สงครามโลกครั้งใหม่ที่ไม่มีใครพูดถึง : ทั่วโลกร้องหาน้ำมันและก๊าซ

ขณะที่โลกจวนจะเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้งหนึ่งด้วยไฟที่ถูกจุดขึ้นในตะวันออกกลาง น้ำมันและก๊าซ ซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์ ศาสนา หรือแม้แต่ความเป็นชาตินิยม เป็นแกนสำคัญของสมการอำนาจและความโลภ

(ภาพ) นายกรัฐมนตรีฏอยยิบ เออร์ดูกัน (กลาง) พบกับ ส.ส.จากอาเซอร์ไบจัน (แถวซ้าย) ในกรุงอังการ่า เมื่อ 14 ตุลาคม 2009 เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่คอเคซัสใต้ที่มีปัญหาด้านพลังงาน ตุรกีกำลังผงาดขึ้นเป็นเจ้าแห่งพลังงานโลกอย่างเงียบๆ


 

ลอนดอน – ความทะเยอะทะยานที่จะครองความเป็นใหญ่ของรัสเซียและสหรัฐฯ ถูกเผยออกมาอย่างโจ่งแจ้งเมื่อเดือนมีนาคม 2014 ในวิกฤตการณ์ไครเมียร์ที่เป็นปัญหาโต้แย้งกันอย่างรุนแรง ทั้งคู่ต่างชิงดีชิงเด่นกันในการแข่งขันที่ดำเนินมาตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างน้อย

แต่ “สงครามเย็น” ที่ดำเนินการนานหลายทศวรรษนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองเลย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันด้านพลังงานล้วนๆ ตามที่กัลกิซ ดาดาโชวา นักวิเคราะห์พลังงานของอาเซอร์นิวส์ ในอาเซอร์ไบจันกล่าวไว้

ขณะที่โลกจวนจะเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้งหนึ่งด้วยไฟที่ถูกจุดขึ้นในตะวันออกกลาง น้ำมันและก๊าซ ซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์ ศาสนา หรือแม้แต่ความเป็นชาตินิยม เป็นแกนสำคัญของสมการแห่งอำนาจและความโลภ อันที่จริงเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับชาติต่างๆ ส่วนใหญ่ คือการรักษาการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานและการควบคุมการไหลเวียนของมัน

ถึงแม้ว่าผู้เล่นหลักในเกมอันโหดร้ายนี้ยังคงเป็นสหรัฐฯ กับรัสเซียเจ้าเก่า แต่ตุรกีกำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้ช่วงชิงตามธรรมชาติ เป็นผู้กำหนดประเภทและมหาอำนาจทางพลังงานระดับภูมิภาคในสิทธิของตัวเอง และขณะที่ไม่มีอาณาจักรออตโตมานอันเก่าแก่อีกต่อไป แต่แกนสำคัญที่ทำให้ตุรกียิ่งใหญ่ยังคงเป็นสิ่งเดียวกันในวันนี้ นั่นก็คือ ภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติอันมากมายมหาศาล

ทรัพยากรธรรมชาติได้กลายมาเป็นจอกศักดิ์สิทธิ์แห่งอำนาจ เป็นเครื่องกำเนิดและค้ำจุนอย่างเดียวของอำนาจความเป็นใหญ่ที่แท้จริง ชาติต่างๆ ได้รุ่งเรืองและเสื่อมถอยไปกับการเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ แม้หลายคนจะไม่รู้ แต่การต่อสู้กับรัสเซียของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไม่ได้ถูกกระตุ้นจากความเชื่อที่ว่านาซีเยอรมนีควรจะได้ปกครองทวีปยุโรปโดยไม่มีใครขัดขวาง แต่น่าจะเป็นเพราะความเข้าใจว่าหากไม่สามารถเข้าถึงน้ำมันและก๊าซได้ จักรวรรดิไรช์ที่สาม (Third Reich) ก็จะอยู่ไม่ถึงฤดูหนาวอีกปี ทรัพยากรธรรมชาติอันมากมายของอาเซอร์ไบจันนั่นเองที่ผลักดันฮิตเลอร์ให้รนหาที่ทำลายอาณาจักรของเขาเอง เขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องท้าทายกับคราเคนของรัสเซีย

