“มูฮำหมัด มอร์ซี” แห่งอียิปต์ และ “อองซาน ซูจี” แห่งพม่า ทั้งคู่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย แต่ชาติตะวันตกปฏิบัติต่อพวกเขาแตกต่างกันมากเมื่อพวกเขาถูกกดขี่
การเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดี “มูฮำหมัด มอร์ซี” ผู้ถูกรัฐประหารแห่งอียิปต์กลางศาลหลังจากถูกจำคุกและทรมานเป็นเวลานานถึง 6 ปี แสดงให้เห็นถึง “สองมาตรฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ชาติตะวันตกแทบจะไม่ได้พยายามใดๆ ที่จะสนับสนุนการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกอย่างยุติธรรมของอียิปต์หรือประชาธิปไตย ทั้งไม่ได้พยายามต่อต้านการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในอียิปต์
ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ให้การยอมรับการปกครองของเผด็จการทหารในฐานะหุ้นส่วนในภูมิภาคของตน!!
กรณีของ “มูฮำหมัด มอร์ซี”
มูฮำหมัด มอร์ซี และพรรคเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมของเขาที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร โดย “นายพลอับเดล ฟาตาห์ อัล-ซีซี่” ในเดือนกรกฎาคม 2013
ไม่มีเสียงโวยวายเรื่องความชอบธรรมใดๆ จากชาติตะวันตก และในความเป็นจริงแล้ว ไม่นานหลังจากนายพลซีซี่ ขึ้นสู่อำนาจ บางประเทศในตะวันตกก็มาเยือนเขาเพื่อรักษาความมั่นคงเรื่องการขายอาวุธและข้อตกลงทางการค้า
เมื่อมอร์ซีถูกตั้งข้อหากบฏและข้อหาอื่นๆ ที่กุขึ้น เขาไม่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของ “ผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ-รักประชาธิปไตย” ในความพยายามที่จะขับเคลื่อนประเทศของเขาออกไปจากเผด็จการทหาร และกลุ่มสิทธิมนุษยชนตะวันตกก็ไม่ได้สนับสนุนเขาอย่างกว้างขวางในฐานะ “นักโทษการเมือง” ที่สมควรได้รับเกียรติยศรางวัลและการรณรงค์ขับเคลื่อนทางมวลชนเพื่อสนับสนุนเขา แม้แต่นักสังคมนิยมและฝ่ายซ้ายก็เงียบผิดปกติ
เมื่อนายพลซีซี่กักขังผู้สนับสนุนเขาและสมาชิกกลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” นับพัน และหลายคนถูกตัดสินโทษให้ประหารชีวิต ก็ยังไม่มีเสียงโวยวายและไม่มีการรณรงค์ให้นักโทษการเมืองแต่อย่างใด
กล่าวได้ว่า กลุ่มสิทธิตะวันตก นักการเมือง และสื่อ ดูเหมือนจะสนใจน้อยมากเกี่ยวกับนักโทษการเมืองจำนวนมากในอียิปต์ที่ถูกทรมาน ปราศจากกระบวนการดูแลที่เหมาะสมและไร้หลักนิติธรรม
นอกจากนั้น คุณคิดหรือว่า กองทัพเฟมินิสต์ (feminists) ของตะวันตกจะสนใจชะตากรรมของผู้หญิงหลายพันคนที่ถูกจับกุมหรือได้รับผลกระทบจากการกักขังในอียิปต์ นี่ก็เงียบเหมือนกัน!
และช่างน่าเศร้าว่าเมื่อมอร์ซีเสียชีวิต ไม่มีผู้นำจากชาติตะวันตกที่แสดงความเศร้าโศกหรือความโกรธต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา มอร์ซีตายแล้วและความเชื่อของเขาในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญอันใดสำหรับพวกเขา และเป็นความเชื่อของเขาในระบอบประชาธิปไตยและศรัทธาในประชาธิปไตยตะวันตกที่มีส่วนต่อการตายอันน่าสลดใจของเขา
กรณีของ “อองซาน ซูจี”
เปรียบเทียบการปฏิบัติต่อ “มูฮำหมัด มอร์ซี” กับนักโทษการเมืองอีกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่าง “นางออง ซานซูจี” ที่โดดเด่นในการลุกฮือต่อต้านการปกครองของทหารในพม่าปี 1988 จากนั้นเธอก็กลายเป็นประธานของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)
เธออยู่ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านในประเทศพม่าเป็นเวลาเกือบ 15 จาก 21 ปี ตั้งแต่ปี 1989 จนการปล่อยตัวครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2010 ในการเลือกตั้งปี 2015 พรรค NLD คว้าชัยถล่มทลาย 81 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในรัฐสภา (392 จาก 485 ที่นั่ง) ทว่าเธอซึ่งเป็นประธานพรรค NLD ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ
ซูจีกลายเป็นนักโทษการเมืองที่โด่งดังที่สุดในโลกด้วยการสนับสนุนจากตะวันตก ในปี 1990 เธอได้รับรางวัลาฮารอฟสำหรับเสรีภาพทางความคิด (Sakharov Prize for Freedom of Thought) ในปี 1991 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และในปี 2012 เธอได้รับเหรียญทองรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมกับเหรียญเสรีภาพประธานาธิบดี เป็นเกียรติยศพลเรือนสูงสุดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังมีรางวัลอื่นๆ อีกมากมายที่นานาชาติมอบให้เธอ
เธอกลายเป็นบุคคลสำคัญสำหรับองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองและการเคลื่อนไหวทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของโครงสร้างทางการเมืองตะวันตก
“ความกล้าหาญ และการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยการยึดเหนี่ยวต่อระบอบประชาธิปไตย” ของเธอได้รับการยกย่องทั่วโลกตะวันตก เธอถูกมองว่าเป็น “หนึ่งในพวกเรา” โดยมีความกังวลเล็กน้อยในการพิจารณาคุณค่าทางพุทธศาสนาและมุมมองทางการเมืองของเธอเอง ซึ่งก็แค่เฉพาะเมื่อพรรคของเธอเข้ามามีอำนาจในปี 2015 ที่มุมมองทางพุทธศาสนาและการเมืองของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ทัศนคติของเธอที่มีต่อชุมชนมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
ลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกและอำนาจสูงสุด
แนวทางและนโยบายของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวมุสลิมและโลกส่วนใหญ่ของชาวมุสลิม (โดยไม่คำนึงถึงซ้ายหรือขวา) ยังคงฝังรากอยู่ในความสัมพันธ์ก่อนยุคอาณานิคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับอิสลาม นี่คือสิ่งที่เคยเป็นและส่วนใหญ่ยังคงเป็นอยู่ ซึ่งติดเชื้อจากความไม่รู้และแบบแผนโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านศาสนาอิสลาม
ความเชื่อและค่านิยมทางสังคมศีลธรรมและการเมืองของมุสลิมจะต้องเหมือนกับตะวันตกจึงจะมีค่าควรแก่การสนับสนุนของพวกเขา ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาในอีกด้านหนึ่งมักถูกมองว่าเป็นตะวันตกในแบบที่โรแมนติก ในฐานะศาสนาแปลกใหม่ที่ชาวตะวันตกสามารถศึกษาและได้รับผลประโยชน์ทางจิตวิญญาณ ทว่าศาสนาอิสลามและมุสลิมมักถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับศาสนาตะวันตก ค่านิยมเซคคิวลาร์ และอิทธิพลในระดับโลก
ในช่วงเวลาของลัทธิล่าอาณานิคม ประเทศในยุโรปเข้ามาในดินแดนมุสลิมโดยกล่าวว่าพวกเขาอยู่ที่นั่นเพื่อทำการค้าซึ่งจะทำให้โลกมุสลิมรุ่งเรืองเช่นกัน ช่างน่าเศร้า! ที่ผู้นำมุสลิมส่วนใหญ่ในเวลานั้นเชื่อเรื่องนี้
หลังจากการโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 ตะวันตกบอกเราว่า พวกเขาบุกเข้าในประเทศของเราเพื่อติดตั้ง “ประชาธิปไตย” ให้แก่โลกมุสลิม หลายคนเชื่อพวกเขา
จากทั้งสองครั้งข้างต้น สิ่งเดียวที่ชาวมุสลิมได้รับคือความตาย ความพินาศ และความยากจน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ชาวมุสลิมจะต้องเรียนรู้ว่า ถ้าเราจะยุติทรราชและการกดขี่ในโลกมุสลิม เราจะต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองภายในประเพณีและการดิ้นรนของเรา
และในความเป็นจริง การปฏิวัติของประชาชนชาวอียิปต์ พวกเขาต้องเสียชีวิตก็ด้วยน้ำมือของประชาธิปไตยและความเชื่อที่ว่าชาวตะวันตกจะสนับสนุนชาวมุสลิมที่สวมกอดมัน!!
แปล/เรียบเรียงจาก https://5pillarsuk.com