ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (19)

ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 12 วันที่ 22 เมษายน 2522 เป็นการเลือกตั้งโดยตรงใช้แบบแบ่งเขตและรวมเขตจำนวน ส.ส. 301 คน พรรคกิจสังคมได้ ส.ส. 87 คน พรรคชาติไทยได้ ส.ส. 42 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 34 คน พรรคประชากรไทยได้ ส.ส. 32 คน พรรคสยามประชาธิปไตยได้ ส.ส. 29 คน พรรคเสรีธรรมได้ ส.ส. 22 คน พรรคชาติประชาชนได้ ส.ส. 9 คน พรรคพลังใหม่ได้ ส.ส. 8 คน พรรคเกษตรสังคมได้ ส.ส. 8 คน พรรครวมไทยได้ ส.ส. 5 คน พรรคธรรมสังคมได้ ส.ส. 1 คน พรรคชาติประชาธิปไตยได้ ส.ส. 1 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ วันที่ 9 พฤษภาคม 2522 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในที่ประชุมลงมติเลือก นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ จากพรรคกิจสังคมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากพอที่จะให้หัวหน้าพรรคของตนได้ รับการยอมรับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งรัฐธรรมมนูญไม่ได้ปิดช่องทางให้บุคคลภายนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเล็กๆและอยู่กระจัดกระจายได้รวมตัวกับสมาชิก วุฒิสภาเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว เสนอ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคกิจสังคมเป็นฝ่ายค้าน

เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อยู่ร่วมกันในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทำให้แยกกันอยู่พรรคละไม่เกิน 3 คน เช่น ในพรรคกิจสังคมซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียง 3 คน ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายเสนีย์ มะดากะกุล นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ พรรคประชาธิปัตย์มี 1 คน ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา และพรรคชาติประชาชนมีเพียง 3 คน ได้แก่ นายถาวร ไชยสุวรรณ นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร นายกำธร ลาชโรจน์และไม่สังกัดพรรคมีเพียง 1 คน ได้แก่ นายชูสิน โคนันท์ รวมทั้งหมด 8 คน แบ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล 4 คน และ ฝ่ายค้าน 4 คน แต่เป็นที่น่าเสียดายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 คน ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองแม้แต่คนเดียวนอกจากตำแหน่งที่ ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเพียงตำแหน่งเดียว เหตุที่ไม่ได้ตำแหน่งเนื่องจากอยู่ในพรรคการเมืองเล็กๆอยู่อิสระและยังไม่มี บทบาททางการเมืองชื่อเสียงยังไม่โดดเด่นพอ

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไปได้เพียง 1 ปี เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ประจวบกับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรัฐบาลขึ้นราคาไฟฟ้าราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้านในสภาได้ยื่นญัตติขอเปิดสมัยประชุมอภิปรายไม่ไว้ วางใจรัฐบาลในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 และในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นที่ขึ้นราคาไฟฟ้าราคาน้ำมันเชื้อ เพลิง ตลอดถึงวิธีแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว จึงแสดงความรับผิดชอบโดยประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางประชุมสภาผู้ แทนราษฎร

เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการสนับสนุนของบรรดานายทหารทุกเหล่าทัพช่วยเสริมฐาน อำนาจและบารมีให้กับรัฐบาลใหม่อีกแรงหนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสยามประชาธิปไตย และ พรรคชาติประชาชน ผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้นักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดอยู่ฝ่ายรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนเป็นคนใต้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ นายเด่น โต๊ะมีนา มีตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ผู้นำศาสนาที่มีชื่อเสียงหลายคนตกเป็นบัญชีดำของฝ่ายความมั่นคง และบางคนถูกสังหารเสียชีวิตท่ามกลางความสงสัยแคลงใจของประชาชน เช่น ลูกเขยของโต๊ะครูหะยีอับดุลเราะมาน ปอเนาะพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และมีตำแหน่งเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทางจะกลับบ้านในเวลากลางวันอย่างอุกอาจ และยังมีข่าวเล็ดลอดซุบซิบกันว่าจะมีการสั่งเก็บผู้นำศาสนาระดับจังหวัดหลาย คน เช่น นายหะยีอามีน โต๊ะมีนา ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายหะยีอับดุลเราะมานหรือที่ประชาชนเรียกกันติดปากว่า บาบอโต๊ะครูพ่อมิ่ง ต่างอยู่กันไม่เป็นสุข นายเด่น โต๊ะมีนา จึงจำต้องขอร้องให้ นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนำตัวนายเด่นฯเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอหลักประกันความปลอดภัยของผู้นำศาสนาอิสลามดังกล่าว แต่นายชวน หลีกภัย ปฏิเสธบอกให้นายเด่นฯเข้าไปพบเองเพราะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล อยู่แล้ว ดังนั้นนายเด่นฯจึงเข้าพบเองตามลำพัง เมื่อได้นำเรียนสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว นายเด่นฯยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าผู้นำศาสนาอิสลามจะได้รับความ ปลอดภัย นายเด่นฯได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมากับผู้นำศาสนาอิสลามถึงความรู้สึกของ ตนเอง ทำให้ นายหะยีอามีน โต๊ะมีนา และ นายหะยีอับดุเราะมาน โต๊ะครูพ่อมิ่ง ต้องอพยพหลบไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและไม่กลับมาบนผืนแผ่นดินเกิดอีกเลย จนถึงแก่อายั้ล(เสียชีวิต)

ในช่วงระยะเวลาที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บริหารประเทศจาก พ.ศ. 2523 – 2524 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะภายในเขต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นอำเภอติดชายแดนรัฐเปรัคประเทศมาเลเซียที่มีคนไทยเชื้อสายจีนและคน ไทยเชื้อสายมลายูมีจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันและยังมีกองกำลังพรรค คอมมิวนิสต์มลายา กองกำลังขบวนการแบ่งแยกดินแดน ใช้พื้นที่พรมแดนไทยมาเลเซียเป็นเขตเคลื่อนไหวและตั้งค่ายเป็นที่พักพิงมา นาน เมื่อมีเหตุการณ์ฆ่ากันตายหรือทำร้ายร่างกายคนไทยเชื้อสายจีนในเขตอำเภอเบตง โดยน้ำมือของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทางกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายาก็ได้กระทำการตอบโต้เอากับชาวบ้านที่เป็นคน มลายู เมื่อตอบโต้กันไปมาทำให้ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในสภาวะความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ชาวบ้านมลายูในเขตอำเภอเบตงบางหมู่บ้านได้อพยพหนีภัยข้ามไปอยู่ในเขตพื้นที่ รัฐเปรัคประมาณ 400 คน และคนไทยเชื้อสายจีนในเขตอำเภอเบตงได้รวมคนได้ประมาณ 5,000 คน เดินขบวนรอบเมืองเบตงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยด่วน

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 เวลา 11.30 น. มีกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนประมาณ 70 คน ปิดถนนดักกักรถยนต์ที่ผ่านไปมาทางถนนสายอำเภอเบตงจะไปกิ่งอำเภอโกร๊ะ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองไทยที่จะข้ามไปฝั่งมาเลเซีย 200 เมตร รถยนต์ที่ถูกดักกักไว้มีรถแท็กซี่ 2 คัน รถบรรทุก 1 คัน มีคนนั่งไปทั้งหมด 20 คน กำลังจะเดินทางเข้าไปกิ่งอำเภอโกร๊ะ ถูกกลุ่มผู้ติดอาวุธจับกุมตัวทั้งหมด และแล้วกลุ่มผู้ติดอาวุธได้กราดยิงด้ยวปืน M16 ตายคาที่ 4 คน ชื่อ นายวิชัย แซ่ตั้ง นายมนัส แซ่ตั้ง นายเนื่อง จันทร์อิน และ นายซิวเค็งวา แซ่ติว ชาวมาเลเซีย นอกนั้นยังมีคนได้รับบาดเจ็บ 4 คน คือ ร.ต.ท.เฉลียว ทองคำ หัวหน้าสถานีตำรวจตำบลยะรม อำเภอเบตง นายซิวซุน แซ่กว่อง ชาวมาเลเซีย และหญิงไทยอีก 2 คน หลังจากยิงเสร็จแล้วกลุ่มคนติดอาวุธได้ล่าถอยหนีเข้าป่าไป

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว ทางมาเลเซียได้สั่งปิดด่านกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย ด้านอำเภอเบตงกับกิ่งอำเภอโกร๊ะของมาเลเซียทันที และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นประมาณ 11.45 น. กลุ่มผู้ติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้บุกเข้าปิดล้อมหมู่บ้านอัยเยอ ร์เวง ตำบลเบตง กวาดต้อนชาวบ้านประมาณ 20 คน ที่อยู่ในหมู่บ้านไปรวมกลุ่ม ปรากฎว่าระหว่างนั้นมีชาวบ้านชายคนหนึ่งขัดขืน จึงถูกกราดยิงด้วยปืน M 16 ตายคาที่และได้จับลูกสาวของชายที่ถูกยิงไปเป็นตัวประกัน และยังเผาบ้านของคนที่ถูกยิงตายแล้วถอยพากันหนีเข้าป่าไป

วันที่ 15 พฤษภาคม 2524 นายวิศิษฐ์ คงคา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเบตง เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่หาดใหญ่ว่า นอกเหนือจากความรุงแรงที่ทำร้ายประชาชนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีการคุกคาม ข่มขู่ เรียกค่าคุ้มครอง มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์สินของคนที่มีฐานะดี พ่อค้า นักธุรกิจที่อยู่ในเมืองเบตงรวมทั้งตนเองอีกด้วย

นายวิศิษฐ์ คงคา ชี้แจงรายละเอีดว่า นางลาวัณย์ คงคา ภรรยาซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเบตงเดินทางมาพบตนและแจ้งให้ทราบว่า เพิ่งได้รับจดหมายข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งนายวิศิฌฐ์ฯได้ถ่ายเอกสารแสดงให้ผู้สื่อข่าวดูจ่าน่าซองว่า กรุณาส่ง นายวิศิษฐ์ ร้านแป๊ะรินเบตง หน้าโรงภาพยนตร์ ออโรร่า อ.เบตง จ.ยะลา ข้อความในจดหมายมีดังนี้ ” หวัดดี เถ้าแก่วิศิษฐ์ คงคา ก่อนอื่นผมไม่มีอะไรมาก นอกจากจะขอบอกว่า จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย ผมทำงานเมื่อก่อนนี้เป็นครั้งที่หนึ่ง เมื่อก่อนผมเขียนจดหมายถึงเถ้าแก่ขอเงิน 5,000,000 บาท ( ห้าล้านบาท ) ขอให้เถ้าแก่ติดต่อไปด้วย ถ้าเถ้าแก่ไม่ติดต่อ เถ้าแก่จะรับอันตรายในภาคหน้า ติดต่อ ด่วน ๆ ๆ จาก กามันร์ กะลุแป ( กามัน เสือบิน ) และมีข้อความใน ป.ล. อีกว่า ถ้าไม่ติดต่อจะมีอันตรายด้วย M 16