เปิดตำนาน ราชินีโจรสลัดมุสลิม “ซัยยิดะห์ อัลฮูร์รา” (ตอนที่ 1)

ภาพวาดสมัยใหม่ของ “ซัยยิดะห์ อัลฮูร์รา”/ Source commons.wikimedia.org

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ “การปล้นสะดมทางทะเล” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในนโยบายของรัฐ การให้อิสระในการปกครองแก่โจรสลัดเพื่อโจมตีพ่อค้าพลเรือนจากอาณาจักรของศัตรูนั้น เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ศัตรูอ่อนแอและเสริมสร้างตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้

แม้ว่าสิ่งนี้ดูเหมือนในทางศีลธรรมจะถูกตำหนิจากความรู้สึกอ่อนไหวในปัจจุบัน  แต่ในเวลานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนจะประณามการโจมตีของโจรสลัดฝ่ายตรงข้ามว่าชั่วร้าย และยกย่องความสำเร็จของโจรฝ่ายตนว่าเป็นผู้กล้าหาญ 

ในบรรดาผู้ที่ถูกประณามมากที่สุดคือ “โจรสลัดบาร์บารี” (Barbary Pirates) ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใช้โดยอาณาจักรคริสเตียนในยุโรปที่อ้างถึงโจรสลัดมุสลิมที่ทำลายล้างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมานานกว่าสามร้อยปี แต่สำหรับคนแรกจากเหล่าโจรสลัดกลุ่มนี้ พวกเขาแค่แก้แค้นต่อสิ่งที่อาณาจักรเหล่านั้นกระทำต่อพวกเขา เช่นเดียวกับราชินีโจรสลัดแห่งโมร็อกโก “ซัยยิดะห์ อัลฮูร์รา” (Sayyida al-Hurra)

เธอไม่ได้ชื่อ “ซัยยิดะห์ อัลฮูร์รา” ตั้งแต่เกิด เพราะนั่นไม่ใช่ชื่อเลย “ซัยยิดะห์” (Sayyida) เป็นรูปแบบในการเรียกสตรีเช่นเดียวกับ “ซัยยิด” (Sayyid) ในการผู้ชาย ซึ่งหมายถึง “นายท่าน” ในทำนองเดียวกัน “อัลฮูร์รา” (al-Hurra หมายถึง “ผู้มีเกียรติ) ก็เป็นชื่อที่สืบทอดกันมาในเวลานั้นสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในสถานะมีอำนาจอิสระ (independent power) แต่ไม่ได้เป็นผู้ปกครอง การรวมกันของชื่อนี้เป็นสิ่งที่เธอถูกอ้างถึงตลอดประวัติศาสตร์ แต่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงชื่อจริงของเธอ (ซึ่งบางบันทึกบอกว่า เธอชื่ออาอิชะห์) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเขียนคริสเตียนไม่ได้สนใจในเรื่องชื่อจริงของเธอ แต่มันก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกโดยเจตนา “เธอเป็นคนที่เกิดมาไม่สำคัญ มันเป็นสิ่งที่เธอทำเองที่สำคัญ”

เธอเกิดเมื่อปี 1485 ในแคว้นอันดาลูเซียทางใต้ของสเปน พ่อของเธอคือ “เมาลา อะลี บินราชิด อัล-อะลามี่” (Moulay Ali ibn Rashid al-Alami) ผู้สูงศักดิ์ชาวมุสลิมที่สืบสายเลือดโดยตรงมาจากศาสดามูฮัมหมัด ส่วน ภรรยาของเขา (ที่ถูกระบุว่าเป็นแม่ของซัยยิดะห์) เป็นชาวสเปนคริสเตียนซึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ชื่อ โซะห์รา (Zohra) ซึ่งมีนามสกุลเดิมคือ “เฟอร์นานเดซ” 

เมื่อซัยยิดะห์อายุเจ็ดขวบ ครอบครัวของเธอถูกบังคับให้ต้องหนีจากอันดาลูเซีย ในเหตุการณ์ “เรกองกิสตา” (reconquista : เป็นช่วงเวลา 800 ปีในยุคกลางที่อาณาจักรคริสเตียนในคาบสมุทรไอบีเรียได้รับการพิชิตคืนมาจากอำนาจของมุสลิม) ที่สมเด็จพระราชินีอิซาเบลล่าและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ ได้กวาดล้างเพื่อขับไล่มุสลิมจากคาบสมุทรสเปน ตลอดชีวิตที่เหลือของเธอซัยยิดะห์ขุ่นแค้นคนที่ขับไล่ครอบครัวของเธอออกจากบ้านในวัยเด็กของเธอ

การจับกุมแห่งกรานาดา (The capture of Granada) ซึ่งทำให้ครอบครัวของซัยยิดะห์ต้องหนีไปแอฟริกา

ครอบครัวได้ตั้งรกรากอยู่ใน “เชฟชาอูน” (Chefchaouen) เมืองที่อยู่ห่างจากชายฝั่งโมร็อกโกไม่กี่ไมล์ ซึ่งพ่อของซัยยิดะห์ได้ก่อตั้งขึ้นในฐานะฐานทัพในปีค. ศ. 1471 ผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนีจากสเปนมาตั้งรกรากที่นี่กลายเป็นเมืองที่รู้จักกันในนาม ไข่มุกสีน้ำเงิน” (blue pearl, ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง) อันเนื่องจากเฉดสีที่โดดเด่นซึ่งพวกเขาใช้ทาผนัง 

นี่คือสถานที่ซึ่งเธอใช้เวลาที่เหลือในวัยเด็กของเธอ ได้รับการศึกษาสมฐานะลูกสาวของขุนนาง เธอเรียนรู้ภาษาต่างๆ เทววิทยา คณิตศาสตร์ และวิชาการสาขาอื่นๆ ในบรรดาอาจารย์ผู้สอนของเธอคือ อับดุลเลาะห์ อัล-กัซวานี (Abdallah al-Ghazwani) นักวิชาการด้านศาสนาที่มีชื่อเสียงและสถาปนิกซึ่งปัจจุบันได้รับการยกย่องจากผู้นับถือมุสลิมในฐานะหนึ่งใน “เจ็ดอรหันต์แห่งมาร์ราเกช” (seven saints of Marrakesh)

อาคารสีฟ้าที่โด่งดัง ในเมือง“เชฟชาอูน” (Chefchaouen)

หลังจากช่วงเปลี่ยนศตวรรษ ซัยยิดะห์แต่งงานกับอะบู ฮัสซัน อัล-มันดารี (Abu Hassan al-Mandari) ซึ่งเป็นขุนนางอายุแก่กว่าเธอสามสิบปี บางบันทึกบอกว่าเธอแต่งงานกับเขาในปี 1501 (ตอนอายุ 16) บันทึกอื่นๆ ระบุว่าเธอแต่งงานกับเขาในอีกเก้าปีต่อมาในปี ค.ศ. 2053 (เธออาจจะไม่ได้แต่งงานกับตัวอาบูฮัสซัน แต่เป็นลูกชายของเขา แต่สิ่งนี้ไม่น่าเป็นไปได้) ประมุขของตระกูลผู้สูงศักดิ์อีกคนหนึ่งที่หนีจากสเปน และนี่คือการแต่งงานแบบการเมือง (diplomatic marriage) ซึ่งจัดขึ้นในยุคนั้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาไปมากกว่าความรักและความเป็นหุ้นส่วนอย่างแท้จริง เนื่องจากทั้งคู่ทำงานเพื่อปรับปรุงพัฒนาเมืองเตโตอวน (Tétouan)

เช่นเดียวกับเมือง “เชฟชาอูน” ที่ “เตโตอวน” ซึ่งเป็นป้อมปราการที่ได้รับการแปรสภาพเป็นเมืองที่แท้จริงโดยผู้ลี้ภัยจาก “เรกองกิสตา” มันถูกทำลายโดยอาณาจักรครสเตียนแห่งคาสติลในคริสต์ทศวรรษที่ 1400 เพราะได้กลายเป็นฐานสำหรับโจรสลัดชาวมุสลิมในการโจมตีการขนส่ง ในปี ค.ศ. 1484 สุลต่านมูฮัมหมัด อิบนิยะห์ยา แห่งราชวงศ์วัตตาซิด (Wattasid)  ได้มอบสถานที่แห่งนี้ให้อาบูฮัสซันหลังจากที่เขาหนีจากสเปน เขาสร้างปราการล้อมรอบเพื่อป้องกันการโจมตีของสเปน และภายในกำแพงบ้านเรือนก็ผุดขึ้นมา มัสยิดใหญ่ถูกสร้างขึ้น และ เตโตอวนถูกเปลี่ยนจากป้อมปราการให้กลายเป็นเมืองที่คึกคักและมีการค้าขาย เมืองเก่าเตโตอวนในปัจจุบันเป็นมรดกโลกของยูเนสโก มีการรักษาอาคารที่ซัยยิดะห์และอะบูฮัสซันได้สร้างขึ้น

“เตโตอวน” ตามที่ปรากฎในคู่มือการเดินทางในศตวรรษที่ 19

ซัยยิดะห์เรียนรู้มากมายจากสามีของเธอที่ปฏิบัติต่อเธออย่างเสมอภาคและเป็นผู้ว่าการเมืองร่วมมากกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1515 เธอเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าบังเหียนแห่งอำนาจนี้เป็นสิทธิโดยชอบของเธอเอง นี่คือตอนที่เธอรับตำแหน่ง ซัยยิดะห์ อัลฮุร์รา, ฮะกีมิต ติตวัน (Sayyida al-Hurra, Hakimit Titwan) ซึ่งหมายถึง “นายหญิงผู้ทรงเกียรติ, ผู้ว่าการแห่งเตโตอวน” 

ในเวลานั้นมันเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้หญิงที่จะปกครองในสังคมอิสลาม แต่มันก็เกิดขึ้น ความสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการเป็นผู้นำ และตราบใดที่เธอสามารถทำงานที่เพียงพอสำหรับพวกเขา (แม้ว่ามันอาจช่วยได้ที่ว่าพี่ชายของเธอเป็นขุนนางผู้ใหญ่ (vizier) ของสุลต่านเฟซ อาเหม็ด อัล-วาตาซี (sultan of Fez, Ahmed al-Wattasi) 

ซัยยิดะห์ไม่เคยลืมว่าครอบครัวของเธอถูกขับออกจากบ้านเกิดโดยราชินีอิซาเบลล่าและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์  และเธอตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้อาณาจักรของพวกเขาต้องชดใช้ต่อการหยามหยียดนั้น และถ้าเธอสามารถทำเงินและเสริมสร้างเมืองของเธอในเวลาเดียวกันนั่นจะเป็นสิ่งที่ดี เตโตอวนเคยเป็นฐานโจรสลัดมาก่อน ทำไมไม่ลองทำมันอีกล่ะ? ด้วยความคิดของแผนนี้ ซัยยิดะห์จึงส่งทูตไปทางตะวันตกเพื่อนัดพบกับ “โอรุค เรอีส” (Oruç Reis) ราชาโจรสลัดแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

รออ่านต่อตอนต่อไป