เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 เม.ย.) ซาอุดิอาระเบียได้ตัดศีรษะประชาชน 37 รายในการประหารชีวิตครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปี และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มูฮัมหมัด บินซัลมาน ขึ้นเป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์ในเดือนมิถุนายน 2017 อาร์ทีรายงาน
เอพีรายงานโดยอ้างอิง อาลี อัลอาเหม็ด ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซาอุฯ ระบุว่า ผู้ที่ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 34 คนเป็นสมาชิกมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศนี้ จากข้อมูลของอัลอาห์เหม็ดมันกลายเป็น “การประหารชีวิตชีอะห์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรนี้”
กระทรวงมหาดไทยของซาอุฯ กล่าวว่า ผู้คนเหล่านี้ถูกลงโทษประหารชีวิตเนื่องจากบทบาทของพวกเขาในการเผยแพร่อุดมการณ์หัวรุนแรงและการสร้างเซลล์ผู้ก่อการร้าย กระทรวงอ้างว่า ผู้ถูกประหารด้วยการกุดหัวพวกนั้นทำให้เกิดความตึงเครียดทางนิกายและทำให้ประเทศตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย บางคนถูกตัดสินว่ามีความผิดในการสังหารเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย และการช่วยเหลือศัตรูของรัฐ
ร่างกายของชายคนหนึ่งที่ถูกตัดหัว ซึ่งมีรายงานว่าเป็นผู้แข็งข้อมุสลิมซุนนี ถูกตรึงกับเสาและอวดโชว์ต่อสาธารณะ
ในขณะที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าการประหารชีวิตทั้งหมดสอดคล้องกับกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ทว่าแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลส่งเสียงเตือนด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความสนุกสนานในการประหารชีวิตที่น่าตกใจ” (shocking execution spree)
แอมเนสตี้รายงานว่า มีชาย 11 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาสอดแนมให้ “อิหร่าน” ประเทศคู่อริของซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่อีก 14 คนถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะ “ก่อความรุนแรง” พวกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในขณะมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซาอุดิอาระเบียในปี 2011-2012
การประท้วงนี้เกิดขึ้นในจังหวัดทางตะวันออกของประเทศซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยชีอะห์ชาวซาอุฯ ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านมุสลิมชีอะห์และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง การปราบปรามผู้คัดค้านของริยาดนำไปสู่การประหารชีวิตนักการศาสนาผู้นำชีอะห์ เชค นิมร์ บาเกร อัล-นิมร์ ในปี 2016 อัล-นิมร์ถูกประหารชีวิตพร้อมกับนักโทษอีก 46 คนในการประหารชีวิตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980
แอมเนสตี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นักโทษคนหนึ่งที่ถูกประหารชีวิตเมื่อวันอังคารคือชายหนุ่มชีอะห์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงที่เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แอมเนสตี้กล่าวว่า อับดุลการีม อัล-ฮาวาจ (Abdulkareem al-Hawaj) อายุแค่ 16 ปีเมื่อตอนที่เขาถูกจับกุม และพบว่ามีความผิดฐานเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล
ลีน มะลูฟ (Lynn Maalouf) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตะวันออกกลางของแอมเนสตี้กล่าวว่า พวกเขาถูกตัดสินลงโทษหลังจาก “การพิจารณคดีที่เสแสร้งหลอกลวง” และถูกบังคับให้สารภาพภายใต้การซ้อมทรมาน
“มันยังเป็นข้อบ่งชี้ที่น่าสยดสยองอีกประการหนึ่งของการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการบดขยี้ผู้เห็นต่างจากชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในประเทศนี้”
ซาอุดิอาระเบียได้ประหารชีวิตผู้คนมากกกว่า 100 คนตั้งแต่ต้นปีนี้ และปีที่แล้วมีผู้ถูกประหารทั้งหมดจำนวน 149 คน