3 เดือนผ่านไปไทยเรียนรู้อะไร…จากศรีลังกา

สถานที่เกิดเหตุระเบิดภายในโบสถ์เซนต์เซบาสเตียน ในเนกอมโบ ประเทศศรีลังกา 21 เมษายน 2019 / REUTERS

“เราสามารถสร้างโบสถ์ใหม่ แต่เราไม่สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้”

-Sanjeewa Appuhamy, Assistant priest at the St. Sebastian church-

(James Griffiths, 2019)

ครบรอบ 3 เดือนของเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ในประเทศศรีลังกา ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงขอทบทวนอุทาหรณ์ครั้งนี้เพื่อเป็นบทเรียนการย่ำเดินบนสังคมที่ “สันติภาพค่อนข้างมึนงง สับสนและลังเล” โดยเฉพาะระบบโลกที่เป็นไปและประเทศไทยที่เป็นอยู่ สถานการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นคราชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงไม่อยากปล่อยให้มันผ่านไปโดยปราศจากอุทาหรณ์  “การอ่านศรีลังกา” จึงเป็นการปรับกระบวนทัศน์ จังหวะก้าวในการรับมืออุบัติการณ์ทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้ายสากลที่ถือเป็นภัยคุกคามและบาดแผลขนาดใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ศรีลังกาคลี่คลายและเดินหมากเหล่านั้นอย่างไร (อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, 2019)

1. การเมืองภายในของประเทศศรีลังกาก็เต็มไปด้วยบาดแผลชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะสิงหลและทมิฬที่เคยห้ำหั่นกันซึ่งพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในประเด็นเหล่านี้มาโดยตลอด เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดจึงฉายภาพ “ความไม่สามัคคี” ของประเทศได้อย่างชัดเจนผ่านการทำงานที่ไม่เป็นระบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภาความมั่นคง ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงผ่านหน่วยข่าวกรองเกี่ยวกับการแจ้งเตือนเมื่อ 10 วันก่อนเกิดเหตุการณ์ว่า “อาจจะมีการก่อการร้ายจู่โจมโบสถ์คริสต์โดยกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง NTJ: National Thowheeth Jama’ath”  

กระนั้น ผลของความสามัคคีอันขาดแคลนดังกล่าว ทำให้การประสานงานขาดระบบ ส่งผลให้ประเทศขาดการเตรียมการเพื่อป้องกันความปลอดภัย ทั้งที่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงการก่อการครั้งนี้ กระนั้นนายกรัฐมนตรียังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ตนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับเรื่องของการก่อการร้ายแต่อย่างใด” (New York Time, 2019) “บาดแผลจึงลามเลียผืนดิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การข่าวของศรีลังกามีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพขั้นสูง ซึ่งสามารถรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของการก่อการร้ายได้ กระนั้น “ความสามัคคีอันไม่สมประกอบ” จึงทิ้งรอยเลือดไว้ดูต่างหน้า   

2. หลังความรุนแรงในวันที่ 21 เมษายน 2562 ผ่านไป เจ้าหน้าศรีลังกาเน้นมาตรการความปลอดภัยขั้นพิเศษและด้วยการล้างประเทศครั้งใหญ่เพื่อสอดส่องวัตถุระเบิดตกค้างอย่างจริงจังผ่านความร่วมมือของทุกฝ่าย (Jeffrey Gettleman, Dharisha Bastians and Mujib Mashal, 2019) การดำเนินการดังกล่าวนี้จึงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเจอฉนวนจุดระเบิด 87 ชิ้น ณ สถานีรถบัสและตรวจพบความผิดปกติหลายอย่างในกรุงโคลัมโบ ไม่เว้นแม้กระทั่งการลอบวางระเบิดสนามบินบันดาราไนเยเก ของประเทศศรีลังกา แม้ความสามัคคีอาจหล่นหายไปจากระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถปกป้องชีวิตของผู้คนได้  กระนั้น เมื่อทุกฝ่ายหันมา “สามัคคีและเป็นปึกแผ่น” ก็สามารถก้าวผ่านปัญหาเลวร้ายไปได้

3. ความสูญเสียครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้หันกลับมา “ตรวจสอบและเพ่งมองตนเอง” อย่างน้อยก็เพื่อทบทวนความผิดพลาดของตนและบาดแผลของประเทศที่หลบเร้นมาหลายศตวรรษ ทั้งรอยร้าวของสิงหล-ทมิฬ หรือ การสะบั้นสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-มุสลิมและอื่น ๆ ซึ่งทุกคนต่างก็มีส่วน “เติมหน่อก่อไฟ” กันทั้งสิ้น 

หลังความรุนแรง นายกรัฐมนตรีของศรีลังกาจึงค่อนข้าง “ระมัดระวัง” และ “ไม่ด่วนสรุปแบบฟันธง” หนำซ้ำ ไม่เอ่ยถึงกลุ่มผู้ก่อการ แต่กล่าวเพียงว่า “ผู้ก่อการต้องมีเครือข่ายในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุอยู่นอกประเทศอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า “อาจเป็นไปได้ว่า การลงมือสังหารผู้คนในโบสถ์ศรีลังกานั้นคือ “การตอบโต้” เหตุการณ์ความรุนแรงในเมืองไครเชิร์ส นิวซีแลนด์เมื่อ 15 มีนาคม 2562 กระนั้นเราไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกี่ยวโยงกันเพราะเราไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน” (อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, 2019) การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีศรีลังกาในครั้งนี้ จึงถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะดำเนินไปอย่าง “มีสติ”  หากสถานการณ์เปราะบาง กอปรกับคำพูดที่มี “อคติ” แฝงเร้น ก็จะรังแต่เติมเชื้อไฟให้ลุกโชนขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

4. สังคมในเอเชียใต้เริ่มเห็นภาพและเข้าใจความรุนแรงเด่นชัดมากขึ้น อย่างน้อยก็รู้ว่า การก่อการในทศวรรษใหม่ฉีกทฤษฏีและขนบความรุนแรงแบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ ผู้ก่อการร้ายพร้อมสังหารทุกคนทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง มากไปกว่านั้นคือ ไม่เลือกสถานที่และเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่ง “สถานปฏิบัติธรรมทางศาสนา” ซึ่งยกระดับการโจมตีดังกล่าวให้เป็นสากลไปอย่างเรียบร้อยและน่าสะพรึงกลัว นอกจากนี้มือสังหารจะไม่เฉพาะเจาะจงผู้ชายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความรุนแรงในยุคใหม่ถูกยกระดับให้เพศแม่ในฐานะ “ผู้สร้าง” ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้ทำลาย” ไปในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณเตือนให้แต่ละประเทศพึงระวัง ตลอดจนหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้แนวคิดสุดโต่งและการนิยมความรุนแรงมา “กัดกิน” และ “ลามเลีย” สังคมภาพรวมของประเทศนั้น ๆ เหมือนที่ผ่านมา (The Government Official News Portal, 2019)

5. เหตุการณ์ครั้งนี้มีชาวต่างชาติเสียชีวิตอย่างน้อย 38 คนและกว่า 11 ประเทศ ซึ่งแน่นอนถือเป็นการ “เปิดประเทศ” ให้มหาอำนาจเข้ามาอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ควบคุมสถานการณ์และเยียวยาความรุนแรง นอกจากนี้ยังมีตำรวจสากล (Interpol) หรือ The International Criminal Police Organization เข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะทีมมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจเกี่ยวกับวัตถุระเบิด การต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนวินิจฉัยและวิเคราะห์สถานการณ์ Incident Response Team ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส สิงคโปร์และอาร์เจนตินา (Interpol, 2019 และ (Jonny Hallam, 2019) 

ข้อดีก็คือ “ศรีลังกาจะไม่โดดเดี่ยวในเวทีโลก” เพราะมีหลายประเทศพยายามเข้ามาช่วยเหลือ กระนั้น ศรีลังกาต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของมหาอำนาจด้วย “สภาวะจำเป็น” ซึ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการทูตของประเทศมหาอำนาจกับศรีลังกานั้นอาจง่ายกว่าเดิม ประเทศมหาอำนาจ จึงถือโอกาสนี้ในการเปิดช่องทางการทูตระหว่างประเทศและการใช้อำนาจเนียน (Soft Power) ในการเยียวยาและช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองก็คือ ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “อเมริกาจะยืนหยัดข้าง ๆ ศรีลังกาเพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” และ ไมค์ ปอมปีโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกากล่าวว่า “อเมริกาจะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในประเทศศรีลังกาเช่นเดียวกัน เราต้องเริ่มต่อสู้ครั้งใหม่อย่างจริงจังกับมนุษย์เลวร้ายจำพวกนี้ที่พวกเขากล้าโจมตีศาสนธรรมในวันอีสเตอร์” (CNN World, 2019) หากเป็นเช่นนั้น อเมริกาจะเริ่มเข้ามาในประเทศนี้เพื่อการช่วยเหลือมนุษยธรรมและเปิดประตู “การคานอำนาจอินเดียและจีน” ในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียใต้ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีให้หลัง หากอเมริกาสร้างฐานที่มั่นในเขตพื้นที่เอเชียใต้สำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จในการต้านและถ่วงดุล 2 มหาอำนาจใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา

6. รัฐบาลศรีลังกาชิงลงมือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเร่งด่วนเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงแนวคิดสุดโต่งและเริ่มหันมาสนใจมาตรการการควบคุมสื่อออนไลน์ทุกชนิดในวันเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, WhatsApp, Twitter, Viber, YouTube, Snapchat และสื่อออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้ไม่ต่างจากปี 2561 ที่เคยประกาศใช้มาแล้ว อย่างน้อยที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้บาดแผลของประเทศ “ถางกว้าง” กว่าเดิม และเป็นการ “ตัดระบบ” เผยแพร่ข่าวลวงที่สังคมออนไลน์พยายามปลุกระดมความแตกแยกในชาติให้ลืมตามาอาละวาดสังคมศรีลังกาอีกรอบ  

