครั้นเมื่อผู้สื่อข่าวมารุมถามวินาทีแรกที่เขาพ้นจากคุกว่า “ไฉนยอมคืนดีกับมหาธีร์” ด้วยใบหน้ายิ้มละไมอันวาร์ตอบว่า “ทำไมเขาจะต้องโกรธมหาธีร์ด้วยหล่ะ ในเมื่อท่านมหาธีร์มาดี เราก็ต้องน้อมรับโดยดี” อันวาร์ย้ำว่า  “อิสลามสอนว่ามิให้โกรธเคืองแค้นอาฆาตผู้ใด เพราะเราต่างเป็นพี่น้องกัน โกรธแล้วจะได้อะไร”

ช่างเหมือนดังที่คานธีเคยเขียนไว้ โลกทั้งพ้องเป็นพี่น้องกัน

เหมือนแนวสันติวิธีที่เรียกว่า อหิงสา คือ ไม่เอาความรุนแรง คานธีพิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า สุดท้ายก็ชนะใจศัตรูจนได้และสามารถนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมืองมาในที่สุด

เหล่านี้ คือทั้งแนววิถีอันวาร์-มหาธีร์ ทั้งแนวอหิงสาของคานธี ล้วนเป็นแนวที่ใช้ปัญญาเป็นฐาน ล้วนเป็นลักษณะการเมืองที่อัลฟาเราะบีเรียกว่า ความเป็นนักปรัชญาผู้รู้ ปรัชญามีความหมายว่าผู้หลงรักในเรื่องสัจจธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันดับต้นๆ ที่นักการเมืองพึงมี หากต้องการนำความก้าวหน้าสู่บ้านเมือง หากต้องการให้ประเทศเดินหน้าได้

แน่นอนว่าแนวนี้ย่อมไม่เกิดจากหัวใจของคนที่คับแคบที่ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักและพวกพ้องเป็นใหญ่ ยิ่งมีโอกาสในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยแล้ว ย่อมกระทำได้อย่างสบาย แต่เปล่าเลย อันวาร์กลับไม่ติดใจแต่ประการใด ถามว่าท่ามกลางที่พรรคอันวาร์และพันธมิตรชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น หากอันวาร์ต้องการจะเล่นงานมหาธีร์ได้ไหม คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือได้แน่นอน แต่เปล่าเลย อันวาร์กลับไม่ทำเช่นนั้น อันวาร์ให้เหตุผลว่า ถ้าเรากระทำแบบเดียวกันที่เขาทำ เท่ากับว่าตัวเราไม่ได้แตกต่างจากตัวเขา อันวาร์จึงกล่าวว่า “We want to be better”  

เมื่อพิจารณาตรงนี้ จะเห็นว่าทั้งอันวาร์และมหาธีร์ เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะความเป็นนักการเมืองและผู้นำดังที่คานธีและอัลฟาเราะบีได้วาดฝันไว้ 

จึงพอสรุปในเบื้องต้นตรงนี้ว่า ทั้งอันวาร์-มหาธีร์ล้วนเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ นักสู้ที่ไม่พูดเรื่องอดีต เพราะรู้ดีว่าขืนพูดไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น หนำซ้ำอาจจะบานปลายไม่มีวันจบสิ้น สู้กลับมานับหนึ่งใหม่จะดีกว่า

ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า นายกมหาธีร์จะไม่สามารถหวนกลับมาเป็นผู้กุมบังเหียนอีกครั้งได้หากปราศจากเสียงหนุนจากพรรคของอันวาร์ ขณะเดียวกัน ลำพังพรรคของอันวาร์พรรคเดียวก็ไม่สามารถโค่นรัฐบาลนาจิบได้เช่นกันหากปราศจากพรรคมหาธีร์และพรรคเล็กพรรคน้อยที่เคียงบ่าเคียงไหล่ในนามฝ่ายค้าน

ตรงนี้แหละเป็นจุดสังเกตที่ควรแก่การเข้าใจมากเป็นพิเศษ คือ การปรองดองระหว่างสองขั้วอำนาจที่สามารถตกลงกันได้ เมื่อปรองดองกันได้ทุกอย่างก็ราบรื่นเป็นไปตามโรดแม็ป แต่ที่สำคัญกว่าอื่นใด คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ให้ต่างฝ่ายต่างให้อภัยแก่กัน

การให้อภัยย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากหากบุคคลคู่กรณีต่างไม่ยอมลดราวาศอกอีโก้ของตัวเอง และที่สำคัญต้องมีภาวะความเป็นผู้นำสูงมาก หากไม่มีตรงนี้ ความปรองดองย่อมไม่เกิด ต่อให้มีพ.ร.บ.มากมายหลายฉบับแค่ไหนก็ตาม 

เชื่อว่าสุภาพบุรุษนักการเมืองอย่างอันวาร์ต้องไม่ลืมคำสอนของท่านนบีฯที่กล่าวไว้ว่า “การให้อภัยศัตรูเท่ากับเราชนะใจศัตรู การชนะใจศัตรูเท่ากับว่าการสยบศัตรูศิโรราบ” 

มีหรือคนอย่างอันวาร์ในฐานะผู้ที่เคยผ่านการผู้นำองค์กรแนวร่วมเยาวชนอิสลามแห่งมาเลเซีย(ABIM)จะไม่ลึกซึ้งในโองการอัลกุรอ่านที่พระเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “เมื่อเขาโยนความชั่วร้ายใส่เรา เราจงโต้ตอบด้วยทำความดี”

เพราะเหตุนี้เราจึงเห็นว่า เมื่อออกจากคุกหลังพ้นจากทุกข้อกล่าวหา อันวาร์ไม่ได้คิดที่จะเช็คบิลกับเหล่าคู่อริ ไม่เคียดแค้นเพื่อดิสเครดิตมหาธีร์เลย เพราะเขามั่นใจว่ากรรมใดใครก่อ กรรมนั้นจะตอบสนองเอง สู้ปล่อยให้เป็นของกระบวนการยุติธรรมจะดีกว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ทุกคนต้องเคารพกติกา และนี้คือการเมืองของคนมีอารยธรรม การเมืองของนักการเมืองอันเปี่ยมปัญญาและคุณธรรม ไม่ใช่เอาความดีใส่ตัวและเอาความชั่วใส่คนอื่น อีกทั้งเพราะอันวาร์เองก็มั่นใจในนิติรัฐและนิติธรรมอันเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยแบบนานาอารยประเทศ 

ส่วนมหาธีร์เองก็ใช่ย่อยเหมือนกัน ท่านเคยประกาศก้อง ทั้งบนเวทีหาเสียง ทั้งในงานเขียนของเขาว่ามีเนลสัน เมนเดลาเป็นไอดอล (Nelson Mandela is my idol) นั่นย่อมหมายถึง สิ่งที่เขากระทำลงไปทุกอย่าง เขาทำเพื่อประชาชนและชาติบ้านเมือง ในเวลาเดียวกันแสดงให้เห็นว่ามหาธีร์มั่นใจกับวิถีประชาธิปไตย มั่นใจกับหลักรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นในหลักนิติรัฐ และยึดความสำคัญของประเทศเป็นที่ตั้ง

ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะรัฐบุรุษดังที่อดีตผู้ว่าการรัฐ ARKANSAS สหรัฐอเมริกาเคยปรารภว่า “นักการเมืองมักคิดแค่การเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่รัฐบุรุษย่อมคิดในอนาคตของชาติ” (The politician thinks for the next election, but the statesman thinks for the next generation)

อันวาร์ย่อมตระหนักรู้ดี หากงัดเอาอารมณ์มาใช้เป็นกลวิธีในแก้ปัญหา มันไม่มีวันจบสิ้น มีแต่จะบานปลายอีกเจ็ดชั่วโคตร หากเขาตัดสินใจกระทำตามอำเภอใจ เขาอาจจะได้ความสะใจที่ได้ชำระความแค้น แต่บรรดาเหล่าประชาชนตาสีตาสาสิจะแหลกลาญเป็นปุยผง ฉะนั้น อันวาร์เลือกยอมทิ้งผลประโยชน์ส่วนตนด้วยต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

หรือหากจะเลียนแบบสำนวนขงจื้อ น่าจะประมาณว่า อารมณ์ฤาจะสู้สติปัญญา

ปัจจัยประการอันที่สอง เป็นเพราะทุกฝ่ายตระหนักรู้ดีว่ามาเลเซียปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อตกลงเป็นเช่นนี้ ย่อมหมายถึงทุกคนอยู่ในโหมดกำลังเล่นเกมชนิดหนึ่งที่มีกฎกติกา ทุกคนต้องเคารพกติกาหากต้องการจะบรรลุเป้าหมาย หากริจะแหกกฎเท่ากับว่าคุณกำลังจะเล่นนอกเกม เมื่อเล่นนอกเกมเพื่อชนะอย่างเดียว แสดงว่าคุณไม่เคารพกติกา เมื่อไม่เคารพกติกา ความปั่นป่วนวุ่นวายย่อมบังเกิดแน่นอน

ทุกฝ่ายต่างมีกองเชียร์ ทุกฝ่ายต้องการเป็นผู้ชนะ พรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่มาตลอดระยะเวลา 61 ปีก็อดทนสู้มาตลอด ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนยากที่จะกลับมากุมบังเหียนสู้กับพรรครัฐบาลได้ แต่พวกเขากัดฟันสู้ ทนร้อนหนาวมาไม่รู้กี่ฝน แต่สุดท้ายทำได้สำเร็จด้วยอาศัยฝีมือล้วน ๆ หลังจากพิสูจน์ให้มวลประชาชนเห็นว่าเราก็มีดีนะ 

กรณีเดียวกันกับฝ่ายกองเชียร์อันวาร์ที่ต้องกัดฟันสู้ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนโอกาสของพวกเขาแทบจะริบหรี่ๆ ลงทุกวัน แต่ใจพวกเขาไม่ยอมจำนงต่อชะตากรรมแบบง่ายๆ ตลอดเกือบยี่สิบปีที่เจ้านายพวกเขา (หมายถึงอันวาร์) ถูกจองจำอยู่ในคุกตาราง พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่กลับทำหน้าที่อย่างสุดพลัง แพ้บ้างชนะบ้างในเกมการเลือกตั้งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตีโพยตีพายแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะเอาชนะอย่างเดียว แต่ยอมรับในผลคะแนนที่ประชาชนเลือก 

ถามว่ากองเชียร์อันวาร์อยากจะชนะมั้ย ตอบแบบฟันธงได้เลยว่าไม่มีใครจะเป็นผู้แพ้ ใครๆ ก็ต้องการจะชนะ ต้องการเป็นรัฐบาลกันทั้งนั้น แต่เมื่อผลออกมาแพ้ก็ต้องน้อมรับโดยดี ในเวลาเดียวกัน พวกเขาทำการบ้านอย่างหนักด้วยการกลับศึกษาบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อกลับมาวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อชนะใจประชาชนให้ได้ ไม่มีอาการวู่วามตีอกชกต่อยแสดงอาการไม่พอใจแต่ประการใด แต่ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎกติกา ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

พวกเขาอดทนรอคำตัดสินประชาชนทุก ๆ สี่ปี ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้งอันบริสุทธิ์ที่เผยให้เห็นว่าประชาชนต้องการพรรคไหนเป็นรัฐนาวาขึ้นมาบริหารแผ่นดิน

