ในตอนที่แล้ว ผมได้นำเรียนให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงความยากลำบากประการแรกสำหรับการจะหานิยามอันเป็นสากลร่วมกันต่อคำว่า “การก่อการร้าย” ความยากลำบากที่ว่า ก็คือ การที่คำๆ นี้ ถูกแขวนป้ายในเชิงลบ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกไม่ค่อยดีนัก และดังนั้น จึงมักถูกนำไปใช้เพื่อลดทอนความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม
ในบทความตอนนี้ ผมขออนุญาตนำเสนอความยากลำบากในการนิยามความหมายคำว่า “การก่อการร้าย” ข้ออื่นต่อไป ดังนี้
ความยากประการที่สอง คือ การที่คำว่า “การก่อการร้าย” เป็นคำซึ่งถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งในแวดวงวิชาการ สื่อมวลชน และการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะคำดังกล่าวมีอำนาจดึงดูดความสนใจและความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของโลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11
พูดอีกแบบ “การก่อการร้าย” ไม่เพียงเป็นเสมือน “ตราประทับ” ของความไร้ศีลธรรม แต่ยังเป็นคำหนึ่งที่ให้อารมณ์ตื่นเต้น รุกเร้าผู้ได้ยินได้เห็น และในแง่หนึ่งก็สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเรียก/ให้ชื่อขบวนการบางกลุ่มว่า “ผู้ก่อการร้าย” เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความชอบธรรมในการกำจัด/ใช้ความรุนแรงจัดการอย่างถอนรากต่อกลุ่มขบวนการนั้น เพราะผู้ก่อการร้ายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่อันตราย คุกคามความมั่นคง เป็นอะไรที่ไร้ศีลธรรม และน่าหวาดกลัว
ส่วนฝ่ายที่ลงมือจัดการต่อ “ผู้ก่อการร้าย” ก็จะกลายเป็นฝ่ายกระทำการในนามของความมั่นคง สันติภาพ เสถียรภาพ และความถูกต้องไปโดยอัตโนมัติ เพราะกำลังดำเนินการต่อ “ตัวปัญหา” ของสังคม เพื่อสังคม
นอกจากนี้ โดยทั่วๆ ไปแล้ว สำหรับกลุ่มบุคคลใดใดที่ประสงค์จะเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะ ชุดวาทกรรมเกี่ยวกับ “การก่อการร้าย” ก็เป็นเครื่องมือภาษาที่ทรงพลังมากชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ต้องการระดมเสียงสนับสนุน อย่างจอร์จ บุช จูเนียร์ ในการชิงชัยประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาก็ใช้ประเด็นเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเป็นหัวข้อหาเสียง หรือในวงการสื่อ/วิชาการ หัวข้อเรื่องการก่อการร้ายก็เป็นที่ดึงดูด น่าสนใจมาอย่างเสมอ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา
แต่กระนั้น การที่คำๆ นี้มีพลังดึงดูดสาธารณชนมาก ก็จึงได้รับความนิยมถูกใครต่อใครนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย ในหลากหลายบริบท ขอบเขตของคำว่า “การก่อการร้าย” ก็จึงถูกขยายออกไปอย่างเลอะเทอะ จนเกือบจะไร้ความหมายไปเสียทุกที
ยกตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมของญี่ปุ่น กล่าวประณามกลุ่มกรีนพีซว่าเป็นพวก “ผู้ก่อการร้ายทางระบบนิเวศน์” (eco-terrorists) ด้วยเหตุผลที่กรีนพีซเข้าขัดขวางการจับปลาวาฬของสถาบันเพื่อนำมาใช้วิจัย ซึ่งฝ่ายกรีนพีซเองก็เถียงว่า การจับปลาวาฬของสถาบันดังกล่าวนั้น อันที่จริงมิได้นำมาใช้ในทางการศึกษาแต่อย่างใด แต่สถาบันเป็นเพียงฉากหน้าปิดซ่อนกิจกรรมล่าปลาวาฬเพื่อเป็นอาหารและการพาณิชย์ อันเป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศกดดันห้ามญี่ปุ่นอยู่
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีที่วาติกันเรียกการทำแท้งและการุณยฆาตว่าเป็นเสมือน “การก่อการร้ายที่มีใบหน้าของมนุษย์” (terrorism with a human face)
ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ว่า การเรียกองค์กรอย่าง “กรีนพีซ” หรือ “การทำแท้งและการุณยฆาต” ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย/การก่อการร้าย” นั้น ดูเป็นเรื่องเลอะเทอะนอกเรื่องเกินไปหน่อย เป็นความพยายามใช้ภาษาของ “การก่อการร้าย” มาเพื่อมุ่งหวังลดเครดิตความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามอย่างที่เราๆ นึกภาพตามไม่ทันเลยทีเดียวว่ามันจะเป็นไปได้
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การที่ “ภาษาของการก่อการร้าย” ถูกนำไปใช้อธิบายและแขวนป้ายประณามกลุ่มองค์กรอย่างหลากหลาย และการกระทำรูปแบบแตกต่างกันออกไปมากมาย ชนิดที่เรียกได้ว่า พร่ำเพรื่อ ก็จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่มันเป็นเรื่องยากลำบากมากหากจะหาข้อสรุปนิยามร่วมกันที่เป็นสากล หนึ่งเดียวให้กับคำว่า “การก่อการร้าย”
ท่านผู้อ่านอาจทดลองเอาคำว่า “การก่อการร้าย” มาสวมใส่ไว้ในบริบทต่างๆ ดูก็ได้ครับ จะพบว่ามันมักทำให้บริบทนั้นๆ ดูใหญ่โตขึ้น ให้ความรู้สึกแย่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ลองเรียกงานเขียนวิชาการที่ท้าทายความชอบธรรมในอำนาจของท่านผู้นำว่าเป็น “การก่อการร้ายทางความคิด”
… เป็นไงครับ ดูกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นกว่าเดิมไหม ชักรู้สึกว่าไอ้งานเขียนชิ้นที่ถูกเรียกแบบนั้น มันปั่นป่วนสะเทือนความมั่นคงของชาติ เสถียรภาพ บูรณภาพยังไงชอบกลขึ้นมาบ้างหรือเปล่าครับ
พลังของบรรดาคำในชุดภาษา “การก่อการร้าย” แบบนี้แหละที่ดึงดูดให้ใครต่อใครนิยมเอาไปผูกโยงกับบริบทของตนอย่างหลากหลายเพื่อรองรับความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง และลดทอนความชอบธรรมในการกระทำของฝ่ายตรงข้าม
กระทั่งความหมายของคำๆ นี้แตกสาแหรกออกไปอย่างไร้ทิศทาง นอกเรื่อง และหลายครั้งก็ดูไร้สาระไปกันใหญ่ ก่อเกิดความสับสนอลหม่านเอาเสียมากในการที่จะแสวงหานิยามสากลร่วมกัน
ในคราวต่อไป ผมจะได้นำเสนอให้เห็นความยากลำบากอีก 2 ข้อที่เหลือ ที่ทำให้การหานิยามสากลของคำว่า “การก่อการร้าย” ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเสียเหลือเกิน
อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อนนะครับ ถ้าไม่เชื่อกัน ผมจะนับว่าเป็น “การก่อการร้ายต่องานเขียน” แล้วเดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยมเข้าให้ ไม่รับผิดชอบนะครับ 😛
————-
* ผู้สนใจอย่างละเอียด โปรดอ่านเพิ่มเติมใน Richard Jackson, Lee Jarvis, et al. Terrorism: A Critical Introduction. NY: Palgrave Macmillan. 2011.
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช