ฟังสองด้านหนุน-ค้าน “ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า”

ลงทะเบียนซิมการ์ด

จากกรณีกอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้นั้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ และวงน้ำชาอย่างกว้างขวางในพื้นที่ ว่าการบังคับให้ประชาชนลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และบังคับให้สแกนใบหน้า และอัตลักษณ์นั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีทั้งเห็นด้วยและค้านในประเด็นนี้

ทำไม?

นักวิชาการที่ทำงานด้านสันติภาพ เช่นนางสาวสุวรา แก้วนุ้ย โพสต์ทำโพลให้ผู้ไปลงความเห็นกับมาตรการดังกล่าวว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ปรากฏว่ามีผู้เข้าไปให้ความเห็นและร่วมออกเสียงล่าสุดประมาณ 1,300 ราย ตัวเลขผู้เห็นด้วยมีไม่ถึง 10% ส่วนคนจำนวนมากเกิน 90% ไม่เห็นด้วย

เหตุผลด้านเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย

ในกลุ่มผู้เข้าไปแสดงความเห็นเพิ่มเติมนั้น มีหลายคนที่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะป้องกันความรุนแรงได้ จึงเห็นด้วย บ้างก็ตำหนิคนที่กล่าวอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความรุนแรง อย่างไรก็ตามก็มีผู้แสดงความเห็นว่าไม่ต้องการมาตรการดังกล่าวจำนวนมากเช่นกัน หลายคนตั้งคำถามว่า ในการซื้อซิมการ์ดนั้น ผู้ใช้ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนจดทะเบียนอยู่แล้ว ดังนั้นข้อมูลของผู้ใช้ได้รับการเปิดเผยแล้ว นอกจากนั้นมาตรการนี้ยังเป็นการทำงานซ้ำซ้อนเสียเวลาประชาชน บางรายระบุว่านี่เป็นมาตรการที่จะต้องใช้เงินงบประมาณของประชาชนมาดำเนินการ หากไม่ได้ประโยชน์เพิ่มก็ถือเป็นเรื่องเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ผู้ใช้อีกส่วนระบุว่า หากจะทำเช่นนี้ก็ควรทำทั้งประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฎิบัติ มีผู้ใช้บางรายเห็นว่า มาตรการนี้เป็นการกล่วงล้ำข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป(โปรดดู https://prachatai.com/journal/2019/06/83072)

ในเฟสบุคส์ของ ชัยบดี กากะ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในภาคภาษามลายูถิ่นปตานี ไม่เห็นด้วยและแสดงเหตุผลมากมายถึงความไม่เหมาะสมรัฐ “จะเอาอะไรกันหนักหนา กับ คนมลายู”

 

ในขณะที่กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น โดยพ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้เเจงกรณี คำสั่งดังกล่าวเป็นประกาศ กสทช.ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เเละประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 21 มิ.ย. ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ หลังพบปัญหาการขโมยตัวตนและอัตลักษณ์ของบุคคลไปทำธุรกรรมทางการเงิน  เช่น การแจ้งโทรศัพท์หายแล้วนำบัตรประชาชนไปซื้อซิมการ์ดตามเบอร์ของผู้อื่นแล้วนำทำธุรกรรมทางการเงิน  นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้านและนอกพื้นที่มาก่อนเหตุ โดยเฉพาะเหตุระเบิดรูปปั้นเงือกทอก แหลมสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ซิมการ์ดที่นำจุดชนวนระเบิดถูกสั่งซื้อแค่ใช้อีเมล์ส่วนตัวโดย ครูโรงเรียนตาดีการายหนึ่งใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งรับสารภาพว่าได้สั่งซื้อโดยใช้อีเมล์ จำนวน 10 ซิม แล้วนำมาให้สามีก่อเหตุรุนแรง ยืนยันว่า การลงทะเบียนซิมจะเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนทั่วไปไม่ให้ถูกขโมยตัวตน และแบ่งแยกผู้ก่อเหตุออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ยกเหตุผลโดยนำกรณีตัวอย่าง เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือก ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมา เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือก ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เมื่อปลายปีที่แล้ว คนร้ายก็ใช้บัตรประชาชนของผู้หญิงคนหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ไปสั่งซื้อซิมการ์ดมาจำนวนมาก โดยส่งผ่านเคอร์รี่ และนำไปใช้ก่อเหตุ นี่คือช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการรณรงค์เรื่องนี้จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสุจริตชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย ขอย้ำว่าระบบนี้ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และเรื่องนี้ยังคงเป็นสิทธิส่วนบุคคล หากใครไม่จดทะเบียน หน่วยงานรัฐก็ไม่บังคับ เพียงแต่จะไม่สามารถใช้ซิมการ์ดนั้นในพื้นที่นี้ได้เท่านั้น” 

ทุกคนไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่จะต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ

อะไรคือทางออกที่ยอมรับได้ (ทางการเมืองและนิติรัฐ)

การแก้ปัญหานี้ทางการเมืองน่าจะจะมีความสำคัญมากกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายความมั่นคงอย่างเดียวแต่ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะหากรัฐยังดื้อดึงไม่ฟังเสียงท้วงติงอย่างสร้างสรรค์อาจเป็นการลาดเชื้อไฟอีกกองเข้าสู่ปัญหา ทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมามา

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้แสดงทัศนะและเสนอทางออกว่า “ ระบบที่ทางผู้ให้บริการหนึ่งรายร่วมมือกับทางกอรมน.เลือกใช้คือระบบ Face Recognition ที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องการเก็บข้อมูล การนำไปใช้ว่าจะกระทบกระเทือนสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ ข้อความที่ส่งต่อมาจากผู้ให้บริการรายหนึ่งระบุว่า

กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยผู้ใช้บริการจะต้องไปลงทะเบียนซิมดังกล่าว โดยนำบัตรประชาชนไปดำเนินการตามศูนย์ให้บริการของค่ายมือถือต่างๆ โดยหากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้”

1. น่าจะไปที่ต้นเรื่องคือ ประกาศของกสทช. ไปคุยกับเขา ทำจดหมายไปถามหรือแจ้งให้ทราบว่าทางผู้ให้บริการร่วมมือกับกอรมน.ทำแบบนี้ถูกต้องตามประกาศไหมและมีแนวทางอย่างไรหากส่อให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติหรือให้เกิดภาระที่เกินสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารตามข้อ 13 ของประกาศกสทช. 

ข้อ 3 ระบุแต่เพียงว่า ให้ตัวแทนผู้ให้บริการหรือจุดให้บริการที่ผู้ให้บริการกำหนดให้ดำเนินการลงทะเบียนผู้ใช้บริการและพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้บริการแทนผู้ให้บริการ (ไม่ได้บอกว่าให้ใช้รูปแบบใดระบบใด ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นแบบอิเลคทรอนิค แบบใด อาจเป็นการนำสำเนาบัตรปชช.ก็ได้ บางศูนย์ฯบุคคลเจ้าของบัตรจริงต้องไปด้วยเป็นต้น)

ข้อ 13 บอกว่าถ้าผู้ให้บริการ (ไม่ใช่กอรมน.) จะใช้วิธีอื่นที่เป็นอิเล็คโทนิค ในการพิสูจน์หรือยืนยันตัวบุคคลให้ ผู้ให้บริการต้องจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ 1. คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว 2. คุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน

2. หากกอรมน.และผู้ให้บริการยังคงดำเนินการและเราคิดว่าเราจะอาจได้รับความเดือดร้อนก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องคดีทางปกครองน่าจะได้คงต้องคุยกัน กับทีมกฎหมายปกครองที่เชี่ยวชาญ

ก่อนอื่นถามไปทางกอรมน.ก่อนได้นะค่ะ หลายคนน่าจะเปิดรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคม

3. อาจร้องเรียนองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือองค์กรสหประชาชาติ เช่นคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ หากพบว่าการกระทำดังกล่าวมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มประชากรบางกลุ่มโดยเลือกปฏิบัติหรือไม่

ในขณะที่อีกช่องทางทางการเมืองคือการผ่านเรื่องนี้โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเป็นทางออกอีกทางออกที่ยอมรับได้(ทางการเมืองและนิติรัฐ)เพราะนักการเมือง  น่าจะมีความชอบธรรมที่สุดเพราะได้เสียงจากประชาชนดังนั้นส.ส.ในพื้นที่ไม่ว่าพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านหรือแม้กระทั่งอดีตผู้สมัครส.ส.ครั้งที่ผ่านมาก็มีสิทธิร่วมแสดงความคิดเห็นโดยการร่วมปรึกษาระหว่างพวกท่านหลังจากนั้นจัดเวทีสอบถามความคิดเห็นประชาชน (ตามที่ท่านสัญญากับเครือข่ายภาคประชาสังคมก่อนการเลือกตั้งที่โรงแรมปาร์ควิว อำเมือง จังหวัดปัตตานี 2 อาทิตย์)

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีมีเพียงพรรคเดียวที่เล่นประเด็นนี้หรือประเด็นก่อนหน้านี้จนIO หน่วยความมั่นคงมองว่าเป็นแนวร่วมโจรใต้คือพรรคประชาชาติ

สำหรับประเด็นนี้ พรรคประชาชาติเริ่มออกความเคลื่อนไหวทางโซเซียลโดยประกาศ สนับสนุนให้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรม และการมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน สนับสนุนให้ หน่วยงานด้านความมั่นคงบูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อความสงบสุขของพื้นที่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด บุคคลทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง และถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค กรณีการบังคับลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น มีประเด็นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 26 การจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 36 เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน การกระทําด้วยประการใดๆเพื่อให้ล่วงรู้ หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเห็นว่าระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่กฎหมายและมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย  ถ้า กอ.รมน.หรือรัฐ มีความจำเป็นตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์จากซิมมือถือ รัฐบาลต้องบัญญัติเป็นฏหมาย โดยให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน) เพื่อได้ร่วมกันพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญต่อไป

อนึ่ง มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้บังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าทางใด ๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ล่าสุดพรรคประชาชาติ(23/6/62)ได้ตั้งคณะทำงานที่ทำเรื่องนี้แล้ว(โปรดดูในhttps://mgronline.com/south/detail/9620000059640)

นี่น่าจะเป็นทางออกที่ยอมรับได้ไม่ว่าทางการเมือง  กฎหมายและเวทีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนานาชาติ