ไวกิ้งและราชวงศ์อับบาซียะฮ์ : อยู่คนละซีกโลกแต่เชื่อมถึงกัน

(ภาพ) แหวนยุคไวกิ้งที่จารึกคำว่า “เพื่ออัลลอฮ์”

แหวนวงหนึ่งที่พบในสวีเดนพร้อมคำจารึก “เพื่ออัลลอฮ์” พิสูจน์ให้เห็นว่าชาวยุโรปเหนือและชาวอาหรับมีการติดต่อกันโดยตรง เมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้ว

เธอเป็นใคร ไม่มีใครรู้ เธอถูกฝังเมื่อเกือบ 1,200 ปีที่แล้วในเบียร์กา (Birka) 25 กิโลเมตรทางตะวันตกของสต๊อกโฮล์มปัจจุบัน เบียร์กา เมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะ Björkö เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุคไวกิ้ง มีการค้นพบทางโบราณคดีเกิดขึ้นที่นั่นหลายครั้ง ในจำนวนนั้นคือ “สุสาน 515” สตรีลึกลับผู้นี้ถูกพบนอนอยู่ในโลงไม้รูปทรงสี่เหลี่ยม ถึงแม้โครงกระดูกจะผุเปื่อยไปหมดแล้ว แต่เสื้อผ้า, เครื่องเพชร, เข็มกลัด และแหวน บ่งบอกว่าเธอเป็นผู้หญิง

ไม่เป็นที่รู้กันว่าเธอเป็นผู้หญิงไวกิ้งหรือเธอจะเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เธออาจจะเป็นผู้หญิงอาหรับก็ได้? และไม่รู้เช่นกันว่าเธอขอพรต่อเทพเจ้าของไวกิ้งหรือว่าเธอเป็นมุสลิม(ใหม่) แต่แหวนของเธอ ที่จารึกคำว่า เพื่ออัลลอฮ์ เป็นหลักฐานวัตถุที่น่าตื่นเต้นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกว่ามีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างยุโรปเหนือยุคไวกิ้งและโลกอิสลาม

ที่จริงแหวนวงนี้ถูกค้นพบเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 และถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของสวีเดนในกรุงสต๊อกโฮล์ม รวมกับสิ่งค้นพบอื่นๆ จากยุคไวกิ้ง เมื่อนักวิจัยได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาพบเหมือนที่อธิบายใน The Journal Scanning ว่า แหวนเงินวงนี้มีหินแก้วสี มันเป็นแหวนวงเดียวที่ถูกค้นพบในสแกนดิเนเวียที่มีการสลักตัวอักษรภาษาอาหรับ

จากการค้นคว้าโดยนักชีวฟิสิกส์ชาวสวีเดน Sebastian Wärmländer แหวนวงนี้แทบจะไม่ได้ถูกสวม และ “น่าจะถูกส่งผ่านจากช่างเงินมาถึงผู้หญิงที่ถูกฝังในเบียร์ก้าคนนี้โดยมีเจ้าของในระหว่างนั้นไม่กี่คน” สำหรับ Wärmländer และเพื่อนร่วมงานของเขาแหวนวงนี้ชวนให้เชื่อว่ามีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างสังคมไวกิ้งกับดินแดนคอลิฟะฮ์สมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางในสมัยนั้น เจ้าของแหวน หรือบางคนที่ใกล้ชิดกับเธออาจเคยไปเยือนดินแดนคอลิฟะฮ์หรือดินแดนโดยรอบมัน

(ภาพ) นักโบราณคดีค้นพบ “ขุมสมบัติเงิน” เมื่อหลายปีที่แล้วใน Wieringen ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของไวกิ้งในช่วงศตวรรษที่ 9 ขุมสมบัตินี้ประกอบไปด้วยเหรียญดิรฮัมสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลักฐานของการติดต่อสัมพันธ์กันเป็นพิเศษและการค้าขายในระยะทางไกล
(ภาพ) นักโบราณคดีค้นพบ “ขุมสมบัติเงิน” เมื่อหลายปีที่แล้วใน Wieringen ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของไวกิ้งในช่วงศตวรรษที่ 9 ขุมสมบัตินี้ประกอบไปด้วยเหรียญดิรฮัมสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลักฐานของการติดต่อสัมพันธ์กันเป็นพิเศษและการค้าขายในระยะทางไกล

Nelleke Ijssennagger ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุคกลางที่มหาวิทยาลัย Groningen ในเนเธอร์แลนด์ และผู้เชี่ยวชาญด้านยุคไวกิ้ง (793-1050) ยืนยันว่าพวกไวกิ้งเป็นนักสำรวจ นักล่าอาณานิคม และนักค้าขายที่มีการจัดการดีและช่ำชอง “ผมจินตนาการว่าพวกเขาเป็นคนที่อยู่กับความเป็นจริง พวกเขาเป็นนักเดินเรือและนักสำรวจทะเลที่ยอดเยี่ยม พวกเขาเดินทางไกลและต้องเป็นคนเปิดใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชนชาตอื่นๆ ศิลาจารึกที่ผุพังบนสุสานของไวกิ้งระบุว่าบุคคลสำคัญคนหนึ่งได้เดินทางไปตะวันออกหรือตะวันตก กิตติศัพท์ ฉายานาม และชื่อเสียงของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไวกิ้ง และในความรู้สึกนั้น การสำรวจไปในดินแดนที่ห่างไกลจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา”

“คำว่า ‘ไวกิ้ง’ ทำให้เกิดความสับสนเล็กน้อย” Ijssennagger กล่าว “แต่เดิมชาวสแกนดิเนเวียที่ออกไปจู่โจมปล้นสะดมภ์ถูกเรียกว่าไวกิ้ง โจรสลัด ชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่นที่อยู่กับบ้าน เป็นช่างฝีมือหรือพ่อค้า ไม่เรียกว่าไวกิ้ง พวกเขาบางคนอาจจะเป็นไวกิ้งนอกเวลา คือเป็นชาวไร่ชาวนาที่ออกไปอาละวาดเป็นครั้งคราว ต่อมาในภายหลังคำว่าไวกิ้งถูกนำมาใช้โดยทั่วไปมากขึ้น รวมทั้งโดยนักวิทยาศาสตร์ เพื่อระบุถึงประชาชนจากทางเหนือทั้งหมด

“เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับการเดินทางของไวกิ้งไปยังตะวันตก ไปยังที่ที่ตอนนี้เป็นอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี พวกเขาไปไกลถึงฝรั่งเศส(นอร์แมนดี้) อิตาลี่ และสเปน ไวกิ้งจากเดนมาร์คและนอร์เวย์ส่วนใหญ่เดินทางไปดินแดนทางตะวันตกเหล่านี้ แต่เรามีเพียงแหล่งข้อมูลที่เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับยุคนี้จากศตวรรษที่ 12 ถึง 13 เท่านั้น ซึ่งมักจะเขียนโดยพระหรือนักบวชที่วาดภาพคนนอกศาสนาเหล่านั้นด้วยสีสันที่มืดที่สุด เรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกที่เขียนขึ้นจากไวกิ้งเอง”

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปตะวันออกของไวกิ้ง “ไวกิ้งตะวันออก” มาจากที่ซึ่งปัจจุบันคือสวีเดน เช่นเดียวกับผู้หญิงสวมแหวนของเรา พวกเขาก่อตั้งศูนย์กลางการค้าขายขึ้นที่เคียฟ และนอฟโกรอด และไปถึงดินแดนของเตอร์กิก คาร์ซาร์ และบัลการ์ในที่ราบคอเคซัส และที่ซึ่งปัจจุบันคืออาเซอร์ไบจันและภาคเหนือของอิหร่าน พวกเขาทำการค้าขายกับชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกรีก

นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ เช่น อิบนฺคุรรอดัดบิห์ (ศตวรรษที่ 9), อิบนฺ รุสตัน, อัล-มัสอูดี, อัล-มุก้อดดาซี(ศตวรรษที่ 10) และคนอื่นๆ ได้เขียนอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับรุสซียะห์ หรือรุส ที่พวกเขาใช้เรียกชาวไวกิ้งตะวันออก บันทึกอย่างละเอียดของผู้ได้พบเห็นด้วยตนเองส่วนใหญ่มาจากอาห์มีด อิบนฺ ฟัดลัน ซึ่งริซาละห์ของเขาถูกแปลเป็นภาษอังกฤษและภาษายุโรปอื่นๆ หนังสือเรื่อง Mission to the Volga ที่จัดพิมพ์ขึ้นได้ ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 2014 แปลและเรียบเรียงโดย เจมส์ มอนต์โกเมอรี่

อบูฟัดลันเป็นเลขาของผู้แทนจากคอลิฟะฮ์อัล-มุกตาดิรฺ จากราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ในปี 921/922 ที่ส่งมายังกษัตริย์แห่งโวลก้า บัลการ์ เขาเป็นฟากีฮ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม แต่เป็นนักผจญภัยด้วย และในบันทึกของเขาเขามีสายตาที่แหลมคมมากในรายละเอียดของมนุษย์ หนังสือเกี่ยวกับการเดินทางของเขา ที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี อ่านเหมือนกับเรื่องของนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนขึ้นด้วยอารมณ์ขันในขณะที่พยายามหาวัตถุประสงค์และไม่มีอคติ ดังที่ทิม แม้คอินทอช-สมิธ นักเขียนหนังสือท่องเที่ยวสมัยเดียวกัน ถือว่า อบูฟัดลัน “มองผ่านมุมมองของอิสลาม”

ในดินแดนแห่งโวลก้า บัลการ์ ที่เพิ่งเข้ารับอิสลามและหวังการปกป้องจากราชวงศ์อับบาซียะฮ์ให้พ้นจากชาวคาซาร์ที่เป็นศัตรูของพวกเขานี้เองที่อบูฟัดลันได้พบกับรุสซียะห์ “พวกเขามาทำการค้า และได้ขึ้นฝั่งที่แม่น้ำ Itil” อบูฟัดลันเขียน “ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นร่างกายที่เกือบจะสมบูรณ์แบบเท่ากับร่างกายของพวกเขา สูงเหมือนต้นปาล์ม ผ่องและแดงเรื่อ…” เขาบรรยายอย่างละเอียดถึงเสื้อผ้าของพวกเขา นิสัยการกินและการดื่มที่แปลกประหลาด, ความรู้สึกเรื่องเพศ, พิธีการทางศาสนา และวิธีเผาผู้ตายของพวกเขา

อบูฟัดลันและนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ มีบทบาทสำคัญในสังคมอับบาซียะฮ์ “อาณาจักรอับบาซียะฮ์และแบกแดดมีวันธรรมในการเขียนและหนังสือเป็นพิเศษ” ดร.Maaike van Berkel ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมกล่าว เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านอาณาจักรอับบาซียะฮ์ เขาจำได้ว่ากระดาษถูกแนะนำเข้ามายังแบกแดดจากประเทศจีนในศตวรรษที่ 8 “รัฐนี้ได้รักษาระบบการจัดการที่ครอบคลุม ทุกอย่างถูกลงทะเบียนและเอกสารที่เขียนขึ้นจะถูกจัดเป็นระเบียบอย่างระมัดระวัง ภาษี, กฎหมาย, มาตราการ, สำมะโนประชากร เรื่องเกี่ยวกับความรู้และวิทยาศาสตร์ทุกประเภท ทุกอย่างถูกจัดทำเป็นเอกสารด้วยการเขียน บางทีแบกแดดอาจจะเป็นเมืองแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการคัดลอกหนังสือ เห็นได้ชัดว่าเคยมีตลาดสำหรับหนังสือ เคยมีละแวกชุมชนในแบกแดดที่ทั้งหมดเป็นนักคัดลอกและนักเขียน”

นักอ่านชาวอาหรับในสมัยนั้นต้องถือว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวรุสซียะฮ์ของอบูฟัดลันเป็น “สิ่งที่สกปรกที่สุดในบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหมดของพระเจ้า” “พวกเขาไม่มีความเรียบร้อยเมื่อกล่าวถึงการอุจจาระหรือปัสสาวะ และไม่ชำระล้างร่างกายเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพมีมลทิน พวกเขาไม่แม้แต่จะล้างมือหลังรับประทานอาหาร ที่จริงแล้วพวกเขาเหมือนกับลาที่เที่ยวเตร่ไปเรื่อย” รายละเอียดอื่นๆ ที่นักอ่านในศตวรรษที่ 10 ต้องสนใจก็คือเรื่องทางเพศที่เป็นอิสระของชาวรุสซียะฮ์ “พวกเขามีเพศสัมพันธ์กับทาสหญิงของพวกเขาต่อหน้าเพื่อนฝูงของพวกเขา”

เศรษฐกิจในสมัยอับบาซียะฮ์เป็นตัวขับเคลื่อนเงิน คอลีฟะฮ์ทำเหรียญดิรฮัมของพวกเขาเอง เป็นเหรียญเงินที่ชาวเปอร์เซียใช้กันเป็นเวลาหลายศตวรรษ มันเป็นเหรียญดิรฮัมทำจากเงินที่ยั่วยวนใจชาวสแกนดิเนเวียให้มุ่งมาทางตะวันออก ชาวไวกิ้งใช้เงินสื่อในการซื้อขาย บางครั้งเหรียญถูกทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือหลอมเป็นเครื่องประดับเพชรพลอย ในประเทศของชาวบัลการ์และที่อื่นๆ พวกเขาใช้แลกเปลี่ยนขนสัตว์, อำพัน, ดาบ และทาส  กับดิรฮัม

ดร.Van Berkel ระบุว่าเหรียญดิรฮัม และวัตถุอื่นๆ จากตะวันออกกลางและแอฟริกา ที่พบในสุสานและพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีอื่นๆ ของยุโรปเหนือ ว่าเป็น “หลักฐานของการค้าขายข้ามทวีปที่มีอย่างต่อเนื่องในยุคกลางตอนต้น” แหวนที่พบในเบียร์กาเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกมีการติดต่อเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าที่เคยคิดมาก่อน มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าไวกิ้งบางคนได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามไหมบ้างไหม? “การค้นพบเหรียญนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของจะเป็นมุสลิม แต่อีกด้านหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ชาวไวกิ้งติดต่อสัมพันธ์กับชาวโวลก้า บัลการ์ ที่ได้กลายเป็นมุสลิมและอยู่ร่วมกับชาวอาหรับ มันอาจจะมีพวกเขาบางคนที่เปลี่ยนศาสนาก็ได้”

 

—-
อ้างอิง http://www.middleeasteye.net