นอกจากนี้แล้ว รัฐเองก็เริ่มหันมาทบทวน “นโยบายพหุสังคมและวัฒนธรรม” ในประเทศอย่างจริงจัง หาก “ความแตกแยกทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์ในชาติ” คุโชนขึ้นมาอีกครั้ง ประเทศกำลังลืมตาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างศรีลังกา อาจต้องกลับไปเผชิญกับสงครามกลางเมืองอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Iqbal Amas, Manveena Suri and Steve George, 2019) ความรุนแรงในยุคนี้จึงมีแรงเหวี่ยงค่อนข้างสูงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ด้วยการ “เข้าถึงเร็วและตอบโต้แรง” ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของศรีลังกา จัดระบบสถาบันครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ รัฐบาลจึงมองเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจแรกที่ต้องขับเคลื่อนโดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความต่างนั่นเอง

สรุป

แม้สถานการณ์ความรุนแรงจะเป็นฝันร้ายของพลเมืองศรีลังกาและเพื่อนร่วมโลก กระนั้นคำพูดของนายกรัฐมนตรีสามารถปลุกพลังบวกของผู้คนให้ลืมตาอย่างมีความหวังและสู้กับสถานการณ์อันเลวร้ายได้เป็นอย่างดีผ่านถ้อยแถลงแห่งแรงบันดาลใจว่า  “วันนี้ เราเศร้าสลดไม่ต่างจากประเทศชาติของเรา เพราะการจากไปของผู้บริสุทธิ์ในวันอีสเตอร์ที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณกองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ปฏิบัติภารกิจของชาติอย่างหาญกล้า  ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางความเสี่ยงของตนเองเพื่อปกป้องความเสี่ยงและอำนวยความปลอดภัยแก่พลเมืองของเรา มันคือความจำเป็นที่เราจะต้องรวมกันในนามชาวศรีลังกาท่ามกลางการเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมที่ยากเกินกว่าจะอธิบายได้ในครั้งนี้” (Jenni Marsh, Julia Hollingsworth, Bianca Britton and Barbara Starr, 2019)

แม้ประเทศจะบอบช้ำและมีบาดแผลอย่างมากมาย กระนั้น ผู้นำประเทศยังมีสติและสามารถควบคุมตนเองได้อย่างชาญฉลาด เมื่อผู้นำประเทศไม่เจือปน “อคติ” และ “ความรู้สึกตื้นเขินคับแคบ” ปัญหาร้อยพันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไขและก้าวผ่าน แม้ “การอ่านศรีลังกา” ในเวลานี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่บทเรียนประการสำคัญที่เราต้องตระหนักให้มากคือ “สติ” ผู้นำประเทศศรีลังกาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่มีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบในครั้งนี้ก็ด้วย “สติ” บาดแผลและรอยร้าวอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างศรีลังกาเหนื่อยล้าและหมดแรงในการก้าวเดินต่อ ทว่า “ความอดทนและการเปิดโอกาสให้สังคมพหุได้ลืมตาในสังคม” ย่อมเป็นเครื่องมือขนานดีที่จะคอยขับเคลื่อนประเทศ เมื่อศรีลังกาเป็นหนึ่ง เมื่อเราเป็นปึกแผ่น ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะก้าวผ่านสถานการณ์อันเลยร้ายไปได้

แล้วประเทศไทยละจะรับมือความต่างและย่างก้าวไปทางไหนกัน !!!

อ่านเพิ่มเติม 

Jeffrey Gettleman, Dharisha Bastians and Mujib Mashal. (2019). Sri Lanka Warns of More Suicide Bombers as Police Scour 

Capital. New York Times. April 25, 2019. 

The Government Official News Portal. (2019). Police release pictures of suspects in Easter bombings, seek public’s help. 

April 25, 2019. 

James Griffiths. (2019). Priest recounts moment Easter Sunday bomb went off. CNN World. April 22, 2019. 

CNN World. (2019). This is America’s fight, too. CNN World. April 22, 2019. Retrieved April 25, 2019 

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม. (2019). ศรีลังกา: ความ “น่าจะเป็น” และความเป็นไปที่ “น่าจะห่วง”. Mapping Extremism in 

South Asia News and Research. April 24, 2019. 

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม. (2019). “สำรวจบาดแผลศรีลังกา: เยียวยาภายใน” วารสารออนไลน์ ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2562

Jenni Marsh, Julia Hollingsworth, Bianca Britton and Barbara Starr. (2019). Sri Lanka fears international terror link to Easter 

Sunday atrocities. CNN News. April 23, 2019. 

Interpol. (2019). Interpol deploying team to Sri Lanka to support investigation into bomb attacks. April 22, 2019. 

Iqbal Amas, Manveena Suri and Steve George. (2019). Sri Lanka declares state of emergency in wake of communal violence. 

CNN News. March 8 2018.