การสู้รบระหว่างตำรวจไทยกับชาวบ้านดุซงญอสร้างความหวาดหวั่นให้กับทางราชการ ไทยเป็นอย่างมาก การรายงานสถานการณ์ของข้าราชการในพื้นที่ไปยังส่วนกลางหนีไม่พ้นผู้ตกเป็น จำเลยสังคมได้แก่ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯเนื่องจากชาวมลายูปาตานีไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ดำเนินคดีผู้นำของพวกเขานั้นเอง
การดำเนินคดีกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยในศาลชั้นต้นของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้แก่ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ จำเลยที่ 1 นายแวสะแลแม มูฮัมหมัด จำเลยที่ 2 หะยีแวอุเซ็ง แวเด็ง จำเลยที่ 3 นายแวมะมิง ซิเด็ง จำเลยที่ 4 หะยีเจ๊ะและ ดาโต๊ะ จำเลยที่ 5 โดยอัยการโจทย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญเพียง 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 จำเลยทั้งหมดสมคบกันตระเตรียมการและคิดการที่จะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปก ครองภายใราชอาณาจักรใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สตูล
ประเด็นที่ 2 จำเลยทั้งหมดสมคบกันตระเตรียมกระทำการเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป
ประเด็นที่ 3 จำเลยทั้งหมดสมคบกันตระเตรียมกระทำการเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก
การพิจารณาคดีของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้เวลานานถึง 1 ปี สิ้นสุดการพิจารณาคดีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 จึงพิพากษาจำเลยในคดีดังนี้
โดยศาลพิพากษาว่า “…. ข้อความในใบมอบฉันทานุมัติเป็นข้อความก่อให้เกิดความดูหมิ่นรัฐบาลและ ข้าราชการแผ่นดิน ทั้งได้กระทำให้ปรากฎในหมู่ประชาชนแล้ว นายหะยีสุหลงจำเลยก็ต้องมีความผิดฐานขบถภายในพระราชอาณาจักรตามกฎหมายลักษณะ อาญา มาตรา 104 ส่วนนายแวสะแม จำเลยนั้นแม้จะเป็นผู้นำไปจ้างพิมพ์…..ยังปรากฎว่าได้เป็นผู้สนิทสนมกับ นายหะยีสุหลงจำเลย…..ย่อมฟังได้ว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นอันเป็นการสมคบกับ นายหะยีสุหลงจำเลยด้วยกัน…..นายแวมะมิง นายหะยีแวอุเซ็ง จำเลยเป็นผู้รับเอกสารนี้ไปชักชวนให้ราษฎรให้ลงชื่ออันเป็นการนำไปให้ปรากฎ แก่คนทั้งหลาย จึงฟังได้ว่าสมคบกับนายหะยีสุหลงจำเลยด้วย จึงต้องความผิดด้วยกัน อาศัยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วจึงพร้อมกับพิพากษาว่า นายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์,นายแวสะแม มูหะมัด, นายหะยีแวอุเซ็ง แวเด็ง, นายแวมะมิง ซิเต็ง จำเลยมีความผิดต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 104 ซึ่งแก้ไขแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา 2478 (ฉบับที่ 7) มาตรา 4 ให้จำคุก นายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์, นายแวสะแม มูหะมัด, นายหะยีแวอุเซ็ง แวเด็ง, นายแวมะมิง ซิเต็ง จำเลยไว้กำหนดคนละ 3 ปี ข้อหาของโจทก์อื่นๆนั้นให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องเฉพาะ นายหะยีเจ๊ะและ ดาโต๊ะ จำเลย ปล่อยตัวหะยีเจ๊ะและ ดาโต๊ะ พ้นข้อหาไป ‘
คำพิพากษาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นดังกล่าว โจทก์และจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำาพิพากษาต่างฝ่ายต่างยื่นอุทธรณ์คำ พิพากษาของศาลชั้นต้นจังหวัดนครศรีธรรมราชในประเด็นที่ต่างกันในเหตุผลข้อ กฎหมายและข้อเท็จจริงต่อศาลอุทธรณ์ดังนี้
ฝ่ายโจทก์โดยหลวงอรรถมนูญเนติยาธร อัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ใน วันที่ 7 มีนาคม 2492 ว่าเห็นชอบด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิพากษาปล่อยตัว นายหะยีเจ๊ะและ ดาโต๊ะ พ้นข้อหาและเห็นชอบกับความผิดของจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นที่ตัดสิน แต่ไม่เห็นด้วยที่ลงโทษจำเลย 3 ปี และศาลวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องในข้อหาอื่นๆ จึงได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ส่วนจำเลยทั้ง 4 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลา อุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยทั้ง 4 พ้นข้อหาไป และในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์อยู่นั้น ในวันที่ 13 กันยายน 2492 ทางเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ย้ายจำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หะยีแวอุเซ็ง แวเด็ง นายแวสะแม มูฮัมหมัด และ นายแวมะมิง ซิเด็ง ไปคุมขังรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ณ เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยแล้ว ใช้เวลานานถึง 1 ปี 3 เดือน พิจารณาทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยยกเป็นข้ออ้างอิง ต่อสู้ในชั้นต้น และในวันที่ 7 มิถุนายน 2493 ศาลอุทธรณ์มีความเห็นเป็นเอกฉันท์พิพากษาแก้โทษเฉพาะ นายหะยีสุหลงให้จำคุกมีกำหนด 7 ปี แต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยในชั้นศาลและชั้นสอบสวนมีประโยชน์ต่อการ พิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปราณีให้ 1 ใน 3 จึงต้องรับโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยอื่นๆ ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่พอใจของฝ่ายโจทก์แล้ว จึงไม่ติดใจฎีกาอีกต่อไป แต่สำหรับจำเลยทั้ง 4 ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา อันเป็นศาลที่พึ่งครั้งสุดท้ายของจำเลยที่ถูกกระทำอันไม่เป็นธรรมจากเจ้า หน้าที่รัฐไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2493 คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาประกอบด้วยพระมนูภัทย์วิมลสาร พระนนทประชา และพระศิลป์วินิจฉัย พิจารณาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
อิสรภาพของจำเลยทั้ง 4 ได้สูญสิ้นไปโดยสมบูรณ์ด้วยฐานความผิดดูหมิ่นรัฐบาลไทย มิใช่ฐานความผิดกบฎแบ่งแยกดินแดนตามที่ถูกอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้ง ข้อหาในสำนวนฟ้องตั้งแต่ต้นและจำเลยทั้งหมดได้ต่อสู้คดีจนครบทั้ง 3 ศาล ภายในเวลา 2 ปี 10 เดือน 14 วัน
คดีข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนที่อัยการฟ้อง ตวนกูรูหะยีสุหลงและพวกขึิ้นสู่ศาลนี้ เป็นคดีแรกของชาวมลายูปาตานีที่ถูกดำเนินคดีฐานกบฎแบ่งแยกดินแดนเป็นคดีความ มั่นคงที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (มาเลเซียปัจจุบัน) หนังสือพิมพ์อูตูซันมลายูได้ลงข่าวการตัดสินคดีผู้นำศาสนาอิสลามถูกลงโทษจำ คุกฐานข้อหาเรียกร้องอิสรภาพเป็นที่เกรียวกราวใหญ่โตในประเทศมลายู
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของไทยพิพากษาความผิดของ ตวนกูรูหะยีสุหลงกับพวกเป็นความผิดฐานดูหมิ่นรัฐบาลไทย ไม่ใช่ความผิดฐานกบฎแบ่งแยกดินแดนเป็นที่ชัดเจนและเป็นที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างความรู้สึกที่มีอคติทางด้านชาติพันธุ์ในบรรดาคน ที่มีความเชื่อในอารมณ์เป็นที่ตั้งมากกว่าการใช้เหตุผลด้วยปัญญาและจะถือ โอกาสเอาประโยชน์แก่ตนและทำลายล้างในประเด็นทางการเมืองแก่ทายาทผู้สืบสกุล ของตวนกูรูหะยีสุหลงฯตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำบางขวางเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2495 เป็นการปล่อยตัวก่อนกำหนด 2 เดือน 25 วัน ด้วยนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ทั้งนี้เพื่่อต้องการลดกระแสความไม่พอใจของชาวมลายูปาตานีต่อรัฐบาลไทย เพราะขณะนั้นความตื่นตัวที่ประเทศมลายูจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นที่กล่าว ขวัญและวิพากษ์วิจารณ์จากชาวมลายูในรัฐกลันตันและจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาสซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่เคยเกิดเหตุการณ์ต่อสู้กับเจ้า หน้าที่รัฐที่บลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ และการการสู้รบที่บ้านดุซงญอระหว่างชาวมลายูปาตานีกับตำรวจไทยมีผลทำให้สูญ เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายนับจำนวนร้อย นับว่าเป็นการมองการไกลของรัฐบาลที่จะรักษาความรู้สึกและถนอมน้ำใจของชาว มลายูปาตานีในขณะนั้น และในวันที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯกลับถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์นั้นมีชาวบ้านไป ต้อนรับนับเป็นจำนวนพันคนเพื่อแสดงความยินดีที่ได้รับคืนอิสรภาพกลับสู่แผ่น ดินแม่อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อตวนกูรูหะยีสุหลงฯกลับมาใช้ชีวิตอย่างอิสระสันโดษเยี่ยงปุถุชนธรรมดา ทั่วไปไม่นานนัก บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพนับถือทั้งหลายต่างเรียกร้องให้ตวนกูรู หะยีสุหลงฯฟื้นฟูสถานที่สอนศาสนาขึ้นมาใหม่ คือ มัดราเซาะห์ อัลมูอารีฟ อัลวาฏอนียะห์ปาตานี ซึ่งปิดกิจการมานาน 4 ปี 6 เดือน เพราะขาดผู้สอนหลังจากที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหากบฎแบ่ง แยกดินแดน ซึ่งในระหว่างนั้นสถาบันการศึกษาศาสนาโดยเฉพาะปอเนาะทั้งหลายตกอยู่ในสายตา ทางราชการในสภาพที่ไม่น่าไว้วางใจ โต๊ะครูบางคนถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อไม่สนองประโยชน์ แก่เจ้าหน้าที่ก็ปรากฎอยู่เสมอ เช่น กรณีหะยีมูฮำหมัดตอเฮร์ (โต๊ะดูกู)ที่ถูกจับกุมขังในสถานีตำรวจภูธรอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และเสียชีวิตในห้องขังเมื่อวันที 14 พฤศจิกายน 2491เป็นต้น
ตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ย่อมรู้แก่ใจดีว่าหลังจากตนเองพ้นคดีสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงมาแล้ว มิใช่ว่าการดำเนินชีวิตของตนและครอบครัวจะอยู่ในสภาพที่ราบรื่นเท่าใดนัก เพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสถานการณ์ทางการเมืองภายใต้การ บริหารประเทศของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่ในยุคที่ตำรวจเป็นใหญ่ในแผ่นดินที่เรียกว่า “ยุครัฐตำรวจ” นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ จอมพล ป.หลายคนถูกสังหารด้วยการยิงทิ้งอย่างทารุณจากฝีมือตำรวจอัศวินแหวนเพชรสมุน คู่ใจของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ขุนพลคู่กายของ จอมพล ป. นั่นเอง
แต่ด้วยความรักศาสนาเป็นทุนมาแต่เดิมและไม่อาจทนต่อคำเรียกร้องของบรรดาลูก ศิษย์ลูกหาชาวบ้านทั่วไปได้ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯจึงตัดสินใจฟื้นฟูสถานที่เรียนศาสนาขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่ อาคารหลังเดิม มัดราเซาะห์ อัลมูอาริฟ ฯ และเปิดสอนแก่บรรดาลูกศิษย์ ผู้สนใจทั่วๆไป อย่างไรก็ดี ตวนกูรูหะยีสุหลงฯไม่ละเลยที่จะบอกกล่าวให้ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตานีทราบ เพื่อขอความเห็นเสียก่อน ซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีอนุญาตให้สอนศาสนาได้โดยให้คำนึงถึงความสงบ เรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์