เมื่อพิจารณาประเด็นโรฮิงญาบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทยแล้ว ผมมีข้อสังเกตสนุกๆ มานำเสนอ 2 ประเด็นด้วยกันครับ:
ข้อสังเกตแรก
ผมสังเกตเห็นสาธารณชนไทยออกมาด่าต่างชาติกันมากโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ที่ร้องขอแกมกดดัน ให้ไทยอ้าแขนรับโรฮิงญา จริงๆ เราก็ไม่สามารถไปสั่งให้เขาหุบปากได้นะ พวกเขาก็เล่นตามหน้าที่ ตามบทบาท ท้ายสุดก็อาจอยู่ที่การพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาลเราเอง ซึ่ง ณ ตอนนี้ เรากำลังจะใช้ช่องทางจัดประชุมหารือประเทศที่เกี่ยวข้องโดยยังไม่ได้สรุปแนวทางชัดเจน แต่เบื้องต้น การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมพหุภาคีในประเด็นนี้ ก็คงช่วยให้ไทยเราลดแรงเสียดทานจากนานาชาติจากเรื่องรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจลงได้บ้าง
ซึ่งการทำเรื่องอะไรแบบนี้ ดูจะเป็นบท script ที่เราเล่นเสมอมานะครับ แบบว่า หลังทำอะไรผิดกติกาโลกเขา หลังจากนั้นก็จะออกตัวเล่นบทบาทพลเมืองดีของโลกอย่างกระตือรือร้น ประมาณว่าเพื่อชดเชยความผิดอะไรบางอย่าง เช่น หลังรัฐประหาร 2549 ก็ลองย้อนไปดูการดำเนินการต่างประเทศของเราดูครับ นอกจากเดินสายแก้ตัว เอ้ย! ชี้แจงทำความเข้าใจไปทั่วโลก ในทุกเวทีที่มีโอกาสแล้ว เราทำอะไรกันบ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ผมนำเรียนไปว่า ในประเด็นโรฮิงญานั้น แม้กระแสจะมาจากข้างนอกหลายทิศทาง แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย (final decision) มันอยู่ที่รัฐบาลเราเอง “ซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยและใช้มันอย่างอิสระจากการครอบงำของต่างชาติเหนืออาณาเขตของเราเองโดยสมบูรณ์” ตามหลักรัฐอธิปไตย (sovereign state) ซึ่งนับว่าเป็นคุณค่าพื้นฐาน (basic value) ของสังคมระหว่างประเทศ (international society) ปัจจุบัน ที่ทุกรัฐล้วนยึดถือร่วมกัน (shared common value) อย่างน้อยก็ในเชิงกฎหมาย
และถ้ากังวลกันว่าถ้าไทยไม่ตามโลกในเรื่องนี้ แล้วจะโดนตะวันตกแอนตี้ เลิกคบ นั้น ผมขอนำเรียนว่า ไม่ต้องกังวลหรอกครับ เรื่องแค่นี้มันจิ๊บๆ มุ้งมิ้ง ม่วกม่วกเบย คือ ถ้าก่อรัฐประหารโดยไม่แคร์โลก แล้วอยู่ชิวๆ มาได้ถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องกังวลต่างชาติห่_อะไรแล้วหรอกครับ
เปรียบไปก็ประมาณว่า การก่อรัฐประหารเหมือนนั่งขี้กลางถนน ถ้าเราไม่อายอะไรเพราะก็มองว่าเราจำเป็นจริง แม่งปวดขี้มากอั้นไม่ไหวแล้ว ขอให้คนบนท้องถนนเข้าใจ ถ้าเราทำแบบนั้นมาก่อน วันนี้ถ้าเราปฏิเสธข้อเรียกร้อง ยืนยันไม่รับโรฮิงญาแน่ๆ มันก็เปรียบได้กับแค่ ยืนตดกลางถนนเท่านั้นแหละฮะ
คือ ขนาดนั่งขี้กลางถนนแล้วไม่อายไม่กลัวใครเลิกคบนี่ แค่ยืนตดดังๆ เหม็นๆ ผมว่าอย่ามาอ้างว่าอายเลยดีกว่า
ตอนนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผมสงสัยจนแทบขี้แตกอยู่แล้วว่า หากสาธารณชนไทยจะต่อต้านการรับโรฮิงญาเข้าประเทศโดยด่าทอตะวันตกกันซะขนาดนี้ แล้วสมมตินะครับสมมติ สมมติว่า วันหนึ่งหลัง 29 พ.ค. รัฐบาลไทยทะลึ่งตามกระแสนานาชาติ ตั้งค่ายรับโรฮิงญาจริงๆ จะมีใครในสาธารณชนกลุ่มข้างต้นสักท่านไหมครับที่จะหาญกล้าลุกขึ้นมาด่าท่านประยุทธ์ที่ตัดสินใจแบบนั้น?
