ชื่อเสียงเรียงนามอันโด่งดังของ พลเอกหาญ ลีนานนท์ มิใช่เพียงต้องอกต้องใจของประชาชนชาวใต้เท่านั้น หากยังเป็นที่สนอกสนใจของพรรคการเมืองบางพรรคที่แอบชอบและจองตัวแม่ทัพภาค ที่ 4 ท่านนี้เพื่อวางตัวลงสนามเลือกตั้งการเมืองระดับชาติหลังเกษียณอายุราชการใน ภายภาคหน้าอีกด้วย
ความเอาจริงเอาจังและตรงไปตรงมาในการปฏิบัติหน้าที่ของ พลเอกหาญฯแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 มีผลทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ชาวประชาทั้งมุสลิมและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีชีวิตชีวามี ความหวังในการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขอีกครั้งหนึ่งตลอดระยะเวลาที่แม่ทัพ กองทัพภาคที่ 4 ที่มีชื่อว่า พลเอกหาญ ลีนานนท์ ดำรงตำแหน่งอยู่จนกระทั่งได้ย้ายไปกินตำแหน่งอัตราพลเอกเป็นผู้ช่วยผู้ บัญชาการทหารบก
สถานการณ์การเมืองในภาพรวมช่วงปี พ.ศ. 2525-2526 เริ่มมีอาการคุกรุ่นความไม่ลงรอยระหว่างพรรคการเมืองกับฝ่ายทหาร เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่า ในระยะ 4 ปีแรก ให้ข้าราชการประจำสามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีได้ มีผลให้รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งมาจากทหารและข้าราชการประจำ เพราะนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ เพื่อควบคุมอำนาจทางทหารและกองทัพ แต่บทเฉพาะกาลดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 เมษายน 2526 ประกอบกับมีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ซึ่งกำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นภายหลังวันที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี คือ วันที่ 22 เมษายน 2526
ความขัดแย้งในเรื่องการขอขยายเวลาบังคับใช้บทเฉพาะกาล โดยผู้นำฝ่ายทหารและรัฐบาลต้องการให้ข้าราชการประจำสามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นรัฐมนตรีได้ ดังนั้นก่อนที่จะถึงวันที่ 15 เมษายน 2526 ผู้นำฝ่ายทหาร คือ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 โดยให้ขยายเวลาของบทเฉพาะกาลออกไปอีก 4 ปี แต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เหตุการณ์นี้นำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียดระหว่างกองทัพกับ รัฐสภา ทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไ่ปครั้งที่ 13 ในวันที่ 18 เมษายน 2526
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ สร้างความแปลกประหลาดและตื่นเต้นให้กับพี่น้องประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่าง มากกล่าวคือ ในจังหวัดปัตตานีคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่สืบตระกูลตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้รวมตัวเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกันอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ได้แก่ ตระกูลโต๊ะมีนาที่มีฐานเสียงของผู้นำศาสนาส่วนใหญ่กับตระกูลอับดุลบุตรเชื้อ สายเจ้าเมืองยะหริ่งเก่าที่มีฐานเสียงผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ มารวมอยู่ในพรรคชาติไทย ทำให้ในจังหวัดปัตตานีไม่มีผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนายเด่น โต๊ะมีนา ย้ายเข้าพรรคชาติไทยอย่างกระทันหันก่อนสมัครรับเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทันหาตัวบุคคลลงสมัครแทน ส่วนจังหวัดยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา ตัวเก็งคนสำคัญไม่ลงสมัครเนื่องจากมีเหตุผลส่วนตัว แต่ก็ยังอาสาทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนและสนับสนุนให้กับผู้สมัครในนามพรรค กิจสังคม ในจังหวัดนราธิวาสผู้สมัครลงในนามพรรคประชาธิปัตย์มีเพียงคนเดียว คือนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ซึ่งลงสมัครในภาวะจำยอมไม่ได้เตรียมการมาก่อน เนื่องจากไม่สามารถหาผู้ลงสมัครในพรรคนี้ได้ ด้วยความรับผิดชอบในฐานะดำรงตำแหน่งเลขานุการสาขาพรรคประชาธิปัตย์จังหวัด นราธิวาส ได้รับการร้องขอจากกรรมการสาขาและสมาชิกพรรค จึงตัดสินใจลงสมัครทั้งๆที่รู้อยู่ว่าจะได้รับชัยชนะยาก เพราะอายุเพิ่งย่างก้าว 32 ปี ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าจะลงสมัคร และยังต้องตัดคะแนนกับ นายสิดดิก สารีฟ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส 2 สมัย ซึ่งเป็นน้าชายและมีฐานเสียงบ้านเกิดเดียวกันในอำเภอสุไหงปาดี
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้
จังหวัดปัตตานี พรรคชาติไทยชนะยกทีม 3 คน ได้แก่ นายเด่น โต๊ะมีนา นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร นายเที่ยง เรืองประดิษฐ์
จังหวัดนราธิวาส พรรคชาติไทย ได้ 2 คน คือ นายถาวร ไชยสุวรรณ นายสิทธิชัย บือราเฮง พรรคกิจสังคม ได้ 1 คน คือ นายเสนีย์ มะดากะกุล ส่วนนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 40,000 กว่าคะแนนมาลำดับที่ 4 ตามไล่ผู้ได้ลำดับที่ 3 นายสิทธิชัย บือราเฮง แบบชนิดลมหายใจไล่รดต้นคอ ห่างกัน 300 คะแนนเศษๆ แม้ไม่ผ่านเข้ารอบแต่ชนะใจวัยคนรุ่นหนุ่มสาวอย่างมโหฬาร
จังหวัดยะลา ผู้ได้รับเลือกตั้งได้แก่ นายเฉลิม เบ็ญหาวัน พรรคกิจสังคม ต่อมาได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาว่า เหลิมสตาวอร์
จังหวัดสตูล ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นคนหนุ่มไฟแรง คือ นายจิรายุส เนาวเกตุ พรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้สร้างผลงานและวีรกรรมประจำรัฐสภาอย่างเกรียวกราว โดยใช้หมัดอัพคัตสอยกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ในบริเวณอาคารรัฐสภา จนเอียงกะเท่เร่มาแล้ว
เป็นอันว่าการเลือกตั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งครั้งนี้ พรรคชาติไทยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 5 คน พรรคกิจสังคมได้ 2 คน และพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 คน
ในภาพรวมทั้งประเทศ พรรคชาติไทยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดถึง 109 คน พรรคกิจสังคมได้ 100 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 57 คน พรรคประชากรไทยได้ 36 คน พรรคชาติประชาธิปไตยได้ 15 คน พรรคก้าวหน้าได้ 3 คน พรรคสังคมประชาธิปไตยได้ 2 คน พรรคประชาเสรีได้ 1 คน พรรคปวงชนชาวไทยได้ 1 คน ในขณะที่ พลตำรวจตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ไม่สามารถรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองอื่นให้เกินกว่ากึ่ง หนึ่งได้ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองใหญ่ 4 พรรค คือ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย พรรคชาติประชาธิปไตย และ พรรคก้าวหน้าอีก 1 พรรค รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 211 คน ได้สนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย ทั้งนี้ผลมาจากผู้นำทางทหารมีอิทธิพลและมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคชาติไทย แม้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าพรรคอื่นๆแต่ยังไม่เกินกึ่งหนึ่ง ยังต้องตกอยู่เป็นพรรคฝ่ายค้าน อันเป็นลักษณะพิเศษที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการเมืองแบบไทยๆ
การจัดตั้งรัฐบาลโดยมีคนนอกไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของบรรดาเซียนการเมืองของเมืองไทยเท่าใดนัก เพราะสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้นนอกจากยังยึดติดกับผู้มีอำนาจและบารมี ทางทหารเป็นทุนอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้อีกด้วย แต่สำหรับนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังนับว่าโชคไม่เข้าข้างเอาเสียเลย เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลมีอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น คือ พรรคกิจสังคม 2 คน ( นายเสนีย์ มะดากะกุล นายเฉลิม เบ็ญหาวัน ) พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ( นายจิรายุส เนาวเกตุ ) ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านมี 5 คนอยู่ในพรรคชาติไทยพรรคเดียว ฉะนั้นบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งซีกรัฐบาลและ ฝ่ายค้านไม่โดดเด่นเท่าที่ควร การต่อรองผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่มีผลแต่อย่างใด มิหนำซ้ำพรรคการเมืองซีกรัฐบาลบางพรรคอย่างพรรคประชาธิปัตย์โดย นายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังหักหาญน้ำใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มุสลิมเพียงหนึ่งเดียวของพรรคในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่ไว้หน้าแม้แต่ น้อย โดยกำหนดนโยบายให้นำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในโรงเรียนของรัฐ แม้โรงเรียนนั้นจะมีนักเรียนมุสลิมส่วนใหญ่เรียนอยู่ก็ตาม นโยบายพิศดารอย่างนี้ ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ของชาวมุสลิมที่โรงเรียนบ้านควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528 ผู้นำชุมนุมประท้วงอย่างแข็งขันได้แก่ นายจิรายุส เนาวเกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงหนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเอง
การชุมนุมประท้วงนโยบายนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในโรงเรียนของรัฐมนตรีพรรค ประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในจังหวัดไกล้เคียงอย่างขนานใหญ่ ถนนทุกสายของชาวมุสลิมมุ่งหน้าไปยังอำเภอควนโดน จังหวัดสตูลอย่างไม่ขาดสาย
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์