เหมือนอย่างที่เรารู้กันในตอนนี้ การท้าทายรัสเซียของสตาลินจะนำไปสู่การล่มสลายของเบอร์ลินได้ในที่สุด และด้วยการนั้นเองที่ทำให้การปกครองอันโหดร้ายของฮิตเลอร์ค่อยสิ้นสุดลง

“ขณะที่สงครามของนาซีเอาชนะโปแลนด์ ยึดฝรั่งเศส และกองทัพอากาศเยอรมันเข้าล้อมอังกฤษได้ทางอากาศในเดือนพฤษภาคคม 1940 ฮิตเลอร์ก็นึกถึงความเป็นจริงที่สัมผัสได้ว่า กลไกในการทำสงครามของเขานั้นต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่สำคัญที่สุดคือน้ำมัน” ดาดาโชวาบอกกับสำนักข่าวมินท์เพรสส์

“ฮิตเลอร์คิดว่าถ้าเขายึดน้ำมันของคอคูเซสได้ อาณาจักรระเบียบใหม่ของเยอรมันก็จะพึ่งพาตนเองได้ภายในเขตแดนของตัวเอง และจะแข็งแกร่งยืนยง แต่ยุทธศาสตร์ของเขาในการต่อสู้กับสองแนวรบ คือสตาลินกราดกับคอคูเซส ทำให้ทรัพยากรของกองทัพเยอรมันต้องกระจายออกไปเป็นปริมาณที่น้อยเกินไปและทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ในที่สุดฮิตเลอร์ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างเพราะเขาพยายามที่จะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง”

ฮิตเลอร์ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นจักรพรรดิในยุคใหม่ได้วางเดิมพันบัลลังก์ของเขาในเกมพนันน้ำมัน แต่เขายังไม่ใช่ผู้นำคนสุดท้ายที่วางน้ำมันไว้เหนือธงและชาติ หรือแฝงนโยบายฉกฉวยน้ำมันไว้ใต้การหลอกลวงว่าจะสร้างประชาธิปไตย ต่อต้านการก่อการร้าย หรือความรักชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

“ขณะที่มหาอำนาจยังคงเล่นเกมอันยิ่งใหญ่นี้อยู่ ทรัพยากรธรรมชาติก็ตั้งอยู่ในใจกลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการเจรจา ทุกสงคราม ทุกการต่อสู้กันด้วยคำพูดที่กำลังเปิดเผยอยู่บนโลกนี้ น้ำมันและก๊าซได้กลายมาเป็นตัวหารร่วม สิ่งอื่นทั้งหมดเป็นแค่เศษฝุ่น” รูฟิซ ฮาฟิโซกลู ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของสำนักข่าวเทร็นด์นิวส์ในอาเซอร์ไบจันกล่าว

ขณะที่มอสโกและวอชิงตันเล่นเกมช่วงชิงอำนาจกัน ตุรกีได้ใช้ยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และความรู้สึกร่วมกันทางการเมืองเพื่อสร้างพันธมิตรด้านน้ำมันที่แผ่ไปไกลขึ้น ตุรกียังไม่เคยเลิกล้มความทะเยอทะยานอันใหญ่หลวงของตน

ความมั่นคงด้านพลังงานสอดคล้องกับความมั่นคงของชาติ

Turkey Oil Smuggling(ภาพ) ทหารตุรกีลาดตระเวนถนนสายหนึ่งใกล้ฮาคิปาซา ฮาเตย์ ตุรกี ในช่วงที่มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันมากที่สุดของตุรกี จุดผ่านสำคัญเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เรียกว่าฮาคิปาซา ริมฝั่งแม่น้ำโอรอนเตสที่แบ่งเขตแดนกับซีเรีย เมื่อ 20 กันยายน 2014 เจ้าหน้าที่และชาวบ้านบอกว่าฮาคิปาซาเป็นแหล่งลักลอบขนส่งมานานหลายทศวรรษแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงมาจากบ่อน้ำมันในอิรักหรือซีเรียที่อยู่ในความควบคุมของทหาร รวมทั้งกลุ่มรัฐอิสลามด้วย และถูกขายให้กับคนกลางที่ลักลอบนำข้ามชายแดนตุรกี-ซีเรีย


