รมต.ต่างประเทศอิหร่านลั่น! สหรัฐฯ จะต้องคุยกับ IRGC หากต้องการเข้าสู่ช่องแคบฮอร์มุซ

สปุตนิก – ก่อนหน้านี้วอชิงตันได้ขึ้นบัญชีดำให้หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน หรือ IRGC เป็นกลุ่ม ‘ผู้ก่อการร้าย’ และประกาศว่าจะไม่ต่ออายุการยกเว้นแซงชั่นส่งออกน้ำมันของอิหร่านที่จะหมดอายุในเดือนหน้า

หากสหรัฐฯ ต้องการเข้าสู่ช่องแคบฮอร์มุซพวกเขาจะต้องคุยกับกองกำลัง IRGC ซึ่งปกป้องอารักขามันอยู่ จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านกล่าว

“มันอยู่ในผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญของเราในการเปิดอ่าวเปอร์เซียไว้ เปิดช่องแคบฮอร์มุซไว้ เราได้ทำสิ่งนั้นในอดีตและเราจะทำต่อไปในอนาคต แต่สหรัฐอเมริกาควรรู้ว่า เมื่อใดที่พวกเขาเข้าสู่ช่องแคบฮอร์มุซ พวกเขาต้องพูดคุยกับผู้ที่ปกป้องช่องแคบฮอร์มุซ – และนั่นคือหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน” รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านกล่าวในการพูดที่นิวยอร์กในวันพุธ (24 เม.ย.) ที่เอเซียโซไซตี้ (Asia Society) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร

ซารีฟกล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเชื่อว่าอิหร่านจะยังคงขายน้ำมันของตนต่อไป เราจะหาผู้ซื้อน้ำมันของเราต่อไป และเราจะใช้ช่องแคบฮอร์มุซต่อไปเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งที่ปลอดภัยสำหรับการขายน้ำมันของเรา”

“หากสหรัฐอเมริกาใช้ความพยายามอย่างบ้าคลั่งในการพยายามป้องกันไม่ให้เราทำเช่นนั้น ก็ควรเตรียมพร้อมสำหรับผลที่จะตามมา” เขาเตือน

ซารีฟกล่าวหาวอชิงตันว่าดำเนินนโยบายที่ “อันตรายมาก” ต่อเตหะราน เขาระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าใจผิดถ้าเขาคิดว่าการลงโทษที่หนักหน่วงจะทำให้อิหร่านเปลี่ยนนโยบาย 

ซารีฟยังปัดทิ้งข้อเสนอก่อนหน้านี้ของฝ่ายบริหารของทรัมป์ที่ต้องการเจรจา“ ใหม่” เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยซารีฟกล่าวว่าข้อตกลงร่วมปี 2015 หรือ JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) คือ“ ข้อตกลงที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้”

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้กำหนดให้หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน หรือ IRGC (Islamic Revolutionary Guard Corps) เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้อิหร่านกำหนดให้กองทัพสหรัฐฯ เป็นองค์กรก่อการร้ายเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนตอบโต้ “นโยบายที่ไม่เป็นมิตร” ของวอชิงตัน

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) สหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ต่ออายุการยกเว้นแซงชั่นการส่งออกน้ำมันอิหร่านให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และตุรกี ซึ่งข้อยกเว้นนี้จะหมดอายุในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เตหะรานท้าทายการแซงชั่นนี้โดยกล่าวว่าจะส่งออกน้ำมันมากเท่าที่ต้องการ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน รูฮานี กล่าวว่า อิหร่านพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐเกี่ยวกับการลดความตึงเครียด แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ หากวอชิงตันปฏิบัติต่ออิหร่านด้วยความเคารพ ยกเลิกการแซงชั่น และขอโทษ “สำหรับการกระทำที่ผิดกฎหมาย”

ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2018 เมื่อวอชิงตันถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ฝ่ายเดียว และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่ออิหร่านหลายรอบรวมถึงการคว่ำบาตรน้ำมัน ซึ่งหมายถึงการกดดันให้การส่งออกพลังงานของประเทศนี้ลดลงสู่ระดับศูนย์

ทั้งสองประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตปกติตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามปี 1979

ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างเตหะรานและวอชิงตันทำให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับความมั่นคงของช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีการขนส่งน้ำมันประมาณ 20% ของโลก เจ้าหน้าที่อิหร่านขู่หลายครั้งแล้วว่าจะปิดเส้นทางสำคัญนี้ หากสหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน