ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (7)

ตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ได้ทำการสอนศาสนาแก่ลูกศิษย์ลูกหาและผู้สนใจท่ามกลางการจ้องมองอย่างไม่กระ พริบตาของฝ่ายบ้านเมือง เพราะทางการไทยยังหมายหัวบุคคลชั้นนำของชาวมลายูปาตานีว่าเป็นผู้เคลื่อนไหว ชักใยอยู่เบื้องหลังของกลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าหลวงประจำจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา ต่างรายงานการเคลื่อนไหวของชนชั้นนำในหมู่ชนชาวมลายูปาตานีใน 3 จังหวัดข้างต้นต่อข้าหลวงภาค( พระยารุตนภักดี ) แน่นอนในชื่อทั้งหลายที่ถูกรายงานก็มีตวนกูรูหะยีสุหลงฯเป็นหนึ่งในจำนวน ทั้งหมดอย่างไม่ต้องสงสัย

ช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดของผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทั้งหลาย คนดีๆที่รักชาติและประชาธิปไตยถูกไล่ล่าจนไม่สามารถอยู่ในประเทศได้ อย่างเช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม( นายปรีดี พนมยงค์ )ต้องลี้ภัยออกไปสู่ต่างประเทศ ลูกศิษย์ลูกหามิตรสหายและบริวารถูกเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เช่น สังหารนักการเมืองและรัฐมนตรี 4 ราย ที่บางเขน อันเกิดจากฝีมือของบรรดาอัศวินของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ไปโยนความผิดให้กับโจรมลายูอย่างไร้เหตุผล

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองอันน่าสะพึงกลัวเช่นนี้ แน่นอนบรรดาชนชั้นนำชาวมลายูปาตานีก็หนีไม่พ้นภัยมืดจากอำนาจรัฐนอกระบบ กฎหมายที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง โดยเฉพาะตำรวจสายอัศวินแหวนเพชรที่มีลูกพี่ใหญ่อย่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เดินทางขึ้นลงลงกรุงเทพฯ สงขลา ปัตตานี เป็นว่าเล่น เพราะลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ฯ คนหนึ่งถูกส่งมาเป็นหัวหน้าสันติบาลที่จังหวัดสงขลา คือ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา ซึ่งบุคคลผู้นี้เองได้สร้างวีรกรรมครั้งสำคัญฝากรอยบาดแผลที่กว้างและลึกมาก ให้กับชาวมลายูปาตานี จนกลายเป็นศัพท์ที่ชาวมลายูปาตานีเรียกรัฐไทยว่า Penindah Siam ( ผู้กดขี่สยาม ) นั่นคือ การหายสาบสูญของ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯ

นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์อันเลวร้ายหลายเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยกระทำ ต่อชาวมลายูปาตานีในรูปแบบของการกฎขี่ข่มเหง (Penindah)จนกลายเป็นตำนานเล่าสู่กันฟังให้กับคนรุ่นต่อๆมา นั่นคือเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2490-2498 มีดังนี้

ปี 2490 เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐไทยได้ยกกำลังไปจับคนร้ายที่ยิง ร.ต.ท.ทุ่น ตังก์สุรัตน์ นายตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตที่หมู่บ้านปะลุกาสาเมาะ แต่ไม่พบคนร้าย สร้างความโกรธแค้นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยยิ่งนัก จึงเผาบ้านเรือนชาวมลายูปาตานีไหม้จนวอดวายไป 29 หลัง ชาวมลายูปาตานีเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ” มูโซะบลูกาสาเมาะ ” แปลเป็นภาษาไทยว่า ” สมรภูมิบลูกาสาเมาะ ”

ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2491 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยนับจำนวนร้อยได้ยกกำลังไปปราบชาวบ้านตำบลดุซงญอที่กำลัง ทำพิธีชะโลมน้ำมันเดือดตามตัวเพื่อความอยู่ยงคงกระพันที่บ้านกูวอลือมู( ถ้ำวัว ) เกิดการต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตรวมกันนับร้อยศพ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวดุซงญอว่า แท้จริงแล้วการทำพิธีชะโลมน้ำมันเดือดตามเรือนร่างของชาวบ้านที่เป็นเพศชาย ให้อยู่ยงคงกระพันนั้น เพื่อต้องการต่อสู้ป้องกันตัวจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้ามาอยู่ ในพื้นที่ป่าเขาสุคิรินและดุซงญอขณะนั้น แต่สายข่าวของทางราชการรายงานต่อหน่วยเหนือว่าชาวบ้านดุซงญอเตรียมการต่อ ต้านรัฐบาลเนื่องจากไม่พอใจและโกรธแค้นที่ทางการจับกุมตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ดำเนินคดีฐานกบฎภายในราชอาณาจักร  วีรกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยครั้งนี้ ทางกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎดุซงญอ เป็นรูปลูกกระสุนปืนหนึ่งนัดวางตัวยืนบนฐานตั้งตระหง่านอยู่หน้ากองกำกับการ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสหลังเก่า

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2491 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้จับตัว หะยีมูฮำหมัดตอเฮร์ ( โต๊ะครูบ้านดูกู ชาวบ้านเรียกว่า โต๊ะดูกู ) ไปขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบาเจาะ วันรุ่งขึ้นปรากฎว่า โต๊ะดูกูเสียชีวิตในห้องขัง นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญชาวมลายูปาตานีมาก เพราะ โต๊ะครูผู้นี้เป็นผู้มีชื่อเสียงมากมีลูกศิษย์มากมายเป็นคนอยู่ในวัยชราอายุ 71 ปี มีสภาพทางร่างกายพิการเดินเองไม่ได้ นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสสมัยนั้นได้ยื่นกระทู้ถามรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนสาเหตุที่โต๊ะดูกูถูกจับกุมนั้นเกิดจากการกลั่นแกล้งใส่ความของ ข้าราชการในอำเภอบาเจาะคนหนึ่งที่ไปขอเงินจากโต๊ะดูกู 30,000 บาท โดยอ้างว่าจะเอาไปซื้อรถให้กับส่วนราชการของอำเภอบาเจาะ แต่โต๊ะดูกูไม่ให้เลยพาลโกรธ จึงยัดเยียดข้อหาว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯ

วันที่ 13 สิงหาคม 2497 ตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับพวกรวม 4 คน ซึ่ง 1 ใน 4 คนนี้มีลูกชายคนโตชื่อ นายอาหมัด โต๊ะมีนา ไปด้วยในฐานะเป็นล่าม โดยทั้ง 4 คน นี้ได้ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่เดินทางไปจังหวัดสงขลาตามคำเชิญตัวของ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา หัวหน้าตำรวจสันติบาลจังหวัดสงขลา หลังจากนั้นเป็นต้นมาทั้ง 4 คน ได้หายสาบสูญไปจากโลกนี้อย่างปราศจากร่องรอย ทางภรรยาบุตรญาติพี่น้องติตามหากันทั่วทุกระแหง ได้สอบถามทางสันติบาลจังหวัดสงขลาแล้ว ได้รับตำตอบว่าบุคคลทั้ง 4 ได้ไปพบ พ.ต.ท.บุญเลิศ ฯ หัวหน้าตำรวจสันติบาลจังหวัดสงขลาจริง แต่ได้กลับไปจังหวัดปัตตานีแล้ว ในที่สุดภรรยาและบุตรของตวนกูรูหะยีสุหลงฯตัดสินใจขึ้นกรุงเทพฯไปพบรัฐมนตรี ว่าการกระทรรงมหาดไทยเพื่อให้ประสานงานเข้าพบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย( หลวงสุนาวินวิวัฒน์ ) ได้ให้คนพาภรรยาตวนกูรูหะยีสุหลงฯกับญาติๆไปบ้านจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่จอมพล ป. ไม่อยู่ได้พบกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นภริยาของจอมพล ป. แทน เมื่อท่านผู้หญิงละเอียดทราบถึงวัตถุประสงค์การมาของภรรยาตวนกูรูหะยีสุหลงฯ แล้ว จึงพูดขึ้นมาว่า ” ไม่ต้องตามหาให้เสียเวลาหรอก คุณเผ่า เขาฆ่าทิ้งเหมือนรัฐมนตรี 4 คน นั้นแหละ…” ( คุณเด่น โต๊ะมีนา เล่าให้ฟัง )

ก่อนที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯจะหายสาบสูญไ่ปไม่นาน ทางหน่วยงานส่วนกลางได้รับการรายงานการเคลื่อนไหวของตวนกูรูหดยีสุหลงฯจาก ผู้ว่าราชการภาค 9 ( พระยารัตนภักดี ) อยู่ตลอดเวลาว่า ตวนกูรูหะยีสุหลงฯยังไม่เลิกพฤติกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยุยงส่งเสริมให้ ชาวมลายูปาตานีมีความกระด้างกระเดื่องและไม่จงรักภักดีต่อรัฐบาลไทย จนดินแดนภาคใต้ปั่นป่วนไปทั่ว ผู้คนในสี่จังหวัดก็ให้ความร่วมมือด้วย เพราะส่วนมากถือว่าเป็นคนมลายูไม่ใช่คนไทย พวกที่ขัดขวางการดำเนินงานของหะยีสุหลงฯถูกฆ่าตายไปหลายคนอย่างไม่รู้สาเหตุ และจับคนร้ายไม่ได้ ข่าวนี้ได้รายงานถึงส่วนกลาง ทำให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเรียก พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ อัศวินแหวนเพชรคนสนิทถามถึงรายละเอียดของสถานการณ์ชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับ พฤติการณ์การเคลื่อนไหวของตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ซึ่งพ.ต.อ.พุฒ ฯ ได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์จะรุนแรงมากขึ้นต่่อไปแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง มัวแต่เกรงใจเพื่อนบ้านที่เอาแต่ได้อยู่อย่างนี้ ดังนั้นพล.ต.อ.เผ่า ฯ จึงสั่งการสั้นๆว่า ” มึงไปจัดการ ” คำสั่งนั้นเป็นคำสั้นๆแต่มีความหมายยาว ( บางตอนจากหนังสือชัยชนะและความพ่ายแพ้ ของ บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย โดย พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ )

พ.ต.อ.พุฒ ฯ จึงต้องลงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด่วน เพื่อไปพบพ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา หัวหน้าหน่วยตำรวจสันติบาลพิเศษภาคใต้ ทั้งคู่ได้ปรึกษาหารือแล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า มีประตูเดียวที่จะต้องทำก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น เราไม่มีทางเลือก การที่จะตกลงกันด้วยความสันติทำไม่ได้เสียแล้ว เหตุการณ์เลยไปไกลกว่าที่จะเดินแผนสกัดกั้นใดๆทั้งสิ้น เมื่อปรึกษาวางแผนจะกำจัดตวนกูรูหะยีสุหลงฯเรียบร้อยแล้ว พ.ต.อ.พุฒ ฯ ก็เดินทากลับกรุงเทพฯอยู่ได้ไม่กี่วัน ได้รับข่าวจากภาคใต้ว่า ” หะยีสุหรง หายตัวไปเฉยๆ ไม่มีใครได้ข่าวว่าเขาหายไปใหน สถานที่ที่หะยีสุหรงเคยไปปรากฎตัวพบปะราษฎรทางภาคใต้ก็ไม่ปรากฎตัวหะยีผู้ นั้น พรรคพวกหัวหน้ากลุ่มต่างๆเที่ยวตามหาตัวหะยีสุหรงกันในที่ต่างๆกึไม่พบ แม้แต่ที่บ้านของเขาเมียคนหนึ่งของเขาบอกว่า หะยีออกไปกับเพื่อนคนหนึ่งหลายวันมาแล้ว ไม่รู้ว่าไปกันที่ใหน แล้วก็ไม่กลับบ้านจนป่านนี้ ทางบ้านออกตามตัวกันทุกแห่งที่เขาน่าจะไป ก็ไม่พบ ไม่มีใครให้ข่าวได้ว่า หะยีสุหรงหายไปใหน ” ( บางตอนจากหนังสือชัยชนะและความพ่ายแพ้ ของ บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย โดย พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ )

ปี 2498 เกิดเหตุการณ์สังหารนักการเมืองมุสลิมคือ นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส ในยามวิกาลตรงหน้าบ้านในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส หลังจากกลับจากงานเลี้ยงส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมือปืนผู้ลอบสังหารเป็นตำรวจไทย ซึ่งถูกจับได้และดำเนินคดีในศาลชื่อ  พลฯจัด ไชยสุวรรณ และ ร.ต.ท.มิลิน สังข์สุบรรณ

แม้รัฐไทยจะใช้นโยบายละเมิดสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเจ้า หน้าที่รัฐไทยจะใช้วิธีการที่รุนแรงไร้มนุษยธรรมต่อชนชั้นนำทางศาสนา ทางการเมือง และชาวมลายูปาตานีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีที่รักความเป็นธรรม รักศาสนา และมาตุภูมิถิ่นกำเนิดของตนเองที่พยายามแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า นั่นคือการปลดปล่อยตัวเองให้พ้นไปจากความอธรรมของผู้ปกครองรัฐไทย