“ชาติ จินดาพล” ฟันธง! 3 ปีกัญชาผงาดทั่วไทย ชุมชนปลูกทำยารายได้มหาศาล

ชาติ จินดาพล
“ดร.ชาติ จินดาพล” รองประธานบริหารบริษัท กรีนเทค จำกัด

“มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา” จับมือ “กรีนเทค” ลุยวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ผลักดันให้เข้าถึงประชาชน พร้อมต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ “ชาติ จินดาพล” ฟันธง 3 ปีกัญชาผงาดทั่วไทย ชุมชนปลูกทำยารายได้มหาศาล

จากแนวคิดเรื่องของการนำเอา “กัญชา” มาสกัดทำยาเพื่อใช้สำหรับรักษาโรคในทางการแพทย์ สู่กระบวนการหาข้อสรุป และกลายมาเป็นนโยบายจากพรรคการเมือง รวมถึงกลายเป็นข้อถกเถียงเชิงวิชาการ จนสุดท้ายแนวคิดนี้เริ่มมีความหวังที่จะกลายเป็นจริงในเร็ววัน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะ “กัญชา” และสารสกัดจากกัญชา ใช้กันแล้วอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลหลายแสนล้านบาทต่อปี 

ขณะที่ในประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรพันธุ์พืชต่างๆ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพันธุ์กัญชาและการปลูกกัญชาที่อาจจะให้ผลได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก 

เกี่ยวกับแนวคิดการนำเอา “กัญชา” มาใช้ในทางการแพทย์ มีความคืบหน้าอย่างไร? บนคำถามของสังคมส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยและรอคอย การใช้ “กัญชา” ไปในทางที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง ที่ยังเป็นข้อกังขาถึงห้วงเวลา ว่า “กัญชา” จะถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เมื่อไหร่?

ล่าสุด บนเวทีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” กับ “บริษัท กรีนเทค จำกัด” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ในความพยายามร่วมกันของสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะผลักดันกัญชาทางการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชน ซึ่งมีคำตอบในหลายมิติที่น่าสนใจ 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับบริษัท กรีนเทค จำกัด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562

“ดร.ชาติ จินดาพล” รองประธานบริหารบริษัท กรีนเทค จำกัด เปิดเผยว่า “สำหรับเรื่องของกัญชาทางบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันให้กัญชาสามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทย เพราะกัญชามีมูลค่ามหาศาล และมีการนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์แล้วอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งหลังได้ดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับ บริษัท กรีนเทคฯ ทางส่วนของบริษัทก็จะไปดำเนินการในเรื่องของโนว์ฮาว (know-how) รวมถึงเรื่องของผู้ร่วมทุน เพราะในการลงนามครั้งนี้ได้ทราบกระบวนการขั้นตอนต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งในกระบวนการหลังจากการดำเนินการก็จะเป็นเรื่องของการเตรียมการสร้างโรงเรือนเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ และศูนย์วิจัยอย่างเป็นระบบ”

“ทั้งหมดก็จะนำไปสู่ การเปิดเสรีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกระบวนการต่อจากการมีศูนย์วิจัยกัญชาแล้วก็จะไปในเรื่องของ raw material ที่จะลงไปในส่วนของเกษตรกรหรือภาคชุมชนที่จะปลูกส่งให้เพื่อนำมาผลิต โดยกำหนดไว้ในเบื้องต้นคือ 3 ปีนับจากนี้ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการได้เร็วมากน้อยเพียงใด แต่กำหนดคาดการณ์ไว้ว่าอยู่ในกรอบที่ไม่น่าจะเกิน 3 ปี ”

“เมื่อกระบวนการก่อสร้างโรงเรือน สถานที่เกี่ยวกับการวิจัยและผลิต หากเสร็จสิ้นแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการของการปลูกเมื่อทำการปลูกและทดสอบได้เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่เรื่องของการส่งเสริมให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ที่มีความพร้อมซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ในกรอบเวลานี้คาดว่าประมาณ 3 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับทางภาครัฐและนโยบาย” 

“ตามกฏหมายแล้วระบุเอาไว้ว่า การจะลงไปถึงกระบวนการของการปลูกโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่ได้รับอนุญาต และจะต้องมีผู้ที่ซัพพอร์ตการวิจัย และจะต้องเป็นการปลูกในระบบที่มีการควบคุมที่ตรวจสอบได้ชัดเจนตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพราะกัญชาในปัจจุบันยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่” ดร.ชาติกล่าว 

จากเวที MOU ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับบริษัท กรีนเทคฯ ในครั้งนี้ นำมาสู่คำตอบที่ว่า “กัญชาจะถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เต็มรูปแบบได้เมื่อไหร่?” และ จะกระจายไปกระจายรายได้ให้กับ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ตามแนวคิดของการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร นำไปสู่ “ความหวัง” ที่ใกล้เข้ามาอีกขณะ ไม่ใช่เป็นเพียงแสงสว่างปลายอุโมงค์อีกต่อไป 

พิธีลงนามระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับบริษัท กรีนเทคฯ ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงจุดประกายและคาดการ กรอบเวลาในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นการต่อยอด และการสร้างแนวทางของการปลูกกัญชา (ใช้ในทางการแพทย์) โดยชุมชน และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศไทยได้อีกด้วย 

“ดร.ชาติ” กล่าวต่อถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความสำคัญเร่งด่วนของการใช้กัญชาในทางการแพทย์อีกด้วยว่า “เรื่องของการใช้กัญชาในทางการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 3 ปี นับจากนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน โดยเฉพาะผู้ป่วยกว่า 6 ล้านคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาแต่หน่วยทางการแพทย์ยังไม่สามารถผลิตได้ทัน  ดังนั้นการร่วมมือครั้งนี้จะสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชน โดยทางกรีนเทคจะสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ชุมชน และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการด้วย”

“โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจจริงๆ นั้น เวลานี้ยังไม่สามารถคำนวนออกมาเป็นตัวเลขได้ชัดเจน เพราะต้องดำเนินไปตามสเต็ปขั้นตอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อน โดยเฉพาะการขออนุญาตจากรัฐบาล และ เรื่องของการลงทุนการดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนและศูนย์วิจัยต่างๆ แต่สำหรับตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจจริงๆ นั้น ประมาณการณ์ได้ยาก” 

“แต่บอกได้เพียงว่า เรื่องของการใช้กัญชาในทางการแพทย์นั้น มีมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว เพราะประเทศไทยมีความเหมาะสม มีความพร้อมสำหรับแนวคิดนี้ มีความได้เปรียบในด้านต่างๆ อยู่แล้วแต่เดิม และยังเป็นประเทศที่หลายฝ่ายยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการปลูกกัญชา และเป็นประเทศที่มีพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง” 

เวลานี้มีหลายมหาวิทยาลัย หลายสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาคเกษตร รวมถึงสังคมโดยทั่วไป ตอบรับกับแนวคิดนี้ การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือเพื่อให้โครงการพัฒนากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านเกษตรกรรม เภสัชกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ ผ่านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ตามกรอบที่กฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการได้ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการขออนุญาตในการเพาะปลูก และนำเข้าผลิตภัณฑ์จากกัญชา ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องของกัญชาในทางที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง” ดร.ชาติ กล่าว 

จากกรอบเวลา 3 ปี ที่คาดการณ์ถึงการผลักดันให้แนวทางการนำกัญชามาใช้ในการแพทย์เป็นจริงและประสบความสำเร็จ สู่คำตอบที่หลายฝ่ายรอคอย และสู่คำตอบของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนทั่วไทย ที่ต่างติดตามและเฝ้ารอการเปิดให้ปลูกกัญชา (เพื่อใช้ในการแพทย์) อย่างเต็มรูปแบบ ที่จะมีปลายทางเป็นคำตอบสุดท้ายถึงเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยรายได้มหาศาลที่จะกระจายลงไปในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง 

“กัญชาเสรี” (ทางการแพทย์) กับความหวังที่จะได้เห็นการปลูกอย่างเต็มระบบ อาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะความร่วมมือ และความพร้อมจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา วิสาหกิจชุมชน ซึ่งสุดท้ายรอคอยอยู่แต่เพียงการพิจารณาครั้งสุดท้ายจากภาครัฐว่าจะพร้อมเมื่อไหร่?  เพราะในเวลานี้เชื่อได้ว่า ทุกภาคส่วนของประเทศไทย รวมถึงสังคมไทย อาจมีความพร้อมในเรื่องของกัญชาเสรี (ทางการแพทย์) กันแล้ว !! 

ทีมรายงานพิเศษ เดอะพับลิกโพสต์