ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (16)

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้รับรายชื่อที่ผู้นำศาสนาอิสลามจากจังหวัดชายแดนภาค ใต้(แต่ไม่ใช่ผู้นำศาสนาส่วนใหญ่ เพราะ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ผู้เขียนทราบว่าการประชุมของผู้นำศาสนาอิสลามที่จังหวัดปัตตานี ตัวเขาไม่ทราบเลย และเป็นคำบอกเล่าตรงกันกับ นายสิดดิก สารีฟ เคยเล่าให้ผู้เขียนมาแล้ว) คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เพราะเป็นการบีบพรรคเกินไป จึงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 8 คน ประชุมเลือกกันเองว่าจะให้ใครเป็นรัฐมนตรี เมื่อมีการประชุมหารือในสมาชิกสภาผู้แทนราฎรจำนวน 8 คน แล้ว ผลปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่เลือก นายสุดิน ภูยุทธานนท์ เป็นรัฐมนตรี รองลงมาได้แก่ นายสิดดิก สารีฟ และ นายวชิระ มะโรหบุตร ได้เสียงเท่ากัน ส่วน นายเด่น โต๊ะมีนา ไม่ติดโผแต่อย่างใด

เมื่อเลือกกันเองในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนได้ตัวบุคคลแล้ว ก่อนที่จะนำเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในพรรค ได้เชิญนายสุดิน ภูยุทธานนท์ พูดคุยเรื่องตำแหน่ง นายสุรินทร์ ได้พูดว่า ” น้อง ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้กับ คุณสิดดิกฯเถอะ เพราะคุณสิดดิกฯมีความอาวุโส น้องยังหนุ่มยังแน่นรอโอกาสหน้าก็แล้วกัน  ทางพรรคปฏิบัติตามข้อตกลงกับพวกเราแล้วน่ะ ” คุณสุดินฯตอบว่า ” ไม่เป็นไรพี่ ผมไม่มีปัญหา และรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการผมไม่ค่อยถนัด เพราะผมจบทางเศรษฐศาสตร์ ” (คุณสุดินเล่าให้ฟัง)

เมื่อนายสุรินทร์ฯได้รับคำตอบจากนายสุดินฯแล้ว จึงนำคำหารือนี้แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ทางพรรคจึงลงมติให้ นายสิดดิก สารีฟ รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐบาลที่พรรค ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้เป็นการเสียน้ำใจของผู้นำศาสนาที่ได้เสนอชื่อ นายเด่น โต๊ะมีนา ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้สมนาคุณตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้กับนายเด่นฯ ท่ามกลางความสงสัยมึนงงของบรรดาเหยี่ยวข่าวและหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย เพราะเป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายกันแล้วว่า นายเด่นฯนั้นเป็นทายาทของตวนกูรูหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้ต้องคดีกบฎแบ่งแยกดินแดนและต่อมาได้หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยอันเกิดจาก ฝีมือของตำรวจอัศวินแหวนเพชรในสังกัดพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 และเป็นน้องชายของ นายอามีน โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี 2 สมัย เมื่อปี 2500 และยังเป็นผู้ต้องคดีกบฎแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 2504 นับว่าเป็นการตัดสินใจอย่างกล้าหาญและจริงใจของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค อีกทั้งนายเสวตร เปี่ยมพงษ์ศานต์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเลือกนายสุดิน ภูยุทธานนท์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีก 1 ตำแหน่ง ทำให้ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในจังหวัดชายแดน ภาคใต้หายไปได้บ้างแม้นไม่สนิทนัก จึงนับเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยตามระบอบ ประชาธิปไตยที่มีนักการเมืองมลายูปาตานีได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขานุการ รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆอีก 2 กระทรวง รวมกันแล้ว 3 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน

จากการที่ นายสิดดิกฯเป็นน้าชายของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนได้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก นายสิดดิกฯว่า เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่พรรคประชาธิปัตย์เลือก นายสิดดิกฯเป็นรัฐมนตรีโดยยอมขัดใจมติของผู้นำศาสนาอิสลามที่จังหวัดปัตตานี และมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ

1. นายเด่น โต๊ะมีนา และ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ ไม่ใช่เป็นลูกหม้อของพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกับ นายสิดดิก สารีฟ

2. นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ขณะที่ นายสิดดิก สารีฟ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สองของพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ แม้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สองเท่ากันกับ นายสิดดิกฯแต่เป็นสมัยแรกของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะสมัยแรก นายสุดินฯเป็นสมาชิกพรรคเกษตรสังคมที่มี นายเสวตรเปี่ยมพงษ์ศานต์ เป็นหัวหน้าพรรค

3. แม้พรรคประชาธิปีตย์เลือก นายสิดดิกฯเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ผิดสัญญข้อตกลงกับผู้นำศาสนาอิสลามผู้สนับสนับสนุน เพราะ นายสิดดิกฯก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน

รัฐบาลคณะนี้เป็นรัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมือง 4 พรรค จึงได้รับสมญานามจากสื่อทั้งหลายว่า ” รัฐบาลจตุรพรรค ” ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 114 คน พรรคชาติไทย ได้ ส.ส. 56 คน พรรคธรรมสังคม ได้ ส.ส. 28 คน พรรคสังคมชาตินิยม ได้ ส.ส. 8 คน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเป็นฝ่ายรัฐบาลจำนวน 206 คน มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2519 และหลังจากนั้น 1 วัน คณะรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 และหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญานแล้ว สื่อต่างๆก็ได้ลงข่าวรายงานประวัติของรัฐมนตรีต่างๆ รัฐมนตรีที่เป็นจุดสนใจและเพ่งเล็งจากสื่อเป็นพิเศษก็ไม่พ้นรัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นชาวมลายูปาตานีคนแรกคือนายสิดดิก สารีฟ เพราะนายสิดดิกฯมีความรู้สายสามัญจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้รับสมญานามจากสื่อว่า “รัฐมนตรี ป 4” แต่อย่างไรก็ดีทางบุคคลสำคัญต่างๆของพรรคก็ได้อธิบายต่อสาธารณชนว่า นายสิดดิกฯเป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบายการศึกษาที่ได้รับ การมอบหมายจากรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการเท่านั้นและนายสิดดิกฯเป็นคนอาวุโสของ พรรคและมีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างดี ไม่น่ามีปัญหาในการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

แต่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก เพราะเค้าลางความวุ่นวายไม่สงบเรียบร้อยกำลังคืบมาเป็นระลอกๆนั่นคือ กลุ่มพลังจัดตั้งโดยคนในกองทัพที่เรียกว่าลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มนวพล ต่างเคลื่อนไหวอย่างออกหน้าออกตาที่จะสกัดยับยั้งการเคลื่อนไหวของศูนย์กลาง นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และกลุ่มพลังนักศึกษากลุ่มต่างๆในสถาบันการศึกษาที่รักเสรีภาพรักความเป็น ธรรมและรักประชาธิปไตย นอกจากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะของทหารโดย พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้ออกอากาศปลุกระดมประชาชนโจมตีขบวนการนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้ารัก ประชาธิปไตยว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ทุกๆ วัน

มิหนำซ้ำรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลเอง ยังถูกปล่อยข่าวซุบซิบในสาธารณะและชุมชนว่ามีหัวนิยมฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย เช่น นายสุรินทร์ มาศดิถต์ นายชวน หลีกภัย นายดำรงค์ ลัทธพิพัทธ์ แต่ในขณะเดียวกันมีรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลที่มีหัวนิยมฝักใฝ่ฝ่ายขวา ได้แก่ นายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมบุญ ศิริธร และ นายสมัคร สุนทรเวช จึงกลายเป็นสภาวะการณ์กดดัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี มีความยุ่งยากลำบากใจในการบริหารราชการแผ่นดินไม่น้อย

ในส่วนท่าทีและการวางตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในท่ามกลางความไม่ลงรอยและขาดเอกภาพของสมาชิกในพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความอึดอัดและลำบากใจในการวางตัวไม่ใช่น้อย เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคที่มีความขัดแย้งในความคิดและเชื่อมั่นในแนวทาง การเมืองที่แตกต่างกันนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่สนิทสนมและเคารพนับถือกันทั้ง นั้น จึงจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางเข้าร่วมให้ได้กับทั้งสองฝ่ายภายในพรรค  มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกรังเกียจจากอีกฝ่ายหนึ่ง

สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ รัฐบาลแทบไม่มีเวลาได้บริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับ ประชาคมแม้แต่น้อย เพราะมัวแต่ต้องแก้ไขปัญหาเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มวางแผนที่ จะล้มรัฐบาลที่มาตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และต้องการสลายพลังกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้ารักความเป็นธรรมรักประชาธิปไตย โดยจะอาศัยเงื่อนไขความวุ่นวายที่เกิดจากการปะทะเข่นฆ่าของกลุ่มมวลชน 2 กลุ่ม ที่มีความเชื่อในอุดมการณ์ต่างกันเป็นเครื่องมือ

ดังนั้น แผนการแรกจึงอุบัติขึ้น โดยการกลับเข้าประเทศไทยของ จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2519 หลังจากที่ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ได้ลักลอบเดินทางกลับประเทศไทยและพักอยู่ในกรุงเทพฯ โดยอ้างว่าเพื่อกลับมารักษาดวงตา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันออกไป แต่ยังไม่ทันความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก แผนที่สองกลับตามหลังติดๆ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทยอีกคน ภายหลังจากที่ได้ลี้ภัยไ่ปประเทศสิงค์โปร์ ได้บวชเป็นสามเณรที่ประเทศสิงค์โปร์ แล้วกลับประเทศไทยบวชเป็นพระและจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรุงเทพฯ จนทำให้นักศึกษา ประชาชน และกรรมกร ชุมนุมประท้วงกันขนานใหญ่ มีเหตุการณ์ฆ่ากันตายหลายราย ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลมีอาการง่อนแง่นยิ่ง ขึ้น

ประกอบกับในสภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งกระทู้ถามด่วนนายกรัฐมนตรี เรื่อง จอมพลถนอม กิตติขจร ลอบเข้าประเทศไทยแล้วทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ?