จากนักการเมืองคุณภาพแห่งพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มีบทบาทโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง ของไทย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดุษฎีบัณฑิตจาก ‘ฮาร์วาร์ด’ ได้ก้าวสู่การทำงานระดับนานาชาติ ด้วยความไว้วางใจจากประชาคมอาเซียนให้ดำรงตำแหน่ง ‘เลขาธิการอาเซียน’ ถือเป็นบุคคลที่เป็นความภาคภูมิใจของ ‘ประเทศไทย’ และ ‘โลกมุสลิม’ ซึ่ง ดร.สุรินทร์ ได้เปิดโอกาสให้ ‘พับลิกโพสต์’ สัมภาษณ์ถึงการทำงานและบทบาทในเวทีโลก รวมทั้งให้มุมมอง แง่คิดต่อสังคมมุสลิม
บทบาทเลขาธิการอาเซียนในวันนี้?
เป็นเลขาธิการก็ทำหน้าที่เหมือนกับแม่บ้าน ประสานงาน นำเอานโยบายจากมติระดับสุดยอด (ซัมมิต) หรือไม่ก็ระดับรัฐมนตรี แล้วนำไปสู่ภาคปฏิบัติ มันดีตรงที่ว่าเราเคยผ่านระดับรัฐมนตรีมาแล้ว ผู้นำบางคนเราก็คุ้นเคยกัน พอจะเข้าใจในเรื่องของเจตนารมณ์ทางการเมือง เช่น ช่วงหลังนี้มันมีเรื่องความเป็น ‘แกน’ หรือความเป็นศูนย์กลาง ของอาเซียนในการวิวัฒนาการของประชาคมในเอเชียตะวันออก หรือ ‘เอเชียแปซิฟิก คอมมิวนิตี’
ปัญหาก็คือ แล้วจะเอา ‘อาเซียน’ ไปไว้ที่ไหน? ก็เลยมีความหวั่นไหวกันว่าอาเซียน จะสูญเสียความเป็นแกนหลักในการที่จะวิวัฒนาการประชาคมในเอเชียตะวันออก นายกญี่ปุ่นขึ้นมาก็บอกจะเอา ‘อีสเอเชียคอมมิวนิตี’ นายกของออสเตรเลียก็บอกว่าจะเอา ‘เอเชียแปซิฟิกคอมมูนิตี้’ หน้าที่ของผมก็คือทำอย่างไรให้ประเด็นนี้ชัดเจน แล้วอาเซียนยังรักษาความเป็นแกน เป็นเสาหลัก
ทำอย่างไร บารัก โอบามา จึงเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด
เรื่อง การประชุมสุดยอดกับสหรัฐ อเมริกาค้างคามานานตั้งแต่สมัย จอร์จ บุช ตอนนั้นบุชยุ่งอยู่กับยุโรป ตะวันออกกลาง อิรัก อัฟกานิสถาน ปาเลสไตน์ จนกระทั่งให้ความสำคัญกับอาเซียนน้อยลง ช่วงที่อาเซียนมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ก็ส่งระดับรัฐมนตรีช่วย หรือผู้ช่วยรัฐมนตรีมาร่วม มันก็ค้างคาว่าเมื่อไรจะมีการประชุมระดับสุดยอดนี้
พอรัฐบาลของโอบา มาขึ้นมา ก็แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าอยากจะไปปรึกษาหารือกับประเทศในภูมิภาค (Regional State) และองค์กรในภูมิภาค (Regional Oganization) และยอมรับว่าอเมริกาไม่สามารถแก้ปัญหาโลกได้เองทุกเรื่อง ในทุกประเด็น ในทุกแห่ง
ผมอยู่ได้ปีหนึ่งเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ทีแรกก็ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน มาเยี่ยมที่สำนักเลขาธิการ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เคยให้ความสำคัญขนาดนั้น เขาบอกว่าสนใจจะมีสัมพันธ์กับอาเซียน สนใจที่จะเป็นภาคีกับสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องมิตรภาพหรือมิตรไมตรีแห่งความ ร่วมมือ Treaty of Amity and Corporation (TAC) ซึ่งก็คือ ข้อตกลงเรื่องการทูต การเมือง เรื่องความมั่นคงกว้างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาบอกว่ากำลังประเมินว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน สามารถที่จะทำได้เร็วแค่ไหน พอเดือนกรกฎาเขามาประชุมสรุปงานเรื่องนี้ ทำได้เร็วมาก แสดงว่ามีท่าทีที่ชัดเจนที่จะมาร่วมกับอาเซียนอีกครั้ง
ผม กับฮิลลารีรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ก็ท้าเขาต่อหน้ารัฐมนตรีทั้งหลายว่า ทั้งหมดนี้คุณจะมาเยี่ยมที่สำนักเลขาธิการ คุณจะมาเป็นภาคีกับสนธิสัญญานี้ ถ้าทำได้แล้วเราจะเชื่อว่าคุณมุ่งมั่นจริงๆ นั่นก็คือ การประชุม สุดยอดระหว่าง 10 ชาติของอาเซียนกับ บารัก โอบามา พอได้รับคำท้าเขาก็ไปบอกลูกน้อง ‘ไปทำให้ได้” (let’s do it) เพื่อพิสูจน์ว่าจริงจัง จริงใจ หลังจากประชุมเอเปคแล้ว โอบามาก็ร่วมประชุมกับเรา
จุดยืนของสหรัฐอเมริกา?
เขา มาแปลก ในแถลงการณ์ เขายืนยันในการเป็นแกนกลางของอาเซียน แต่ว่าการที่เขาพูดเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ยืนยันในการเป็นแกนกลางของอเมริกาเองในภูมิภาคเอเชีย ในความเป็นจริงก็คือ We are back (เรากลับมาอีกครั้ง)
และที่ชัดเจนคือ เชิญประชุมประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ แต่ไม่เชิญจีน ไม่เชิญพม่า เพราะยังมีปัญหากันอยู่ ก็คือ เชิญไทย เขมร เวียดนาม ลาว 4 ประเทศ มาประชุมกันเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรในลุ่มแม่น้ำโขง โดยบอกว่าเขามีความเชี่ยวชาญ และถนัดเรื่องการจัดการกับน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปี เช่น เอามาปั่นเป็นไฟฟ้า ที่ สันทนาการ แหล่งท่องเที่ยว เอาน้ำมาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตร เขาจะแบ่งความรู้นี้มาให้
เขารู้ว่าประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้มีความ รู้สึกอึดอัดใจกับจีน จีนกั้นแม่น้ำโขง เพราะต้องการจะใช้ทรัพยากร แม่น้ำโขง หน้าแล้งน้ำลดลงเพราะโดนกั้นหมด ส่วนพม่าเขาเว้นไว้ก่อนเพราะยังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน เขาก็เลยเชิญ 4 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่าเขาต้องการที่จะกลับมาเพื่อสานสัมพันธ์และมีความ ร่วมมือกับประเทศในแถบอาเซียน หน้าที่ของเราคือประสานนโยบายที่ผู้นำต้องการ
แล้วอาเซียนต้องวางตัวอย่างไร
อาเซียน ต้องวางตัวเป็นกลาง เอาประโยชน์ เราใช้คำว่า ‘ความสัมพันธ์ที่เสมอภาค’ เพราะเรา 582 ล้านคน 10 ประเทศ ส่วนอเมริกาไม่ถึง 300 ล้านคน
เราต้อง อาศัยจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ยุโรป รัสเซีย เพื่อเป็นตัวถ่วงดุล มันขึ้นกับว่าเราจะเล่นยังไง วางตัวยังไง ใช้โอกาสนี้ยังไง แต่มันเป็นโอกาสที่เปลี่ยนความสมดุลแห่งอำนาจทางด้านการทูต เศรษฐกิจ การค้า การบริหาร
มองอย่างไรต่อ บารัก โอบามา
การ ที่เขาเป็นลูกครึ่ง ไม่ใช่ลูกครึ่งผิวดำอเมริกันด้วย ลูกครึ่งผิวดำแอฟริกา จากเคนยา แม่เป็นนักมานุษยวิทยาที่มาทำวิจัยค้นคว้าอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเขามาอยู่ที่จาการ์ตา 4 ปี ตอนที่อายุราว 10 ขวบ เขาบอกว่า จาการ์ต้าคือที่เล่นซ่อนหาของเขาสมัยเด็กๆ
ผมมีความรู้สึกว่า อารมณ์ความรู้สึกของเขาอยู่กับโลกที่สามมากกว่ากับโลกที่หนึ่ง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้พวกยุโรปเริ่มรู้สึกน้อยใจว่าประเทศอเมริกาเปลี่ยนไปมาก มาสนใจเอเชีย สนใจแอฟริกา โลกที่สามมากขึ้น ทำให้ความสำคัญของเขาน้อยลงทั้งๆ ที่เป็นพันธมิตรดั้งเดิม
ถือเป็นเรื่องดีหรือไม่สำหรับโลกที่สาม
ผม คิดว่าเป็นโอกาสดีสำหรับโลกที่สามที่จะพยายามเปลี่ยนมุมเปลี่ยนทัศนะ ของประเทศใหญ่ๆ จะอย่างไรสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจอยู่ แต่ทำให้ประเทศ ใหญ่ๆ ถ่อมตัวและฟังคนอื่นมากขึ้น ยอมรับในความสำคัญของคนอื่นในการที่จะร่วมกันแก้ปัญหามากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ดี
โลกาภิวัตน์ทำให้คนทั้งโลกมีส่วนได้รับผลกระทบจาก ปัญหาเท่ากัน แต่ยังไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปร่วมแก้ เพราะยังไม่มีเทคโนโลยี ความสามารถในการที่จะไปร่วมแก้ปัญหา แต่การเปลี่ยนแปลงในอเมริกามันทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องเอาคนทั้งโลกมา ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคระบาดที่มันเร็วมาก เรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ถ้าล้มก็ล้มด้วยกันหมด เพราะระบบมันต่อเนื่องด้วยกัน นี่คือโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มันเล็กลง มันต้องยอมรับว่าคุณแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้
นี่คือภาพของสมการอำนาจ โลกที่มันเปลี่ยนไปจากจี 7 กลายเป็นจี 8 กลายเป็นจี 20 เหมือนเป็นการขยายเวที ซึ่งเปิดเครือข่ายให้องค์กรระหว่างประเทศ อย่างอาเซียนให้เข้าไปร่วมด้วย นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็น เพราะฉะนั้นการที่ทำให้ประเทศ อเมริกามีความรู้สึกถ่อมตัวจะช่วยให้ประชากรโลกได้ร่วมกันแก้ปัญหามากขึ้น
แล้วทั้งหมดนี้โลกมุสลิมอยู่ตรงไหน
สิ่ง ที่ผมอยากเห็นคือ เราเข้าไปนั่งได้ ด้วย Brain Power (พลังแห่งมันสมอง) อย่างเช่นเกาหลีเป็นต้น ไม่ใช่มีสิทธิเข้าไปนั่งเพราะทรัพยากรที่อัลเลาะฮ์ให้ มันต้องมีส่วนซึ่งมนุษย์มีส่วนสร้างสรรค์และพัฒนา
ซาอุดิอาระเบียได้ มาจากอัลเลาะฮ์ ถ้าไม่มีทรัพยากรจะมีอะไร อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ทั้งอินโดนีเซีย และซาอุดิอาระเบียที่เข้าไปในฐานะที่เป็นผู้แทนของโลกมุสลิม ไปเพราะทรัพยากร ขนาด ไม่ใช่ไปเพราะเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาเซียนมีการพูดคุยในเรื่องประชากรมุสลิมอย่างไรบ้าง
เรา พูดเรื่องสานเสวนาทางด้านวัฒนธรรม คือผมมีความเห็นว่าถ้าเราสามารถที่จะรักษาความเป็นมุสลิมสายกลางที่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะปรับตัว และสามารถที่จะบริหารจัดการเรื่องความทันสมัย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ อย่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เราต้องรักษาความสมดุลเหล่านี้ไว้ อย่าให้สุดโต่งทางใดทางหนึ่ง
