“ธงรบ ด่านอำไพ” ถือเป็นผู้บุกเบิกบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) หรือไอแอมท่านแรก และเป็นผู้สร้างมิติใหม่ให้กับระบบการบริหารสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารให้เกิดผลกำไรเท่านั้น แต่มุ่งหวังให้เกิดองค์ความรู้ในการบริหารสินทรัพย์อย่างสร้างสรรค์ และบูรณาการอีกด้วย
การบริหารสินทรัพย์ให้ลูกค้ามีความสุขไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ทุกฝ่ายต้องอยู่ได้แบบวินวินทุกฝ่ายต้องอยู่ได้ ลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้แบบเต็มใจ ตั้งตัวได้ในขณะที่ไอแอมต้องอยู่ได้อย่างมีผลกำไร และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องได้รับเงินคืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาผลงานของบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) หรือไอแอม ถือว่าเป็นที่น่าพอใจก่อนที่ “คุณธงรบ” จะเกษียณเปลี่ยนบทบาทไปเป็นพ่อบ้านดูแลครอบครัวอย่างเต็มที่
นายธงรบ ด่านอำไพ ในฐานะผู้จัดการบริษัท ที่รับผิดชอบเป็นผู้จัดการคนแรกของบริษัท รับหน้าที่จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) หรือไอแอม เปิดเผยกับพับลิกโพสต์ว่า จะมีวันนี้ไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือร่วมใจของพนักงานไอแอมทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละให้กับการงาน สร้างสรรค์องค์ความรู้ และสร้างสรรค์องค์กรที่มีคุณภาพ มีผลงานน่าประทับใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานทันที ตั้งแต่ปีแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน เราเรียกเก็บหนี้ได้ทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท ทำกำไรทั้งจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท และดำรงรักษาคุณภาพผลประกอบการก้าวสู่ปีที่สองต่อไป โดยมีกำไรต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน องค์กรถูกออกแบบให้เป็นองค์กรที่มั่นคง ยั่งยืน ด้วยคุณภาพที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ของพนักงาน และวิสัยทัศน์ของบุคลากรที่กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นอุดมการณ์ในการทำงาน มุ่งสู่องค์กรต้นแบบของสังคมไทย
สำหรับในครึ่งแรกที่ผ่านมา บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) หรือไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท และมีกำไรจากผลการดำเนินงาน 591 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 490 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการก่อนการตรวจสอบ) และใน 6 เดือนต่อจากนี้ (ก.ค. – ธ.ค. 2562) จะเป็นภารกิจที่ท้าทายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ไอแอมได้ตั้งเป้าหมายที่จะต้องเรียกเก็บหนี้ให้ได้ผล หรือใกล้เคียงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ไม่น้อยกว่าปีละ 2,500 ล้านบาท เพื่อรวบรวมรายได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงค์) ซึ่งจะครบกำหนดเริ่มต้นชำระในเดือนมิถุนายนของปี 2563 เป็นต้นไป และชำระต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี 2567 โดยก่อนหน้านี้เราสามารถชำระตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับไอแบงค์ได้ก่อนกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท (จากจำนวนเต็ม คือ 4,500 ล้านบาท) ซึ่งชำระไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุภารกิจและสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตในการนำองค์กรก้าวสู่องค์กรแห่ง Digitalization ที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยในแผนดังกล่าว บริษัทฯ มีแนวทางในการขออนุมัติกระทรวงการคลังเพื่อขอรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินภาครัฐทั้งหมด (SFI) มาบริหารจัดการ โดยไม่จำกัดเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากไอแอมเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เพียงหนึ่งเดียวที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และมีระบบบริหารสินทรัพย์ที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทฯ สามารถทำกำไรในปีแรกและปีที่สองติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากในด้านการบริหารสินทรัพย์แล้ว คุณธงรบยังให้ความสำคัญด้านสังคมอีกด้วยโดยกล่าวว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาไอแอมได้มีส่วนในการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้ลูกหนี้กลับคืนสู่อิสรภาพและมีความสามารถทางการเงินอีกครั้ง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีสภาพคล่องน้อยก็ตาม โดยได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้และให้กำลังใจ ให้ลูกหนี้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตและปรับตัวแก้ไขด้วยความเป็นจริงอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของไอแอม (CG & CSR) ในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Business Turnaround ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
โครงการ การแสดงออกความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปแบบ CSR in Process คือการส่งเสริมสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งไอแอม จะมีการลงนามร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู ให้ความรู้ และสร้างชุมชนของมุสลิม และชุมชนอื่นๆ ให้เป็นชุมชนตัวอย่างที่เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันด้านการเป็นหนี้ มีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และสร้างเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ มอบทุนการศึกษา ตามแนวทางการช่วยเหลือโดยการแบ่งปัน ภายในแนวคิด “ซะกาต” หรือแบ่งปันตามคำสอนของศาสนาอิสลาม เนื่องจาก ไอแอมเป็นองค์กรที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทรัพย์สินดังกล่าวส่วนหนึ่งควรจะกลับคืนสู่สังคมมุสลิม แต่กระนั้นเราก็ไม่มองข้ามในการช่วยเหลือสังคม ชุมชน ศาสนาทุกศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management : KM) โดยการใช้การจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวพนักงานทุกระดับ ทำให้องค์กรมีกระบวนการเรียนรู้และบันทึกความรู้อย่างเป็นระบบ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล มีการค้นหา สร้าง รวบรวม กลั่นกรอง จัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บุคลากรที่ต้องการใช้ เข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา และพัฒนาความรู้นั้นๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 เป็นวันเกษียณอายุของธงรบ ด่านอำไพ ในฐานะผู้จัดการบริษัท ที่รับผิดชอบเป็นผู้จัดการคนแรกของบริษัท รับหน้าที่จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รวมเวลาทำงานในการจัดตั้งบริษัทฯและวางรากฐานให้กับบริษัทฯ 1 ปี 3 เดือน 24 วัน งานที่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ ก็ถึงเวลาต้องส่งมอบ ให้รุ่นน้องรับผิดชอบสานงานต่อไป คุณธงรบมั่นใจว่าพนักงานทุกคนจะมั่นคงต่อหลักการ อุดมการณ์ และเป้าหมาย ของตนเองและองค์กรตลอดไป ส่วนตัวคุณธงรบเองจะขอกลับไปดูแลคุณแม่ และภริยาอย่างเต็มภาคภูมิของลูกผู้ชายที่พึงกระทำ และหากมีหน่วยงานใดยังเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่ก็พร้อมกลับมารับใช้สังคมอีกครั้ง