สิทธิความเป็นเจ้าของ? (Hak Pertuanan)

สิทธิความเป็นเจ้าของในภาษามลายูเขียนด้วยอักษรรูมาไนส์  (Rumi) Hak Pertuanan เป็นข้อความที่เกิดขึ้นภายหลังจาก พลโทภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนทางการไทยกับ นายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการ BRN ได้ลงนามทำข้อตกลงการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ทำขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อข่าวข้อตกลงพูดคุยเพื่อสันติภาพได้เผยแพร่อย่างกว้างขวางในหน้าสื่อทุกประเภทได้ไม่กี่วันได้มีปรากฎการณ์แขวนป้ายผ้าขาวนับจำนวนเป็นร้อยผืนตามท้องที่ต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้บนผ้าขาวที่แขวนไว้นั้นมีข้อความที่เขียนเป็นภาษมลายูด้วยอักษรรูมาไนส์ว่า ” KEDAMAIN TAKKAN LAHIR SELAMA  HAK PERTUANAN TIDAK DI AKUI ” แปลเป็นไทยว่า ” การเจรจาสันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ตราบใดสิทธิความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการรับรอง ”

และหลังจากนั้นก่อนการนัดพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งที่ 2 วันที่ 28 มีนาคม 2556 ขบวนการ BRN ได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐบาลไทยผ่านทาง Youtube เป็นที่ฮือฮาของบรรดาผู้ติดตามข่าวคราวการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างกว้างขวางและข้อเสนอ 5 ข้อนี้นายฮาซันตอยิบตัวแทน BRN ได้หยิบยกเป็นข้อเสนอของ BRN บนโต๊ะการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ปฏิกริยาจากฝ่ายไทยหลังจาก BRN ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อนี้แล้วการแสดงท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบภาคใต้ขณะนั้น( ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ) และนายทหารทั้งที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งหลักทางทหารบางคนได้ตอบคำสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน และได้ให้ความเห็นต่อสาธารชนอย่างชัดเจน “ปฏิเสธ” ข้อเสนอของ BRN ทุกข้อ และในการพูดคุยครั้งต่อๆ มาก็ไม่ได้ให้คำตอบและหยิบยกข้อเสนอดังกล่าวมาพูดคุยบนโต๊ะสนทนาแต่อย่างใด และฝ่ายไทยได้หยิบยกข้อเสนอของผู้นำศาสนาอิสลามที่ไม่อยากให้มีเหตุการณ์รุนแรงในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) ขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์รุนแรงในเดือนรอมฎอนก็ไม่ได้ทุเลาความรุนแรงเท่าที่ควรจะเป็น

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00 น. พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีดูแลความมั่นคง ได้ประชุมหารือเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของรองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจุฬาราชมนตรี คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพผู้ว่าราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมทำเนียบรัฐบาล เป็นที่น่ายินดีที่ในที่ประชุมได้หยิบยกข้อเสนอ 5 ข้อของ BRN มาพิจารณาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อที่นำมาหารือที่นับว่าต้องทำความเข้าใจถูกต้องตรงกันระหว่างฝ่ายคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพทั้งของฝ่ายไทยและ BRN ก็คือข้อเสนอข้อที่ 4 ที่ให้ฝ่ายไทยยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของ ( HAK PERTUANAN ) นั้นมีความหมายไปในทิศทางใดที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย

ผู้เขียนซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยได้ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า หากจะทำความเข้าใจคำว่า สิทธิความเป็นเจ้าของ มีความหมายอย่างไรนั้น คำตอบของความหมายนี้สามารถทำความเข้าใจได้จากคำปราศรัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 จากหนังสือชื่อ “กระจกไม่มีเงาปัญหา4 จังหวัดภาคใต้ ” เขียนโดย นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลและอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม หนังสือเล่มนี้นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ เขียนขึ้นขณะกำลังป่วยอยู่บนเตียงโรงพยาบาลหาดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2518 รวม 29 วันและพิมพ์ที่ประจักษ์การพิมพ์ 100 ถนนวิสุทธิกษัตริย์กรุงเทพฯและข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงอับดุลกาเดร์ต่อรัฐบาลรัฐบาล หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อเดือนเมษายนพ.ศ. 2490

คำปราศรัยของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ในการไปตรวจราชการจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดยะลาภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากล่าวคำต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ให้ฟังแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ได้ปราศรัยตอบว่า ” เรื่องของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาขอให้ยอมรับความจริงในข้อนี้…….การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้คิดอย่างไรก็ไม่ออก เพราะเราหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ซึ่งที่จริงเขาเป็นคนมลายู ตัวที่เป็นปัญหาก็คือ การหลอกว่าตัวเขาเองเป็นคนไทย ผมเห็นใจข้าราชการซึ่งมาปฏิบัติราชการใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างมากที่ต้องมาเผชิญกับปัญหาการทำงานเช่นนี้ ขอให้ทุกคนยอมรับความจริงว่า เขาไม่ใช่คนไทย อย่ากังวลเดือดร้อนให้มากเกินไป พยายามปรับตัวให้อยู่กับปัญหาให้ได้ จงพยายามทำให้ดีที่สุด ความหวังที่จะดึงคนมลายูเป็นคนไทยนั้นนโยบายลับๆ ของมหาดไทย ได้เห็นดังนโยบายผสมกลมกลืนให้เป็นไทยยาก ฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาที่จะพยายามสร้างมิตร อย่าบังคับให้เขาเป็นคนไทย ส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขารักษาเอกลักษณ์( Identity )ชนมลายูไว้……..

จากหนังสือ ” กระจกไม่มีเงาปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้ ” เนื้อหาในหนังสือต้องการสะท้อนให้รัฐบาลและคนไทยทั้งชาติเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า คนไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้นั้นแท้จริงเป็นคนมลายูที่มีอัตตลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง มีภาษาศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง การใช้นโยบายชาตินิยมไทยสมัย จอมพลป.พิบฺลสงคราม มีผลกระทบต่อจิตใจของชาวมลายูเป็นอย่างมาก เพราะชาวมลายูมีความเป็นตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว แต่รัฐบาลพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนของพวกเขาซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดกับหลักความเป็นจริง จึงได้เขียนหนังสือนี้ขึ้นมาว่า “กระจกไม่มีเงา” เพื่อต้องการส่งสัณญานให้ผู้มีอำนาจทราบว่า ตราบใดที่กระจกไม่มีเงาเราจะมองหน้าของเราเองไม่เห็น และในคำนำที่นายเจ๊ะอับดุลลาห์ฯได้เขียนในหนังสือนี้ตอนหนึ่งมีใจความว่า …….อย่างไรก็ดีเวลายังไม่สายนัก ถึงเวลาแล้วที่ทางรัฐบาลจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาการผิดพลาดระหว่างรัฐฯ ในอดีด กับผู้สืบสายโลหิตจากเชื่้อชาติศาสนาประเพณี และดินฟ้าอากาศแห่งบ้านเกิดเมืองบิดรประชาชนคนไทยแต่ละภาค จะถือว่าตัดเสื้อแบบเดียวจะให้ประชาชนหลายเชื้อชาติหลายศาสนาหลายประเพณีมาสวมใส่เพื่อจะได้ใช้กับคนในชาติโดยเสรีนั้นไม่มีประเทศใดเขาใช้กัน ? หนังสือเล่มนี้ให้ชื่อว่า ” กระจกไม่มีเงา ”

ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงอับดุลกาเดร์ต่อรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ 1. ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งชาวมลายูปาตานี 1 คนมีอำนาจสูงสุดใการปกครอง 4 จังหวัดชายแดนใต้ 2. ขอให้มีการสอนภาษามลายูในโรงเรียนรัฐบาลควบคู่กับภาษาไทย 3. ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถานที่ราชการ 4. ขอให้มีข้าราชการที่เป็นชาวมลายูปาตานีร้อยละ 80 5. ขอให้ภาษีที่เก็บได้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้เฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น 6. ให้มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์ (ศาลพิจารณาคดีครอบครัวมรดกมุสลิม) 7. ให้ยอมรับว่าชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือชาวมลายฺปาตานี

จากข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงอับดุลกาเดร์  ถือได้ว่าเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงถึง ” สิทธิความเป็นเจ้าของ ” เพราะใน 7 ข้อนี้ยืนยันถึงสิทธิความเป็นเจ้าของในอำนาจทางการเมือง สิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินผลประโยชน์บนผืนแผ่นดิน สิทธิความเป็นเจ้าของในอัตตลักษณ์แห่งตน ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกละเมิดและริดรอนจากผู้หนึ่งผู้ใดโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพหากจะให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางสู่สันติภาพที่แท้จริงและเป็นการถาวรแล้ว ผู้มีอำนาจสามารถเอาหลักคิดและกรอบแนวคิดตลอดจนมุมมองของบุรุษที่เป็นปราชญ์ทั้ง 3 ท่านดังกล่าวข้างต้นซึ่งได้จากโลกนี้ไปแล้วมาเป็นคำตอบตามความหมายของคำว่า ” สิทธิความเป็นเจ้าของ ” โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทยแต่อย่างใด