ข้อสังเกตประการที่สอง
นอกจากจะมีกระแสเชิงลบต่อต่างชาติตะวันตกเต็มฟีดเฟซบุ๊คของผมแล้วเนี่ยนะฮะ ยังมีกระแสเชิงลบต่อพี่น้องคนไทยด้วยกัน เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนไทยเราเองอีกด้วย ที่ไปเห็นอกเห็นใจโรฮิงญาจนเกินไป ชนิดที่รุกเร้าให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงถึง “ชีวิตคน” เป็นวาระหลักมากกว่า “ต้นทุนปฏิบัติการ” แม้จะไม่ใช่คนชาติก็ตาม
โดยเฉพาะคุณฐาปนีย์ แห่งข่าวสามมิตินี่ก็โดนไปเต็มๆ นางถูกหลายคนยัดเยียดข้อหาว่า “ชักศึกเข้าบ้าน” คือ ไปวุ่นวายกับเรือโรฮิงญาทำไม หมกมุ่นทำสกู๊ปนี้ให้มันเป็นกระแสใหญ่โตขึ้นมาทำไม จะกดดันฝ่ายรัฐชาติเดียวกันเอง และตามจับผิดกันทำไม ฯลฯ
ผมอยากนำเรียนให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะในท่านที่มีจุดยืนอยู่ในกลุ่มสาธารณชนที่ต่อต้านการช่วยเหลือโรฮิงญาอย่างอุทิศตัวลงไปว่า เรื่องนี้เราถกเถียงกันบนเงื่อนไขเดียวกับข้อแรกครับ คือ final decision มันอยู่ที่รัฐบาลไทยเราเองเท่านั้น
เวลาที่เขาศึกษาการตัดสินใจนโยบาย (policy decision making) ในเชิงวิชาการเนี่ยนะครับ มันก็มีหลายโมเดลทฤษฎีอธิบายฮะ บางโมเดลบอกว่า การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องของการต่อสู้ต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ บางโมเดลบอกว่า นโยบายขึ้นอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ของสังคม หรือบางโมเดลบอกว่า นโยบายเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างทางเลือกบนฐานของการเปรียบเทียบต้นทุนกับผลที่จะได้รับ เป็นต้น
ถามว่าทำไมแต่ละโมเดลทฤษฎีจึงอธิบายต่างกัน คำตอบคือ กระบวนการตัดสินใจนโยบายนั้น มิได้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันทั้งโลกในทุกยุคสมัย แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่และเวลา ดังนั้น แต่ละโมเดลก็อธิบายกระบวนการตัดสินใจนโยบายจากคนละบริบทแวดล้อมกัน
ผมกำลังจะบอกว่า พวกท่านในส่วนที่กังวลว่า ไทยจะเกิดต้องรับโรฮิงญาเข้าประเทศจริง เพราะการ “ปั่นประเด็น” ของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนไทยเราเอง นั้น แสดงว่าท่านกำลังลืมบริบทของประเทศเราตอนนี้ไปเสียแล้วหล่ะมั้งครับ
ผมขออนุญาตสร้างความเข้าใจแทนรัฐบาลในประเด็นที่ว่า “การเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ใน “สังคม” มีผลต่อการตัดสินใจนโยบายของ “รัฐ” หรือไม่” ก็แล้วกันนะครับ
คำถามนี้เราคงตอบว่า “ใช่” ในสถานการณ์ปกติที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ภายใต้ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และมีระบบรัฐสภาซึ่งสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุล และกระทุ้งถามการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ เพราะรัฐบาลก็ต้องคำนึงฐานเสียง หากกระแสสังคมเรียกร้องทางหนึ่งมาก ก็ต้องกังวลว่าถ้าไม่ทำตาม อาจเสียความนิยม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในกรอบรัฐสภา ว่าถ้าหากกระทำขัดกับหลักการ หลักกฎหมาย หรือความคิดเห็นสาธารณะ มากจนเกินไป ก็อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และแม้จะครองอำนาจเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด องค์กรอิสระต่างๆ อาทิ องค์กรสิทธิมนุษยชน (ที่ทำงานจริงนะครับ) ก็สามารถตรวจสอบ กดดัน ได้อีกทาง
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นการอภิปรายในกรอบรัฐสภา แม้จะไม่ฟังก์ชั่นนำไปสู่การยื่นถอดถอน หรือคัดค้านนโยบายได้จริง ด้วยเสียงข้างมากผูกขาดมติสภาเอาไว้ แต่การถกเถียง โต้แย้ง การงัดหลักฐานหลักการมาคัดง้างกัน ก็ล้วนสื่อสารออกไปยังสาธารณชนผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดเวลา
ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้เหยียดคนอื่นว่าโง่กว่าเราในการคิดเกี่ยวกับชีวิตของตัวพวกเขาเอง และถ้าเราไม่ได้เหยียบหัวคนอื่นว่าเราดีประเสริฐกว่ามนุษย์อีกครึ่งค่อนประเทศที่เลวทรามหิวเงินไม่สนเหตุผลอะไร ถ้าเราไม่ได้เป็นคนเหยียดคนอื่นเช่นนั้น ก็พอจะเห็นภาพได้นะครับว่า แม้รัฐบาลจะสามารถยืนยันแนวนโยบายที่ตนยึดถือแต่แรกเอาไว้ตลอดรอดฝั่งไปได้ แต่กระแสความไว้วางใจของสังคมก็จะหดหายลงไป อันจะกระทบต่อการสนับสนุนของสังคมในระยะยาว
ในสถานการณ์ปกติที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินใจนโยบายของรัฐจึงสัมพันธ์กับกระแสของสังคม ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นที่นโยบายนั้นจะดำเนินการ ซึ่งเราเรียกกันว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (stakeholders)
แต่คำถามเดียวกันที่ว่า “การเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ใน “สังคม” มีผลต่อการตัดสินใจนโยบายของ “รัฐ” หรือไม่” นั้น คำถามนี้จะตอบว่า “ไม่” ในบริบทการเมืองที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งทำให้รัฐบาล หรืออำนาจฝ่ายบริหารในนามของรัฐไม่จำต้องยึดโยงอ้างอิงกับประชาชน การตัดสินใจนโยบายของรัฐจึงไม่จำเป็นต้องนำเอาข้อกังวลสนใจของสังคมมาพิจารณาประกอบแต่อย่างใด
พวกเขาจำเป็นต้องสนใจแค่คนบางกลุ่มที่อยู่วงในของการกำหนดนโยบาย + บางกลุ่มที่เป็นมือเป็นไม้ให้รัฐ”ของเขา” ฟังก์ชั่นได้ตามที่สั่งการ นั่นก็คือ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นโยบายจะดำเนินการ และภาคสังคมที่สัมพันธ์แนบชิดกับส่วนราชการและกลุ่มวงในดังกล่าว + ตลอดจนบางกลุ่มที่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการยึดรัฐเอาไว้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ กองทัพ และกลุ่มนายทุนโปรโมเตอร์ของ กปปส. (ย้ำว่าเฉพาะกลุ่มนายทุนโปรโมเตอร์เท่านั้นแหละครับ ขนาดแกนนำหลายคน ทุกวันนี้เขายังไม่เห็นหัวเลย)
นี่คือ โครงสร้างตัวแสดงหลักในการกำหนดนโยบายรัฐของไทยทุกวันนี้
นี่คือ บริบทการเมืองของเราครับ ซึ่ง “สังคม” ไม่ได้มีอิทธิพลต่อนโยบายของ “รัฐ” ขนาดที่กังวลด่าทอกันอยู่ฮะ พวกท่านสบายใจได้ พวกที่ท่านต้องไปจับตามองก็คือ กลุ่มคนวงใน + ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและเหลือบปลิงภาควิชาการ-เอ็นจีโอที่เกาะอยู่กับราชการเหล่านั้น + กองทัพ และ + กลุ่มชนชั้นนำที่กลุ่มนายทุนโปรโมเตอร์ของ กปปส. เท่านั้นเองครับ
ไม่ใช่คุณฐาปนีย์ หรือเอ็นจีโอ สื่อมวลชน ที่เคลื่อนไหวช่วยเหลือโรฮิงญาอยู่ตอนนี้
ดังนั้น เรื่องนี้สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่รัฐบาลเราเองจริงๆ ครับ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร อย่าไปด่าชาวบ้านชาวช่องเขาเลยฮะ รอดูการตัดสินใจของรัฐบาลไทยหลังการประชุมกับประเทศอื่นๆ ดีกว่า
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช