อาร์ที/ฮาอะเร็ตส์ – รัฐบาลปาเลสไตน์ได้ประกาศว่าจะหยุดยอมรับการแบ่งพื้นที่เวสต์แบงก์เป็น 3 ส่วนตามข้อตกลงออสโล อันทำให้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในการควบคุมของอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่แตกต่างกัน และจะเรียกคืนให้ดินแดนทั้งหมดเป็นของปาเลสไตน์
จากนี้เป็นต้นไป รัฐบาลปาเลสไตน์จะปฏิบัติต่อดินแดนเวสต์แบงก์ทั้งหมดภายใต้อำนาจอธิปไตยของปาเลสไตน์ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าขั้นตอนการปฏิบัติใดที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจครั้งนี้ และรัฐบาลปาเลสไตน์จะดำเนินการตามขั้นตอนนี้จริงหรือไม่
ในปัจจุบัน ดินแดนเวสต์แบงก์ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ A, B และ C ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาออสโล ซึ่งลงนามโดยองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) และอิสราเอลในปี 1993 และ 1995
ข่าวนี้มีมาหนึ่งเดือนแล้วหลังจากประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ ตัดสินใจยุติข้อตกลงทั้งหมดกับอิสราเอล และหลังจากนายโมฮัมหมัด ชะเตเยะห์ (Mohammad Shtayyeh) นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งถูกแต่งตั้งใหม่ทวีตว่า “เราจะจัดการกับดินแดนทั้งหมดของรัฐปาเลสไตน์ในฐานะพื้นที่ ‘A’ รวมถึงกรุงเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกยึดครอง”
ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาออสโล พื้นที่ A ประกอบด้วย 18 เปอร์เซ็นต์ของฝั่งเวสต์แบงก์และรวมถึงเมืองปาเลสไตน์ขนาดใหญ่ทั้งหมด บริเวณนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลปาเลสไตน์อย่างสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่ B ประกอบด้วย 22 เปอร์เซ็นต์ของเวสต์แบงก์ อยู่ภายใต้การควบคุมความปลอดภัยของอิสราเอลและการควบคุมดูแลของปาเลสไตน์ และพื้นที่ C ครอบคลุม 60 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินฝั่งเวสต์แบงก์ แต่มีประชากรเบาบาง บริเวณนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอลอย่างเต็มรูปแบบ และได้เห็นการขยายตัวของนิคมชาวยิวต่อเนื่องมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1980
แม้ว่าการแบ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นจะมีอายุมากกว่าสองทศวรรษ แต่จุดประสงค์เดิมทีนั้นจะใช้เวลาเพียงห้าปี จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในระยะยาว ทว่าก็ไม่เคยเกิดขึ้น และการแบ่งพื้นที่นี้ก็ได้กลายเป็นการยึดครองดินแดน ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลปาเลสไตน์จะใช้อำนาจที่อ้างสิทธิ์ใหม่นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ C และในเยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งไม่ได้อยู่ในสามพื้นที่ใดๆ ของข้อตกลงในตอนแรก
แม้ว่าเทลอาวีฟจะยังไม่ตอบโต้การประกาศอย่างเป็นทางการนี้ แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้เลยที่อิสราเอลจะยกเลิกการควบคุมพื้นที่ C และเยรูซาเล็มตะวันออก อันที่จริงนโยบายของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาได้ดูแลให้การขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานเป็นไปอย่างมั่นคงและประกาศเมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 2009 ว่า “กรุงเยรูซาเล็มทั้งหมดจะยังคงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของอิสราเอล”
เนทันยาฮูยังประกาศในเดือนมิถุนายนว่า ข้อตกลงสันติภาพใดๆ ในอนาคต จะต้องรับประกันว่าชาวอิสราเอลจะอยู่ในหุบเขาจอร์แดนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นที่ C
รัฐบาลปาเลสไตน์ได้ขู่ว่าจะทำลายสนธิสัญญาออสโลมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกล่าวสุนทรพจน์ในปี 2015 ก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตามความสามารถของรัฐบาลปาเลสไตน์ในการดำเนินงานในพื้นที่ควบคุมโดยอิสราเอลนั้นมีจำกัด ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้อิสราเอลได้ทำลายบ้านเรือนหลายหลังในละแวกวาดี ฮุมมุส (Wadi Hummus) ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม พื้นที่ใกล้เคียงนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ B และความรับผิดชอบในการวางแผนการก่อสร้างทั้งหมดอยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐบาลปาเลสไตน์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการทำลายล้างของอิสราเอล ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ผังเมืองของรัฐบาลปาเลสไตน์ส่งเสริมให้ชาวปาเลสไตน์สร้างหมู่บ้านขึ้นมาแล้วอิสราเอลเข้ามาทำลาย สิ่งนี้อาจทำให้ความตึงเครียดในเวสต์แบงก์รุนแรงขึ้น