หนัง “อมีน” ขนมยาย ขายยาย

ส่วนตัวผมไม่ได้ ต่อต้านหนังอมีน ของค่าย ไวท์ชาแนล แต่ก็ไม่ได้ ตามกระแส อยู่เฉยๆกลางๆ รับฟังข้อมูลจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน และจะไม่ขอวิจารณ์ว่า หนังถูกตามหลักอิสลาม หรือบิดอะห์ตามที่ ผู้รู้บางท่านได้ฟันธงลงไป แต่จะขอมองในมุมของเศรษฐศาสตร์ เรื่องความคุ้มค่าของการสร้างหนังเรื่องนี้

หนังอมีน เป็นผลมาจากกระแสหมิ่นศาสนทูตมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ของสื่อตะวันตก เมื่อ 2-3  ปีก่อน และก่อให้เกิดปฏิกริยาอย่างกว้างขวางจากมุสลิมทั่วโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องศาสนทูต กลุ่มไวท์ชาแนล ของเช็คริฎอ อะหมัด สะมะดี เป็นกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหว และกำหนดแนวทางในการสร้างความเข้าใจด้วยการสร้างหนังขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกระแสหมิ่น โดยการระดมทุนด้วยการรับบริจาคจากพี่น้องมุสลิม

ค่ายไวท์ ใช้เวลาวางแผนและสร้างหนังอมีน มากกว่า 2 ปี ตั้งงบประมาณไว้ 10 ล้านบาท เป็นเงินจากการรับบริจาค แต่จะทั้งหมดหรือไม่ ไม่มีข้อมูลยืนยัน จากงบประมาณ 10 ล้านบาท ใช้เป็นค่าตัวนักแสดงประมาณ 5 ล้านบาท เฉพาะค่าตัวนักแสดงดังอย่าง “เรย์ แมคโดนัลด์” ก็มากกว่า 1 ล้านบาท ที่เหลือเฉลี่ยให้กับนักแสดงคนอื่นที่ขนมาเต็มจอ ส่วนอีก 5 ล้านบาท เป็นค่าโปรดักชั่น แต่ทำไปทำมา งบประมาณบานปลายมากกว่าที่ตั้งเอาไว้ เพราะผู้กำกับที่เป็นมือผลิตหนังโฆษณามือต้นๆ ของประเทศมีมาตรฐานสูง ต้องการให้หนังออกมาดีที่สุด ซึ่งก็บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

ต้องยอมรับว่า โปรดักชั่นของหนัง อมีน ออกมาดีมาก สู้กับค่ายหนังใหญ่ๆ ได้สบาย เนื้อหาก็ดี สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามได้พอสมควร ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายของหนังที่ต้องการสร้างความเข้าใจต่อสังคม ส่งผลให้เกิดกระแสการตอบรับค่อนข้างสูงพอสมควรในหมู่คนมุสลิม ด้วยศักยภาพของนักโฆษณามือฉมังนั่นเอง แต่หนังไม่อาจสร้างความเข้าใจให้กับคนมุสลิมในสังคมอีกกลุ่มหนึ่งได้  มีกระแสต่อต้านอยู่พอสมควร

กลุ่มต่อต้านหนังอมีน ส่วนหนึ่งมาจากโต๊ะครูสายคณะเก่า สายนี้มองว่า กลุ่มที่สร้างหนัง เป็นกลุ่มที่ต่อต้านการจัดงานเมาลิด ที่มีจุดประสงค์เพื่อเชิดชูศาสนทูต ต่อต้านการจัดงานเมาลิด แต่กลับมาสร้างหนังเพื่อเชิดชูศาสนทูต แต่เป็นเพียงปฏิกริยาโต้กลับเบาๆ ไม่ได้รุนแรงอะไรมาก ไม่อาจกลบความร้อนแรงของหนังในกลลุ่มมุสลิมได้ จะเห็นได้ว่า ไปฉายที่ไหนก็มีพี่น้องมุสลิมไปอุดหนุนเต็มโรง มีการฉายซ้ำในบางพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของหนังสำเร็จได้เพียงน้อยนิด เมื่อเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้าใจต่อสังคม เพราะหนังส่วนใหญ่ฉายให้คนมุสลิมเข้าชม คนต่างศาสนิกเข้าชมไม่มากนัก เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ถึง 10% ซึ่งแน่นอนว่า คนที่เข้าชมส่วนใหญ่ เป็นคนในวงการหนัง ซึ่งก็ต้องชื่นชมและให้กำลังใจผู้สร้าง

จุดอ่อนของหนัง คือ การเน้นสร้างให้เป็นหนังที่เกี่ยวกับศาสนาหรือโฆษณาว่า เป็นหนังที่เกี่ยวกับศาสนามากจนเกินไป ทำให้ไม่อาจจัดจำหน่ายในวงกว้างได้ ไม่สามารถฉายในโรงหนังทั่วไปได้ จะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม แต่เหตุผลหนึ่งมาจาก ”การตลาด” ซึ่งหากปรับโทนหนังและปรึกษากับค่ายหนังก่อนสร้าง ผลอาจจะดีกว่า สามารถฉายได้ในวงกว้าง สร้างความรับรู้ ความเข้าใจกับสังคมได้มากกว่า ดีกว่าที่จะมาสร้างกระแสในกลุ่มคนมุสลิมด้วยกัน ซึ่งเข้าใจอิสลามดีอยู่แล้ว

มีความพยายามสร้างกระแสว่า หนังเป็นการเผยแพร่อิสลาม สามารถทำให้คนเข้ารับอิสลามได้คนหรือสองคน หลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้ ทว่าหากคิดใช้หนังมาเป็นการเผยแพร่ศาสนา ก็อาจต้องย้อนกลับไปเปรียบเทียบดูคำพูด ของโต ซิลลี่ฟูล ที่ตัดสินใจเลิกร้องเพลง โดยให้เหตุผลว่า ถ้าการร้องเพลงสามารถเผยแพร่อิสลาม ศาสนทูตคงใช้การร้องเพลงเป็นแนวทางการเผยแพร่ศาสนา ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่า การสร้างหนังไม่ใช่แนวทางการเผยแพร่ แต่เป็นเพียงการสร้างความเข้าใจในสิ่งที่คนไม่เข้าใจได้ แต่การสร้างความเข้าใจในหนังซึ่งเป็นเรื่องแต่ง ก็ไม่ใช่สรณะที่เที่ยงแท้

คำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งให้มุมมองที่น่าคิดว่า หนังอมีน จะเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ ให้สังคมมุสลิม คนจะไปยึดติดกับสื่อ กับหนังมากกว่าจะยึดติดกับหลักธรรมที่แท้จริง

หนังอมีน จึงสำเร็จตามเป้าหมายไม่ถึง 20% ของเจตนารมณ์ที่ต้องการ จากการที่ไม่สามารถสร้างการรับรู้ของสังคมในวงกว้างได้ มีแต่คนมุสลิมที่ไปดูหนังแล้วบอกว่า หนังดี ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ สร้างจากเงินบริจาคของพี่น้องมุสลิม แต่พี่น้องมุสลิมก็ต้องเสียเงินมาดูหนังอีก เท่ากับ เอาขนมยาย มาขายยายนั้นเอง เหมือน “วนอยู่ในอ่าง”

หนังอมีน เป็นหนังดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างเป็นค่านิยมใหม่ ในอิสลาม