ขณะที่รัสเซียและสหรัฐฯ ถูกระบุว่าเป็นมหาอำนาจของโลกเนื่องจากขนาดของกองทัพและร่องรอยทางเศรษฐกิจของมัน การกระทบกระทั่งและวาระขัดแย้งกันได้ทำให้เกิดอำนาจอื่นๆ ขึ้นภายในที่ว่างของความไม่ลงรอยกันนั้น ตุรกีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งนั้น

ฟัซลี คอร์แมน ทูตตุรกีประจำเยเมนพูดกับมินท์เพรสส์ ระบุว่าประเทศของเขาเป็น “หนึ่งในตลาดพลังงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบสิบปีที่ผ่านมา”

คอร์แมนอธิบายต่อไปว่า ตุรกีใช้โครงการแปรรูปองค์กรอย่างชาญฉลาดเพื่อป้องกันทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลของตน และลงทุนในการพัฒนาพลังงานอย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในขณะเดียวกับการใช้ภูมิประเทศที่ไม่เหมือนใครของประเทศเพื่อเป็นสื่อกลางกับพันธมิตรและข้อตกลงด้านพลังงาน เนื่องจากมหาอำนาจของโลกต้องอาศัยตุรกีมากขึ้น

“ภาคส่วนพลังงานของประเทศมีโครงสร้างที่มีการแข่งขันสูง และทำให้มีขอบเขตใหม่สำหรับการเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ในด้านการเมืองด้วย” ท่านทูตกล่าว “ตุรกีต้องการที่จะเป็นผู้เล่นที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตำแหน่งของตนเป็นการเปิดประตูธรรมชาติออกสู่ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง”

ด้วยการกำหนดเงื่อนไขโดยรายงานยุทธศาสตร์พลังงาน 2012 จากกระทรวงต่างประเทศตุรกี “คาดว่าตุรกีจะกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจพลังงานที่เคลื่อนไหวมากที่สุดของโลกในด้านการเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงาน”

และเพราะความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของประชากรและความจำเป็นของการเติบโตด้านอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ในอังการาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับความมั่นคงด้านพลังงาน

“ความจำกัดของแหล่งพลังงานในประเทศของตุรกีท่ามกลางความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ”

รายงานนั้นกล่าวต่อไป “ปัจจุบัน ทรัพยากรในประเทศมีประมาณ 26% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด ขณะที่ส่วนที่เหลือได้มาจากการนำเข้า”

“เป้าหมายแรกของประเทศคือเพื่อตระหนักถึงความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง” รายงานกล่าวต่อไป โดยอธิบายว่าการจะบรรลุผลเช่นนั้น ตุรกีวางแผนที่จะเปลี่ยนเส้นทางและแหล่งจัดหาพลังงานของตน เพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานทดแทนในพลังงานแบบผสมของตน ดำเนินการด้านพลังงานนิวเคลียร์ เริ่มขึ้นตอนสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป
ดังที่มาร์ติน คาทูซา นักยุทธศาสตร์การลงทุนด้านพลังงานของ Casey Research เขียนในหนังสือ “The Colder War” ของเขาว่า ประเทศต่างๆ “วางแผนที่จะชนะโดยไม่ใช่ด้วยการใช้ดาบ แต่ด้วยการควบคุมแหล่งพลังงานของโลก”

ดังที่มันเป็นอยู่ ตุรกีได้รับประโยชน์จากภูมิประเทศของมันและความตึงเครียดในปัจจุบันระหว่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซีย

ตุรกี : ผู้ค้าพลังงานโดยกำเนิด

Leiv Eiriksson(ภาพ) เลฟ อีริคสัน หนึ่งในแท่นขุดเจาะที่ใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเดินทางข้ามช่องแคบบอสโพรัสของอิสตันบูลไปยังทะเลดำ ในอิสตันบูล ตุรกี เมื่อ 31 ธันวาคม 2009


ทูตคอร์แมนระบุว่า พลังงานเป็นส่วนสำคัญในความพยายามด้านการทูตและการเมืองของตุรกีในหลายทศวรรษนี้ เพราะอังการาเข้าใจว่า อำนาจที่แท้จริงและยั่งยืนนั้นมาพร้อมกับการควบคุมพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และการใช้ประโยชน์จากพลังงาน

ในฐานะสะพานระหว่างทวีป ตุรกียังคงเป็นหลักสำคัญสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ที่สหภาพยุโรปและรัสเซียไม่ค่อยจะเป็นมิตรกันเท่าใด

ยุโรปที่หิวพลังงานและพึ่งพาก๊าซของรัสเซียต้องมองหาช่องทางเลือกอื่นที่จะตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่กำลังเพิ่มขึ้นของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงแหล่งพลังงานที่ถูกและเชื่อถือได้ และเนื่องจากทางเลือกที่สมเหตุสมผลเพียงทางเดียวของมันตั้งอยู่ในคอเคซัสใต้ที่ร่ำรวยพลังงาน ตุรกีได้รับประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิยุทธศาสตร์อย่างมากมาย

ดาดาโชวา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในอาเซอร์ไบจัน เชื่อว่า การอุ่นเครื่องกับตุรกีของสหภาพยุโรปในรอบปีที่ผ่านมามีผลอย่างมากกับการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศในคอเคซัสใต้ ได้แก่จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน และอื่นๆ เพื่อร่วมในการซื้อขายพลังงานผ่านทะเลแคสเปียนผ่านทางตุรกี

“โครงการ Southern Gas Corridor ถูกคิดขึ้นโดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป และด้วยการพัฒนาในไครเมีย เห็นได้ชัดว่ายุโรปต้องผ่อนคลายความกดดันจากตุรกี และมุ่งเน้นไปที่การเจรจาต่อรองข้อตกลงที่มั่นคงแทน ก็เหมือนกับสหรัฐฯ ที่มักจะยอมทำเป็นมองไม่เห็นการละเมิดประชาธิปไตยและเสรีภาพของซาอุดิอารเบีย สหภาพยุโรปก็ยินดีที่จะมองไปทางอื่นเกี่ยวกับนโยบายในตะวันออกกลางของอังการา” ดาดาโชวากล่าว

“ความสัมฤทธิผลมักจะสำคัญกว่าความเห็นอกเห็นใจทางการเมือง” เธอพูดต่อ “ไม่อาจมียุโรปที่ปลอดภัยได้โดยปราศจากตุรกี ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงค่อนข้างจะทำงานร่วมกับอังการามากกว่าที่จะขัดแย้งกับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากตุรกีเป็นมหาอำนาจที่มั่นคงในภูมิภาคนี้ เราไม่ได้กำลังพูดถึงเบี้ยตัวหนึ่งที่มหาอำนาจตะวันตกจะสามารถเคลื่อนไปมาตามที่พวกเขาปรารถนาได้อย่างแน่นอน ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ในสภาพการณ์ของภูมิภาคในปัจจุบัน”

ภายใต้โครงการ Southern Gas Corridor นี้ อาเซอร์ไบจัน ตุรกี จอร์เจีย เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน อิรัก อียิปต์ และกลุ่มประเทศมัชริกจะจัดหาก๊าซที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้แก่ยุโรป

รายงานฉบับหนึ่งจากหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรีตุรกี ระบุว่า “นอกจากจะมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่แล้ว ตุรกียังตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ มันจึงเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่มีอยู่และมีแบบแผน ช่องแคบสำคัญของตุรกี และแนวโน้มที่จะค้นพบไฮโดรคาร์บอนสำรองในประเทศ ทำให้ตุรกีมีอำนาจในเรื่องราคาพลังงานเพิ่มขึ้น และเสริมสถานการณ์เป็นทางผ่านของมัน”

โวลคาน โบซเคอร์ รัฐมนตรีกิจการยุโรปของตุรกีและหัวหน้าผู้เจรจา กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของยุโรปในกรุงบูดาเปสท์เมื่อต้นเดือนนี้ว่า

“ด้วยการตั้งอยู่ที่ทางแยกระหว่างผู้ผลิตและตลาดผู้บริโภคพลังงานสำคัญ ทำให้ตุรกีไม่ใช่เพียงแค่ตลาดที่สิ้นสุดเท่านั้น แต่ยังได้กำหนดให้ตัวเองเป็นประเทศทางผ่านที่น่าเชื่อถือ ด้วยการเสนอเส้นทางที่สั้น มั่นคง และยั่งยืนสำหรับทรัพยากรพลังงานของประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยพลังงานของตนอีกด้วย”

ด้วยการผลักดันไปข้างหน้าเสมอ ตุรกีได้เปิดพิธีวางศิลาฤกษ์ท่อส่งก๊าซเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ในเมืองคาร์ส ตุรกี โครงการท่อส่งก๊าซ Trans Anatolian Gas Pipeline (TANAP) มูลค่า 11,000 ล้านดอลล่าร์ ความยาว 2,000 กิโลเมตรนี้ เป็นส่วนสำคัญของโครงการ Southern Gas Corridor ซึ่งจะส่งก๊าซจากอาเซอร์ไบจันไปยังยุโรปผ่านตุรกี ท่องส่งก๊าซนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2018 และจะส่งก๊าซธรรมชาติ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปยังตุรกี และเสริมด้วยก๊าซ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปยังยุโรปภายในปี 2019

สงครามพลังงาน

ในหนังสือ The Colder War ของคาทูซา เขาได้อธิบายอย่างละเอียดถึงอำนาจของน้ำมันและก๊าซที่มีเหนือชาติต่างๆ และการเมืองโลก เขาเขียนว่า “มันเป็นเรื่องธรรมดาที่โลกดำเนินไปด้วยพลังงาน แต่น้อยคนที่จะชื่นชมกับความโหดร้ายของสัจธรรมข้อนั้นสำหรับโลกแห่งอุตสาหกรรม เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น พลังงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของอารยธรรม”

ที่จริงแล้ว ไม่ว่าชาติเหล่านั้นจะมีอำนาจหรือช่ำชองโลกสักแค่ไหน แต่ในที่สุดก็จะล่มสลายลงหากปราศจากพลังงาน อุตสาหกรรมของชาติเหล่านั้นจะเป็นอัมพาต สถาบันของรัฐในชาติเหล่านั้นจะถูกบีบคั้นด้วยการไร้ความสามารถที่จะรักษาศูนย์รวมที่สังคมสมัยใหม่ถูกถักทอขึ้นมาไว้ได้

ชาติต่างๆ กำลังเผาผลาญแหล่งพลังงานของตนไปอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการพัฒนาในภาคส่วนของพลังงานทดแทนก็ตาม มันคือความหิวที่มีแต่จะเติบโตขึ้นเท่านั้น
“จริงอยู่ ที่เทคโนโลยีกำลังทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างรวดเร็วในด้านประสิทธิภาพของพลังงานทดแทนหรือพลังงานยั่งยืน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม แต่ในอนาคตที่มองเห็นได้นี้ ยังไม่มีสิ่งใดจะมาแทนที่พลังงานที่มีความหนาแน่นสูงของเชื้อเพลิงฟอซซิลได้อย่างแท้จริงเลยแม้แต่น้อย” เทชู ซิงห์ นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองอธิบาย

ภายในสมการแห่งอำนาจนี้ มันเป็นการง่ายที่จะเข้าใจว่า ชาติใดหรือแม้แต่บริษัทใดที่ประสบความสำเร็จในการวางตำแหน่งตัวเองในการแข่งขันด้านพลังงาน ก็จะได้อำนาจควบคุมมาเป็นรางวัล เพราะผู้ที่มีเอกสิทธิ์ผูกขาดในด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการสำรองพลังงาน การจัดส่ง การขาย หรือการขนส่ง จะได้ขยายอิทธิพลอย่างกว้างขวางในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และประชาชน

“นี่คือสงครามจริงที่ไม่มีใครพูดถึง” ซิงห์กล่าวเน้น

ตัวอย่างของ “สงครามลับ” นี้ พบเห็นได้ไม่ยากถ้าหากเราจะมองผ่านข้ออ้างเอ็จและละครทางการเมือง สหรัฐฯ ได้ทำสงครามระดับโลกในตะวันออกกลางตลอดสิบปีที่ผ่านมาเพราะว่าต้องการรักษาการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลของภูมิภาคนี้

ในรายงานข่าวเดือนมีนาคม 2005 ของบีบีซี เกรก พาลาสท์ นักเขียนขายดีและนักข่าวเชิงสืบสวนของบีบีซีและเดอะการ์เดียน ได้ให้นิยามที่ชัดเจนแก่การเข้าแทรกแซงทางทหารในอิรักเมื่อปี 2003 ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ขณะนั้นว่าเป็นอุบายเพื่อการควบคุมน้ำมันและก๊าซสำรองมหาศาลของประเทศ
พาลาสท์เขียนว่า “คณะบริหารของบุชได้วางแผนเพื่อทำสงครามและเพื่อน้ำมันของอิรักมาก่อนเกิดเหตุการณ์โจมตี 11 กันยายน เป็นการจุดประกายการต่อสู้ทางนโยบายระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่(Neo-cons) กับกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่(Big Oil)” เขาอธิบายต่อไป ถึงวิธีการที่ Big Oil ของอเมริกา ในการเป็นหุ้นส่วนกับอังกฤษ ได้ดำเนินการเพื่อฉกฉวยพื้นที่น้ำมันของอิรักด้วยการใช้ “การสร้างประชาธิปไตย” มาเป็นฉากหน้าสำหรับสื่อ

“นายอัลจิบูรี (ฟาลาห์ อัลจิบูรี ที่ปรึกษาอุตสาหกรรมน้ำมันชาวอิรัก) ที่เคยเป็น ‘ช่องทางการหนุนหลัง’ ซัดดัม ของโรนัลด์ เรแกน อ้างว่า แผนการขายน้ำมันของอิรัก ที่ผลักดันโดยสภาการปกครอง ปี 2003 ที่จัดตั้งโดยสหรัฐฯ ได้ช่วยส่งเสริมการจลาจลและการโจมตีกองกำลังของสหรัฐฯ และอังกฤษ”

ถึงแม้ว่าบรรดามหาอำนาจจะระมัดระวังในการแปลงโฉมวาระพลังงานของตน ด้วยการให้เหตุผลต่อท่าทีที่ก้าวร้าวมากยิ่งขึ้นกับอำนาจทางพลังงานของตนไว้ภายใต้ข้ออ้างเท็จต่างๆ แต่มันปรากฏชัดเจนว่า น้ำมันและก๊าซยังคงเป็นแกนสำคัญของความขัดแย้งในเรื่องอาณาเขต การเมือง และแม้แต่ศาสนา

เมื่อมองดูท่าทีที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้กับรัสเซียตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ในไครเมีย ตุรกีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงอำนาจ และต้องไม่ลืมว่าตุรกีมีความสำคัญอย่างไรในการเข้ามาต่อต้านรัสเซีย และกับยุโรปในด้านความสามารถในการใช้พลังงานของมัน เงาของอังการาน่าจะแผ่ไกลออกไปและกว้างขวางขึ้นในทศวรรษที่จะมาถึงนี้ ถ้าหากว่ารัสเซียจะไม่ทำลายแผนการนั้นเสีย

 


By