ตุรกีปฏิเสธคำขอลี้ภัยชาวอุยกูร์ จ่อส่งตัวกลับจีน ซึ่งพวกเขาอาจถูกจำคุก

ชาวอุยกูร์ประท้วงจีนนอกมัสยิด ฟาติห์ ในอิสตันบูล เดือนพฤศจิกายน 2018 (รอยเตอร์ส)

ตุรกีกำลังขู่ว่าจะส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ที่ซึ่งพวกเขาอาจถูกจำคุกได้ หลังจากเจ้าหน้าที่ตุรกีปฏิเสธคำขอลี้ภัยและพำนักอาศัยระยะยาว

เอกสารที่สำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อาย (Middle East Eye) ได้รับ เผยให้เห็นว่า ตุรกีปฏิเสธคำขอลี้ภัยหลายฉบับของชาวอุยกูร์ที่หวังจะได้รับการพำนักระยะยาวภายในประเทศนี้

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ระบุสาเหตุที่พวกเขาปฏิเสธคำขอของชาวอุยกูร์ แต่บอกว่าพวกเขาจะถูกส่งกลับภายใน 10 วัน

ใครเป็นชาวอุยกูร์และทำไมตกเป็นเป้าของจีน

จากรายงานหลายฉบับพบว่า มีชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคนซึ่งเป็นชาวเตอร์กมุสลิมส่วนใหญ่กำลังถูกกักขังอยู่ในค่ายกักกันทั่วซินเจียงทางตะวันตกของจีน (หรือดินแดนเตอร์กิสถานตะวันออก -East Turkestan- ที่ถูกยึดครอง ตามที่ชาวอุยกูร์หลายคนอ้างถึงภูมิภาคนี้)

ฮิวแมนไรท์วอชท์กล่าวในเดือนกันยายน 2018 ว่า ชาวมุสลิมในซินเจียงสูงถึง 13 ล้านคน ต้องถูก “บังคับให้เข้าอบรมแนวคิดทางการเมือง การลงโทษทั้งหมู่คณะ จำกัดการเดินทางและการสื่อสาร จำกัดทางศาสนาที่เข้มงวดขึ้น และการสอดแนมมวลชนที่ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

ชาวอุยกูร์ถูกกำหนดเป้าหมายเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ “นายเฉิน ฉวนกั๋ว” (Chen Quanguo) ได้เข้าเป็นเลขาธิการพรรคประจำภูมิภาคซินเจียงในปี 2016 ภายใต้การนำของเขา โครงสร้างการเฝ้าระวังขนาดใหญ่ได้รับการเปิดตัวทั่วทั้งภูมิภาค โดยที่ออกแบบมาเพื่อติดตามและควบคุมชุมชนมุสลิม

ชาวอุยกูร์และชาวชนเผ่าคาซัค ต่างพากันปฏิบัติตามความเชื่อของอิสลามในวิถีชีวิต รวมถึงการละหมาด รับประทานอาหารฮาลาล หรือสวมเสื้อผ้าที่แสดงถึงความเป็นมุสลิม

ทว่ารัฐบาลจีนได้ติดป้ายศาสนาอิสลามว่าเป็น“ ความเจ็บป่วยทางอุดมการณ์” และได้ทำลายมัสยิดบางแห่งในภูมิภาคนี้ ในค่ายกักกันของจีนผู้ถูกคุมขังถูกบังคับให้เรียนรู้ภาษาจีนกลาง สรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปกครอง และต้องเผชิญกับการละเมิดทางด้านจิตใจและร่างกายเป็นประจำ

นักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์กล่าวว่า หลายครอบครัวที่ได้หายตัวไปในค่ายกักกันหรือถูกประหารชีวิต

ตลอดมาที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากำลังรังแกกลุ่มชนกลุ่มน้อย และแทนที่ด้วยการอธิบายว่าค่ายนี้เป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ที่ออกแบบมาเพื่อต่อต้านความคลั่งไคล้ทางศาสนา

นอกจากนี้ยังกล่าวหากลุ่มสิทธิมนุษยชนและอื่นๆ ว่า “ไม่ยุติธรรม” และ“ แทรกแซงกิจการภายในของจีน”

ตุรกีปฏิเสธคำขอลี้ภัย

ผู้ลี้ภัยบางคนได้ยื่นขอพำนักระยะยาวในปี 2017 และถูกบอกผลลัพธ์เมื่อเดือนที่แล้ว เอกสารการปฏิเสธระบุว่าผู้ลี้ภัยสามารถสมัครใหม่ได้ แต่ต้องมาจากประเทศบ้านเกิดเท่านั้น

อาบูดูวัยนี  อาบูลาตี (Abuduaini Abulaiti) ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในตุรกีตั้งแต่ปี 2017 ได้ยื่นคำขอเพื่อพำนักระยะยาวในปี 2017 เขากล่าวว่าคำขอนี้ถูกปฏิเสธเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในจดหมายที่ระบุว่าเขามีเวลา 10 วันในการเดินทางออกนอกประเทศ

“ เมื่อจดหมายมาถึง ผมตกใจมากกับเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้” อาบูลาตีบอกสำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อายจากบ้านของเขาในอิสตันบูล

เอกสารของ อาบูดูวัยนี อาบูลาตี (Abuduaini Abulaiti) ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในตุรกีตั้งแต่ปี 2017 ได้ยื่นคำขอเพื่อพำนักระยะยาวในปี 2017เขากล่าวว่าคำขอนี้ถูกปฏิเสธเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในจดหมายที่ระบุว่าเขามีเวลา 10 วันในการเดินทางออกนอกประเทศ (MEE/Supplied)

เมื่อต้องเดินทางไปตุรกีผ่านทางมาเลเซียเพื่อหลบหนีการกดขี่ข่มเหงในประเทศจีน อาบูลาตีอธิบายว่า พี่ชายของเขาสามคนหายไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา

“ ผมต้องไปตุรกีผ่านมาเลเซีย เพราะการบินตรงไปยังประเทศนี้ จะทำให้เกิดความสงสัยจากทางการจีน” อาบูลาตีกล่าว

“เรารู้ว่าพี่น้องของผมสองคนอยู่ในค่ายการศึกษา [ในประเทศจีน] และยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่มีคนบอกเรา แต่หนึ่งในนั้นยังหายไป และเราไม่รู้ว่าเขาตายหรือยังมีชีวิตอยู่”

“ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผมถ้าผมกลับไป ผมอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับพี่น้องของผม”

บัตรประจำตัวของอาบูลาตี เจ้าหน้าที่ตุรกีไม่ได้ให้เหตุผลที่เฉพาะเจาะจงว่าเหตุใดพวกเขาจึงปฏิเสธคำขอของเขาสำหรับการพำนักระยะยาว (MEE/Supplied)

ส่วนผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อีกคนหนึ่งที่อยู่ในสหราชอาณาจักรพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะพาภรรยาและลูกๆ ห้าคนกลับออกมาจากอิสตันบูล ครอบครัวของเขาถูกส่งเอกสารการเนรเทศโดยรัฐบาลตุรกีหลังจากที่ปฏิเสธไม่ให้ถิ่นพำนักระยะยาว

ความกลัวจากการถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของตุรกีจับ ชาวอุยกูร์คนนี้จึงไม่ต้องการที่จะเปิดเผยตัวตน เนื่องจากครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในตุรกีโดยไม่มีเอกสารทางกฎหมาย

“เราทำการค้าขายในตุรกีเป็นเวลาหลายปี และช่วยเหลือสังคมที่นั่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเอกสารการปฏิเสธการพำนักอาศัยระยะยาวของเรามาถึงในเดือนพฤษภาคม 2018 เราประหลาดใจมาก” ผู้ลี้ภัยกล่าวกับมิดเดิลอีสต์อาย

“รัฐบาลตุรกีขยายเวลาพำนักให้กับเรา แต่นั่นก็หมดไปในเดือนพฤษภาคม 2019 เธอ [ภรรยา] ได้รับเอกสารบอกว่าพวกเขาจะถูกเนรเทศในอีกสิบวัน และตอนนี้เธออาศัยอยู่กับลูกๆ ในเงามืด ซ่อนตัวจากตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับประเทศจีน ”

กระทรวงมหาดไทยของตุรกีไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากสำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อายต่อประเด็นนี้

สวรรค์ในอดีต

ตุรกีเคยเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเติร์กที่หนีการกดขี่ทางศาสนาในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 1960 โดยมีพวกเขานับพันอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ

แม้ว่าอังการาจะวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ แต่ตุรกีก็ไม่ใช่หนึ่งใน 22 ประเทศที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนการละเมิดในประเทศจีนในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

เมื่อต้นปีนี้รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู กล่าวว่าเขา “กังวลอย่างยิ่ง” ต่อ “การประหัตประหารชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง” โดยจีน

อย่างไรก็ตาม คาวูโซกลูไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับค่ายการศึกษาที่ได้จำคุกชาวอุยกูร์ประมาณหนึ่งล้านคนและมุสลิมชนเผ่าอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์อ้างว่า การสนับสนุนของชาวตุรกีต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์กำลังเจือจางลงหลังจากอังการาแสวงหาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้นกับปักกิ่ง

ประธานาธิบดีตุรกี เรเยบ ตอยยิบ แอร์โดกัน ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในที่สาธารณะในระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

โฆษกประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า แอร์โดกัน และ สี จิ้นผิง ปธน.จีน ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นวาระชาวอุยกูร์ในการเจรจาส่วนตัว

แอร์โดกันยังตอบรับคำเชิญให้ส่งผู้แทนไปยังเขตปกครองตนเองซินเจียง เพื่อสังเกตว่าชาวอุยกูร์ได้รับการปฏิบัติอย่างไร โฆษกกล่าว

อับดูเวลี อายุป (Abduweli Ayup) นักสิทธิมนุษยชนในตุรกีที่ได้ช่วยเหลือชาวอุยกูร์ที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ  บอกกับมิดเดิลอีสต์อาย ว่า ชาวอุยกูร์จำนวนมากรอหลายปีก่อนที่จะได้รับเอกสารการเนรเทศ

อายุปกล่าวว่า “สาเหตุที่ทำให้ใบสมัครของพวกเขาถูกปฏิเสธไม่เป็นที่เปิดเผย แต่จะหมายความว่าพวกเขาอาจถูกจำคุกถ้าถูกส่งกลับไปยังจีน”

 “ตุรกีบอกว่าพวกเขาสามารถสมัครใหม่เพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาว แต่เพียงจากประเทศบ้านเกิดของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องกลับไปจีน ที่ซึ่งมีการปราบปรามอย่างต่อเนื่องกับชาวอุยกูร์ ” นักสิทธิมนุษยชนคนนี้กล่าว

แปล/เรียบเรียงจาก Middle East Eye