16 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ”  พัฒนาต่อเนื่อง เปิดตัว​ “HAL+” แอพยุคใหม่มาตรฐานฮาลาล

ครบรอบ 16 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พัฒนาต่อเนื่องสู่องค์กรวิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับโลก พร้อมเปิดตัว “HAL+” แอพพลิเคชั่น ที่จะนำการตรวจสอบฮาลาลสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน เมื่อพ.ศ.2538 โดยมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม จนงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับ

ทุกวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) แห่งนี้ซึ่งปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 16 ปี 

 

โดยเมื่อวันที่ 8​ สิงหาคม​ 2562​ ที่ผ่านมา เวลา 8.00 น. ที่อาคารสำนักงานสวนหลวงสแควร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์แผนและงบประมาณ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงความยินดีครบรอบ 16 ปี แห่งการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งนี้ โดยมีผู้ร่วมงานมากกว่า 250 คน

และเนื่องในโอกาสครบรอบดังกล่าว รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ศวฮ.จึงได้กำหนด  “สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal Science Week 2019) ระหว่างวันที่ 1 – 8 สิงหาคม 2562 เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนการสอนในด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ตระหนักมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการสร้างนักวิทยาศาสตร์มุสลิมรุ่นใหม่ในสังคม และส่งเสริมให้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยให้เป็นผู้นำในเวทีโลก”

โดยตลอดสัปดาห์ประกอบไปด้วยกิจกรรมมากมาย เช่น กิจกรรม Halal Science Camp & Quiz Bowl การแข่งขันตอบปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล, การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล Halal Science Competition ในหัวข้อ “นวัตวิถีฮาลาล นำไทยสู่เวทีโลก”, เดิน-วิ่งการกุศล Halal Run For All เดิน-วิ่งการกุศล 16 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Public Hearing การประชาพิจารณ์มาตรฐานสากล 

และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 กับนิทรรศการสิ่งต้องห้ามและต้องสงสัยตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม Exhibition on Don’t and Doubt วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและเพื่อประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ รวมถึงนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และเป็นแหล่งอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้น ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม ฮาลาลของประเทศไทย ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนิทรรศการประกอบด้วย 4 โซน คือ โซนสิ่งต้องห้ามตามมาตรฐานอาหารฮาลาล, โซนผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเสี่ยงการปนเปื้อนในปัจจุบัน, โซนวัตถุดิบ วัตถุเจือปนอาหารและสารเคมี และโซนสิ่งของ เครื่องใช้และสินค้าอุปโภค 

เปิดตัว แอพพลิเคชั่น​ HAL+

ในงานเดียวกัน ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าวเปิดตัวแอพพลิเคชั่น​ HAL+ ที่พัฒนาโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​  ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบมาตรฐานการตรวจสอบฮาลาล”

“ศวฮ. ได้เล็งเห็นว่างานทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความสาคัญต่อการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยที่มิใช่เป็นประเทศมุสลิมได้เป็นอย่างดี ทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก ดังนั้นการพัฒนาฐานข้อมูลฮาลาลของไทยจึงมีความสาคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำระบบรวบรวมฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อพัฒนาต่อยอดการวิเคราะห์และนำไปต่อยอดงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องได้ จึงทำเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า HAL+ (HAL Plus) ขึ้น”

ดร.วินัย อธิบายว่า HAL+ “ เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการ เพื่อสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสารสำหรับการจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการฮาลาล ข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้เกี่ยวกับฮาลาล และกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรวบรวม Application ที่น่าสนใจเกี่ยวกับฮาลาล การบริหารจัดการใบรับรองฮาลาล ร้านอาหารฮาลาลที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ฟังก์ชันการตั้งเวลาละหมาด ทิศทางการละหมาด ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้อย่างครบถ้วนที่ผู้ประกอบการทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมควรจะต้องมีไว้”

ดร.วินัย เปิดเผยอีกว่า “ในปัจจุบันฮาลาลครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม โดยรวมถึงผู้บริโภคที่มิใช่มุสลิมด้วย แนวคิดเรื่องฮาลาลเพื่อทุกคนจึงขยายไปในทุกภาคส่วน เป็นเพราะฮาลาลเข้ามาแสดงบทบาทอย่างสูงในทางอุตสาหกรรมและการค้าของโลกสมัยใหม่”

ด้าน อ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ กล่าวว่า การพัฒนา แอปพลิเคชัน “HAL+” เป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้ประกอบการ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“ต้นน้ำคือ ผู้ประกอบการที่อยากจะขอรับรองฮาลาลแต่ยังไม่มีองค์ความรู้ หรืออยากได้ผู้เชี่ยวชาญ ค่อยให้คำปรึกษา ซึ่งแอปฯ HAL+ จะทำให้ SMEs ในกลุ่มแรก เข้าสู่มาตรฐานได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยกรอกเอกสารและการเติมข้อมูลต่างๆ สำหรับใช้ประกอบการขอรับรองฮาลาลได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเราคุยกันเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือAI (Artificial Intelligence) นั้นเอง” อ.ดร.ภราดร กล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกของ HAL+ แบ่งเป็น 4 ระดับ สมาชิกแต่ละระดับ มีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

– Member เมื่อสมัครเป็นสมาชิกแอปพลิเคชัน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ กิจกรรมและข้อมูลธุรกิจได้

– Bronze Level เมื่อป้อนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิในการเข้ารับการอบรมในกิจกรรมต่าง ๆ 

– Silver Level เมื่อป้อนข้อมูลใบรับรองมาตรฐานฮาลาล และผลิตภัณฑ์จะได้รับสิทธิในการออกบูธในงานต่าง ๆ และได้ส่วนลดในกิจกรรมต่างๆ 

– Gold Level เมื่อป้อนข้อมูลวัตถุดิบ หรือสารปรุงแต่งที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะได้รับสิทธิ Halal Global Ecommerce Platform Online ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ทั่วโลก

ดังนั้น แอปฯ HAL+ จึงนับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาตัวช่วย ที่เน้นความสะดวก ใช้งานง่าย เพียงแค่พลิกฝ่ามือขึ้นมา กดใช้งานแอปฯนี้ ก็เสมือนมีผู้เชี่ยวชาญประจำตัวคอยชี้แนะวิธีการง่ายๆในทำธุรกิจได้แล้ว