ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองแบบผสมผสานระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “อิสลามตามแนวคิดอิมามโคมัยนี” หรือ “ระบอบวิลายะตุลฟะกี” ที่ให้อำนาจการชี้นำสังคมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนักการศาสนา ทำให้อิหร่านมีระบบปกครองที่ทั้งซับซ้อนและทับซ้อนในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ กรณีของ “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม” หรือ “IRGC” (Islamic Revolutionary Guard Corps)
IRGC เป็นกองกำลังทหารชั้นยอดของอิหร่าน ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เพื่อรับผิดชอบในการปกป้อง “ระบอบการปกครองอิสลามอิหร่าน” จากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก และเพื่อถ่วงน้ำหนักกับกองกำลังปกติ
มันได้กลายเป็นกองทัพสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจในอิหร่าน โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำสูงสุด “อายะตุลเลาะห์ อะลี คาเมเนอี”
IRGC มีกองกำลังภาคพื้นดินกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นของตนเอง ทั้งเป็นผู้ดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่าน คาดว่าจะมีบุคลากรที่ประจำการมากกว่า 120,000 – 150,000 นาย
นอกจากนี้ยังควบคุมดูแลกองกำลังอาสาสมัคร “บาซีจ” (Basij) ที่มีกำลังประจำการและกองหนุนที่พร้อมเรียกร่วม 1 ล้านคน
แต่บางที กองกำลังของ IRGC ที่โดดเด่นที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือ “กองกำลังกุดส์” (Quds) ซึ่งกล่าวกันว่ารัฐบาลอิหร่านใช้เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายนโยบายต่างประเทศ ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์นี้คือ “กอซิม สุไลมานี” (Qasem Soleimani) นายพลผู้มีชื่อเสียงของอิหร่าน แม้กระทั่งสื่อตะวันตกก็ยังเคยยกให้เขาเป็น “ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในตะวันออกกลาง”
การก่อตั้ง “IRGC”
“กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม” หรือ “IRGC” (Islamic Revolutionary Guard Corps) ชื่อเต็มในภาษาเปอร์เซีย ว่า “เซเปาะห์ พอสดอรอน เองเกลอบ อิสลอมี” เรียกสั้นๆ ว่า “เซเปาะห์” หรือ “เซปะห์” (Sepah) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1979 คล้อยหลังการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านราว 3 เดือน ตามคำสั่งของอิมามโคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติ
วัตถุประสงค์ในตอนนั้นก็เพื่อปกป้องการปฏิวัติอิสลามและระบอบการปกครองใหม่ภายใต้การนำของนักการศาสนาที่เพิ่งตั้งไข่ โดยการรวบรวมทหารจากหลายหน่วยที่มีความภักดีต่อระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่าต้องมีกองกำลังเป็นของตัวเอง เพราะความไม่ไว้วางใจกองทัพเดิมที่เคยภักดีต่อกษัตริย์ชาห์
ในระยะแรกของการก่อตั้ง “IRGC” นั้นเน้นไปที่การป้องกัน “ภัยคุกคามภายใน” เป็นหลัก
ซึ่งภัยคุกคามภายในสำคัญของระบบการปกครองใหม่ขณะนั้น ประการแรกคือ “กองทัพอิหร่านเดิม” ที่เคยเป็นกองกำลังของกษัตริย์ชาห์ เพิ่งยอมถอยจากการปกป้องระบบการปกครองเดิมหลังจากโคมัยนีกลับประเทศแล้ว และยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบการปกครองใหม่ การก่อตั้งกองกำลัง IRGC ขึ้นมาก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพ และป้องกั้นความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้าแทรกแซงล้มระบบการปกครองใหม่ที่ยังไม่มีเสถียรภาพ
ประการต่อมา คือขบวนการต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน แกนหลักในยุคแรกๆ คือ “กลุ่มมุญาฮิดีนคัลก์” หรือ “เอ็มเคโอ” (People’s Mojahedin Organization of Iran หรือ the Mojahedin-e Khalq ชื่อย่อ MEK, PMOI หรือ MKO) ซึ่งเป็นองค์กรสังคมนิยมอิสลาม นิยมลัทธิมาร์กและอิสลาม ต่อต้านตะวันตกและต่อต้านการปกครองของชาห์มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอิสลาม มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอิหร่าน แต่ต่อมาปฏิเสธแนวทางการปกครองประเทศของโคมัยนี และกลายเป็นองค์กรที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลใหม่
นอกจากนั้น ในการปกป้องระบอบอิสลาม จาก “การแทรกแซงโดยต่างชาติ” ก็เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของพวกเขา เช่นเดียวกับการต่อต้านรัฐประหารโดยทหาร หรือบ่อนทำลายโดยสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ขบวนการที่เบี่ยงเบน”
ต่อมาไม่นานหลังการก่อตั้ง IRGC ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ในสมรภูมิระหว่างประเทศ เมื่อ “สงครามอิรัก-อิหร่าน” ปะทุขึ้น
การก่อตั้ง IRGC ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญอิหร่าน มาตรา 150 ในเวลาต่อมา ซึ่งระบุไว้ว่า “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงแรกของชัยชนะแห่งการปฏิวัตินี้ จะต้องถูกผดุงรักษาไว้เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปในบทบาทของการปกป้องการปฏิวัติและผลสัมฤทธิ์ของมัน ขอบเขตหน้าที่ของคณะนี้ และขอบเขตความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังติดอาวุธอื่น ๆ จะถูกกำหนดโดยกฎหมาย โดยเน้นความร่วมมือและความสามัคคีฉันท์พี่น้องในหมู่พวกเขา”
กองกำลังติดอาวุธอิหร่าน และสายบังคับบัญชา
กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลอิหร่านมี 3 กองทัพ ได้แก่
1.กองทัพทหารปกติ ที่อิหร่านเรียก “อาร์เตช” (Artesh)
ตัวเลขประมาณการกำลังพล : กองทัพบก 220,000 -350,000 นาย กองทัพเรือ 18,000 – 22,000 นาย และกองทัพอากาศ 37,000 – 52,000 นาย
2.กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ที่อิหร่านสั้นๆ เรียกว่า “เซเปาะห์” (Sepah)
มีกำลังพลทั้งหมดประมาณ 120,000 – 150,000 นาย โดยไม่รวมกองกำลังอาสาสมัครบาซีจ
3.กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย หรือ “ตำรวจ” (Police)
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอิหร่านมี 2 กองกำลังทางทหารที่แยกจากกันอิสระ หรือ “กองทัพซ้อนกองทัพ” โดยทั้งสองกองกำลังต่างก็มีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นของตนเอง
การแบ่งภารกิจหน้าที่ของสองกองกำลังทางทหารในทางทฤษฎีนั้น กองทัพทหารปรกติ มีหน้าที่ดูแลปกป้องพรมแดน อธิปไตยของชาติ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ส่วน IRGC มีจดประสงค์เพื่อดูแลปกป้อง “ระบอบการปกครอง” (System) ของอิหร่านภายใต้การนำของนักการศาสนา แต่ในทางปฏิบัติ IRGC เข้าไปมีอิทธิพลในหลายๆ ด้านเหนือกองทัพปกติ
การบังคับบัญชาและสั่งการ 2 กองทัพทหารนี้ (และรวมทั้งตำรวจ) อยู่ภายใต้ “กองเสนาธิการกองกำลังติดอาวุธอิหร่าน” (General Staff of the Armed Forces) โดยที่กระทรวงกลาโหมและขนส่งกองทัพ ( Ministry of Defense and Armed Forces Logistics) นั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนโลจิสติกส์และงบประมาณของกองทัพ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งปฏิบัติการทางทหารในภาคสนาม
ขณะเดียวกัน กองเสนาธิการฯ นี้ก็ต้องฟังและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ “ผู้นำสูงสุดอิหร่าน” ที่อยู่ในสถานะ “ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองกำลังติดอาวุธอิหร่าน (Commander-in-Chief of the Armed Forces of the Islamic Republic) โดยสำนักผู้นำสูงสุดมีการตั้งหน่วยงานที่ชื่อ “สำนักงานกิจการทางทหารแห่งผู้นำสูงสุด” (Military Office of the Supreme Leader) ขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการทางทหาร
จึงกล่าวได้ว่า “ผู้นำสูงสุดอิหร่าน” คือ “ผู้บัญชาการสูงสุดที่แท้จริง” ของเหล่าทัพอิหร่านทั้งหมด
โครงสร้าง IRGC ในปัจจุบัน
ประกอบด้วย 5 หน่วยงานหลัก
1.กองทัพบก
มีกำลังพลประมาณ 100,000 – 130,000 นาย มุ่งเน้นไปที่ความผิดปกติภายในมากกว่ากองทัพปกติ กองกำลังภาคพื้นดิน IRGC มีหน่วยงานระดับสูงหลายหน่วย พวกเขาดูแลด้านรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ คุ้มครองเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและรัฐสภา (ยกเว้นผู้นำสูงสุด) งานด้านข่าวกรองและสืบราชการลับ ดูแลชายแดนที่มีปัญหาก่อการร้าย เช่นชายแดนอิหร่าน-ปากีสถาน เขตที่มีปัญหาเรื่องชาวเคิร์ดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
2,กองทัพเรือ
ประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 20,000 นาย มีกองเรือและเรือเร็วจู่โจม 1,500 ลำแยกต่างหากจากกองทัพเรือปกติ
กองทัพเรือ IRGC และกองทัพเรือของททหารปกติ (อาร์เตช) มีความซ้ำซ้อนกันเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่พวกเขามีความแตกต่างในแง่ของวิธีที่พวกเขาได้รับการฝึกฝนและการต่อสู้
กองทัพเรือ IRGC เป็นผู้ควบคุมหลักและดูแลน่านน้ำอ่าวเปอร์เซีย มีความเชี่ยวชาญในกลวิธีโจมตีและหนีแบบอสมมาตร คล้ายกับการรบแบบกองโจรในทะเล และยังมีคลังสรรพาวุธขนาดใหญ่ในการป้องกันชายฝั่งและขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ นอกจากนี้ยังมีหน่วย Takavar (กองกำลังพิเศษ) ที่เรียกว่า Sepah Navy Special Force (S.N.S.F. )
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2016 ลูกเรือชาวอเมริกัน 10 คนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ IRGC นอกชายฝั่งเกาะฟาร์ซีซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งของกองทัพเรือ IRGC เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่าลูกเรืออยู่ในภารกิจการฝึกซ้อมโดยเรือลำหนึ่งเสียและเรือลอยเข้าสู่น่านน้ำอิหร่าน กระตุ้นหน่วยเรือ IRGC เพื่อตอบโต้และจับกุมลูกเรืออเมริกัน จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะนั้นได้โทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่อิหร่านเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เจ้าหน้าที่อิหร่านได้รับการปล่อยตัวลูกเรืออเมริกันภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
3.กองทัพอากาศ
จำนวนกำลังพลประมาณ 5,000 นาย ดูแลคลังอาวุธขีปนาวุธของอิหร่าน
ผลงานขึ้นชื่อคือการยึดโดรนของสหรัฐหลายลำที่ล่วงล้ำน่านฟ้า จากนั้นใช้วิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ผลิตโดรนออกมาออกมาใช้ในกองทัพและส่งให้เครือข่ายพันธมิตร
4.กองทัพกุดส์ (Quds Force)
ไม่ทราบจำนวนกำลังพลแน่ชัด บ้างว่า 2,000–5,000 นาย บ้างประมาณว่า 15,000 นาย เป็นหน่วยงานชั้นยอดของ IRGC รับผิดชอบกิจกรรมพิเศษด้านต่างประเทศและหน่วยสืบราชการลับ
หน่วยกุดส์มี “นายพลกอซิม สุไลมานี” เป็นผู้บัญชาการ เขาเป็นนายทหารคนสำคัญของอิหร่านที่ได้รับการอธิบายว่า คือ “ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในตะวันออกกลางเวลานี้” เป็นจอมวางแผนและผู้ออกแบบยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของเตหะรานในความพยายามต่อสู้กับอิทธิพลตะวันตก และส่งเสริมการขยายอิทธิพลอิหร่านทั่วตะวันออกกลาง เขาได้รับความสำคัญอย่างสูงจากผู้นำสูงสุด ในการออกงานวาระสำคัญๆ นายพลกอซิม สุไลมานี มักนั่งใกล้ชิดผู้นำสูงสุดเสมอ
กองกำลังกุดส์ให้การสนับสนุนและมีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐในหลายประเทศ เช่นฮิซบุลเลาะห์ ในเลบานอน, ฮามาส และอิสลามิกญิฮาด ในปาเลสไตน์,กบฏฮูซีในเยเมน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและระดมพลนักรบชีอะห์ ในอิรัก, ซีเรีย, และอัฟกานิสถาน
โดยเฉพาะต่อสงครามต่อต้านไอซิสในอิรักและซีเรียช่วงไม่หลายปีมานี้ ถือเป็นการปรากฏโฉมชัดเจนของกองทัพกุดส์จากที่ก่อนหน้าจะปฏิบัติการเป็นภารกิจลับในประเทศอื่นๆ
กองทัพกุดส์คือหน่วยงานหลักของอิหร่านในการระดมพลนักรบอาสาสมัครชีอะห์จากประเทศอิหร่าน, อัฟกานิสถาน (ในชื่อกองกำลังฟาติมียูน) จากปากีสถาน (ในชื่อกองกำลังซัยนาบียูน) เข้าไปร่วมรบในซีเรีย
5.กองกำลังบาซีจ (Basij)
มีกำลังพลประจำการประมาณ 90,000 นาย (ข้อมูลปี 2005) กองหนุนที่พร้อมเรียกตัว 300,000 – 600,000 คน อาสาสมัครที่ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการมากกว่า 11 ล้านคน (ข้อมูลปี 2009)
บาซีจ (Basij) มาจากภาษาเปอร์เซียแปลว่า ระดมพล (Mobilization) ชื่อเต็ม The Organization for Mobilization of the Oppressed เป็นหน่วยอาสาสมัครทหาร ก่อตั้งตามคำสั่งอิมามโคมัยนี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1979 องค์กรอยู่ในสถานอาสาสมัครประชาชน เดิมเคยอยู่ในสถานะองค์กรอิสระ ต่อมาในปี 1881 ถูกบรรจุเข้าเป็นหน่วยงานในร่ม IRGC มีบทบาทสำคัญในเกณฑ์นักรบและสู้รบในสงครามอิรัก-อิหร่าน 8 ปี
พวกเขาปัจจุบันคือทหารกองหนุนที่สำคัญของอิหร่าน มีอยู่ในแทบทุกเมือง มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่นความมั่นคงภายใน เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมาย การให้บริการทางสังคม การจัดพิธีทางศาสนาของประชาชน และในฐานะตำรวจศีลธรรม และการปราบปรามการชุมนุม เช่นการประท้วงการเลือกตั้งในปี 2009 และ 2017-18
นักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อว่า พวกเขาปรากฏตัวในสงครามซีเรีย ช่วยรบรัฐบาลซีเรียเคียงข้างฮิซบุลเลาะห์ และกองกำลังอื่นๆ เพื่อต่อต้านฝ่ายกบฏ
พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องความจงรักภักดีต่อระบอบการปกครองอิหร่านและผู้นำสูงสุด
อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านให้ความสำคัญกับกองกำลังบาซีจอย่างมาก สังเกตได้ว่าหลายปีมานี้ในการออกงานต่างๆ เขาจะมีผ้าลายสัญลักษณ์ประจำหน่วยบาซีจอยู่ที่ไหล่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามชาวอิหร่านบางส่วนก็ไม่พอใจหน่วยนี้ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของการปราบปรามการเรียกร้องสิทธิหรือการประท้วงต่างๆ
รัฐซ้อนรัฐ
นอกจากจะเป็น “กองทัพซ้อนกองทัพ” แล้ว IRGC ค่อยๆ เติบโต และมีอิทธิพลในอิหร่านอย่างรวดเร็วในเกือบทุกด้านของสังคมอิหร่าน จนนักวิเคราะห์บางคนขนานนามว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือ รัฐบาลเงา, รัฐพันลึก (deep state)
พวกเขาแผ่อิทธิพลเข้าไปทั้งทางสังคม การเมือง ทหาร และเศรษฐกิจ ควบคุมองค์กรด้านความมั่นคง เช่น หน่วยสืบราชการลับ กระทรวงข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ มหาดไทย กลาโหม รวมทั้งหน่วยด้านพลังงาน ทั้งก๊าซ น้ำมัน ผ่านการแต่งตั้งโดยอำนาจของผู้นำสูงสุด, เครือข่ายที่มีอยู่แล้วในองค์กร, และการลงสมัครรับเลือกตั้ง
หลายครั้งที่ IRGC ใช้อำนาจที่มีอยู่ครอบจักรวาลจนสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ กรณีของ จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ที่ขอลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการลาออกของเขาถูกยับยั้งจากฮัสซัน รูฮานี ปธน.อิหร่าน แม้เขาไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจนในการลาออกครั้งนี้ แต่ข่าวในอิหร่านก็ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญก็เพราะเขาไม่พอใจการข้ามหน้าข้ามตาของ IRGC ทึ่นำบาชาร์ อัสซาด ปธน.ซีเรียมาเยือนอิหร่านและเข้าพบผู้นำสูงสุดในวันเดียวกันนั้น โดยที่เขาซึ่งเป็นรมต.ต่างประเทศไม่รับทราบเรื่องดังกล่าวเลย และไม่ได้อยู่ในที่ประชุมระหว่างบาชาร์กับผู้นำสูงสุด
และหากสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเปิดฉากขึ้น แน่อนว่า IRGC จะเป็นกองทัพหลักและโดดเด่นของเตหะรานในการรับมือความขัดแย้งในตะวันออกกลางครั้งสำคัญนี้!!
อ้างอิง