
วันที่ 30 มิถุนายน 1972 ชายชาวเคิร์ดสองคน คือ “อิดริส บาร์ซานี” และ “มาห์มุด อุษมาน” มาถึงที่สำนักงานใหญ่ “ซีไอเอ” ในเมืองแลงก์ลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย และถูกนำไปที่สำนักงานของ “ริชาร์ด เฮลม์ส” ผู้อำนวยการสายลับระดับตำนาน พวกเขาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่งงงวยในนโยบายของสหรัฐอเมริกา, “เฮนรี คิสซิงเจอร์” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี “ริชาร์ด นิกสัน” เคยได้มอบหมายเป็นการส่วนตัวให้เฮลม์ส แสดงความเห็นอกเห็นใจในนามชาวอเมริกันต่อชะตากรรมของชาวเคิร์ด และให้ความมั่นใจแก่พวกเขาว่าเขา “พร้อมที่จะพิจารณาคำขอความช่วยเหลือของพวกเขา”, เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่ชาวเคิร์ดต่อสู้กับรัฐบาลอิรักและได้ขอความช่วยเหลือจากชาวอเมริกันนับครั้งไม่ถ้วน, ทว่าตอนนี้เฮลม์สก็ประกาศว่าสหรัฐฯ เปลี่ยนใจแล้ว เขาล้มเหลวที่จะพูดถึงมันว่าในไม่ช้าก็จะเปลี่ยนอีกครั้ง
ประวัติอันยาวนานของสหรัฐอเมริกาในการทอดทิ้งชาวเคิร์ดนั้นเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ สิ่งที่ถูกลืมไปแล้วส่วนใหญ่นั้นก็คือการทรยศในที่สุด ซึ่งทั้งหมดสามารถคาดการณ์ได้จากวิธีที่ทั้งสองฝ่ายมารวมกันตั้งแต่แรก แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สนับสนุนตุรกีในการทำสงครามในซีเรียเพื่อโจมตีชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับชาวอเมริกัน โดยไม่เข้าใจถึงต้นกำเนิดของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับชาวเคิร์ด
……
ประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึงปี 1920 เมื่อชาวเคิร์ดซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่ได้มีรัฐเป็นของตนเองได้รับการรับรองว่าจะมีเอกราชใน “สนธิสัญญาแซฟวร์” (Treaty of Sèvres) แต่สองมหาอำนาจในวันนี้คือ “อังกฤษและฝรั่งเศส” ได้บิดพลิ้วในปี 1923 และชำแหละดินแดนของเคิร์ดเป็นตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรียในยุคปัจจุบัน ชาวเคิร์ดก่อกบฏต่อการทรยศนี้และถูกบดขยี้โดยอาณานิคมใหม่ของอังกฤษ ฝรั่งเศส อิหร่าน และตุรกี หลังจากหลายทศวรรษแห่งความเงียบสงบผ่านไปชาวเคิร์ดได้พยายามอีกครั้งเพื่อบรรลุการปกครองตนเองในช่วงหลังการปฏิวัติของอิรักในปี 1958 ซึ่งมีการโค่นล้มราชวงศ์ฮัชไมต์ (Hashemite monarchy)
หลังการปะทุของสงครามในเคอร์ดิสถานของอิรัก เมื่อเดือนกันยายน ปี 1961 รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้นโยบายไม่แทรกแซง วัตถุประสงค์หลักของนโยบายของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับแบกแดด และมีความสงสัยอยู่เสมอว่าผู้นำกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด “มุสตาฟา บาร์ซานี” (Mustafa Barzani) เป็นตัวแทนของคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาถูกเนรเทศ 11 ปีในสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1947 ถึง 1958
อย่างไรก็ตาม สองพันธมิตรของอเมริกันในภูมิภาค – อิสราเอลและอิหร่าน – สรุปอย่างรวดเร็วว่า ชาวเคิร์ดอิรักเป็นพันธมิตรเชิงอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ที่สามารถถูกนำไปใช้เพื่อบั่นทอนระบอบชาตินิยมอาหรับหัวรุนแรงในแบกแดด – และกองทัพขนาดใหญ่- ที่ผูกติดอยู่, เริ่มตั้งแต่กลางปี 1962 ชาห์แห่งอิหร่านสั่งการให้หน่วยงานข่าวกรองของเขาที่ชื่อว่า “ซาวัค” (SAVAK) ช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มกบฏชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักเพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบอบการปกครองในแบกแดด ชาวอิสราเอลเข้าร่วมการแทรกแซงของอิหร่านเมื่อปี 1964 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี “เดวิด เบ็นกูเรียน” ให้การยอมรับชาวเคิร์ดว่าเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในการต่อต้านระบอบอาหรับหัวรุนแรงในแบกแดด ซึ่งสำหรับทศวรรษต่อไป ยุทธศาสตร์ของอิหร่านและอิสราเอลนั้นง่ายมาก : ตราบใดที่ชาวเคิร์ดเป็นอันตรายที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันต่อแบกแดด กองทัพอิรักก็จะไม่สามารถนำกำลังไปใช้กับอิสราเอลในกรณีที่มีสงคราม หรือคุกคามความทะเยอทะยานของอิหร่านในอ่าวเปอร์เซีย สิ่งนี้ผลิดดอกออกผลในปี 1967 เมื่ออิรักไม่สามารถปรับใช้กองกำลังของตนในสงครามอาหรับกับอิสราเอล และในสงครามสืบต่อในปี 1973 เมื่อมันสามารถรวบรวมกองกำลังได้เพียงส่วนเดียว เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของกองทัพถูกมัดไว้ที่อิรักตอนเหนือ
ชาวอเมริกันยังคงเชื่องช้าที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 ทั้งชาวอิหร่านและอิสราเอลได้พยายามโน้มน้าวให้ทำเนียบขาวพิจารณาทบทวนนโยบายการแทรกแซงของตน อนึ่งเคิร์ดอิรักเคยพบกับเจ้าหน้าที่ด้านต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ พวกเขาได้รับการต้อนรับด้วยความสุภาพ แต่ถูกปฏิเสธเสมอมา
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 1968 เมื่อพรรคบาธ (Baath Party) -ซึ่งผู้นำในนั้นรวมถึงซัดดัม ฮุสเซน ที่ยังเด็ก- ได้ยึดอำนาจและสถาปนาตนเองเป็นพลังทางการเมืองที่โดดเด่นในอิรักในอีก 35 ปีต่อมา, ในเดือนมีนาคมปี 1970 ซัดดัมสรุปว่าการทำสงครามกับชาวเคิร์ดของประเทศนั้นเป็นความพยายามที่สูญเปล่าและเดินทางไปทางเหนือเพื่อพบกับบาร์ซานีเป็นการส่วนตัว ซัดดัมเห็นด้วยกับทุกความต้องการ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่การปกครองตนเองของเคิร์ดภายใต้ประเทศอิรักหนึ่งเดียว แต่ก็บอกเป็นนัยให้เห็นว่าแผนนี้จะไม่ถูกนำไปใช้จนกว่าจะถึงปี 1974 โดยพื้นฐานแล้ว “ข้อตกลงเดือนมีนาคม” (March Accord) นี้เป็นการซื้อเวลาของทั้งสองฝ่าย ซัดดัมสามารถรวมอำนาจให้มั่นคงไว้ได้และบาร์ซานีก็สามารถรักษาพันธมิตรใหม่ที่ทรงพลัง ก็คือสหรัฐอเมริกา
ตามข้อตกลงเดือนมีนาคมนี้ ซัดดัมมัดอิรักอย่างแน่นหนาเข้าในอ้อมแขนของโซเวียต ในเดือนธันวาคม ปี 1971 อิรักได้ลงนามในข้อตกลงกับมอสโก และในเดือนเมษายน 1972 ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Friendship and Cooperation) เดือนต่อมานิกสันไปเยือนกรุงเตหะราน ระหว่างทางที่เขากลับมาจากการประชุมสุดยอดมอสโกที่ประสบความสำเร็จซึ่งเขาสามารถจัดการผ่อนคลายความตึงเครียดต่อประเด็นความมั่นคงกับโซเวียต ในระหว่างการเยือนนี้ของเขา กษัตริย์ชาห์กดดันนิกสันให้ช่วยเหลือชาวเคิร์ดในการทำให้อิรักสั่นคลอน
หลังจากทบทวนความเสี่ยงอย่างรอบคอบแล้ว ฝ่ายบริหารของนิกสันได้ข้อสรุปว่า การคุกคามของ “โซเวียต-อิรัก” ต่อผลประโยชน์ของตะวันตกนั้นสำคัญเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือต่อชาวเคิร์ด หลังการให้ไฟเขียวของนิกสัน ปฏิบัติการเกี่ยวกับเคิร์ดก็ดำเนินการจากสำนักงานของคิสซิงเจอร์ในทำเนียบขาว ระหว่างสิงหาคม 1972 และปลายปี 1974 เมื่อการต่อสู้ในสงครามอิรัก – เคิร์ดกลับมา ฝ่ายบริหารของนิกสันได้ปรึกษากับชาวอิหร่าน อิสราเอล และชาวเคิร์ด เกี่ยวกับวิธีเตรียมพวกเขาสำหรับการเผชิญหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับแบกแดด นี่หมายถึงการสะสมอาวุธและการฝึกอบรมนักรบชาวเคิร์ดเกี่ยวกับเทคนิคการสงครามสมัยใหม่ – ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเคิร์ดและแบกแดดตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
ในช่วงต้นปี 1974 ซัดดัมฝ่าฝืนข้อกำหนดของข้อตกลงเดือนมีนาคม และกำหนดเพียงฝ่ายเดียวต่อรูปแบบการปกครองตนเองของชาวเคิร์ดให้อ่อนด้อยลง บาร์ซานีตอบโต้ด้วยการเดินทางไปอิหร่านซึ่งเขาได้พบกับชาห์และหัวหน้าสำนักงานของซีไอเอ เพื่อขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯ สำหรับแผนการจัดตั้งรัฐบาล “อาหรับ-เคิร์ดอิรัก” ที่จะอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของอิรัก ซึ่งคิสซิงเจอร์เขียนไว้ในบันทึกปี 1999 ของเขา ว่า คำขอของบาร์ซานี “กระตุ้นให้เกิดการติดต่อสื่อสาร” ระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นไปที่คำถามสองข้อ: ว่าสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนการประกาศเอกราชฝ่ายเดียวหรือไม่ และระดับการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่เต็มใจจะมอบให้แก่ชาวเคิร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ซีไอเอ” ที่ได้เตือนว่าไม่ให้สหรัฐฯ เพิ่มความช่วยเหลือมากขึ้น
แต่คิสซิงเจอร์เมินคำเตือนของ “วิลเลียม คอลบี้” ผู้อำนวยการซีไอเอ เขาเขียนว่า “การลังเลของโคลบี้นั้นไม่สมจริงเหมือนความกระตือรือร้นของบาร์ซานี” นิกสันตัดสินใจในที่สุดที่จะเพิ่มความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ให้กับชาวเคิร์ด รวมถึงการจัดหาอาวุธที่ผลิตโดยโซเวียตจำนวนมากซึ่งซีไอเอได้กักตุนไว้ และเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนเมษายน 1974 คิสซิงเกอร์ส่งคำสั่งของนิกสันไปยังเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเตหะราน โทรเลขนี้มีความสำคัญเนื่องจากมีการประกาศถ้อยแถลงสั้นๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการผินหน้าไปยังเคิร์ด วัตถุประสงค์ที่เขาเขียนไว้คือ “ (ก.) เพื่อมอบศักยภาพแก่ชาวเคิร์ดในการผดุงรักษาสถานะที่เหมาะสมสำหรับการเจรจาต่อรองเพื่อให้รับรองสิทธิโดยรัฐบาลแบกแดด (ข.) เพื่อดำรงการบั่นทอนรัฐบาลอิรัก แต่ (ค.) ไม่แบ่งอิรักอย่างถาวร เพราะพื้นที่เคิร์ดที่เป็นเอกราชจะไม่สามารถดำรงได้ทางเศรษฐกิจ และสหรัฐฯ และอิหร่านไม่เกิดผลประโยชน์จากการปิดประตูความสัมพันธ์ที่ดีกับอิรักภายใต้การนำของสายปานกลาง” เป็นที่ชัดเจนว่าการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลเคิร์ดในระยะยาวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่สามารถปกปิดวาระแอบแฝงได้และมีความกังวลอย่างลึกซึ้งในรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับความสามารถดำรงอยู่ได้ของรัฐเคิร์ด ไม่ต้องพูดถึงความกังวลของตัวกษัตริย์ชาห์เองเกี่ยวกับเอกราชของเคิร์ดเนื่องจากอิหร่านก็มีชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ประเด็นนี้ถูกถ่ายทอดไปยังชาวเคิร์ดในตอนต้นของความสัมพันธ์ของพวกเขากับสหรัฐฯ และถูกย้ำตลอดยุทธการเกี่ยวกับเคิร์ด
สิ่งนี้จะทำให้เข้าใจถึงปัญหาพื้นฐานที่ชาวเคิร์ดเผชิญอยู่เสมอ นั่นคือในทาง “ภูมิศาสตร์” แน่นอนว่ารัฐเอกราชเคอร์ดิสถานจะไม่มี “ทางออกสู่ทะเล” อย่างแน่นอน ทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศอำนาจภายนอก (ซึ่งไม่เป็นมิตร) เช่น ตุรกี, อิหร่าน, อิรัก และซีเรีย ตัวอย่างเช่นหากชาวเคิร์ดต้องการส่งออกน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติก็จะต้องข้ามดินแดนข้างเคียงผ่านทางท่อส่งเพื่อไปยังตลาดต่างประเทศ หากไม่มีประเทศใดในประเทศเหล่านี้เห็นพ้องด้วยเศรษฐกิจของเคิร์ดก็จะถึงคราหายนะ และแม้แต่บริการขั้นพื้นฐาน เช่นการเดินทางทางอากาศก็ต้องพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ภายนอก เนื่องจากเที่ยวบินที่เข้าออกกับเคอร์ดิสถานจะต้องเดินทางผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ไม่เป็นมิตร – ประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแม้จะมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับชาวเคิร์ดและวาระของพวกเขาสหรัฐอเมริกาก็ชัดเจนอยู่เสมอ (ต่อตนเอง หากไม่เปิดเผยต่อสาธารณ) เกี่ยวกับความไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนอิสรภาพของเคิร์ด
ในช่วงปลายปี 1974 กองทัพอิรักได้เปิดยุทธการเชิงรุกต่อต้านชาวเคิร์ดอย่างเต็มที่ ภายใต้คำแนะนำที่ใกล้ชิดของที่ปรึกษาทางทหารของโซเวียต และแม้อิหร่านและอิสราเอลพยายามอย่างมากในการเสริมสร้างกำลังทหารให้ชาวเคิร์ด แต่ถึงกระนั้นอิรักก็ยังสามารถยึดครองดินแดนนี้ได้ในช่วงฤดูหนาวปี 1974-1975 สิ่งนี้ทำให้คิสซิงเจอร์และอิสราเอลต้องวางแผนที่จะจัดหาอาวุธให้ชาวเคิร์ดด้วยเงิน 28 ล้านดอลลาร์
แต่มันสายเกินไป – ภูมิศาสตร์การเมืองเปลี่ยนจากเบื้องล่างชาวเคิร์ด ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1975 กษัตริย์ชาห์พบกับคิสซิงเจอร์ในซูริก เขาบอกกับคิสซิงเจอร์ว่า ชาวเคิร์ด “ไม่มีความกล้าพอ” และกำลังคิดที่จะพบกับซัดดัมในการประชุมโอเปกเดือนมีนาคม เพื่อดูว่าเขาสามารถแลกเปลี่ยนการสนับสนุนของเขากับสัมปทานชายแดนได้หรือไม่ คิสซิงเจอร์อ้างในบันทึกประจำปี 1999 ของเขาว่า เขาโต้แย้งข้อเสนอของชาห์ และเตือนเขาด้วย “คำเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกของเขาเอง ว่าการล่มสลายของชาวเคิร์ดจะทำให้พื้นที่ทั้งหมดไม่มั่นคง”
สิ่งนี้ไม่สำคัญ การตัดสินใจของอิหร่านที่จะทอดทิ้งเคิร์ดนั้นได้ถูกนำเสนอต่อสหรัฐฯ ว่าเป็นข้อตกลงที่เสร็จสิ้นแล้ว ในวันที่ 6 มีนาคม ชาห์และซัดดัมประกาศ “ข้อตกลงอัลเจียร์ส” (Algiers Agreement) ซึ่งแลกเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยบางส่วนในเส้นทางน้ำ “ชัตต์ อัล-อาหรับ” (Shatt al-Arab) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนอิหร่าน – อิรัก เพื่อเป็นการตอบแทนที่ต่างฝ่ายจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของกันและกัน การแทรกแซงในเรื่องเคิร์ดนั้นถึงวาระแล้ว อิหร่านสั่งปิดพรมแดนอิหร่านกับอิรัก ซึ่งเท่ากับโยนเคิร์ดให้กับหมาป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อปิดพรมแดนแล้วชาวอเมริกันและชาวอิสราเอลก็ไม่สามารถช่วยเหลือชาวเคิร์ดได้ ในวันรุ่งขึ้นอิรักก็ปล่อยกองทัพของพวกเขาออกมาต่อสู้กับชาวเคิร์ดอย่างเต็มกำลัง บังคับให้พลเรือนนับพันคนต้องหลบหนีไปยังอิหร่าน เจ้าหน้าที่ซีไอเอและกองกำลังพิเศษของอิสราเอลที่ช่วยเหลือพันธมิตรเคิร์ดของพวกเขาในการต่อสู้กับอิรักนั้นถึงกับตกตะลึง คิสซิงเจอร์ซึ่งใช้เวลากว่าสามปีทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อมอบโอกาสในการต่อสู้กับชาวเคิร์ด ไม่มีอะไรที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันการฆ่าสังหาร ตอนนี้อิหร่านถูกตัดขาดไม่มีหนทางใดที่จะมอบความช่วยเหลือจากชาวอเมริกันต่อไปได้ กองกำลังของซัดดัมบุกยึดเคิร์ด ทำลาย 1,400 หมู่บ้านราบคาบ ไล่ต้อนสาวกของบาร์ซานีหลายพันคน และกำหนดกฎการปกครองของเขาในภูมิภาคนี้
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ของการแทรกแซงโดยชาวอเมริกันเพื่อสนับสนุนชาวเคิร์ดจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์แบบเทียวไปเทียวมาระหว่างสหรัฐอเมริกาและชาวเคิร์ดที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้ ชาวเคิร์ดหลายพันคนในอิรักเสียชีวิตหลังจากที่สหรัฐอเมริกา อิหร่าน และอิสราเอลยกเลิกการสนับสนุนในปี 1975 และในปี 1980 ชาวเคิร์ดและสหรัฐอเมริกาพบว่าตนเองอยู่ฝั่งตรงข้ามของสงครามอิหร่าน – อิรัก ซึ่งได้เห็นว่าซัดดัมใช้อาวุธเคมีเป็นประจำต่อทั้งอิหร่านและชาวเคิร์ด และนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างกว้างขวางในเคอร์ดิสถานของอิรัก กระแสน้ำนี้หวนกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นยุค 90 หลังจากอิรักบุกคูเวตในปี 1990 สหรัฐอเมริกากระตุ้นให้ชาวเคิร์ดต่อต้านรัฐบาลของซัดดัม เพียงแค่เพื่อให้รัฐบาล “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” จะละทิ้งพวกเขาอีกในเวลาที่พวกเขาต้องการ ในเดือนเมษายนปี 1991 ทำเนียบขาวได้ตระหนักถึงความผิดพลาดและได้ดำเนินการ “ปฏิบัติการปลอบประโลม (Operation Provide Comfort) ซึ่งได้จัดตั้งเขตปลอดการบินทางเหนือของอิรักและอันทำให้ชาวเคิร์ดอิรักได้อาศัยอยู่อย่างสงบสุขในที่สุด ในปี 1992 เคิร์ดอิรักได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพันธมิตรของอเมริกันที่ขาดไม่ได้ในช่วงสงครามอิรักและสงครามกับรัฐอิสลาม (ไอซิส)
ดูเหมือนว่าในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็แก้ไขความผิดที่เกิดขึ้นในปี 1975 – จนถึงปัจจุบัน แต่การทรยศครั้งล่าสุดนี้ก็ไม่น่าตกใจใด มันสอดคล้องกับผลประโยชน์ทั้งหมดที่มีต่อชาวเคิร์ดซึ่งสหรัฐฯ ได้อธิบายเป็นการส่วนตัวตั้งแต่ต้น
……
รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรก ในเว็บไซต์ Foreign Policy
เขียนโดย: Bryan R. Gibson ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ Hawai’i Pacific University เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ “Sold Out? US Foreign Policy, Iraq, the Kurds, and the Cold War”
แปลเรียบเรียง: โต๊ะข่าวต่างประเทศ เดอะพับลิกโพสต์