อดีตปธน.อิหร่านบอกสหรัฐฯ “บีบคอหอย” แล้วพูดว่า “มาเจรจากัน” ทำควบคู่กันไม่ได้!

© Sputnik / Sergey Guneev

Sputnik/NYtimes – อดีตประธานาธิบดีอิหร่านเสนอว่า ผู้นำอเมริกันเป็น “นักธุรกิจ” ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจในการบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

อดีตประธานาธิบดีอิหร่าน “มาห์มุด อะห์มาดิเนจาด” กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า อิหร่านและสหรัฐอเมริกาจะได้รับประโยชน์จากการเจรจาทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ เขาเน้นว่า การเจรจาใดๆ จะต้องเกิดขึ้นในบรรยากาศของการเคารพซึ่งกันและกัน

“ สันติภาพโลก เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากพวกเราที่ทำงานร่วมกัน” อะห์มาดิเนจาดกล่าวในการสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ “สหรัฐฯต้องการแก้ไขปัญหาที่กว้างกว่า JCPOA ประเด็นที่เดิมพันมีความสำคัญและกว้างกว่าว่า JCPOA ควรยังมีหรือตาย เราจำเป็นต้องมีการสนทนาขั้นพื้นฐาน”

ตามที่อะห์มาดิเนจาดระบุ อิหร่านตระหนักดีถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ “การเมือง” ของทรัมป์ และแนะนำข้อตกลงที่โดดเด่นเพื่อให้บรรลุสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win)

“นายทรัมป์เป็นคนพูดจริงทำจริง (man of action)” อะห์มาดิเนจาดกล่าวตามเดอะนิวยอร์กไทมส์รายงาน “เขาเป็นนักธุรกิจ ดังนั้นเขาจึงสามารถคำนวณต้นทุนและตัดสินใจได้ เราบอกกับเขา มาลองคำนวณผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศทั้งสองของเรากันเถอะ และอย่ามองการณ์สั้น”

อย่างไรก็ตาม อะห์มาดิเนจาดได้เน้นย้ำว่า ข้อตกลงใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศที่ดีและให้เกียรติกัน เขาตั้งข้อสังเกตว่า “นโยบายกดดันสูงสุด” ของวอชิงตันนั้นเป็นเพียงการกีดกันการเจรจาเท่านั้น

“ ถ้าคุณบีบเค้นคอหอยของใครสักคนในโลก แล้วพูดว่า มาเจรจากันเถอะ นั่นมันไม่ถูกต้อง” เขากล่าว “ การเจรจาจะต้องเกิดขึ้นในสภาพที่สงบและมีความเคารพกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถยืนยาวได้”

อะห์มาดิเนจาดแนะนำว่า สำหรับการเจรจาที่จะเกิดขึ้น สหรัฐฯ จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่วอชิงตันกำหนดขึ้นหลังถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

ในขณะเดียวกัน ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อายะตุลเลาะห์ อะลี คาเมเนอี ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์ไม่สามารถเชื่อถือได้ หลังจากที่เขาออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2018 และบอกว่า ไม่ต้องเจรจากับทรัมป์ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใดๆ

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้อะห์มาดิเนจาดกล่าวว่า คาเมเนอีสามารถอนุญาตให้มีการเจรจากับวอชิงตันได้ เช่นเดียวกับที่เขาทำในระหว่างการบริหารของโอบามา เฉพาะในกรณีที่ทรัมป์เปลี่ยนแนวทางของตน