ท่านผู้อ่านสงสัยไหม? ว่า คนประเภทใดบ้างที่เราสามารถเรียกว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และการกระทำแบบใดบ้างที่เราสามารถเรียกว่าเป็น “การก่อการร้าย”
แน่นอนว่า องค์กรโลกบาลอย่างสหประชาชาติก็มีนิยามความหมายที่รัดกุมเกี่ยวกับคำๆ นี้ แต่ในทางปฏิบัติหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกก็ชี้ชวนให้เราก็อดสงสัยไม่ได้ใช่หรือไม่ว่า ทำไมผู้คนจึงตัดสินการกระทำหนึ่งๆ ว่าเป็นการก่อการร้าย ขณะที่การ กระทำแบบเดียวกันของอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกัน (บางกรณีกลับถูกเรียกในเชิงชื่นชมด้วยภาษาทำนองว่าเป็นปฏิบัติการสันติภาพเลยก็มี)
ปัญหาดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่นัก เพราะในแวดวงวิชาการและเวทีอภิปรายทางการเมืองต่างๆ คำว่า “การก่อการร้าย” (Terrorism) เป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง และล้วนแทบไม่ปรากฏความเป็นไปได้ที่จะหาข้อตกลงสุดท้ายร่วมกันเกี่ยวกับความหมายที่ยอมรับร่วมกันได้
ในมุมมองของนักวิชาการด้านการก่อการร้ายเชิงวิพากษ์อย่าง Richard Jackson และชาวคณะ* ลงความเห็นว่า ความยากลำบากในการนิยามความหมายของคำว่า “การก่อการร้าย” เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุผล 4 ประการหลัก
ประการแรก “การก่อการร้าย” เป็นคำที่มักถูก “แขวนป้าย” ความหมายในเชิงลบ โดยมีนัยไปในเชิงของความดุร้าย เหี้ยมโหด ป่าเถื่อน ฯลฯ ความหมายโดยนัยที่ผู้คนโดยทั่วๆ ไปรับรู้กันแบบนี้ ทำให้ผู้กระทำการทางการเมืองจำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก ที่จะเต็มใจแขวนป้ายการกระทำของตนว่าเป็นการก่อการร้าย
ในทางตรงกันข้าม การเรียกว่าใครคือ “ผู้ก่อการร้าย/กลุ่มก่อการร้าย” หรือการกระทำใดที่จัดว่าเป็น “การก่อการร้าย” มักเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติโดยผู้อื่น/กลุ่มอื่นเสียมากกว่า และการบัญญัติ/นิยาม/เรียกดังกล่าวนี้ ก็มักมีฐานะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรูปแบบการกล่าวประณามการใช้ความรุนแรงของผู้ถูกเรียกไปในเชิงลบ เพื่อพยายามชี้ชวนให้สาธารณชนเชื่อว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ถูกเรียกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรม หรือไร้ศีลธรรม
เหตุผลในข้อนี้ ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการก่อการร้าย มักประสบความยุ่งยากอย่างมากในการหาคำนิยามที่ยอมรับร่วมกันได้ว่า ใครและการกระทำ ใด คือ ผู้ก่อการร้าย/การก่อการร้าย เพราะภาษามักถูกใช้เพื่อรับสนองเป้าหมายทางการเมืองของผู้มีอำนาจผูกขาดการนิยามความหมายในการรับรู้ของผู้คนในสังคมวงกว้าง เช่นเดียวกับคำว่า “กบฏ” ก็เป็นชื่อที่สื่อความหมายเชิงลบ ซึ่งถูกใช้เรียกกลุ่มผู้มุ่งล้มล้างอำนาจรัฐแต่ทำไม่สำเร็จ ทว่าเมื่อใดที่กลุ่มเดียวกันนี้เป็นฝ่ายชนะ ก็จะถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “คณะรัฐประหาร” “คณะวีรบุรุษ” “คณะกู้ชาติ” ฯลฯ
ความยุ่งยากในการนิยามคำว่า “การก่อการร้าย” ตามเหตุผลข้อนี้ แง่หนึ่งแล้วก็จึงเป็นการเตือนให้ผู้สนใจและเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการก่อการร้าย จำต้องระแวดระวังด้วยว่า “ภาษาไม่ไร้เดียงสา” ภาษาไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือง่อยๆ ที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร หากแต่หลายครั้ง ภาษาก็ย้อนกลับมาเป็นนายมนุษย์
ในบางโมงยามซึ่งเราไม่ตระหนักรู้ตัว ภาษามีบทบาทในการกำกับวิธีคิด โลกทัศน์ และการตัดสินระบบคุณค่าของเราอยู่ไม่น้อย เช่น ในเหตุการณ์การเมืองไทย การที่สื่อมวลชน รัฐบาล และสาธารณชนใช้คำเรียกสถานะของกลุ่ม นปช. อย่างแตกต่างกันระหว่าง “ผู้ก่อการร้าย” กับ “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ก็ย่อมให้ความหมายและแสดงออกถึงคุณค่าที่แตกต่างกันสุดขั้ว กระทั่งมีผลทำให้ผู้รับรู้ในแต่ละรูปแบบ จดจำภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้ต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
คล้ายๆ กันกับวลีอันโด่งดังที่ว่า “one person’s terrorist is another person’s freedom fighter”
ซึ่งหมายถึงว่า “ผู้ก่อการร้ายในมุมมองของคนๆ หนึ่ง อาจเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในสายตาของอีกคน”
ในมุมมองของท่านผู้อ่าน ไม่ว่าท่านจะนิยามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหนึ่งๆ ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือ นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ไม่ว่าท่านจะนิยาม นปช. ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ตาม
กระนั้น สิ่งหนึ่งที่แต่ละท่านคงยากจะปฏิเสธก็คือ คำว่า “การก่อการร้าย” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” ในการรับรู้ของสาธารณชนทั่วไปนั้น มีความหมายไปในเชิงลบ ซึ่งเมื่อเอาไปผูกไว้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มใดที่เราสนับสนุนแล้ว คงไม่เป็นเรื่องที่เราพอใจแน่ๆ และพยายามจะแก้ต่างให้เรียกว่าอย่างอื่นแทน
การที่คำว่า “การก่อการร้าย” เป็นเสมือนป้ายประณาม/ เป็นเสมือนสติ๊กเกอร์ติดยี่ห้อผู้ร้ายที่ป่าเถื่อนเลวทรามเอาไว้แบบนี้ มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะนิยามกันอย่างเป็นกลางได้จริงว่า ใครบ้าง และอะไรบ้างที่พอจะเรียกว่าการก่อการร้าย
และแม้จะมีความพยายามของหลายต่อๆ หลายฝ่ายๆ ทั้งในแวดวงวิชาการและแวดวงภาครัฐที่พยายามลงเอยฟันธงให้ได้ว่า การก่อการร้าย มีความหมายอย่างไรกันแน่ แต่ในความพยายามเหล่านั้น ก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากอีก 3 ข้อ ซึ่งผมขออนุญาตกล่าวถึงในโอกาสต่อไป
————-
* ผู้สนใจอย่างละเอียด โปรดอ่านเพิ่มเติมใน Richard Jackson, Lee Jarvis, et al. Terrorism: A Critical Introduction. NY: Palgrave Macmillan. 2011.
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช