“มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา” จับมือ “บริษัท กรีนเทค” ลุยวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ผลักดันให้เข้าถึงประชาชน พร้อมต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.62 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับบริษัท กรีนเทค จำกัด โดยมี รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมด้วย นางชนิดา บูรณะพุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนเทค จำกัด ร่วมลงนามท่ามกลางผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานเป็นสักขีพยาน
โดย ผศ.ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกเห็นประโยชน์จากกัญชา ผนวกกับทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะผลักดันกัญชาทางการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชน ซึ่งนับว่าในประเทศไทยมีหน่วยงานเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกคุณสมบัติของหน่วยงานที่มีความพร้อมเท่านั้น
รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดีวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ ระบุว่า ถือว่าเป็นบทบาทสำคัญของสถานศึกษา ที่จะเติมเต็มองค์ความรู้ด้านนี้ต่อสังคม เป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยจะศึกษาวิจัยกัญชาอย่างเป็นระบบ ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุมคุณภาพ ภายใต้กฎหมายกำหนด
ด้าน ดร.ชาติ จินดาพล รองประธานบริหารบริษัท กรีนเทค จำกัด เปิดเผยว่า บ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องกัญชาอย่างกว้างขวาง จากนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อนโยบายเข้าสู่ขั้นตอนปฏิบัติ ตนจึงมีโอกาสไปดูงานต่างประเทศ และเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม และบริษัทกรีนเทค ก็มีทั้งประสบการณ์และความพร้อมเช่นเดียวกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เลยนำเอานโยบายของพรรคภูมิใจไทยมาต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่คนไทย เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน โดยเฉพาะผู้ป่วยกว่า 6 ล้านคน ที่ต้องการเข้าถึงการรักษาแต่หน่วยทางการแพทย์ยังไม่สามารถผลิตได้ทัน ดังนั้นการร่วมมือครั้งนี้จะสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชน โดยทางกรีนเทคจะสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านด้วย
อนึ่ง ในการลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นการร่วมมือตามโครงการพัฒนากัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านเกษตรกรรม เภสัชกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ ผ่านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ตามกรอบที่กฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการได้ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการขออนุญาตในการเพาะปลูก และนำเข้าผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยมีระยะเวลาความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการวิจัยเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องของกัญชาในทางที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง