กระทรวงอุตสาหกรรม รับลูก ครม. สั่งลุยยุทธศาสตร์ฮาลาล ผลักดันไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกสินค้าและบริการฮาลาล ตั้งเป้าติด 1 ใน 5 ของโลก ภายใน 5 ปี
กรุงเทพฯ 2 มิถุนายน 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมฮาลาล โดยกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการฮา ลาล พ.ศ. 2559-2563 ภายใต้หลักการศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนามาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาลยุทธศาสตร์ 2)การเสริมสร้างศักยภาพผลิตสินค้าและบริการฮาลาล 3)การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล 4)การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ โดยจะดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จำนวน 57 โครงการ คาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกได้ ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 60.93 ล้านบาท จากจำนวน 403.8 ล้านบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบใน“ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจ สินค้าและบริการฮาลาล พ.ศ. 2559-2563” พร้อมแผนปฏิบัติงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยทั้งภาคการผลิตและภาค บริการในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญ ระดับ 1 ใน 5 ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยตลาดฮาลาลโลกถือเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่มีอยู่ถึงกว่า 1,700 ล้านคนในปัจจุบัน
“ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานระยะ 5 ปีดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้การกำกับของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติที่มีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรทางศาสนา และสถาบันการศึกษา อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ และ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่มีการกำหนดทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นทางการจากรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อขยายส่วนแบ่งของประเทศไทยในตลาดฮาลาลโลกโดยเฉพาะทางด้านอาหารในกลุ่มประเทศ OIC ซึ่งในปี 2556 มีมูลค่าถึง 164,368 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังภูมิภาคนั้นเพียง 5,112.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” นายจักรมณฑ์ กล่าว
ด้าน นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล พ.ศ. 2559-2563 ว่า ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการสรรค์สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลไทยให้มีมาตรฐานชั้นนำในตลาดฮาลาลโลก ภายใต้หลักการศาสนารับรองวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนามาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ สำหรับแผนปฏิบัติงานภายใต้ยุทธศาสตร์ในภาพรวมจะให้ความสำคัญกับหลักการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน โดยคำนึงถึงภารกิจหลักและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่นำเสนอโครงการเป็นหลัก จำนวนโครงการตลอดระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) รวมทั้งสิ้น 57 โครงการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 7,903.671 ล้านบาท
นายอาทิตย์ กล่าว เพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมฮาลาลด้านต่าง ๆ จากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าฮาลาล อันดับ 1 ใน 5 ของโลก (จากปัจจุบันเป็นลำดับที่ 13) ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการฮาลาล ในกลุ่มอาเซียนมีจำนวนสถานประกอบการได้รับรองฮาลาลไม่ต่ำกว่า 2,500 กิจการใน 5 ปี ผู้ประกอบการฮาลาลอื่น (ไม่รวมอาหาร) รวมทั้งบริการฮาลาล มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ใน 5 ปี การตรวจรับรองฮาลาลแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน (จากเดิม 3 – 4 เดือน) นักวิทยาศาสตร์และผู้ตรวจประเมินฮาลาลได้รับการพัฒนา 2,750 คน มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ต่ำกว่า 25 กลุ่มสินค้าใน 5 ปี (1 กลุ่ม ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ย่อย 5 – 10 รายการ) มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 250 ชิ้นงานใน 5 ปี เครื่องหมายมาตรฐานฮาลาลของไทย (Thailand Diamond Halal) ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นต้น โดยมติคณะรัฐมนตรีในวันนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานฯ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในงบประมาณปี 2559 กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม จำนวน 403.8 ล้านบาท โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับจัดสรร189.93 ล้านบาท แยกเป็นงบของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จำนวน 60.93 ล้านบาทและงบของสถาบันอาหาร จำนวน 129 ล้านบาท