กลุ่มไหนบ้างคือ “นักรบตัวแทน” และ “พันธมิตรต่อต้านตะวันตก-อิสราเอล” ของอิหร่าน หากสงครามปะทุ?

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่า ในการทำสงครามกับสหรัฐฯ อิหร่านอาจใช้กองกำลังตัวแทน (proxies fighting) ในการต่อสู้เคียงข้างตน

ตั้งแต่เลบานอนและซีเรีย จนถึงอิรัก เยเมน และฉนวนกาซา อิทธิพลของเตหะรานได้ขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและทรงพลังกับนักเหล่านักรบ ที่ตะวันตกเรียกว่า “Axis of Resistance” หรือ “แกนแห่งการต่อต้าน” ซึ่งหมายถึง “พันธมิตรต่อต้านตะวันตกและต่อต้านอิสราเอล”

ในกรณีที่เกิดสงครามกับสหรัฐอเมริกา อิหร่าน “จะไม่โดดเดี่ยว” ว่าแต่กลุ่มไหนกันที่จะร่วมรบกับอิหร่าน!!

ต่อไปนี้นี่คือพันธมิตรของเตหะรานในตะวันออกกลาง ที่อาจเป็น “นักรบตัวแทน” กระโจนเข้าสู่สมรภูมิต่อต้านสหรัฐ

1.ฮิซบุลเลาะห์ แห่งเลบานอน

“ฮิซบุลเลาะห์” ชื่อจากภาษาอาหรับที่แปลว่า “พรรคของพระเจ้า” ก่อตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ในช่วงสงครามกลางเมืองของเลบานอนในปี 1980

วันนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งขยายอิทธิพลของอิหร่านไปยังหน้าประตูบ้านของอิสราเอล

ฮิซบุลเลาะห์เป็นหนึ่งในสมาชิกที่โดดเด่นที่สุดของกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านอิทธิพลของตะวันตกและอิสราเอล โดยมีนักสู้มุสลิมชีอะห์นับหมื่น

จุดยืนเคียงข้างเตหะรานของพวกเขานั้นชัดเจนมาก ท่ามกลางผู้ชุมนุมมากมายในกรุงเบรุตในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน “ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์” ผู้นำขบวนการนี้กล่าวว่า “หากอเมริกาเปิดสงครามกับอิหร่าน มันจะไม่โดดเดี่ยวในการเผชิญหน้า เพราะชะตากรรมของภูมิภาคเราเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้”

ในเอกสารของสถาบัน Brookings เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ “เจฟฟรี่ย์ ดี. เฟลต์แมน” อธิบายว่า กลุ่มนี้เป็น “การส่งออกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด” ของอิหร่าน และเป็น “เครื่องมืออเนกประสงค์” ของเตหะราน

ฮิซบุลเลาะห์ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับอิสราเอลหลังจากการบุกรุกเลบานอนในปี 1982 มันเข้าร่วมสงครามกองโจร 18 ปีเพื่อต่อต้านกองกำลังอิสราเอล ในที่สุดก็สามารถบังคับให้พวกเขาถอนตัวออกจากเลบานอนในปี 2000 หกปีต่อมาฮิซบุลเลาะห์ต่อสู้กับอิสราเอลอีกครั้งในสงครามปี 2006 ที่มีระยะเวลา 34 วัน จนมีการหยุดยิง

วันนี้ กลุ่มมีคลังแสงจรวดและขีปนาวุธจำนวนมากที่สามารถเจาะลึกเข้าไปในอิสราเอล รวมทั้งนักสู้ที่มีระเบียบวินัยและการต่อสู้ที่แข็งแกร่ง

กองทัพอิสราเอลประเมินว่า ฮิซบุลเลาะห์มีขีปนาวุธและจรวดพิสัยใกล้ระหว่าง 100,000 ถึง 120,000 ลูก และมีขีปนาวุธพิสัยไกลหลายร้อยลูก

ฮิซบุลเลาะห์ได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังของรัฐบาลในซีเรียมานานกว่าหกปี ทำให้ได้รับประสบการณ์สนามรบมากขึ้น

ในบ้านของตนเองเลบานอน อำนาจของกลุ่มนี้มีสูงเกินกว่ากองกำลังหลักของประเทศ และพร้อมกับพันธมิตรที่มีอำนาจมากกว่าที่เคยทั้งในรัฐสภาและรัฐบาล

2. ฮูซี แห่งเยเมน

ฮูซี นักรบรองเท้าแตะแห่งเยเมน

กลุ่มต่อสู้ “อันซอรุลเลาะห์” (Ansar Allah) แห่งเยเมน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามกบฎ “ฮูซี” (Houthis) พวกเขาเดินทัพจากภาคเหนือกวาดลงมาและยึดเมืองหลวงกรุงซานาในปี 2014

พันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียได้กระโจนเข้าสู่วังวนความขัดแย้งในปีถัดมาในการต่อสู้ร่วมกับฝ่ายรัฐบาล สงครามได้คร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่นและก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดของโลก

ซาอุดิอาระเบียถือว่า ฮูซีเป็นตัวแทนอิหร่าน (Iranian proxy) และพร้อมกันนั้นชาติตะวันตกและผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้กล่าวหาเตหะรานว่า จัดหาอาวุธให้กลุ่มกบฏฮูซี รวมถึงขีปนาวุธพิสัยไกลที่พวกเขายิงเข้าสู่ซาอุดิอาระเบีย อิหร่านสนับสนุนพวกกบฏนี้ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าให้การสนับสนุนทางอาวุธ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาอ้างว่า ได้ใช้โดรนโจมตีท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุดิอาระเบีย

การโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาคมระหว่างประเทศที่ถูกเขย่าขวัญอยู่แล้วอันเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกาที่ตกต่ำอย่างหนัก อีกการโจมตีครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อโดรนบินเข้าไปกว่า 800 กม. ในซาอุดิอาระเบียเพื่อโจมตีเป้าหมายได้สำเร็จ

ซาอุดิอาระเบียตอบโต้ด้วยการส่งฝูงบินรบโจมตีเมืองหลวงของกลุ่มกบฏเยเมนที่คร่าชีวิตของพลเรือน

กองทหารอาสาสมัครในอิรัก

อิหร่านได้ฝึกทางทหาร ให้การสนับสนุนทางการเงิน และติดอาวุธให้กองกำลังมุสลิมชีอะห์ในอิรักที่ต่อสู้กับกองกำลังสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีหลังจากการรุกรานในปี 2003 และทำการรบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอซิส) อีกครั้งในอีกสิบปีต่อมา

กลุ่มเหล่านี้ได้แก่ อะซออิบ อะลุลฮัก (Asaib Ahl al-Haq) กะตาอิบ ฮิซบุลเลาะห์ (Kataeb Hezbollah) และบาดร์ ออกาไนเซชั่น (Badr Organization) ทั้งสามองค์กรนี้อยู่ภายใต้การนำโดยบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “นายพลกอซิม สุไลมานี” ผู้นำกองกำลัง “กุดส์” หน่วยทหารระดับแถวหน้าของอิหร่าน และเป็นผู้ออกแบบยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของเตหะราน

นายพลกอซิม สุไลมานี
กอซิม สุไลมานี (กลาง) ผู้นำกองกำลังกุดส์ อันทรงพลังของอิหร่าน /รูปถ่าย: AP

กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้อยู่ภายใต้ร่มของ “หน่วยอาสาสมัครประชาชน” (Popular Mobilisation Units – PMUs) ของอิรัก ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธส่วนใหญ่ของชีอะห์ที่ผนวกอยู่ในกองกำลังติดอาวุธของประเทศอิรักในปี 2016 จำนวนนักรบของพวกเขารวมกันแล้วมากกว่า 140,000 คน

กองกำลังสหรัฐและหน่วยอาสาสมัครฯ นี้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอซิส) หลังจากที่รัฐสภาของอิรักเชิญสหรัฐกลับเข้ามาในประเทศในปี 2014 แต่ตอนนี้เมื่อสงครามส่วนใหญ่ได้ข้อสรุป ผู้นำกองทัพบางคนเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐออกไปอีกครั้ง และจะขับไล่พวกเขาโดยใช้กำลังถ้าจำเป็น

ในสัปดาห์นี้สหรัฐฯได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่จำเป็นออกจากอิรักท่ามกลางภัยคุกคามที่ไม่ระบุรายละเอียดแต่เชื่อมโยงกับอิหร่าน

เมื่อวันพฤหัสที่ 16 พ.ค. เดอะการ์เดี้ยน สื่ออังกฤษ รายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐ 2 นายที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งกล่าวว่า นายพลกอซิม สุไลมานี ได้เรียกประชุมกองทหารติดอาวุธภายใต้อิทธิพลของเตหะรานเมื่อสามสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคนี้ อันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อระดมพันธมิตรในภูมิภาคของอิหร่าน

แหลงข่าวบอกกับการ์เดี้ยนว่า “ มันไม่ได้เป็นการเรียกร้องสู่การจับอาวุธ แต่มันก็ไม่ไกลจากสิ่งนั้น”

นักรบในฉนวนกาซา

กองกำลังกุดส์ ปีกติดอาวุธของกลุ่มอิสลามิกญิฮาด ปาเลสไตน์

อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มนักต่อสู้ปาเลสไตน์มานานแล้ว ซึ่งรวมถึงกลุ่ม “ฮามาส” ผู้ปกครองของกาซา และกลุ่ม “อิสลามิกญิฮาด” ที่มีขนาดเล็กกว่า

ฮามาสถอยออกจากอิหร่านหลังจากการลุกฮือของกระแสอาหรับสปริงในปี 2011 โดยสูญเสียเงินช่วยเหลือหลายล้านดอลลาร์ กลุ่มวันนี้อยู่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง พนักงานและข้าราชการในกาซาไม่ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในปีที่ผ่านมา

แม้ปัจจุบันเตหะรานยังถูกระบุว่ายังคงให้การสนับสนุนทางทหารต่อกองกำลังติดอาวุธของฮามาส แต่กลุ่มดูเหมือนจะได้รับความช่วยเหลือจากกาตาร์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะระดมกำลังไปยังฝั่งของเตหะราน ขณะที่อิสลามิกญิฮาดกลุ่มต่อสู้ของซุนหนี่อีกกลุ่มถูกมองว่าใกล้ชิดกับอิหร่านมาก แต่ก็ยังไม่ลึกเท่ากับฮิซบุลเลาะห์ หรือกลุ่มอื่นๆ

ฮามาสและอิสลามญิฮาดได้ยิงจรวดหลายร้อยจากกาซาระหว่างการต่อสู้กับอิสราเอลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่น่ากลัวและเป็นความกังวลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหากสงครามระหว่างสหรัฐ-อิหร่านปะทุขึ้นมา นั่นคือ การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจจะทำลายล้างรุนแรงและกว้างขึ้นกว่าสงครามใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แนวทางเดียวที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงคือ “การเจรจา” เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างแน่นอน!

อ้างอิง