อิหร่านไม่ใช่เป้าหมายอ่อน สาเหตุที่สหรัฐฯ ไม่น่ากล้าโจมตี

มีการพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับสงครามที่ใกล้เข้ามากับอิหร่าน สหรัฐฯ กำลังมีส่วนร่วมในการสร้างกองทัพในอ่าวเปอร์เซีย และวาทศิลป์จากวอชิงตันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบยังไม่น่าเป็นไปได้ เพราะอิหร่านแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐเคยโจมตี มันไม่ใช่ “เป้าหมายอ่อนแอ” (soft target)

สหรัฐฯ ได้ส่งกองเรือนำโดยเรือธง “ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น” และกองกำลังเครื่องบินทิ้งระเบิดไปยังตะวันออกกลางเมื่อเดือนที่แล้ว เพนตากอนยังประกาศด้วยว่า ขีปนาวุธแพทริออตและเรือขนส่ง “ยูเอสเอส อาร์ลิงตัน” ก็กำลังเดินทางไปยังอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อนำมารวมกับวาทศิลป์ต่อต้านอิหร่านอย่างดุเดือดในรูปแบบนีโอคอนโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ เช่นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ “จอห์น โบลตัน” และการยืนยันว่าอิหร่านได้ก่อวินาศกรรมเรือบรรทุกน้ำมันสี่ลำในอ่าวเปอร์เซีย นี่หมายความว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่?

แม้เราไม่ควรเมินต่อความเสี่ยงของบางสิ่งที่ใหญ่โตซึ่งอาจเปิดฉากเร็วๆ นี้ แต่ถ้าในฐานะนักพนัน เงินของผมอยู่ฝั่งที่เชื่อว่า “สหรัฐฯ จะไม่โจมตีสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”

เพียงพิจารณา “รูปแบบ” (form) ก็จะเห็นว่า ทุกประเทศที่ถูกโจมตีหรือรุกรานโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเก่า เป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้อย่างแม่นยำว่าเป็นเป้าหมายง่ายๆ หรือ “ผลไม้ที่ห้อยอยู่เตี้ยๆ” (low-hanging fruit) ตามสำนวนฝรั่ง หมายถึงประเทศเหล่านั้นอ่อนแอทางทหาร ไม่มีพันธมิตรรายใหญ่ที่สามารถรับประกันได้ว่าจะช่วยเหลือ และ/หรือไม่มีระดับการคุกคามที่เชื่อได้ว่าจะสามารถยับยั้งการโจมตีได้

ยูโกสลาเวียในปี 1999 มีกองทัพที่แข็งแกร่งและเป็นที่เคารพนับถือ กองทัพประชาชนยูโกสลาเวีย (JNA) และการป้องกันทางอากาศอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร แต่มันถูกโดดเดี่ยวในระดับสากล ถูกทำให้อ่อนแอลงโดยการคว่ำบาตร และไม่มีพันธมิตรมาช่วยเหลือ รัสเซียสามารถป้องกันยูโกสลาเวียจากการโจมตีได้ แต่สหรัฐฯ รู้ว่ารัฐบาลคอรัปชั่น “บอริส เยลต์ซิน” (Boris Yeltsin) สามารถซื้อได้ง่ายๆ และเขาก็เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นอย่างนี้ JNA ก็ยังไม่พ่ายแพ้ ถึงขั้นสหรัฐฯ ต้องขู่ว่าจะกำจัดโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย

อีกสองปีต่อมา สหรัฐฯบุกอัฟกานิสถาน กองทัพอากาศอัฟกันในเวลานั้นเล็กมาก โดยไม่ต้องแปลกใจว่าเป็นความแตกต่างทางทหารที่ห่างชั้นมาก รัฐบาลตอลิบานในกรุงคาบูลจึงล้มลงในเวลาไม่ถึงสองเดือน

ในเดือนมีนาคมปี 2003 อิรักถูกรุกรานซึ่งไม่ใช่เพราะ “มี” อาวุธทำลายล้างสูง – ตามเหตุผลที่ระบุไว้สำหรับการโจมตี – แต่เพราะมัน “ไม่มี” อาวุธทำลายล้างสูงต่างหาก หลังจากหลายปีของการแซงชั่นที่หนักหน่วง ประเทศนี้อยู่ในสถานะอ่อนแอมาก การเตือนภัยล่วงหน้าและการป้องกันทางอากาศของมันได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในการโจมตีซ้ำๆ โดย ‘กองกำลังพันธมิตร’ และ ‘กองทัพอากาศ’ ประกอบด้วยมีเครื่องบินที่ใช้การได้เพียง 90 ลำเท่านั้น และไม่มีลำใดถูกนำมาใช้เมื่อผู้บุกรุกเข้ามา

แปดปีหลังจากอิรัก สหรัฐฯ ก็ทำสงครามกับลิเบีย นี่ก็เป็นเป้าหมาย “อ่อน” อีกครั้ง “มูอัมมาร์ กัดดาฟี” ตอบสนองอย่างโง่เขลาต่อการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ โดยยอมยกธงขาวโปรแกรมนิวเคลียร์ (WMD) ของประเทศเขา จอร์จ ดับเบิลยู บุช อธิบายว่ามันเป็น “ตัวเลือกที่ชาญฉลาดและมีความรับผิดชอบ” แต่คุณสามารถเดิมพันได้เลยว่า กัดดาฟีต้องรู้สึกเสียใจอย่างขมขื่นขณะที่เขาซ่อนตัวในท่อระบายน้ำใต้ดินหลังจากที่สหรัฐโจมตีประเทศของเขา ก่อนที่เขาจะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม

ความจริงที่ว่า สหรัฐฯ เพียงแต่ทำสงครามกับเป้าหมายอ่อน สามารถเห็นได้ในความล้มเหลวของพวกเขาหลังเริ่มต้นการโจมตีทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในซีเรีย หลายครั้งที่ความขัดแย้งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ แต่ทุกครั้งวอชิงตันก็ต้องถอยฉากออก รัสเซียได้เรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับลิเบีย และมันจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำสองเมื่อมันมาเพื่อปกป้องพันธมิตรใน MENA (ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) อีกราย

ถ้าซีเรียมีเล่ห์เหลี่ยม อิหร่านก็ยิ่งซับซ้อนกว่า เว็บไซต์โกลบอลไฟร์พาวเวอร์ (Global Firepower) จัดให้สาธารณรัฐอิสลามอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลกในด้านความสามารถทางทหาร

นั่นสูงกว่าอิสราเอลสองระดับ หากสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเริ่มการบุกรุกทางบก มันคุ้มค่าที่ชี้ให้เห็นว่าอิหร่านมีบุคลากรทางทหารกว่าครึ่งล้านคน และเจ้าหน้าที่กองกำลังสำรองอีก 350,000 คน สิ่งนี้ไม่รวมถึง ‘แกนแห่งการต่อต้าน’ (Axis of Resistance) ของอิหร่าน ซึ่งรวมถึงฮิซบุลเลาะห์และหน่วยรบชีอะห์ในอิรักที่ต่อสู้ต้านไอซิส ซึ่งสามารถระดมกำลังพลเพื่อต่อต้านเป้าหมายระดับภูมิภาคของสหรัฐได้

ในส่วนศักยภาพทางอากาศ อิหร่านมีเครื่องบินมากกว่า 500 ลำ รวมถึงเครื่องบินรบ 142 ลำ มันมีรถถังต่อสู้ 1,634 คัน ยานเกราะต่อสู้ 2,345 คัน และรถฐานยิงจรวด 1,900 คัน และหากสหรัฐฯ ต้องการการสู้รบทางทะเล อิหร่านก็สามารถจัดให้ได้ ประเทศนี้มีสินทรัพย์ทางนาวีเกือบ 400 รายการ อิหร่านยังมีขีปนาวุธพิสัยใกล้ กลาง ซึ่งสามารถโจมตีพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค เช่นอิสราเอลและรัฐอ่าวได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ อิหร่านได้เปิดตัว “ฮูวัยเซะห์ (Hoveizeh) ขีปนาวุธร่อน พิสัยไกล ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า 1,350 กิโลเมตรอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อิหร่านมี คือ ความสามารถในการ “ทำให้เศรษฐกิจโลกสำลัก” (ในคำพูดตามรายงาน Deutsche Welle) โดยการปิดกั้นช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านหนึ่งในห้าของน้ำมันซื้อขายในโลก และ 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศซาอุดิอาระเบียก็ผ่านทางนี้

ลองจินตนาการว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร หากการปิดช่องแคบนี้เกิดขึ้นจริง

สหรัฐฯ อาจเป็นประเทศที่มีอำนาจทางทหารมากที่สุดในโลก และไม่มีใครสงสัยว่าถ้าจะไปทำสงครามกับอิหร่านแล้ว สหรัฐฯก็จะชนะในที่สุด นักวิเคราะห์ทางทหารของรัสเซีย “มิกาอิล โคดาเรน็อก” (Mikhail Khodarenok) กล่าวว่าสหรัฐฯ สามารถโจมตีอิหร่านได้จากระยะไกลโดยใช้สงครามอิเล็คทรอนิกส์เพื่อทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นอัมพาต การจู่โจมครั้งใหญ่จากอากาศและทางทะเลเมื่อรวมกับอิสราเอลจะทำให้อิหร่านซวนเซ แต่ความเสี่ยงยังคงสูง กองกำลังพร็อกซีของอิหร่านจะยังคงเป็นภัยคุกคาม อุปทานน้ำมันจะได้รับผลกระทบ ถ้าอิหร่านจะต้องถูกพิชิตและตกเป็นอาณานิคม กองทัพศัตรูก็จะต้องส่งกองกำลังภาคพื้นดินลงไป ซึ่งหมายถึงถุงศพจำนวนมาก ประชาชนชาวอเมริกันที่ต้องการให้ทรัมป์ยุติสงคราม จะรับไหวหรือไม่?

พิจารณาทุกสิ่งแล้ว การทำสงครามกับอิหร่านจะเป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างมากจากสงครามก่อนหน้านี้ ทั้งต่ออัฟกานิสถาน ยูโกสลาเวีย อิรัก และลิเบีย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมโอกาสจึงจะไม่เกิดขึ้น (เช่นเดียวกับทำสงครามจีนหรือรัสเซีย)

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ จะพยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพของอิหร่าน โดยไม่ต้องทำการโจมตีเต็มรูปแบบ ชาวซาอุฯ และล็อบบี้ยิสต์โปรอิสราเอลจะต้องมีความสุข แม้แต่ ‘สุนัขบ้าสงคราม’ ในวอชิงตันก็ย่อมรู้ว่าเมื่อใดที่พวกเขาได้พบกับคู่ต่อสู้ที่เท่าเทียม

หากพวกเขาไม่ได้เปิดฉากสงครามก็คงเป็นเช่นนั้น แต่หากพวกเขาทำก็แสดงว่าพวกเขาก็บ้าจริงๆ!!


เขียนโดย : นีล คลาร์ก (Neil Clark) นักข่าว นักเขียน ผู้ประกาศ และบล็อกเกอร์ เขาเขียนให้หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ รวมถึง The Guardian, Morning Star, Daily and Sunday Express, Mail on Sunday, Daily Mail, Daily Telegraph, New Statesman, The Spectator, The Week, and The American Conservative. เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นใน RT, BBC TV and radio, Sky News, Press TV และ the Voice of Russia.

แปล/เรียบเรียงจาก RT

*** ข้อความ มุมมอง และความคิดเห็นที่แสดงในคอลัมน์นี้เป็นของผู้เขียน และไม่จำเป็นสะท้อนจุดยืนของกองบก.เดอะพับลิกโพสต์