แต่ความเสี่ยงมีตรงที่ว่าเราพัฒนา ไม่ทัน เราปรับตัวไม่ทัน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ทัน อาเซียนมีประชากร 582-583 ล้าน ประมาณ 190-200 ล้านที่เป็นมุสลิม เกือบครึ่งของอาเซียน คำถามคือจะเป็นครึ่งที่อยู่ตรงไหน เป็นครึ่งที่เท่าเทียมเขา? หรืออยู่หลังเขา? ล้ำหน้าเขาบ้างในบางเรื่อง? อันนี้คือสิ่งที่ประชาคมมุสลิมในอาเซียนต้องคิด
ถ้าหากไม่ร่วมกัน คิดแก้ไข พัฒนาสังคม มันจะกลายเป็นองค์กรหรือภูมิภาคที่แบ่งครึ่ง และแบ่งครึ่งอย่างเห็นได้ชัด จะทำให้มีปัญหาระหว่างกัน เพราะว่าไปด้วยกันไม่ได้ ตามด้วยกันไม่ทัน
จุดด้อยของมุสลิมในอาเซียนคืออะไร
เรื่อง ของการศึกษา การปรับทัศนคติ การจัดการของการเปลี่ยนแปลง ประเทศอย่างมาเลเซียพยายามทำให้อิสลามเข้ากับความทันสมัยของโลก อิสลามกับโมเดิลลิตี้ไปกันได้ แข่งขันกันได้ อยู่กันได้ ไม่แพ้เขาในทุกเรื่อง ชนะเขาในบางเรื่อง คิดระบบคิดการจัดการแบบใหม่ๆ คิดเรื่องธนาคารอิสลามขึ้นมา เรื่องระบบการเงินแบบอิสลามขึ้นมา การพัฒนาสังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ ทรัพยากรมนุษย์ เป็นโมเดลที่ผมคิดว่าเป็นรูปแบบสำคัญของโลกมุสลิม
ผมคิดว่าเรื่อง ทัศนคติสำคัญ การศึกษามันต้องลงทุน การให้โอกาสกับลูกกับหลานเป็นหน้าที่ เป็นภารกิจ ไม่ใช่ความสำคัญระดับรองลงไป ต้องมาอันดับหนึ่ง ยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ พัฒนาลูก
ทั้งนี้มันขึ้น อยู่ที่พ่อแม่ด้วย ถ้าพ่อแม่ยังไม่ให้ความสำคัญ คิดว่าอยู่ปอเนาะ 2-3 ปีก็กลับมาแต่งงาน ถ้าคิดอย่างนี้มันก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวงจรที่มันค่อยๆ แคบ
ผม รู้ดีเพราะที่บ้านมีปอเนาะ รู้ดีว่าขึ้นค่าเล่าเรียนไม่ได้ ถ้าขึ้นจะไม่มีใครเหลือ ถ้าค่าเล่าเรียนไม่สูงก็จ้างครูดีไม่ได้ อุปกรณ์การศึกษาที่ดีก็ทำไม่ได้ ห้องสมุดที่ดีกว่านั้นก็ทำไม่ได้ ไหนต้องแบ่งเวลาหลักสูตรเรียนเป็น 2 หลักสูตร ไหนต้องหาครูจากข้างนอก ครูอยู่เพื่อรอบรรจุราชการพอบรรจุก็ต้องหาครูอื่นมาแทน มันไม่สิ้นสุด
เพราะฉะนั้นเห็นได้ชัดเรื่องของค่านิยมการศึกษามันยังไม่เป็นหนึ่งสำหรับประชาคมมุสลิม ที่อื่นไม่รู้ แต่ในประเทศไทยเป็นอย่างนั้น
การที่โอบามาที่เอนเอียงมาทางประเทศ โลกที่ 3 ประเทศมุสลิมคาดหวังกับ โอบามาได้มากน้อยแค่ไหน
ผม คิดว่าเขาจริงใจและตั้งใจ และเขาเห็นว่าเขาคือตัวเชื่อม คือโอบามาประสบการณ์ตั้งแต่เด็กแบเบาะจะต้องทำตัวให้เป็นคนเข้าใจทุกคน และให้ทุกคนเข้าใจ ยอมรับเขา เหตุผลเพราะว่าเขาครึ่งๆ ตลอด ครึ่งดำครึ่งขาว โตขึ้นมาแม่อุ้มผิวคนละสี พอพ่อกับแม่แยกทางกันก็ต้องไปอยู่กับตากับยายซึ่งขาวล้วน เขาจึงต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น และตัวเองก็พยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น
เขามีพรสวรรค์ เข้าใจ และแสดงออกได้โดนใจคนที่อยู่ฐานะต่างๆ เหตุผลเพราะว่าเขาประสบกับสิ่งเหล่านั้นในชีวิตของตัวเอง
เพราะ ฉะนั้นคำปราศรัยที่ไคโร เมื่อต้นปีเป็นที่ประทับใจของโลกมุสลิม ในที่ประชุม สุดยอดกับผู้นำอาเซียน สุลต่านของอินโดนีเซีย และนายกมาเลเซียแสดงความชื่นชมต่อคำปราศรัยในมหาวิทยาลัยลัยไคโร
โอ บามาพูดว่า เขาต้องการ ‘เริ่มต้นใหม่ กับโลกมุสลิม’ โดยเลือกไปพูดที่มหาวิทยาลัย ไคโร อียิปต์ ซึ่งสร้างความประทับใจ ส่วนจะสามารถผลักดันให้ระบบของอเมริกันเอนเอียงไปทางทิศทางที่เขาอยากจะนำ ได้หรือไม่นั้น พระเจ้าทรงรู้ แต่อย่างน้อยๆ เขามีความตั้งใจมากกว่าคนอื่น
มีอะไรที่เลขาอาเซียนทำได้เพื่อสังคมมุสลิม
ที่ ทำได้ดีที่สุดก็คือ ให้ความมั่นใจว่าโลกนี้เป็นเวทีสำหรับเราทุกคน ขอให้มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับ มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ถ้าเด็กปอเนาะอย่างผมเป็นเลขาธิการอาเซียนได้ ผมคิดว่านักเรียน นักศึกษาในกรุงเทพฯ ที่มีพื้นฐานความพร้อมมากกว่าผมเยอะ ก็จะต้องทำได้ และควรจะทำได้ดี
ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำได้คือ พิสูจน์ให้คนข้างนอกเห็นว่าสังคมมุสลิมสามารถที่จะผลิตคนให้ไปร่วมงานกับเขา ได้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ให้เขาเปลี่ยนทัศนคติว่า ก็เท่านั้นแหละ สังคมมุสลิมเอาเข้าจริงๆ หาคนมาเป็นปากเป็นเสียงมาร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของภูมิภาคไม่ได้ ถ้าได้ก็ได้เป็นไม้ประดับ เพื่อว่าจะพูดได้ว่ามีผู้แทนอยู่ในตรงนั้นตรงนี้ แต่ว่าทำงานจริงๆคือทำไม่ได้ ได้เพราะเขาทนได้ ไม่ใช่ได้เพราะว่าเขาต้องการจะได้
ความมุสลิมมีความได้เปรียบหรือไม่ในการทำหน้าที่เลขาธิการอาเซียน
ผม คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่มาก ต้องพิสูจน์ว่าทำงานกับคนอื่นเขาได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่ากับเฉพาะที่เป็นครึ่งหนึ่งของมุสลิม ถ้าเราทำตัวอย่างนั้นแสดงว่าเรายังติดยึดอยู่กับ อัตลักษณ์ที่ยังไม่เป็นสากล เราต้องก้าวให้หลุดพ้นจากอัตลักษณ์นั้น ให้เขาไว้ใจ และยอมรับ เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว ทั้งคนจีน คริสต์ มาเลเซีย ฮินดู พุทธ ขงจื้อ มีทุกชาติที่เราต้องเข้าร่วม ซึ่งมันเป็นภาพสะท้อนของสังคมโลกในปัจจุบัน
การเข้าไปร่วมรับผิดชอบ กับเขา แข่งขัน เข้าร่วมชี้นำทิศทาง ไม่สามารถที่จะจำกัดตัวเองในกรอบใดกรอบหนึ่ง กรอบความเป็นไทย ความเป็นมุสลิม กรอบความเป็นอดีตรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เราต้องทำได้ให้หมด ในทุกๆ มิติ
โอกาสที่อาเซียนร่วมมือกันจนถึงระดับ ‘อียู’ มีความเป็นไปได้ขนาดไหน
อีก นาน เพราะความแตกต่างหลากหลายของเรามากกว่ายุโรปที่ชาติพันธ์ุเดียวกันคือ ผิวขาว จมูกโด่ง ตาสีฟ้า ผมสีทอง คล้ายๆ กัน และพื้นฐานอารยธรรมกรีก โรมัน คริสตศาสนา ส่วนของเรานี้มีหลากหลายชาติพันธ์ุ คนของเรามีมากกว่าเขา 582 ล้าน ยุโรป 480 ล้าน แต่ความแตกต่างของเขาน้อยกว่า
ผมพูดอยู่เสมอ ว่าอียูไม่ใช่โมเดล แต่เป็นแรงจูงใจ ซึ่งมันต่างกัน เพราะถ้าบอกว่าเป็นโมเดล อียูเมื่อกำหนดนโยบายออกมา ทุกสมาชิกรัฐต้องนำไปปฏิบัติ แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ของเราจะร่วมกันประสานนโยบาย เพื่อแข่งขันกับคนอื่น และดึงมาลงทุน มาซื้อมาขายมาเที่ยว ถ้าทำได้ร่วมกันก็จะทำร่วมกัน ถ้าทำไม่ได้ ก็จะแยกกันทำ เพราะฉะนั้นพูดได้ชัดถ้อยชัดคำว่าอียู คือแรงดลใจให้กับเรา
ปัญหาไทย-กัมพูชา อาเซียนเข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยอย่างไรบ้าง
ลอง คิดถึงถ้าไม่มีอาเซียนมันอาจรุนแรงมากกว่านี้ อย่างน้อยมันมีสปิริตของอาเซียนอยู่ที่จะคอยประคอง อาเซียนมีสำนึกของการมีประชาคมร่วมกัน ล่าสุดผมแถลงการณ์ออกมาบอกว่าขอให้ประชาคมอาเซียนร่วมกันเพื่อที่จะช่วยให้ ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ความอดกลั้นอย่างเต็มที่
คือในสนธิสัญญา TAC มันกำหนดข้อหนึ่งว่าประเทศภาคีมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศภาคีที่มีความขัด แย้งให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ สนธิสัญญานี้เกาหลีเหนือก็เป็นประเทศภาคี อเมริกาเป็นประเทศสุดท้ายที่เข้ามา คำถามที่อาจจะเกิดขึ้นคือหากเกาหลีเหนือเข้ามาแล้วพูดว่า เขมร กับไทย ผมก็มีพันธะตามสนธิสัญญาที่คุณเชื้อเชิญให้ผมไปลงนามด้วยกัน ผมก็อยากให้คุณคืนดีกัน ฮุนเซนกับอภิสิทธิ์เดินเข้ามาจับมือกัน อาเซียนจะเอาหน้าไว้ไหน เขาให้ความสำคัญแต่เราเองไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น
เป็นภาระ หน้าที่ของสมาชิกที่ต้องช่วยประคองอย่าให้เกิดการเผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผย รุนแรง ทุกผู้นำ ทุกประเทศ เขาก็บอกว่าอินโดนีเซียเหมาะสมที่สุด เป็นประชาธิปไตย ไม่มีวาระซ่อนเร้นทั้งเขมรและไทย มาเลเซียใกล้กับเรา เวียดนามก็เคยบาดหมางกันเรื่องอินโดจีน ฟิลิปปินส์ไกลเกินไป บรูไนเล็กเกินไป สิงคโปร์ก็ไม่ใหญ่นัก อินโดนีเซียเป็นที่โอ๋ของทุกฝ่าย ทั้งขนาด ทรัพยากร ความเป็นประชาธิปไตย การมีเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งหมดเหมาะสม
มองปัญหาภาคใต้ยังไงบ้าง
เป็นห่วง และผมคิดว่ารัฐบาลควรพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ทุ่มเท ให้ความสนใจ จริงจัง ต่อเนื่องมากกว่านี้ ควรจะมีคนที่รับผิดชอบโดยตรง อยากให้มีการแก้ไขบนระนาบการเมือง การมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ร่วมกันแก้ปัญหา โปร่งใส รับผิดชอบของคนส่วนใหญ่
และอยากเห็นคนใน พื้นที่เป็นคนชูโรงด้วย แทนที่จะเป็นผู้นำในภาครัฐอย่างเดียวที่เป็นคนชูโรง เพื่อที่จะให้เห็นและเกิดความรู้สึกว่า พี่น้องประชาชนยืนเคียงข้างผู้แทนในการที่จะแก้ไขปัญหา หาได้ไหมคนคนนั้น ขณะที่นายกฯ รองนายก รัฐมนตรีลงไปตรวจงาน ต้องมีคนหนึ่งที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นผู้แทนที่เขาไว้ใจและยอมรับยืนเคียงข้าง ร่วมในการแถลง ให้ความเห็น อธิบายนโยบาย นี่คือสิ่งที่จำเป็น ไม่งั้นจะไม่เกิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ ร่วมรับผิดชอบ
มองอย่างไรต่อการนำเสนอแนวคิดแก้ปัญหาภาคใต้จากฝ่ายต่างๆ
ผม คิดว่าคำของรัฐธรรมนูญนั้นเหมาะสมที่สุด คือการกระจายอำนาจ การเคารพในสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่จริงจัง การมีส่วนร่วม การมีความรู้สึกสำนึกในการเป็นเจ้าของกับปัญหากับนโยบาย รูปแบบที่ออกมาจะทำอย่างไรก็ตามแต่ขอให้เกิดความรู้สึกร่วม เป็นเจ้าของรับผิดชอบร่วม
เรามักจะไม่ให้ความสนใจกับสาระของแนวความ คิด มักมองว่ามาจากใคร แทนที่จะเป็นการสร้างกรอบของนโยบายร่วมกัน เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของชาติต้องหันหน้าเข้าหากัน ต้องร่วมกันแก้ไข เป็นเจ้าของ รับผิดชอบ ปัญหามันสำคัญและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นคนทำ
ปัญหา นี้ จะต้องมองภาพรวมเป็นวาระของชาติที่จะต้องร่วมกันแก้จริงๆ เอาทุกมิติมารวมกันให้มันตกผลึกเป็นเอกภาพของความคิด และแก้ปัญหาร่วมกัน
ประวัติ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
เกิด ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีบิดาเป็นครูสอนศาสนา ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านตาล ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชและ เบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2515 ปริญญาโท มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (พ.ศ. 2518) และปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (พ.ศ. 2525) เริ่มอาชีพนักวิชาการในตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2518-2529
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เข้าสู่แวดวงการเมืองในปี พ.ศ. 2529 โดยได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกัน 7 สมัย เคยเป็นเลขานุการของนายชวน หลีกภัย ขณะที่นายชวนดำรงตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2529-2531) ต่อมาเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2535-2538 และเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2540-2544 สร้างความประทับใจในระดับนานาชาติเนื่องจากใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและมีปัญญา ทางการเมือง
ปัจจุบัน ดร.สุรินทร์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีวาระ 5 ปี โดยเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 หลังจากที่ได้มีการส่งชื่อไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อปลายเดือน กรกฎาคม 2550 และได้รับการรับรองจากชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการในที่ประชุมผู้นำอาเซียน ณ สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 นับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยคนไทยคนแรกคือ แผน วรรณเมธี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2532-2536
พับลิกโพสต์ ฉ.24 ม.ค.53