หากย้อนดูห้วงเวลาก่อนหน้านี้ ช่วงการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งที่ 12 และ 13 อันเป็นช่วงที่ฝ่ายค้านโดนเล่นงานจากฝ่ายรัฐบาลมาตลอด แต่พลเมืองไม่เคยคิดที่ประท้วงเรียกร้องให้ประชาชน(หรือกองทัพ)ปฏิวัติยึดอำนาจ พวกเขาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภามากกว่า เพราะฉะนั้นแทนที่จะตีกลองเรียกชุมนุม พวกเขากลับรอวันเลือกตั้งมากกว่า เพราะตระหนักรู้ดีว่าหากจะเลือกพิพากษาตามอำเภอใจแล้วย่อมจะนำมาซึ่งความอัปมงคลแก่บ้านเมืองแน่ จึงเลือกที่จะพิสูจน์ให้เห็นด้วยเสียงศักดิ์สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง 

ตรงนี้น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่เป็นข้อสังเกตสำคัญที่ควรแก่ศึกษายิ่ง คือ ไฉนประชาชนชาวมาเลเซียถึงเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นต้นเหตุให้พวกเขามีพฤติกรรมแบบที่เราเห็น คือ เมื่อแพ้ในการเลือกตั้งก็ยอมรับโดยดี รับฟังกฎกติกา แล้วอดทนรออีกสี่ปีข้างหน้าอย่างสุขุมเยือกเย็น ไม่มีพฤติกรรมแบบที่เรียกว่าแพ้ไม่เป็น แพ้ก็คือแพ้ 

ด้วยหลักคิดเช่นนี้ ประเทศมาเลเซียจึงเดินหน้าได้ ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข 

ลักษณะสังคมวัฒนธรรมเช่นที่ว่านี้แหละเป็นที่หมายปองของบรรดานักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศแห่กันเข้ามาลงทุนในมาเลเซียจนนำความรุ่งเรืองเข้าสู่ประเทศในที่สุด ผลประโยชน์ก็ตกอยู่ในมือประชาชนทั้งสองฝ่าย หรือเข้าข่ายในลักษณะเรือล่มในหนอง(ทองจะไปไหน)

ถามว่าชนชาวมลายูมาเลเซียเห็นชอบด้วยมั้ยในหลักการระบอบประชาธิปไตย เปล่าเลย อาจจะเห็นบ้างในบางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่) ปรารถนาอยากให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลามที่ใช้กฎหมายซารีอะห์ปกครองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อรู้ว่าแนวคิดเช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ยากหลังคำนึงถึงความเป็นจริงในลักษณะสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันอันประกอบด้วยกลุ่มหลากหลายชาติพันธุ์ ความเชื่อและวัฒนธรรม ประชาชนมาเลเซียจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องน้อมรับระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นแนวทางการเมืองสำหรับมาเลเซีย 

ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต่างคิดว่ามีฤาประชาธิปไตยจะสู้อิสลามได้ ในหลักคิดมุสลิมแล้วอิสลามย่อมเหนือกว่าระบอบประชาธิปไตยหลายเท่า แต่เมื่อกระแสสังคมเรียกร้องประชาธิปไตยมากกว่าอิสลาม ชาวมุสลิมมาเลเซียก็น้อมรับโดยดีแม้รู้ดีว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ดีร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็อย่างน้อยเลวน้อยที่สุด  

เมื่อตกลงปลงใจกันได้แล้วว่าจะเล่นเกมที่มีชื่อว่าประชาธิปไตย พวกเขาก็เล่นตามกฎ เดินตามเกณฑ์ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา คือตั้งแต่ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ ถึงแม้มีวาระของตนเองอยู่แล้ว แต่เมื่อทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะเล่นเกมชนิดเดียวกัน พวกเขาต่างจึงเคารพกติกา ไม่ยึดเอาอารมณ์ของตัวเองเป็นหลัก

ด้วยประการทั้งปวง จึงทำให้มาเลเซียเดินไปโลดนำหน้าไปไกลกว่าเรา  ปีหน้าชาวมาเลเซียต่างก็พาเหรดเข้าสู่วิสัยทัศน์2020ดังที่ตั้งปณิธานไว้ 

และเมื่อถึงตอนนั้นมาเลเซียก็จะกลายเป็นประเทศพัฒนาอย่างเต็มตัว