หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก
ด้วยความที่มีภาพลักษณ์ของประเทศที่มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค จึงเปรียบเสมือนเป็นประเทศแม่แบบแห่งประชาธิปไตย ทำให้บทบาททางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอยู่ในบทของผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตย และใช้ความเป็นมหาอำนาจของโลกพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศต่างๆไม่ว่าจะด้วยในแง่ของการทูตและแง่ของการใช้กำลังอาวุธ
แต่ในบางกรณีก็เกิดการตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ??
ดังเช่น สถานการณ์ล่าสุดที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนซาอุดิอาระเบียในการถล่มเยเมน โดยกล่าวอ้างเหตุผลในเรื่องของการรักษาระบบการปกครองประชาธิปไตยให้กับ ประชาชนชาวเยเมน (ทั้งๆ ที่ซาอุดิอาระเบียเองนั้นมิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด)
ระบบการปกครองของซาอุดีอาระเบียเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พระราชอำนาจอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายอิสลาม ธรรมเนียมประเพณี
ฉันทานุมัติต่างๆ มาจากสมาชิกราชวงศ์ ผู้นำทางศาสนา และกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียที่สภาที่ปรึกษา ( Majlis al-shura ) ประกอบด้วยสมาชิก 120 คนดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ระบบศาลบริหารด้วยระบบศาลศาสนา ผู้พิพากษาแต่งตั้งโดยกษัตริย์ โดยคำแนะนำของสภาศาลสูง ประกอบด้วยผู้พิพากษาอาวุโสจำนวน 12 คน มีกฏหมายคุ้มครองความเป็นอิสระของศาล กษัตริย์ทำหน้าที่ศาลสูงโดยตำแหน่ง เท่ากับว่าทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ล้วนแล้วแต่อยู่ในอำนาจของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียทั้งสิ้น เพราะซาอุดีอาระเบียไม่มีพรรคการเมืองและไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศใดๆ ทั้งสิ้น
นับว่า เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งไม่น้อยเพราะประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแม่แบบของ ประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกากลับมีความสัมพันธ์อันดีกับซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย และที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐอเมริการ่วมมือกัน แทรกแซงการเมืองในประเทศอื่นโดยกล่าวอ้างเรื่องระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆที่ 1.ซาอุดิอาระเบียมิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่ใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็น ข้ออ้างในการรุกรานประเทศอื่น? 2. หากสหรัฐอเมริกาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยจริง เหตุใดจึงไม่พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยในซาอุดิอาระเบียก่อน?
หากจะเปรียบเทียบ 2 ชาติใหญ่ในตะวันออกกลางระหว่าง ซาอุดิอาระเบีย กับ อิหร่าน สหรัฐฯ กำลังปิดตาข้างเดียวอยู่หรือไม่ ในขณะที่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีและให้การสนับสนุนซาอุดิอาระเบีย (ที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย) แต่กลับโจมตีวิพากษ์วิจารณ์อิหร่าน ทั้งๆ ที่การเมืองการปกครองในอิหร่าน ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วมทุกระดับชั้น เพราะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ – มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน – มีการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดจากสภาอุลามาอ์ (ซึ่งสมาชิกของสภานี้ก็มีการเลือก ตั้งโดยตรงมาจากประชาชนเช่นกัน)
สิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังพยายาม บอกต่อโลกว่าตนเป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ให้การสนับสนุนการสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ทฤษฎีทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ดูสวยหรู แต่ในทางปฏิบัติแล้วในหลายๆ เหตุการณ์บ่งบอกได้ว่าสหรัฐอเมริกามิได้ให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก เป็นเพียงแต่ข้อกล่าวอ้างในการแสวงหาผลประโยชน์ หากประเทศใดให้ผลประโยชน์กับตนได้แม้ว่าจะไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาก็พร้อมจะเป็นพันธมิตรด้วยเสมอ
ล่าสุด ซาอุดิอาระเบียได้ยุติปฏิบัติการทางทหารในเยเมนแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาหลังสงครามคือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนเป็นจำนวนมาก การที่ซาอุดิอาระเบียกล่าวอ้างเรื่องการรักษาระบอบประชาธิปไตยในเยเมน และเป็นอีกครั้งหนึ่งกับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่น ประเทศเหล่านี้จะร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายหลังสงครามที่เกิดขึ้นกับ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศเยเมนอย่างไร
และประเทศใดจะเป็นประเทศต่อไปที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีก….???