รัฐธรรมนูญไทยในมุมมองของนิติปรัชญา

ทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะปกครองในระบอบใดย่อมมีรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักหรือ เป็นแนวทางในการปกครองและบริหารประเทศด้วยกันทั้งสิ้น  ดังนั้น กฎหมาย รัฐธรรมนูญ (Constitutional Law)  จึงถือเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ  ตามคำนิยามของนักวิชาการชาวฝรั่งเศส มาร์แชล เปรโล่ (Professor  Marcel  Prelot) ที่นิยามไว้ว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยกฎข้อบังคับทางกฎหมายที่จัดตั้งอำนาจของผู้ปกครอง การใช้อำนาจของผู้ปกครอง และการสืบต่ออำนาจของผู้ปกครอง” ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและแบบจารีตประเพณี  รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศล้วนแล้วแต่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป

หากจะมองในมุมมองทาง”นิติปรัชญา” หรือ “ปรัชญากฎหมาย” ( Legal Philosophy , Philosophy of Law ) นั้น ถือว่า  การพัฒนาแนวคิดในทางกฎหมายมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความเข้าใจในหลักของกฎหมาย  โดยพยายามกลั่นกรองเอาคุณค่าอันแท้จริงออกมา และพยายามตอบคำถามในเรื่องของวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่บัญญัติออกมาบังคับใช้  มิใช่เป็นการศึกษากฎหมายสารบัญญัติหรือวิธี สบัญญัติเรื่องใดเป็นการเฉพาะ  โดย ใช้ความรู้และประสบการณ์ทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยามานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์การเมือง  หรือเศรษฐศาสตร์  เป็นจุดเริ่มต้นในการวิเคราะห์

สิ่งเหล่านี้เองทำให้เกิดสำนักคิดทางกฏหมายแนวทางต่างๆขึ้นมามากมาย  แต่ สำนักคิดที่เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า 1,000 ปี (ว่าสำนักคิดใดมีความสำคัญกว่า และควรยึดแนวทางของตนในการใช้ร่างหรือบัญญัติกฎหมายในการปกครองประเทศ) ระหว่าง สำนักคิดกฎหมายธรรมชาติ กับ สำนักคิดปฏิฐานนิยมทางกฎหมายหรือกฎหมายบ้านเมือง

สำนักคิดในทางกฎหมายธรรมชาติ  (School  of  Natural Law)

กฎหมาย ธรรมชาติ คือ กฎหมายซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติและมีอำนาจบังคับตามธรรมชาติ และด้วยเหตุที่ธรรมชาติย่อมเป็นสิ่งสากลอยู่เหนือมนุษย์  กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้จึงใช้ได้ไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ ไม่มีอาณาเขตใดๆ โดยทั่วไปแล้ว สาระสำคัญของกฎหมายธรรมชาติอยู่ที่ข้อพิจารณาคุณค่าของการกระทำว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด คำว่า “ถูก” หรือ “ผิด” เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของ มนุษย์เอง เช่น การที่รัฐหรือผู้ปกครองออกกฎหมายมากดขี่ เอารัดเอาเปรียบข่มเหงประชาชน หรือวางบทลงโทษที่รุนแรงทารุณโหดร้าย ย่อมขัดต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  ความเป็นธรรม หรือมโนสำนึกในสายตาของคนทั่วไป  กฎหมายธรรมชาตินัยหนึ่งจึงเปรียบเสมือนเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจในการ ร่างกฎหมายของผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครอง

สำนักคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง ( School of  Positive  Law) หรือปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย

คือ กฎหมายที่ตราขึ้นบังคับใช้ในบ้านเมือง ที่บัญญัติขึ้นจากมนุษย์ โดยผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์  กฎหมายที่บัญญัติออกมานั้นถือเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายที่แท้จริงที่ผู้ใดจะขัดหรือแย้งมิได้  ถือว่าบทบัญญัติทางกฎหมายสำคัญกว่าคุณธรรมและจริยธรรม  ผู้ที่ได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) สามารถ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำราบปราบปรามผู้ที่ต่อต้านอำนาจรัฐ หรือทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ โดยไม่สนใจว่า อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มานั้นจะได้อำนาจมาจากไหน และโดยวิธีทางใด  กฎหมาย บ้านเมืองในบางกรณีจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่รับใช้ผู้ปกครองที่ เป็นเผด็จการ เป็นกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มอำนาจเพียงเท่านั้น (หากบัญญัติออกมาจากผู้ปกครองที่มีใจอธรรม) มิได้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมแต่อย่างใด

ข้างนักคิดฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองก็วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายกฎหมายธรรมชาติว่า กฎหมายธรรมชาติมิได้มีรูปธรรมที่ชัดเจน  มนุษย์มิได้มีจิตสำนึกในเรื่องผิดชอบชั่วดี หรือยึดในหลักทางศีลธรรมและจริยธรรมเหมือนกันทุกคน  ฉะนั้นจึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์อีกชั้น หนึ่ง เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างสองสำนักคิดที่ยังไม่มีข้อสรุปมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวได้ว่า การตรากฎหมายหรือการบัญญัติกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล้วนมีพื้นฐานจากบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันออกไป  การนำกฎหมายของประเทศหนึ่งมาบังคับใช้กับอีกประเทศหนึ่ง อาจไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสังคมของประเทศนั้นๆ  ดังนั้น การร่างกฎหมายต้องกระทำการอย่างรอบคอบ เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับในทางสากล มิเช่นนั้นจะเกิดการต่อต้านเป็นประเด็นปัญหาตามมาไม่จบสิ้น

ในส่วนของประเทศไทย หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  มีรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว 19 ฉบับ

โดย รัฐธรรมนูญไทยทั้ง 19 ฉบับนั้น  ส่วนใหญ่แล้วจะมีวิธีการจัดทำในรูปแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนัก  เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ หากมองจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา  มีการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง  รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นมาหลังการรัฐประหารก็ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้ กับผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์และกลุ่มพวกพ้อง หาได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระหลักการในระบอบประชาธิปไตยไม่

และ หากจะยกตัวอย่างเรื่องประวัติความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2517)  ถือว่าเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย  เนื่องจากมีที่มาจากเหตุการณ์การเดินขบวนเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชน ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516   อีกฉบับหนึ่งที่อนุโลมได้ว่ามีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญฉบับ ที่ 16 (พ.ศ.2540) ที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน (โดย มีที่มาจากตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนทางอ้อมทั้งหมด 76 จังหวัด และตัวแทนนักวิชาการ เสนอรายชื่อโดยสถาบันการศึกษา จำนวน 23 คน) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน แล้วจึงประกาศใช้

ด้วยเหตุนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญในแบบที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องมีขั้นตอนและกระบวนการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม (ไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม) เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย   สิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐควรทำคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดสรรคณะกรรมาธิการผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  มีการกระจายข่าวสารและให้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน อย่างทั่วถึง  และให้ประชาชนมีสิทธิ์เสนอความคิดเห็นหากมีประเด็นโต้แย้งเกิดขึ้น

แต่หากรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น  มีแต่เพียงกลุ่มอำนาจเป็นผู้ร่างอยู่ไม่กี่คน  ต่อให้โฆษณาว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญที่ซุกอยู่ภายใต้ปีกของเผด็จการ อยู่นั่นเอง  เป็นไปไม่ได้เลยที่ รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นจะมีความเป็นประชาธิปไตย หรือจะสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้  จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า “ที่มาของรัฐธรรมนูญเป็นเช่นไรผลลัพธ์ของรัฐธรรมนูญก็ย่อมเป็นเช่นนั้น”

ก็ได้แต่หวังใจว่า  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 20 จำนวน 315 มาตราที่กำลังจะคลอดออกมานั้น  จะมีเนื้อหาสาระเป็นที่ยอมรับในทางสากล  เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความสงบสุขและช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ตามเจตนารมณ์ของคสช.ที่จำเป็นต้องทำการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อต้องการคืนความสุขให้คนไทยตามโรดแมปที่ได้วางไว้   เพื่อป้องกันมิให้เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ว่า การร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการร่างกฎหมายเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจและตอบสนอง ความต้องการของคณะรัฐประหารแต่เพียงเท่านั้น….!!!!!