โลกาภิวัตน์กับความรุนแรงบนตรรกะใหม่ : กรณีศึกษากลุ่มขบถไอเอส (1)

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประชาคมโลกและมนุษยชาติต่างมีความหวังว่า โลกคงเข้าสู่สันติและมีสันติภาพเสียที เพราะการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองเคลื่อนถึงจุดหมายของฟากฝั่งระบอบทุนนิยมและถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

แต่นั่นเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะว่าโลกได้ถูกท้าทายด้วยความรุนแรงและการสำแดงออกในการปะทะและการเผชิญหน้าอีกครั้ง ด้วยการแสดงออกในเชิญสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มมุสลิมที่นิยมความรุนแรงกับชาติมหาอำนาจ นับแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ต่อมาถูกผนวกกับความรุนแรงในนามของ “การก่อการร้าย” และการปราบปรามการก่อการร้าย ที่อ้างตนเองว่าเป็น “ผู้ก่อการดี” เพื่อจะพิทักษ์โลกและจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม กลุ่มที่ถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย  และนั่นเป็นการเริ่มต้นของการกำเนิดกลุ่มนิยมความรุนแรงและความสุดโต่งในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจ

แซมมวล อันติงตัน คล้ายตระหนักถึงสัญญาณความรุนแรงใหม่ หรือไม่ก็พยายามสร้างศัตรูและให้เห็นถึงวิถีของประชาคมโลกและมนุษยชาติกำลังตกอยู่ในภาวะของความอันตรายในนิยามของความรุนแรงแบบตรรกะใหม่ เพื่อให้รัฐบาลของอเมริกามีความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในและภายนอกของประเทศอื่นๆ  “อันติงตัน” ถือว่าความขัดแย้งหลังสงครามเย็นคือโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความรุนแรงในตรรกะใหม่ เป็นตรรกะของการปะทะทางอารยธรรม

นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ต่างได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน และกล่าวว่าการนำเสนอทฤษฎีการปะทะทางอารยธรรมของอันติงตันนั้น ยังมีช่องโหว่และมีข้อโต้แย้งอีกหลายประเด็น ดังนั้นทำให้นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาได้กล่าวว่า แท้จริงความรุนแรงในตรรกะใหม่หลังสงครามเย็น คือ ความรุนแรงภายในอารยธรรมของความต่าง นั่นการกำเนิดกลุ่มต่างๆ ที่นิยมความรุนแรงและมีอัตลักษณ์ที่กร้าวและสุดโต่ง (อ้างจากบทความ โลกาภิวัตน์กับตรรกะใหม่ของความรุนแรง หน้า ๔)

นักมานุษยวิทยา ดั่งเช่นท่าน อรชุน อัปปาดูรัย (ArjunAppadurai) ได้กล่าวว่า ความรุนแรงยุคหลังสงครามเย็นเป็นความรุนแรงภายในอารยธรรม ที่มีหลายแง่มุมและหลายรูปแบบ เขากล่าวอีกว่า โลกปัจจุบันคือโลกแห่งการปะทะ แต่มิใช่การปะทะทางอารยธรรม หากแต่เป็นการปะทะของระบอบโลก

อัปปาดูรัยกล่าวว่า สงครามที่จะเกิดขึ้น เป็นภาวะของการปะทะ ดังนั้นสงครามจะเป็นสงครามเพื่อสร้างศัตรู  และเพื่อค้นหา กำหนดศัตรู ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสงครามที่กระทำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเท่านั้น  แต่รวมไปถึงการฆ่าและการสังหารหมู่ในเชิงสัญลักษณ์ที่ถือว่าเป็นศัตรูทางความเชื่อหรือทางชาติพันธุ์  เป็นการใช้ความรุนแรงในการสังหารหรือการฆ่า  ที่เป็นตรรกะการชำแหละร่าง  การฆ่าตัดคอ  เป็นการฆ่าอย่างเถื่อนโหดเพื่อทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์

การปรากฏของกลุ่มนิยมความรุนแรง อาจจะเกิดจากความขัดแย้งทางความเชื่อ เป็นการตีความในตัวบทคัมภีร์ที่เข้าใจแตกต่างกัน รวมไปถึงการคลั่งในชาติพันธุ์  ลัทธิชาตินิยม หรือชาติพันธุ์นิยม หรือการนิยมความรุนแรงเกิดจากการจินตภาพทางด้านความเชื่อที่มองในด้านเดียว มีอคติต่อกันและกัน

ความรุนแรงและความสุดโต่งแบบกลุ่มขบถไอเอส(IS)เป้าหมายคืออะไร?

ทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อการปรากฏของกลุ่มขบถไอเอส (IS) ณ ประเทศอิรัก และเรียกตัวเองว่ากลุ่มจัดตั้งรัฐอิสลาม อีกทั้งทั่วโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตกได้เสนอข่าวความรุนแรงการเข่นฆ่าสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมยาซีดี ชาวคริสต์ ชาวเคิร์ด ชาวชีอะฮ์ และชนเผ่าอื่นๆ อย่างโหดร้ายทารุณ   ในบางเหตุการณ์สื่อตะวันตก ประโคมข่าวว่า กลุ่มไอเอส ล้อมกรอบชนเผ่าบางกลุ่มบนภูเขาพร้อมจะสังหารหมู่คนเหล่านั้น เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดถล่มตัดเส้นทางนักรบไอเอส เพื่อหยุดยั้งการสังหารหมู่

จากปรากฏความรุนแรงและการนิยมในความสุดโต่งแบบกลุ่มกบถไอเอส เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาคืออะไร?และอะไรคือแรงจูงใจให้นิยมความสุดแรงแบบสุดโต่ง? หรือเป็นกับดัก  ลับ ลวง พราง อีกหลุมหนึ่งของชาติมหาอำนาจ?
(โปรดอ่านต่อตอนต่อไป)