เบบี้อารเบีย : กรอบศาสนากับความเป็นมนุษย์

“…ธรรมชาติ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายนั้น เพลงต่างก็ทำให้มีความสุข คุณมาบอกว่า ไม่ได้ๆ ใครเขาจะเชื่อคุณ มนุษย์ก็คือมนุษย์ธรรมดา มนุษย์ทั้งโลกก็มีเพลงของแต่ละชาติทั้งนั้นแหละ” อุมัร เบบี้

สารคดี ‘Baby Arabia’ ผลงานเรื่องที่สองของกลุ่มผู้จัดทำ ‘มูอัลลัฟ’ (The Convert หรือ มูอัลลัฟ หนังสารคดีไทย ที่เล่าเรื่องราวความรักของ จูน สาวพุทธ กับเอก หนุ่มอิสลาม และเมื่อความรักสุกงอม ทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกัน : 2008) ได้แก่ ภาณุ อารี ก้อง ฤทธิ์ดี และกวีนิพนธ์ เกตุประสิทธ์ เป็นหนังทุนไทยเข้มแข็งเรื่องที่สองที่ทำเสร็จแล้ว หลังจากภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ ประเดิมเป็นเรื่องแรก (ซึ่งจัดได้ว่าหนัง 2 เรื่องนี้ได้งบน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับหนังบางเรื่อง) และฉายไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ที่หอศิลปกรุงเทพ ระหว่างเทศกาลหนังสั้นไทยครั้งที่ 14

เบบี้ อารเบีย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2518 โดยกลุ่มเด็กหนุ่มย่านอ่อนนุช ที่นำโดย เก๊ะ, กื้อ และ อิมรอน เดิมทีเป็นวงดนตรีแบบนาเซบ ซึ่งเน้นเครื่องเคาะ และร้องเพลงภาษาอาหรับและมาลายูเป็นหลัก โดยวงได้เข้าร่วมแข่งขันการประกวดดนตรีนาเซบทั่วประเทศและกวาดรางวัลมากมาย

นอกจาก วงเบบี้ อาราเบีย แล้ว วงดังสมัยนั้นยังรวมถึง อาลีบาบา แสงมณี เดอะซาวด์ออฟไนล์ สามพี่น้อง เป็นต้น แม้แนวเพลงยังคงเป็น อาหรับ มาเลย์เหมือนเดิม แต่แนวดนตรีจะมีความเป็นสากลมากขึ้นโดยมีแอคคอร์เดียน กีตาร์ไฟฟ้า และ กลองบองโก้ เป็นเครื่องดนตรีหลัก และเพลงที่ร้อง ก็เป็นเพลงคัฟเวอร์เพลงอาหรับแถบ อิยิปต์ เลบานอน ซีเรีย และ เพลงมาเลย์ยอดนิยมในอดีต

ปัจจุบันวงดนตรีเหล่านี้ได้เริ่มทยอยยุบตัว เองลง อันมีผลมาจากการเสื่อมความนิยมในหมู่มุสลิมรุ่นใหม่ ที่หันไปฟังเพลงร่วมสมัยแทน รวมถึงกระแสต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่าดนตรีเป็นสิ่งไม่สมควร อย่างไรก็ตาม ในบรรดาวงที่ยังหลงเหลืออยู่ เบบี้อาราเบีย คือวงดนตรีที่ยังคงให้ความสุขแก่แฟนๆ อย่างต่อเนื่อง

suriyah“เพลงมาเลย์ ร้องง่าย เพลงอาหรับร้องยาก คนที่จะร้องเพลงอาหรับได้ ต้องอ่านอัลกุรอานออก ถ้าถามตรงๆว่านักร้องทุกคนรู้ความหมายของเพลงไหม …ไม่รู้หรอก เราร้องไปตามอารมณ์เพลงมากกว่า” สุริยะห์ เบบี้ นักร้องหญิงวงเบบี้อารเบียกล่าว

“เพลงแกะจากเทปมา ถ้าไปถามนักร้องแต่ละคน จะร้องไม่เหมือนกันหรอก มีแต่ร้องให้เหมือนที่สุด แต่ถ้าเป็นเพลงสรรเสริญทางศาสนานี่จะร้องผิดไม่ได้ เราต้องร้องให้ถูกต้องที่สุด” จามีละห์ เบบี้ อีกหนึ่งนักร้องหญิงเสริม

“ถ้า ใครไม่มีพรสววรค์ด้านลูกคอ หรืออ่านอัลกุรอานไม่ได้ นี่ร้องไม่ได้เลยนะ คุณร้องเล่นอยู่ที่บ้านได้ แต่อย่ามาขึ้นเวที” อุมัร เบบี้ มือกีต้าร์และนักร้องกล่าว

อุมัร ยังกล่าวอีกด้วยว่า สมัยก่อนเวลาวันอีด หรือวันสำคัญต่างๆทางศาสนา จะมีการเปิดเพลงอาหรับที่มัสยิด เขาเล่าว่า เขารู้สึกว่าเป็นวันที่เขามีความสุขเวลาได้ยินเสียงเพลงอาหรับ – มาเลย์ จากมัสยิด แต่เวลานี้ไม่สามารถทำอย่างนั้นต่อไปได้ เพราะปัจจุบันนี้มีมุสลิมฐานะดีที่จบมาจากเมืองนอก บอกเขาว่าอย่างนู้นก็ทำไม่ได้ อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ ฟังเพลงก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นสิ่ง    ‘ผิดบาป’ ไปเสียหมด

“ถามว่าธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายนั้น เพลงต่างก็ทำให้มีความสุข คุณมาบอกว่า ไม่ได้ๆ ใครเขาจะเชื่อคุณ มนุษย์ก็คือมนุษย์ธรรมดา มนุษย์ทั้งโลกก็มีเพลงของแต่ละชาติทั้งนั้นแหละ”

นอกจากวงเบบี้อารเบียจะถูกกังขาจากนักวิชาการมุสลิมต่างๆ แล้ว ยังถูกสังคมดูหมิ่นดูแคลน อีกด้วย

สมาชิก อีกคนหนึ่ง ‘จามีละห์ เบบี้’ นอกจาก จะเป็นนักร้องของวงเบบี้อารเบียแล้ว เธอยังเป็นครูสอนหนังสือ (อัลกุรอาน) อีกด้วย สองบทบาทที่เธอได้รับควบคู่กันไปนั้น เธอปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยม แต่กระนั้นก็ยังมีแรงกดดันจากอีกฟากฝั่งหนึ่งเสมอ

“เขาก็พูดกันว่า… ‘สอนหนังสือก็ดีนะ แต่ทำไมต้องร้องเพลงด้วย’ …” จามีละห์กล่าว

สารคดี ยังนำเสนอภาพความแตกต่างของความสนุกสนานที่ชาวบ้านและผู้ชมได้รับจากวงเบบี้ อารเบีย แต่ไม่สามารถแม้แต่จะโยกย้าย หรือขยับตัวตามจังหวะเพลง เพราะบริเวณหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ เป็นชุมชนที่เคร่งศาสนา แต่ในอีกชุมชนหนึ่งกลับโยกย้ายและเต้นตามจังหวะอย่างสนุกสนาน

สิ่ง เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านนั้นถูกกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติที่มีอยู่แต่เดิม กลับเป็นไปตามวัฒนธรรมและกระแสจากโลกภายนอก ที่บางครั้งบางทีอาจขัดกับวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อดั้งเดิม จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงเลือกที่จะทำแบบเดิมไม่ค่อยได้ และทำไมเขาจึงเลือกที่จะปฏิบัติตามสัณชาตญาณของเขามิได้ ทั้งๆที่ผืนดินที่เขาอาศัยอยู่นั้น เป็นถิ่นที่เขาอาศัยอยู่เดิม ไม่ได้ไปอาศัยแผ่นดินของใครอื่น ที่จะสามารถยัดเยียดวัฒนธรรมอื่นใด โดยการควบคุมทางสังคมที่มีชนชั้นนำเป็นใหญ่ในสังคม

ติดตามข่าวสารความเคลื่อไหวของพวกเขาได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Baby-Arabia

 
ที่มา : the public post No.33 Oct 2010