ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (18)

เนื่องจากเป็นการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้นักการเมืองไม่ทันได้มีการเตรียมตัว  ความขัดแย้งที่มีอันเกิดจากความไม่สมหวังในตำแหน่งที่หมายปองระหว่างกันเอง ยังไม่ทันที่จะสะสางที่คาอยู่ในใจ เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่ๆมาทาบทามโดยมีค่าใช้สอยในการเลือกตั้งมากกว่าพรรค ที่เคยอยู่เดิม ปรากฎการณ์โยกย้ายถ่ายเทตัวเองไปสู่พรรคการเมืองใหม่มีแทบอยู่ทุก พรรคการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีปัญหามากกว่าพรรคอื่นๆ เพราะ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคได้ยุติบทบาททางการเมือง จึงต้องหาหัวหน้าพรรคคนใหม่มาแทน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่บุคคลจะมาดำรงตำแหน่งในพรรคต้อง ได้รับการเลือกจากสมาชิกพรรคตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ในช่วงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค สมาชิกบางกลุ่มไม่มีความมั่นใจในสมาชิกพรรคด้วยกันเองจะมีบารมีพอเป็น หัวหน้าพรรคได้ จึงไปทาบทามผู้มีบารมีและชื่อเสียงบุคคลภายนอกพรรคมาเป็นหัวหน้าพรรคได้แก่ ดร.ถนัด คอร์มันด์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร แต่ในวันประชุมเลือกหัวหน้าพรรคมีสมาชิกภายในพรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวเข้า แข่งเป็นหัวหน้าพรรคอีก 2 คน คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายชวน หลีกภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคได้แก่ ดร.ถนัด คอร์มันด์ ได้ลำดับที่ 1 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ไดิลำดับที่ 2 และ นายชวน หลีกภัย ได้ลำดับที่ 3 แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่มีชื่อเสียงและมีความรู้ความ สามารถเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศและต่างประเทศตามธรรมเนียมประชาธิปไตย ภายในพรรคแล้วก็ตาม แต่ความบาดหมางขัดแย้งภายในพรรคปรากฎขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนทำให้พรรคแตกมีบุคคลสำคัญๆแยกกันไปออกตั้งพรรคการเมืองใหม่หลายคน เช่น นายสมัคร สุนทรเวช ออกไปตั้งพรรคประชากรไทย นายอุทัย พิมพ์ใจชน ออกไปตั้งพรรคก้าวหน้า เป็นต้น

ส่วนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล หลังจากนายเด่น โต๊ะมีนา กลับจากประเทศอังกฤษได้ประชุมกันก็ยังยืนยันจะสมัครอยู่ในนามพรรค ประชาธิปัตย์ต่อไป ยกเว้นนายสิดดิก สารีฟ เพียงคนเดียวได้ย้ายไปสังกัดอยู่ในพรรคใหม่ชื่อ พรรคชาติประชาชนซึ่งมีเรืออากาศตรีบุญยง วัฒนพงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้ในภาพรวมทั่วประเทศกระแสพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม ของประชาชนเหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นๆได้แก่ พรรคกิจสังคม อันเนื่องจากชื่อเสียงและบารมีของหัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นโยบายเงินผันสภาตำบลที่เป็นขวัญใจของบรรดากำนันและผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งที่สำคัญ คะแนนนิยมและกระแสการตอบรับจากประชาชนลดน้อยถอยหลงเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากความไม่มีประสิทธิภาพในการรบริหารบ้านเมืองยามเกิดวิกฤตกรณี เหตุการณ์การเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนคราว 6 ตุลาคม 2519

ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแค่ผ่านไป 3 ปี ภายหลังชุมนุมประท้วงที่ปัตตานีกรณีคดี 5 ศพ สะพานกอตอ คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงอย่างมาก แต่กลับกันพรรคกิจสังคมที่คะแนนนิยมตกต่ำช่วงเหตุการณ์สะพานกอตอกลับได้รับ ความนิยมสูงมากในช่วงเลือกตั้งสมาาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 22 เมษายน 2519

สนามเลือกตั้งในจังหวัดปัตตานีมีคู่แข่งที่สำคัญๆ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์นำโดย นายเด่น โต๊ะมีนา พรรคชาติประชาชนนำโดย นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร ( กูโซ๊ะ ) และ พรรคชาติประชาธิปไตยนำโดย นายอำนวย ยูโซ๊ะ ( ดิง เยอรมัน ) อดีตแกนนำคนสำคัญของศูนย์พิทักษ์ประชาชน สำหรับพรรคกิจสังคมแม้ชื่อเสียงของพรรคจะดีในภาพรวมแต่ผู้สมัครยังเป็นคน หน้าใหม่บนเวทีการเมืองคือ ร.ต.ท.เจ๊ะอิสมะแอ เจ๊ะโมง ทำให้คะแนนนิยมเฉพาะตัวยังไม่เด่นนัก ผลการเลือกตั้งในจังหวัดปัตตานีทำให้ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมเฉพาะตัวได้รับ เลือกตั้งได้แก่ นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร ที่มีฐานเสียงจากกลุ่มผู้นำท้องถิ่นและสายตระกูลเจ้าเมืองยะหริ่งเก่า นายเด่น โต๊ะมีนา ที่มีฐานเสียงจากกลุ่มผู้นำศาสนา ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และ โรงเรียนตาดีกา นายกำธร ราชโรจน์ พรรคชาติประชาชน ( โต๊ะนาแหละ ) ที่มีฐานเสียงจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ กลุ่มผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่ ส่วนนายอำนวย ยูโซ๊ะ พลาดโอกาสเป็นครั้งที่สองจึงเข็ดขยาดการเมืองในระบบเลือกตั้ง เปลี่ยนแนวทางชีวิตของตนเองไปในหนทางศาสนาออกดะวะฮ.ตับลีคไปตามท้องถิ่น ต่างๆ จนในที่สุดถูกใบสั่งเก็บจากผู้มีอำนาจในจังหวัดและถูกยิงเสียชีวิตขณะออกดะ วะฮ.ในเขตอำเภอยะหริ่งเมื่อกลางปี 2523 หลังผ่านการเลือกตั้งเพียงหนึ่งปี

ส่วนสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตจังหวัดนราธิวาส เป็นการแข่งขันของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สำคัญๆ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติประชาชนโดยการนำของ นายสิดดิก สารีฟ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นราธิวาส 2 สมัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับนายถาวร ไชยสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัยแต่ในปี 2519 เป็นนกรู้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเป็นช่วงสถานการณ์ที่การชุมนุมประท้วงใหญ่ปัตตานีจบลงใหม่ๆ ประชาชนชาวมลายูปาตานียังมีอารมณ์โกรธแค้นชนชั้นปกครองไทยและมีความรู้สึก รักในความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน จึงเว้นวรรคการลงสมัครชั่วคราว พรรคประชาธิปัตย์นำโดย นายวชิระ มะโรหบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส และพรรคกิจสังคมนำโดย นายเสนีย์ มะดากะกุล ปัญญาชนมลายูปาตานีคนรุ่นใหม่ ระดับความรู้มหาบัณทิต(ปริญญโท)ทางด้านรัฐศาสตร์จากการาจี ประเทศปากีสถาน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเป็นผู้มีบทบาทแกนนำคนสำคัญของข้าราชการมุสลิมสนับสนุนการชุมนุมประท้วง ใหญ่ปัตตานีของศูนย์พิทักษ์ประชาชน หลังชุมนุมประท้วงแล้วถูกคำสั่งย้ายไปประจำทบวงมหาวิทยาลัย และในคราวเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการทาบทามจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาส เพื่อต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาต่อไป นายเสนนีย์ ฯ ได้ทาบทามชักชวน นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังใหม่ และ นายอาแซ หะยีและ(อุสตัสอาแซ)กรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส มาสมัครในนามพรรคกิจสังคมด้วยกัน

ผลการเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาส นายเสนีย์ มะดากะกุล ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุดมาลำดับที่ 1 นายถาวร ไชยสุวรรณ ได้ลำดับที่ 2 นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ ได้ลำดับที่ 3 โดยทิ้งห่างนายสิทธิชัย บือราเฮง ที่มาลำดับที่ 4 ไม่เกินหนึ่งพันคะแนน

ในจังหวัดยะลาเป็นการขับเคี่ยวระหว่างนักการเมืองปัญญชนมลายูรุ่นใหม่ ความรู้ระดับปริญญาโทด้านคุรุศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อาจารย์วิทยาลัยครูสงขลา ลงสมัครในนามพรรคกิจสังคมกับนักการเมืองรุ่นเก่าอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลาหลายสมัย คือ นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ ในนามพรรคชาติประชาชนและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลาปี 2519 นายอุสมาน อุเซ็ง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งปรากฎว่านักการเมืองรุ่นใหม่ที่เพิ่งสมัครสมาชิกสภาผู้แทน ครั้งแรกได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา ท่ามกลางความยินดีปรีดาของคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และบรรดาคนวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดยะลา

การเลือกตั้งในจังหวัดสตูลครั้งนี้ คู่แข่งที่เป็นที่สนใจของประชาชนมากกว่าใครอื่น คือ นายสมศักดิ์ เส็นดาโอ๊ะ นักการเมืองหนุ่มอดีตสมาชิกสภาผฺ้แทนราษฎร จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2519 กับ นายชูสิน โคนันท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล ปี 2512 และ 2518 เป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนเจ้าของโรงเลื่อยไม้เป็นคนกว้างขวางในหมู่ ข้าราชการและนักธุรกิจผู้นำท้องถิ่นและเป็นคนที่เคยพิชิต นายเจ๊ะอับดุลลา หลังปูเต๊ะ จนตกสังเวียนเวทีการเมืองเมื่อปี 2512 และหายไปจากเวทีการเมืองอย่างไม่มีวันกลับมาอีก ผลการเลือกตั้ง นายชูสินฯได้ประสบชัยชนะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูลอีกครั้งหนึ่ง นายสมศักดิ์ฯจึงอำลาเวทีการเมืองและเข้าไปทำงานในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่หวน กลับไปสู่เวทีการเมืองอีกต่อไป

การเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์แทบจะสูญพันธุ์ ได้นายเด่น โต๊ะมีนา มาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงหนึ่งเดียว พรรคกิจสังคมได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 คน พรรคชาติประชาชนได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน จะสังเกตุได้ว่าการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวมลายูปาตานีได้ย้อน ยุคกลับไปสู่อดีตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักยึดติดกับตัวบุคคล ไม่คำนึงถึงพรรค เอาแต่พวก โกรธง่าย หายเร็ว

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ว่าชาวมลายูปาตานีจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระจัดกระจายไปตามพรรคต่างๆไม่น้อยกว่า 3 พรรค แต่ก็ยังคงเหลือไว้นักการเมืองมลายูปาตานีที่มีคุณภาพเพียบพร้อมไปด้วยความ รู้ความสามารถระดับปริญญาตรีและโทเป็นหน้าตาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย กว่า 4 คน ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา นายเสนีย์ มะดากะกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์