“บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. : “กองทุนอิสลาม” ธ.ก.ส. อีกหนึ่งทางเลือก“ธนาคารปลอดดอกเบี้ย”

เมื่อ เอ่ยถึง  “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” หรือ “ธ.ก.ส.” หลายคนอาจคิดว่าธนาคารแห่งนี้มีวัตถุประสงค์จำกัดอยู่แค่ให้ความช่วยเหลือ ทางด้านการเงินแก่เกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร เพียงเท่านั้น แต่ความจริงธนาคารแห่งนี้ยังมีบริการ “กองทุนอิสลาม” ซึ่งเป็นการให้บริการด้านการเงินระบบอิสลามสำหรับพี่น้องมุสลิมอีกด้วย

“พับลิกโพสต์” มีโอกาสสัมภาษณ์ “บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่เปิดเผยว่า กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส.  เป็นวินโดว์หนึ่งใน ธ.ก.ส.  ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ตามมติครม. ในขณะนั้น และเริ่มเปิดให้บริการเงินฝากเรื่อยมา และมาให้บริการสินเชื่อใน พ.ศ. 2545 ในระยะแรกมีสาขาให้บริการเพียง 20 กว่าสาขา โดยเงินทุนมาจากระดมเงินฝากเท่านั้น

“ปัจจุบัน กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ได้ให้บริการเงินฝากจำนวน 1,080 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการสินเชื่อจำนวน 64 สาขา ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ผู้มาใช้บริการเป็นพี่น้องมุสลิมถึง 99 % จะมี   1 % ที่ไม่ใช่มุสลิม ก็อยู่ในพื้นที่ กทม. และ ชลบุรี มียอดเงินฝากจำนวน 1,034 ล้านบาท สินเชื่อจำนวน 790 ล้านบาท”
003บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย

 

ในส่วน ผลตอบแทนเงินฝากเพื่อการลงทุนทั่วไปนั้น รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. แจงให้ฟังว่า “ผลตอบแทนฝาก 3 เดือน มีอัตรา 2.81 % ต่อปี ฝาก  6  เดือน  มีอัตรา  2.61 %   ต่อปี ส่วน ฝาก  12 เดือน  มีอัตรา2.75 %   ต่อปี และในแต่ละปี ธนาคารได้มอบทุนซะกาตให้กับพี่น้องมุสลิมตามหลักศาสนาอิสลามอีกด้วย โดยแบ่งปันไปตามภูมิภาค เฉลี่ยปีละ 100,000 บาท”

ที่ผ่าน มา กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. อาจมีสาขาให้บริการในเขตกรุงเทพฯ น้อยมาก “บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย” บอกว่า ธนาคารจึงมีแผนขยายสาขา เพื่อมิให้ผู้ที่จะใช้บริการขาดโอกาส “ขณะนี้ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้มีแผนขยายสาขาให้ครบ 50 เขต ซึ่งกำลังทยอยเปิด อาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องสถานที่ ที่ห่างจากชุมชนมุสลิม แต่จะให้สาขาเร่งประชาสัมพันธ์อีกครั้ง สำหรับสาขาที่พร้อมให้บริการ หรืออาจเปิดให้บริการเงินฝากนอกสถานที่เป็นครั้งคราวตามมัสยิด หรือ องค์กรศาสนาเป็นต้น”

“ที่ ผ่านมา พี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความพึงพอใจที่ได้ใช้บริการกองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. แต่มีบางพื้นที่ซึ่งมีมุสลิมเป็นจำนวนมากซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้ บริการได้ เช่น ในเขตกรุงเทพฯ จ.กระบี่ หรือภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าธนาคารมีนโยบายเปิดให้เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ความจริงธนาคารมีนโยบาย ให้บริการเงินฝากทุกสาขาที่มีสำนักงาน ธ.ก.ส. แต่ด้านสินเชื่อจะเปิดให้บริการเฉพาะชุมชนที่มีมุสลิมหนาแน่นก่อน ซึ่งจะทยอยเปิดสาขาให้บริการเพิ่มเติมไปอย่างต่อเนื่อง พี่น้องมุสลิมสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ ส่วนบางพื้นที่อาจมีปัญหาที่พนักงานยังไม่เข้าใจ หรือได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน จะรับไปแก้ไขต่อไป” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

กองทุน อิสลาม ธ.ก.ส.  ถือเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกของสถาบันการเงินอิสลาม เช่น สหกรณ์อิสลาม ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนของ กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ซึ่งในอนาคตถ้ามีธนาคารระบบอิสลามต่างประเทศมาเปิดให้บริการในไทย โดยเฉพาะภายหลังการเปิดประตูสู่ AEC นั้นทำให้หลายฝ่ายอาจไม่แน่ใจว่า ธ.ก.ส. จะยังให้บริการอีกหรือไม่ และจะมีแผนนโบบายแข่งขันอย่างไร สำหรับเรื่องนี้รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยืนยันว่า

“ธ.ก.ส. ยังคงยึดหลักเป็นที่พึ่งทางการเงินให้กับสถาบันการเงินระบบอิสลามไม่ว่า เป็นกองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ระบบอิสลาม สถาบันการเงินชุมชน เพราะถือว่าสถาบันการเงินเหล่านี้เป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับชุมชน เข้าถึงชุมชนได้ง่ายทราบถึงความต้องการของชุมชนมุสลิมอย่างแท้จริง ซึ่งนโยบายก็คล้ายกับ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการแข่งขัน ธ.ก.ส. ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ของตลาด”

สำหรับ ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล ที่มีความต้องการแหล่งเงินทุน “บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย” บอกว่า “ธุรกิจฮาลาล ถือว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญ ธนาคารมองแล้วเห็นว่าสามารถเชื่อมโยงกับผลผลิตของลูกค้าธนาคารได้ เท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับผู้ผลิตลูกค้าของธนาคาร ดังนั้น ธนาคารจึงมีโครงการสนับสนุน สินเชื่อฮาลาล สำหรับเกษตรกรผู้ประกอบการโดยจะคิดอัตรากำไรพิเศษ คงที่ตลอดอายุสัญญา ผู้ขอสินชื่อจะต้องได้รับใบรับรองจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจากองค์กรศาสนาอิสลาม”

ส่วน โครงการเงินฝากรักษาทรัพย์ ทุก 2,000 บาท ที่ผู้ฝากมีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และอุมเราะฮ์ ซึ่งโครงการที่ถูกใจพี่น้องมุสลิมมาก นั้น บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย กล่าวว่า “ โครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุนให้พี่น้องมุสลิมส่งต่อความดี ถือเป็นสิ่งจำเป็นดังนั้นธนาคารมีนโยบายที่จะส่งเสริมตลอดไป และรางวัลก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้ฝากได้ฝากเพิ่มมากขึ้นมากๆ เช่นกัน”

โดย เงินฝากรักษาทรัพย์ กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. จะจับรางวัล ครั้งแรกในเดือน พฤษภาคม 2556 นี้ “กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. จะจัดงานจับรางวัลเงินฝากรักษาทรัพย์ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 ที่หอประชุมเทศบาล นครหาดใหญ่ ใช้ชื่องานว่า “มหกรรมส่งต่อความดี เงินฝากรักษาทรัพย์ กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส.” ซึ่งจะมอบรางวัลทุนไปฮัจญ์ จำนวน 16 ทุน และรางวัลทุนไปอุมเราะฮ์ จำนวน 35 ทุน รวมมูลค่ารางวัล 5 ล้านบาท” “บุญช่วย เจียดำรงค์ชัย” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

กองทุน อิสลาม ธ.ก.ส. จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพี่น้องมุสลิมที่ต้องการธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งปลอดจากดอกเบี้ย และถูกต้องตามระบบอิสลามอย่างแท้จริง