ตุรกีและซีเรียกลับมาเป็นประเด็นร้อนบนหน้าสื่อต่างๆ ในขณะนี้อีกครั้ง หลังกองทัพตุรกีเริ่มบุกโจมตีทางตอนเหนือของซีเรียอย่างหนักหน่วงตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันกองกำลังชาวเคิร์ด (Kurd หรือ Kurdish คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรราว 30 ล้านคน อาศัยอยู่ในบริเวณ 4 ประเทศในตะวันออกกลางคือ ตุรกี อิหร่าน ซีเรีย และอิรัก) ให้ออกห่างจากพรมแดน ซึ่งหลายพื้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces – SDF กองกำลังส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักรบชาวเคิร์ดซึ่งสังกัดปีกทางทหารของกลุ่มชาวเคิร์ดซีเรียในนาม”หน่วยป้องกันประชาชน – People’s Protection Units -YPG และเป็นส่วนหนึ่งของพรรค Kurdistan Workers’ Party หรือ PKK) เพื่อสร้างแนวกันชนซีเรียตอนเหนือ (Northern Syria Buffer Zone) และผลักดันผู้อพยพจำนวนหลายล้านคนกลับเข้าไปในซีเรีย หลังจากที่สหรัฐฯ พันธมิตรหลักของชาวเคิร์ดถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ (สหรัฐให้การสนับสนุนและส่งอาวุธให้ชาวเคิร์ดรบกับกลุ่มไอซิส (ISIS) ในประเทศซีเรียก่อนหน้านี้) โดยผู้นำตุรกีชี้แจงว่าปฏิบัติการครั้งนี้จำเป็นต้องทำเพื่อความมั่นคงของชาติและชายแดนตุรกีเพื่อกำจัด “ผู้ก่อการร้าย” เพราะ“YPG” เป็นสาขาของ “พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน “PKK” กบฏกลุ่มหลักที่ต่อสู้เพื่อแยกดินแดนทางภาคใต้ของตุรกีมายาวนาน
ซึ่งสอดคล้องกับการปราศรัยในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2018 ของพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party – AKP ก่อตั้งในปี ค.ศ.2001) ของนายเรเจป เตร์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ( Recep Tayyip Erdogan ค.ศ. 1954 – ปัจจุบัน) การประชุมครั้งนั้นมีข้อสรุปหลักคือ การฟื้นฟูพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาเพื่อฟื้นการนำและการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐและตะวันตก ความวุ่นวายทางการเมืองจากกลุ่มต่อต้านที่ตุรกีถือเป็นกลุ่มก่อการรัายและเป็นภัยความมั่นคงที่สำคัญสองกลุ่ม คือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด และขบวนการอิสลามของเฟตฮุลลาห์ กูเลน (Fethullah Gulen เกิด ค.ศ.1941 ปัจจุบันลี้ภัยไปอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา)
สำหรับเออร์โดกันแล้วการสร้างพรรค AKP และการสร้างประเทศตุรกีใหม่นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และไม่เพียงเท่านั้น เขายังต้องการสร้าง “ตุรกีที่ยิ่งใหญ่” และเรียกร้องให้เยาวชนในชาติ คิดถึงอนาคตของตุรกีในปี ค.ศ.2071 ซึ่งเป็นเวลาครบรอบ 1,000 ปี ที่ผู้นำชนชาติเติร์กรบชนะกองทัพของจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine Empire ค.ศ.330 – ค.ศ.1453 เป็นจักรววรรดิที่สืบทอดโดยตรงจากจักรวรรดิโรมันตะวันตกในสมัยโบราณ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล Constantinople – ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) และสามารถเข้าครอบครองคาบสมุทรอนาโตเลียได้ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire ค.ศ.1453 – ค.ศ.1923) “เออร์โดกันกล่าวถึงภารกิจนี้ตั้งแต่การประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 4 ในปีค.ศ.2012”
เติร์ก”จากชนเผ่าเร่ร่อนสู่จักรวรรดิออตโตมัน
เดิมชนชาติเติร์ก (Turk) คือชนเผ่าเร่ร่อนหลายเผ่าปรากฎตัวและตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณดินแดนเอเชียกลางมานับพันๆ ปี มีวิวัฒนาการผ่านยุคสมัย ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ชาวเติร์กอพยพจากเอเชียกลางไปยังดินแดนใกล้เคียง จนกระทั่งปีค.ศ.1071 สุลต่านอัล อาสลัน ผู้นำชาวเซลจุกเติร์ก (Seljuk Turk) ได้รับชัยชนะในสงครามกับจักรวรรดิไบเซนไทน์ ชัยชนะครั้งนี้เปิดทางให้ชนเชื้อสายเติร์กจากเอเชียกลางหลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนอนาโตเลีย (Anatolia หรือเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ในทางภูมิศาสตร์หมายถึงดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ถือเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมเก่าแก่ เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์สำคัญคือสงครามครูเสด (Crusades ค.ศ.1095 – ค.ศ.1272)เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างยุโรปกับเอเชีย เป็นที่ตั้งของจักรวรรดิไบเซนไทน์หรือโรมตะวันออก และจักรวรรดิออตโตมันอันยิ่งใหญ่
ในปีค.ศ.1077 เซลจุกเติร์กได้สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกในดินแดนอนาโตเลียชื่อรัฐสุลต่านแห่งรุม (The Sultanate of Rum) มีราชธานีอยู่เมืองคอนยา ต่อมามีการรบพุ่งกันระหว่างชนเผ่า เซลจุกเติร์กเริ่มเสื่อมอำนาจ ชาวเติร์กเผ่าคายีภายใต้การนำของ ออสมัน เบย์ (Osman Bey) ได้ประกาศตนเป็นเอกราชและสถาปนาอาณาจักรขึ้นในภาคตะวันตกของอนาโตเลียที่ชาวตะวันตกเรียกชื่อว่า ออตโตมัน (Ottoman) ในขณะที่จักรวรรดิไบเซนไทน์เสื่อมอำนาจลงตามลำดับ จักรวรรดิออตโตมัน ก็รุกคืบกินพื้นที่เข้าไปจนประชิดกรุงคอนสแตนติโนเปิล(Constantinople) ที่มีเพียงกำแพงสูงเป็นปราการป้องกันตนเองเท่านั้น
จนกระทั่งในปีค.ศ.1453 สุลต่านเมห์เมตที่ 2 (เป็นที่รู้จักในนามว่าฟาติห์ เมห์เมต “Fatih Mehmet ซึ่งหมายความว่าผู้พิชิต) ได้เปิดฉากโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลและทำลายกำแพงเมืองได้ในที่สุด ปิดฉากจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ยืนหยัดอยู่มาได้ถึง 1,123 ปี หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 3 สุลต่านเมห์เมตได้ย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอิสลามบูล (Islambul ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในปี ค.ศ.1923 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูล Istanbul จนถึงปัจจุบัน)
จักรวรรดิออตโตมันรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยสุลต่านสุไลมาน (Suleiman the Magnificent ค.ศ.1494 – ค.ศ.1566 ครองราชย์ค.ศ.1520-1566) เป็นยุคที่ขยายอาณาเขตได้อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทิศตะวันตกจรดดินแดนออสเตรีย ทิศตะวันออกจรดคาบสมุทรอาระเบีย ทิศเหนือคาบสมุทรไครเมีย ทิศใต้จรดซูดานในแอฟริกาเหนือ หลังจากสิ้นรัชสมัยของสุลต่านสุไลมาน จักรวรรดิออตโตมันก็เข้าสู่ยุคเสื่อม ก่อนที่จะล่มสลายอย่างสิ้นเชิง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จักรวรรดิออตโตมันจึงตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามด้วย ในที่สุดต้องจำยอมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายน์ (Treaty of Versailles) ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1919 ส่งผลให้จักรวรรดิออตโตมันสูญเสียดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นที่เหลือในบอลข่านและตะวันออกกลาง และที่เลวร้ายที่สุดคืออนาโตเลียถิ่นที่อยู่ของชาวเติร์ก และอิสตันบูลได้ถูกกองกำลังต่างชาติที่ชนะสงครามเข้ายึดครอง ชาวเติร์กส่วนใหญ่แม้จะยอมรับการสูญเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้น แต่รับไม่ได้ที่ชาติตะวันตกพยายามจะยึดครองอนาโตเลียซึ่งเปรียบเสมือนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเติร์ก สถานการณ์ของรัฐบาลในขณะนั้นก็อ่อนแอไม่สามารถต่อรองอะไรได้ จึงเกิดขบวนการจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ นำโดย มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk ค.ศ. 1881 – ค.ศ.1938) สงครามสิ้นสุดลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาโลซานน์ (Treaty of Lausanne) เมื่อวันที่24 กรกฎาคม ค.ศ.1923 นำไปสู่การรับรองเขตแดนและสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีซึ่งมีกรุงอังการาเป็นเมืองหลวงในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1923 (โดยปีก่อนหน้านั้นในวันที่11ตุลาคม ค.ศ.1922 รัฐบาลอังการาได้ยกเลิกระบบสุลต่าน ทำให้สุลต่านเมห์เมตที่ 6 สุลต่านองค์สุดท้ายของจักรวรรดิออตโตมันได้เสด็จไปลี้ภัยในต่างประเทศ) เป็นการปิดฉากความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 600 ปีอย่างสมบูรณ์
ตุรกียุคใหม่มีมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก เป็นประธานาธิบดีคนแรกและเป็นประธานาธิบดีติดต่อกันถึง 4 สมัย ตั้งแต่ค.ศ.1923 – ค.ศ.1935 เป้าหมายของอตาเติร์กคือต้องการให้ตุรกีพัฒนาเหมือนโลกตะวันตก มีการตั้งรัฐฆราวาสนิยม(Secular) โดยไม่นำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และเป็นประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียว อตาเติร์กถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ.1938 แต่ตุรกีก็ยังคงเป็นรัฐฆราวาสนิยม ภายหลังมีหลายพรรคการเมืองเกิดขึ้น มีการปฏิวัติบ่อยครั้งจึงทำให้การเมืองตุรกีไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ตุรกีเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกคือช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจสู่พรรคยุติธรรมและการพัฒนาของเออร์โดกัน และความที่พรรคมีนโยบายอยู่บนพื้นฐานความเป็นอิสลามทำให้ถูกมองว่าเป็นแนวทาง ”นีโอออตโตมัน” (Neo-Ottoman) เพื่อแสวงหาจุดยืนในการเป็นผู้นำ พอถึง ค.ศ.2014 นายเรเจป เตย์จิบ เออร์โดกันก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 ของประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 มีความพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้งแต่ล้มเหลว มีการจับกุมคุมขังผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการรัฐประหารและผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเมืองของตุรกีหลังจากนั้นมีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
ชนชาติเติร์กในปัจจุบัน
ในอดีตชาวเติร์กแยกออกเป็นหลายชนเผ่า และขยายออกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งในจักรวรรดิอิสลามที่กรุงแบกแดดจนสามารถสร้างอำนาจและอิทธิพลได้อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชาวเติร์กบางกลุ่มก็ผสมผสานกับชาวมองโกลในยุคเจงกิสข่าน (Genghis Khan ค.ศ.1162 – ค.ศ.1227) จนกระทั่งเกิดเป็นชาวโมกุลที่ยึดครองอินเดียได้อย่างยาวนานในนามของราชงศ์โมกุล (Mughal Empire ปกครองอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่16-19 ยุครุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่17ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่18) ส่วนอีกกลุ่มก็สามารถล่มสลายจักรวรรดิไบเซนไทน์หรือโรมันตะวันออกของชาวยุโรปลงได้และก่อตั้งจักรวรรดิออตโตมันขึ้นสำเร็จ ในปัจจุบันดินแดนที่ชาวเติร์กอาศัยอยู่มากที่สุดก็คือในประเทศตุรกี บริเวณเอเชียกลาง นับตั้งแต่อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และในประเทศจีนฝั่งตะวันตก หากนับรวมประชากรแล้วชาวเติร์กคือชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าชนชาติใดๆ ในโลก ด้วยเหตุนี้เองชาวตุรกีจึงมีความภาคภูมิใจกับความเป็นชนชาติเติร์ก ชนชาติที่ครั้งนึงเคยมีจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่จนสามารถมีอิทธิพลครอบครองดินแดนได้กว้างใหญ่ไพศาล
วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ
ประธานธิบดีเออร์โดกันของตุรกีกล่าวสุนทรพจน์ ณ สมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณพรมแดนระหว่างตุรกีและซีเรีย และกล่าวถึงนโยบายที่จะใช้จุดแข็งด้านพรมแดนเป็นประตูเชื่อมหลายภูมิภาคของโลก ทำให้ตุรกีกลับมามีบทบาทเป็นตัวสำคัญในเวทีโลกเข้าไปเชื่อมโยงหลายประเด็นทั้งในและนอกภูมิภาค ตุรกีสร้างความโดดเด่นภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง เป็นผู้ประยุกต์ใช้แนวคิดทางศาสนาให้เข้ากับการเมืองสมัยใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลของประธานาธิบดีเออร์โดกันมี “นโยบายปราศจากปัญหากับเพื่อนบ้าน” (Zero’Prpblems with Neighbors) นโยบายนี้คือนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของตุรกี ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองของตุรกีในศตวรรษที่ 21 ในการสร้างบทบาทในเวทีโลก แต่นโยบายการเมืองต่างประเทศตุรกีมีลักษณะเฉพาะคือดำเนินนโยบายแบบอิสระ ไม่มีศัตรูที่ถาวร หากมีผลประโยชน์ร่วมก็พร้อมจะร่วมมือ ในบางครั้งก็สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศต่างๆ เช่น การยินยอมให้นาโต้ติดตั้งระบบเตือนภัยขีปนาวุธเพื่อป้องกันการโจมตีอิสราเอลซึ่งทำให้อิหร่านไม่พอใจ และการเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีบาซาร์ อัล อัซซาด (Bashar Hafez al-Assad เกิด ค.ศ.1965 – ปัจจุบัน) ถึงขั้นยิงเครื่องบินรบของรัสเซียที่เข้าช่วยอัซซาดตกในเดือนพฤศจิกายน 2015
จากการปฏิบัติดังกล่าวต่อเพื่อนบ้าน และสภาพทางการเมืองภายในประเทศที่มีขัดแย้งระหว่างกลุ่มแนวคิดต่างๆ ทำให้ตุรกีมีปัญหาทั้งในและนอกประเทศ มีการประท้วงใหญ่ในประเทศ มีการวินาศกรรมถูกโจมตีด้วยระเบิดในเมืองใหญ่ๆ หลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีข้อพิพาทและตัองเจอกับแรงกดดันของมหาอำนาจ จนกระทั่งประธานาธิบดีเออร์โดกันยอมขอโทษรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2016 โดยเชื่อกันว่าตุรกีอาจฟื้น ”นโยบายปราศจากปัญหากับเพื่อนบ้าน” ขึ้นมา แต่จากการเปิดฉากโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศต่างๆ ออกมาวิจารณ์การกระทำของตุรกีส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ แย่ลงอีกครั้ง
สรุปกระแสโลก กับเส้นทางฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของตุรกี
จากปฏิบัติการโจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือซีเรียของกองทัพตุรกีครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐหักหลังชาวเคิร์ด หลังมีการเปิดเผยว่าทรัมป์ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับเออร์โดกันก่อนถอนกำลังทหาร แต่กระนั้นเองสหรัฐก็ปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยประกาศคว่ำบาตร 3 รัฐมนตรีของตุรกี และจะกดดันให้มีการดำเนินการตอบโต้ตุรกีทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้านกองกำลังชาวเคิร์ดก็มีข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลซีเรียคู่แค้นเก่า หลังจากอนุญาตให้ทหารของรัฐบาลสามารถเข้ามาในพื้นที่ครอบครองได้เพื่อช่วยรบกับกองทัพตุรกี (ทั้งสองฝ่ายจับมือร่วมกันเป็นครั้งแรกหลังสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในซีเรีย) ทำให้รัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาซาร์ อัลอัสซาด สามารถปักธงซีเรียในพื้นที่นี้ได้อีกครั้ง (เหตุการณ์นี้ถือเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของสหรัฐที่พยายามกำจัดอำนาจของอัสซาดในซีเรียตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา) ด้านชาติยุโรปก็หวั่นว่ากองกำลังของนักรบไอซิสจะฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง หลังการโจมตีของตุรกี เนื่องจากในพื้นที่สู้รบมีเรือนจำที่คุมขังนักรบไอซิสไว้กว่าหมื่นคน รวมถึงปัญหาผู้ลี้ภัยอีกหลายล้านที่ตุรกีขู่ว่าจะเปิดพรมแดนให้ผู้ลี้ภัยอพยพเข้าสู่ยุโรป หากการสร้างพื้นที่เซฟโซนตามแนวชายแดนไม่ประสบความสำเร็จ
การถอนกำลังของสหรัฐออกจากทางตอนเหนือของซีเรียในครั้งนี้ทำให้บทบาทของตัวแสดงอื่นในภูมิภาคนี้เด่นชัดขึ้น ล่าสุดในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ไปเยือนซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ นับเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียต้องการแผ่ขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น ฟากฝั่งประเทศอิหร่านก็ประณามความเคลื่อนไหวของตุรกีที่จะจัดตั้งที่มั่นทางทหารในซีเรียว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจยอมรับได้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านอับบาส มูซาวี กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวจะเผชิญแรงต่อต้านจากสาธารณรัฐอิสลามและประเทศอื่นๆ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการรุกรานอธิปไตยแห่งชาติ ด้านกองกำลังของชาวเคิร์ดก็ยอมจับมือร่วมกันกับประธานาธิบดีอัสซาดเพื่อต่อสู้กับตุรกี
ณ นาทีนี้ ความใฝ่ฝันของตุรกีที่จะสร้างตุรกีใหม่ให้ยิ่งใหญ่เหมือนกับยุคจักรวรรดิออตโตมันของประธานาธิบดีเออร์โดกันคงไม่ง่ายนักเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการกำหนดเขตแดนของประเทศต่างๆอย่างชัดเจน มีการถือกำเนิดขององค์กรระหว่างประเทศขึ้นมากมาย ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปความยิ่งใหญ่ของประเทศหนึ่งหาใช่แค่การครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีต หากแต่เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของการมีบทบาทและอิทธิพลโดยการสร้างประเทศให้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจนสามารถเข้าไปแทรกแซงภายในองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรของรัฐชาติต่างๆ ได้
อนึ่งในยุคศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบทบาทและความยิ่งใหญ่ให้กับชาติตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ทำให้การเข้าไปมีอิทธิพลและบทบาทเหนือประเทศอื่นๆ นั้นมันมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก หาใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายดายเหมือนในอดีต แม้ตุรกีจะยืนยันว่าการโจมตีครั้งนี้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในการป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN) และมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) ว่าด้วยการต่อสู้การก่อการร้าย (เพราะกลุ่ม PKK ถูกสหภาพยุโรป(EU) และองค์การสนธิสัญญาแอนแลนติกเหนือ(Nato)ซึ่งตุรกีและสหรัฐต่างเป็นสมาชิกถูกขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้ายมานานแล้ว) แต่ต้องติดตามตอนต่อไปว่าการประชุมในองค์กรนาโต้ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้จะส่งผลอย่างไรต่อปฏิบัติการของตุรกี ความสัมพันธ์ของตุรกีกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆจะอย่างไรต่อไป สมรภูมิครั้งนี้จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน…..น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง